วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท




หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
“พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง”

     พระเดชพระคุณหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระอริยเจ้าผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญในสายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านได้รับการยกย่องจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า “เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง” อุปนิสัยของท่านเป็นคนตรงไปตรงมา มีปฏิปทายอมหักไม่ยอมงอ ท่านสละอวัยวะ ทรัพย์และชีวิตเพื่อธรรม เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีต่อท่านพระอาจารย์มั่นยิ่งกว่าชีวิต ท่านได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มั่น ให้เดินทางไปเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ ซึ่งอาพาธหนักถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ประเทศลาว จนกระทั่งหลวงปู่เสาร์มรณภาพ

ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของท่านอาจแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย ท่านไม่กว้างขว้างเรื่องปริยัติธรรมภายนอก รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน ท่านปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะ มุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อนเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ การปฏิบัติของท่านจึงนับว่ารู้ธรรมเร็วในยุคปัจจุบัน

ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลกที่ระงมปนเปื้อนไปด้วยกองทุกข์นานัปการ ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว การมองอะไร ไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น แต่ต้องใช้แววตาคือ ปัญญา เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอน เพียงเพราะสายตาเท่านั้น ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างแก่โลก ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูผา

หลวงปู่เจี๊ยะท่านจึงเป็นผู้มีจิตอิสระมานาน ไม่เกี่ยวเกาะยึดติดพัวพันในบุคคล กาล สถานที่การปฏิบัติของท่านมุ่งเน้นที่ผลการปฏิบัติมากกว่ารูปแบบแห่งการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นนิสัยสะท้านโลกาและปฏิปทาที่เป็นปัจจัตตัง ยากที่ใครๆ จะเลียนแบบได้

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวยกย่องชมเชยในคุณธรรมว่า “พระอาจารย์เจี๊ยะเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ำหนึ่งที่หาได้โดยยากยิ่ง”

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรง ณ บ้านคลองน้ำเค็ม ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรของนายซุ่นแฉ่ และ นางแฟ โพธิกิจ

ในวัยหนุ่มทำมาค้าขายผลไม้ นิสัยออกจะติดทางนักเลง ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ พูดจาโฮกฮากไม่กลัวคน

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๖.๑๙ น. ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์พิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ร่วมปฏิบัติธรรมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ที่เสนาสนะป่าช้าผีดิบบ้านหนองบัว ปัจจุบันคือวัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี

ท่านปฏิบัติกรรมฐานด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืนภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ แบบสละตายด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

“ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิ คือในเวลาค่ำคืนไม่นอนตลอดไตรมาส ด้วยพระพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าหากแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ทำตามสัจจะนี้ขอให้ข้าพเจ้าถูกฟ้าผ่าตาย แผ่นดินสูบตาย ไฟไหม้ตาย น้ำท่วมตาย แต่ถ้าหากว่าข้าพเจ้าปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งไว้ ขอจงเป็นผู้เจริญงอกงามในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเทอญฯ”

พรรษาที่ ๓ จิตของท่านเกิดรวมครั้งใหญ่ใต้ต้นกระบก ด้วยการหยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา หยั่งลงสู่ความจริงประจักษ์ใจ โลกสมมุติทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ประหนึ่งว่าแผ่นดินแผ่นฟ้าละลายหมด เหลือแต่จิตดวงบริสุทธิ์เท่านั้น

ปลายปี พุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านได้กราบลาท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และท่านพ่อลี ธมฺมธโร เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับสหธรรมิก คือท่านพระอาจารย์เฟื่อง โชติโก เพื่อนำธรรมที่รู้เห็นไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อถึงเสนาสนะวัดร้างป่าแดง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นทรายเหตุการณ์ล่วงหน้าโดยตลอดจึงปูอาสนะนั่งรอท่าอยู่บนแคร่น้อยๆ เมื่อได้โอกาสอันสมควรจึงเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟังว่า “ได้พิจารณากาย จนกระทั่งใจนี้มันขาดไปเลย” ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งฟังนิ่ง ยอมรับแบบอริยมุนี ไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่น้อย

ต่อมาอีกไม่นานนัก ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นหลุดแล้วท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้นั้นหลวงปู้เจี๊ยะเล่าว่า “ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตตังสญาณว่าเราจะมีวาสนาสร้างภูริทัตตเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้”

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๕ หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นพระคิลานุปัฏฐาก และเป็นปัจฉาสมณะเป็นประดุจเงาติดตามตัวท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นรับนิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เดินธุดงค์จากทางภาคเหนือมายังภาคอีสาน พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าเป็นที่ทิ้งศพโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ๒ พรรษาจึงธุดงค์จาริกต่อไปยังจังหวัดสกลนครพักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนี้เอง ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวชมเชยในคุณธรรมและนิสัยวาสนาของหลวงปู่เจี๊ยะท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า “ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ท่านรูปนี้ผฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว ปฏิบัติเพียง ๓ ปีเท่ากับเราปฏิบัติภาวนามาเป็นเวลา ๒๒ ปี อันนี้อยู่ที่นิสัยวาสนาเพราะนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”

ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ขณะที่ท่านเข้าที่หลีกเร้นภาวนาในป่าดงลึก ณ เชิงเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกิดป่วยเป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก ในขณะป่วยหนักนั้นท่านเล่าว่า “จิตเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ตลอดเวลา พิจารณาจนกระทั่งจิตมันดับหมด หยุดความคิดค้น จิตปล่อย วางสิ่งทั้งปวง คว่ำวัฏฏจักร วัฏฏจิต แหวกอวิชชา และโมหะอันเป็นประดุจตาข่าย กิเลสขาดสะบั้นออกจากใจ จิตมีอิสระอย่างสูงสุดเกินที่จะประมาณได้”

ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้วท่านจึงย้อนกลับไปจังหวัดจันทบุรีอันเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมมารดาซึ่งป่วยหนัก ด้วยหวังจะทดแทนบุญคุณข้าวป้อนด้วยอรรถด้วยธรรม ท่านจึงดำริปักหลักสร้างวัดเขาแก้ว ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองและได้สร้างวัดบ้านสถานีกสิกรรม อำเภอพลิ้ว ถวายหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสและร่วมสร้างวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ คณะศรัทธาได้ถวายที่ดินบริเวณบ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงตาได้นิมนต์ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้สร้าง “วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม” และอยู่จำพรรษามาโดยตอลด

แม้ว่าท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่และได้สร้างวัดวาอารามใหญ่โตแล้ว ท่านก็ยังเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขาท้องถ้ำและเงื้อมผา จนกระทั่งร่างกายเดินไม่ไหว

ท่านละขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวนัที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒๓.๕๕ น. สิริอายุรวม ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา