วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เหยื่อตอนที่ 1 - เสี้ยม



นิทานเรื่องจริง เรื่อง “เหยื่อ”

ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 1”

ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกกันไว้ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้จบสิ้นลงไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 แต่ความรุนแรงที่สงครามโลก ได้สร้างทิ้งไว้ในตะวันออกกลาง ดูเหมือนจะยังไม่จบ การโต้แย้งเรื่องเขตแดน ซึ่งกำหนดขึ้นโดยเหล่านักล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษ เพื่อสนองตัณหาของพวกนักล่า ได้ทิ้งมรดกแห่งความขัดแย้งและความเศร้าสลดใจไว้ในภูมิภาคนี้ อย่างยากที่จะหาทางเยียวยา

ที่เมือง Damascus ในซีเรียเกิดสงครามกลางเมืองมากว่า 3 ปีแล้ว และยังไม่เห็นเค้าว่าจะจบลงเมื่อไหร่ กองทัพภาคที่ 4 ของรัฐบาลซีเรีย ขึ้นไปตั้งมั่นอยู่บนภูเขา Kassioun ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบอกว่า แก๊สพิษที่ถูกยิงลงมาฟุ้งกระจายอยู่บริเวณเมืองชายขอบของ Damascus เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2013 นั้น ถูกยิงมาจากภูเขาดังกล่าว ทำให้มีคนตายไปประมาณ 1,400 คน เป็นยอดคนตายเฉพาะใน 1 วันเท่านั้น ตั้งแต่สงครามกลางเมืองเริ่ม จนถึงปัจจุบัน มีคนตายไปแล้วประมาณ 1.5 แสนคน

Bagdad เมืองที่เคยเป็นวังเก่าในอิรัค 2 ปี หลังจากที่กองทัพอเมริกันถอนออกไป ชาวอิรัคได้มีโอกาสมาเดินเล่นในส่วนที่เรียกว่าเป็น Green – Zone ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ Tigris อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นส่วนของเมืองแบกแดด ที่ทหารอเมริกันแอบใช้เป็นที่หลบภัย เมื่อทำให้ทั้งประเทศที่พวกเขาไปครอบครองอยู่ กลายเป็นแดนฆาตกรรมหมู่ ปัจจุบันสถานการณ์ดูเหมือนไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ การเดินเล่นใน Green Zone มีอายุสั้นจริง อีกด้านหนึ่งของกำแพงเป็น Red-Zone การถูกยิง การตายหมู่ กลับกลายมาเป็นเหตุการณ์ประจำวันอีกครั้ง แม้ทหารอเมริกันจะถอยทัพออกไปแล้ว ความสงบก็ไม่ได้กลับมา มีคนตายไปแล้วเป็นหมื่นคน

Beirut เมืองหลวงของเลบานอน เมืองซึ่งเป็นที่ชื่นชมของชาวอาหรับ พวกเขาชอบใช้เบรุตเป็นสถานที่นัดพบ เป็นที่เดินเล่นทอดน่อง จูงมือกัน พักผ่อนหย่อนใจ และแข่งกันทำมาหากิน เป็นเส้นทางขนานคู่ระหว่างศาสนากับโลกีย์ มุสลิมกับคริสเตียน ชีอะห์กับสุหนี่ แล้วกลิ่นไอของการต่อสู้ที่ลิเบีย ซีเรีย และความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน อียิปต์ และอิรัค ก็โชยมาใส่จมูกของชาวเบรุตที่กำลังเดินจูงมือกันอีกครั้ง คำถามเดิม ๆ วนกลับมาเข้ามาในใจของชาวเลบานอน แล้วเบรุตจะรอดไหม เราจะเจอคลื่นความไม่สงบ ความรุนแรงโหมใส่เราอีกครั้งไหม หรือว่ามันมาคอยเราอยู่แล้ว ตรงหัวมุมถนนอันเป็นที่รักของเราในเบรุตนี้เอง

2 ปี หลังจากการลุกฮือเหมือนนัดกันในปี ค.ศ. 2011 สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ดูเหมือนจะย้อนกลับไปทางความสิ้นหวังและเปล่าเปลี่ยวเหมือนอย่างที่ผ่านมา แทบจะไม่มีประเทศใดเลยในภูมิภาคนี้ ที่ไม่เคยผจญกับสงคราม หรือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และก็ดูเหมือนว่า จะไม่มีประเทศไหนเลยที่มีภูมิต้านทานแข็งแรงพอ ที่จะรับมือกับการจราจลรอบใหม่ ที่อาจจะระเบิดเป็นวงกว้างไปทั่วภูมิภาค ในอนาคตอันใกล้นี้ ขบวนการที่เรียกว่า Arab Spring ดูเหมือนจะจมโคลนไปแล้ว แทนที่จะงอกงาม หรือไม่ก็ถูกต่อต้าน หรือถูกโค่น ด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวภูมิภาคนี้จากสื่อฟอกย้อม คงมองเห็นว่าการต่อต้าน ลุกฮือที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย ลิเบีย อียิปต์ และซีเรีย ก็คงเป็นพัฒนาการทางการเมืองตามปรกติของภูมิภาค แต่เปล่าหรอก ความไม่สงบเหล่านั้น มันเป็นหน่อใหม่ที่แตกเพิ่ม มาจากรากเหง้าของความขัดแย้ง ที่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดยั้งมา เป็นเวลาประมาณ 100 ปีแล้ว และยังไม่เห็นทีท่าว่าจะสิ้นสุดแต่อย่างไร
ยังไม่มีเหตุการณ์ใด ที่ผลของมันจะสามารถสร้างความตึงเครียดและขัดแย้ง ให้ใหม่สดเสมอ ต่อเนื่องและยาวนานในตะวันออกกลาง ได้เท่ากับผลของสงครามโลกครั้งที่ 1

การสู้รบ ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า European Civil War ที่หมายถึงช่วงเวลาความรุนแรงที่เขย่ายุโรป ตั้งแต่ ค.ศ. 1914 เป็นต้นมาและสิ้นสุดเอาปี ค.ศ. 1945 ต่อด้วยสงครามเย็น ได้จบลงเมื่อ 1990 แต่สำหรับโลกอาหรับ ความตึงเครียดของพวกเขา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันยังคงค้างคาอยู่ บรรดาชาวตะวันออกกลาง พบว่าตัวเองจำเป็นต้องไปฝึกหัดเป็นนักไต่ลวดกันถ้วนหน้า พวกเขาไม่ได้เป็นนักไต่ลวดธรรมดา เขาไต่ลวดและถือดาบไล่ฟันกันระหว่างไต่ลวดด้วย

นัก (เขียน) ประวัติศาสตร์ฝรั่งบอกว่า ในภูมิภาคอันกว้างใหญ่ มี 2 ประเทศ คือ อียิปต์ และอิหร่าน ที่ดูเหมือนจะพอประคองตนเองให้อยู่รอดมาได้แม้จะโดนเขย่า โดนโค่นอยู่หลายครั้ง อีก 1 ประเทศ ที่ดูจะชำนาญในการประคองตนเองอย่างหวาดเสียว แม้จะถูกบีบถูกถีบทิ้งหลายครั้ง แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วคือตุรกี และอีก 1 ประเทศที่แม้ไม่ถนัด ในการประคองตนเองอย่างหวาดเสียว แต่ใช้วิธีทำตัวอ่อน โอนไปตามกระแส เงินและน้ำมัน คือ Saudi Arabia ประเทศทั้ง 4 นี้ ล้อมรอบใจกลางของตะวันออกกลาง ซึ่งมี 5 ประเทศ และ 1 รัฐพิเศษ คือ เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน อีรัค อิสราเอล และปาเลสไตน์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน Fromkin เรียกกลุ่มประเทศนี้ว่า ลูก ๆ ของอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ผมอยากจะแย้งนักประวัติศาสตร์ฝรั่งทั้งหลายว่า ไม่ว่าจะเป็น 4 ประเทศข้างต้น ก็ดูเหมือนจะเอาตัวรอดยาก แม้ว่าต่างจะฝึกเป็นนักไต่ลวดกันเป็นแถว และพวกประเทศที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นลูก ที่นักล่าอาณานิคม “สร้าง” ก็ดูจะเป็นการสร้างขึ้นมาใช้เป็น “ไม้เสี้ยม” ตะวันออกกลาง ให้แตกให้แย้งกันเองอยู่เสมอต่างหาก
ไม่มีกลุ่มประเทศไหน แม้จะมีขนาดเล็กเท่ากับกลุ่มเด็กถูกเสี้ยมข้างต้น ที่จะต้องผจญภัยสงคราม การขัดแย้งทางการเมือง สงครามกลางเมือง การโค่นล้ม การก่อการร้าย ได้มากเท่าที่กลุ่มเด็กถูกเสี้ยมโดน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

เพื่อที่จะเข้าใจความผิดปรกติของสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ เราคงจะต้องตามไปรู้จักหัวหางของเหตุการณ์บางอย่างก่อน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งความล้มเหลวของเหล่าผู้ปกครองและการเมืองในตะวันออกกลางเอง ที่ไม่สามารถจะต้านทาน หรือแก้เกมการครอบครอง และครอบงำโดยเหล่านักล่าอาณานิคม โดยเฉพาะชาติอังกฤษ และที่สำคัญ การค้นพบน้ำมัน การก่อตั้งอิสราเอล ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
17 สค. 2557



ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 2”

Istanbul ฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1914 เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมาน เหมือนอยู่ไกลไปครึ่งโลกห่างวังฤดูร้อนใน Ischi ที่ Emperor Franz Joseph ที่ 1 ลงนามในแถลงการณ์ “To My People” เมื่อวันที่ 28 ก.ค 1914 แจ้งให้ชาวออสเตรียรู้ว่า ออสเตรียได้ประกาศสงครามกับ Serbia อย่างเป็นทางการแล้ว !

เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว ที่อาณาจักรออตโตมานควบคุมทางใต้และตะวันออกของเมดิเตอเรเนียน ตั้งแต่เมือง Alexandretta ถึง Arish และจาก Maghreb ไปถึง Suez ส่วน Algeria และ Tunesia ตกอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศส ในขณะที่อังกฤษงาบ อียิปต์ไปเรียบร้อยแล้ว

ในปี ค.ศ. 1911 อิตาลีได้ยึดหัวหาดอยู่ที่ลิเบีย ก่อนที่จะเกิดสงครามโลก อาณาจักรออตโตมานถูกรุมทึ้งจนเหลือเพียงตุรกี (เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ตะวันออกกลางและอิรัค (เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) และดินแดนยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวอยู่แถบคาบสมุทรอารเบียยาวไปถึงเยเมน

ตรงบริเวณนี้แหละ ตรงที่เป็นภาคใต้ของตุรกีปัจจุบัน ที่เป็นศูนย์กลางของสงครามในตะวันออกกลางในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนส่วนนี้ได้พยุงตัวด้วยความยากลำบาก เป็นเวลากว่า 400 ปี ที่จะให้อยู่รอดพ้นจากการเหลือแต่ชื่อ แต่แล้วพอถึงต้นศตวรรษที่ 20 ดินแดนส่วนนี้ก็ยิ่งอาการสาหัส กลายเป็นแดนวิกฤติ อย่างที่เรารู้อยู่ในปัจจุบัน บริเวณที่เมืองต่าง ๆ ในแถบนั้นต้องประสบกับความทุกข์ทรมานยาวหลายชั่วคน เช่น Basra, Bagdad, Aleppo, Damascus, Beirut, Gaza และ Suez ฯลฯ เมืองที่เราเห็นชื่อตามสื่อและ breaking news ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนแทบจะเลิกสนใจเพราะนึกว่าเอาเทปของเก่ามาเล่นซ้ำ

โชคดีที่พวกชักใยหรือตัวละครเอกที่แสดงอยู่ในฉากสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะนั้นยังไม่รู้ว่า ที่สนามหลังบ้านของอาณาจักรออตโตมาน มีแหล่งพลังงานน้ำมันใหญ่ที่สุด ซ่อนตัวอยู่ ถ้าไอ้พวกนั้นได้รู้ การต่อสู้ที่ตะวันออกกลางช่วงนั้นคงจะยิ่งดุเดือดและทารุณโหดร้าย ป่าเถื่อนกว่าที่ได้เกิดขึ้นอีกมากมาย ในขณะนั้น คู่สงครามต่างแสดงบทที่ดูเหมือนจะต้องการเพียงแค่ กำจัดอีกฝ่ายหนึ่งให้หมดไปจากทางเดินของตน ไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งมีอิทธิพล มีอำนาจมากกว่า ยิ่งใหญ่กว่า ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการให้อีกฝ่ายทำสำเร็จ และพยายามทุกอย่างที่จะขัดขวางกันและกันเท่านั้น

อังกฤษ ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าข้างซ้าย สบโอกาสที่จะสลายอาณาจักรออตโตมาน ของนักไต่ลวดชาวตุรกี และยึดเอามาเป็นของตน เพื่อขยายอิทธิพลของตนไปทางตะวันออกกลางมากขึ้น ขณะนั้นอังกฤษมีอิทธิพลเหนืออียิปต์อยู่แล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888 และเหนืออินเดีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 ยังเหลืออาณาจักรออตโตมาน ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่าง 2 อาณานิคมสำคัญ นี่ถ้าได้อาณาจักรออตโตมานอีกรายการ อาการฟันห่างระหว่างอียิปต์กับอินเดียก็จะแคบเข้ามา อังกฤษจะนั่งรอให้โอกาสวิ่งผ่านไป โดยไม่ฉวยได้อย่างไร ความคิดที่จะใช้สงครามโลกเป็นเครื่องมือถอนราก ถอนโคน อาณาจักรของนักไต่ลวด พร้อมกับการสกัดและทำลายเยอรมันที่คิดทาบรัศมีด้วยการสร้างทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ไปพร้อมกันจึงเกิดขึ้น

อาณาจักรออตโตมาน ตัดสินใจว่าจะวางตัวเป็นกลาง ก็เป็นคนป่วยนี่ ไม่แข็งแรงพอที่จะไปต่อสู้กับใครได้ อยู่เฉย ๆ น่าจะดีและเหมาะกับสภาพของออตโตมานตอนนั้นมากกว่า สุลต่านผู้ครองจักรวรรดิออตโตมาน เป็นเสมือนหุ่นไม่มีอำนาจจริง หลังจากสุลต่าน Abdulhamid II ซึ่งเป็นสุลต่านที่มีอำนาจคนสุดท้าย ถูกโค่นลงเมื่อปี 1908 แล้ว สุลต่านคนต่อ ๆ มา ก็หมกตัวอยู่แต่ในฮาเร็ม ให้รัฐบาลทหาร ซึ่งนำโดย Three Pasha เป็นผู้บริหารแทน ปาชาไม่ใช่พวกเคร่งศาสนาและออกจะเป็นพวกนิยมตะวันตกด้วยซ้ำ
เป็นทหารจะไปรู้เรื่องการค้ามากมายอะไร (ผมหมายถึงปาชานะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าเขียนถึงทหารอื่น ซึ่งเก่งทั้งการทหาร การค้า การปกครอง และอื่น ๆ อีกมากมาย) แล้วอาณาจักรออตโตมานก็ถึงเวลากระเป๋าแห้ง และฉีกขาดต่อมา เป็นหนี้ฝรั่งตะวันตกบานตะเกียง ชนิดไม่มีทางจะใช้คืน นอกจากเบี้ยวเขา หรือเป็นทาสเขาไปเท่านั้น แล้วไงล่ะ ขอไปร่วมอยู่ฝั่งเดียวกับเขา เขาก็ถีบทิ้ง นักไต่ลวดจึงถลาลงพื้น หัวฟาดอย่างเดียวไม่พอ กระเป๋าฉีกขาดอีกด้วย ทั้งเจ็บ ทั้งจนขนาดนี้ จะมีทางเลือกอะไร จึงจำใจไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง

ตุลาคม ค.ศ. 1914 ตุรกี (หรืออาณาจักรออตโตมานขณะนั้น) จึงประกาศตัวอยู่ฝ่ายเยอรมันกับพวก ที่น่าจะกระเป๋าตุงเพราะทำซ่า ว่าจะสร้างทางรถไฟข้ามทวีป เบอร์ลิน แบกแดด ท้าทายชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย แต่ก่อนประกาศตัวอยู่กับฝ่ายเยอรมันเป็นทางการ คนป่วยตุรกีแอบทำสัญญาลับกับ คุณหมอเยอรมัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม หลังจากนั้นไม่นาน เรือรบสัญชาติเยอรมัน 2 ลำ SMS Goeben และ SMS Breslau ก็วิ่งมาเงียบ ๆ จากฝั่งตะวันตกของเมดิเตอริเรเนียน ถึงกรุงคอนสแตนติโนเบิล เมื่อเทียบท่าเรียบร้อย ก็ทำพิธีส่งมอบให้ออตโตมาน ซึ่งขณะนั้นบอกว่ายังเป็นกลางอยู่ ออตโตมานตั้งชื่อเรือเสียใหม่ว่า Yavuz และ Midilli ให้มีกลิ่นแกะตุรกีติดเรือ แทนกลิ่นไส้กรอกกับผักดองเปรี้ยวของเยอรมัน พลประจำเรือชาวเยอรมันยังไม่ได้หายตัวไปไหน แค่เปลี่ยนชุดและใส่หมวกตุรกีแทนเท่านั้น เป็นคนป่วยที่ดูเหมือน ยังมีเหลี่ยมติดตัวอยู่ไม่น้อย

หลังจากนั่นเรือรบ 2 ลำ เดินทางต่อไปถึง Golden Horn และต่อไปที่เมือง Dardanelles ปฏิบัติการยั่วยวนก็เกิดขึ้นทันที ออตโตมานและเยอรมัน ได้ปิดทางเชื่อมระหว่างรัสเซียออกจากพวก คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ หลังจากนั้น เครื่องบินรบติดธงออตโตมาน ก็บินขึ้นจากเรือรบ Goeben ถล่มท่าเรือรัสเซียที่ทะเลดำ การยั่วยวนได้ผล ต้นเดือนพฤศจิกายน รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็ประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมาน

อังกฤษพยายามที่จะทลายการปิดกั้นเส้นทางที่ Dardanelles และยึดเมืองคอนสแตนติโนเบิล ยกโขยงกองทัพเรือมาพร้อมกับของฝรั่งเศสมาทางแหลม Gallipoli การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งทางเรือและทางบก ผลสุดท้ายคนป่วย ออตโตมานที่มีหมอดียาดี ยี่ห้อเยอรมัน ลุกขึ้นกวาดกองทัพอังกฤษแตกกลับลงทะเล ผลของคนป่วยได้ยาดี ทำให้ท่านหลอด Winston Churchill แม่ทัพเรือ ยื่นใบลาออกเพราะแพ้คนป่วย จะแก้ตัวยังไงดี ลาออกง่ายกว่า ผลการประเมินคนป่วยผิดคาดนี้ ทำให้เกิดบาดแผลมากมาย ทหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ลูกกระเป๋งของอังกฤษตายเป็นเบือ จนเดี๋ยวนี้ทั้ง 2 ชาติ ก็ไม่มีวันลืมสงครามคนป่วย

ความพ่ายแพ้ที่ Gallipoli ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอังกฤษ เปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบใหม่ หลังจากแผนการตีกล่องดวงใจ ของออตโตมานล้มเหลว อังกฤษเปลี่ยนแผนเป็น ไล่เซิ้งเมืองรอบนอกให้ยับเยินแทน เป้าหมายมุ่งไปที่เมืองที่มีชาวอาหรับอ่อนแอดูแลอยู่

กลยุทธที่อังกฤษถนัดใช้และพกติดตัวไว้เสมอ คือไม้เสี้ยม ไม่ต้องลงทุนมาก ใช้ความคิดชั่ว ๆ กับปากก็พอ อังกฤษตั้งใจจะใช้ชาวอาหรับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน เป็นเครื่องมือในการช่วยทลายออตโตมานเอง ในที่สุดก็หาเครื่องมือนี้เจอที่เมือง Hejaz ที่บริเวณตะวันตกของคาบสมุทรอารเบีย

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
17 ส.ค. 2557



ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 3”

Hussein Bin Ali, Sharif of Hejaz และของ Mecca นครศักดิ์สิทธิ ท่าน Sharif และลูกชาย 2 คน Faisal และ Abduellah กำลังเบื่อหน่ายเต็มทีกับการปกครองของพวกออตโตมาน มีความฝันที่จะสร้างรัฐอาหรับยาวจากภูเขา Taurus ทางภาคใต้ของตุรกี ไปจนถึงทะเลแดง และจากเมดิเตอริเรเนียน ไปจนถึงเขตแดนของอิหร่าน Sir Henry McMahon ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอียิปต์ ได้เริ่มติดต่อกับ Sharif ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1915 เป็นต้นมา และเป็นที่รู้จักกันในนาม McMahon Hussein Correspondence
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1915 McMahon เขียนจดหมายไปหา Hussein บอกว่าเดินหน้าได้เลย อังกฤษรับรู้และพร้อมที่จะสนับสนุนการมีอิสรภาพของเหล่าอาหรับ ภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัดบางประการ และมีอาณาเขตตามที่ Sharif of Mecca ได้เสนอไป

พวกอาหรับรักษาคำมั่นของพวกเขา มีนาคม 1916 Sharif Hussein เริ่มปฏิบัติการเป็นหัวหน้านำกลุ่ม ชนเผ่าพื้นเมืองติดอาวุธ (Bedouin) ประกาศตัวต่อต้าน ออตโตมาน ภายในเวลาไม่กี่เดือน ชาวอาหรับที่แสดงการขัดขืนต่อต้านออตโตมาน ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปตามเมืองต่าง ๆ ในแดน Hejaz รวมทั้งใน Jeddah และ Makkah โดยการช่วยเหลือของกองทัพบกและกองทัพเรือของอังกฤษ นอกจากนั้นอังกฤษยังส่ง นาย Thomas Edward Lawrence ผู้ชำนาญด้านโบราณคดี ประจำอยู่ฝ่ายปฏิบัติการ (จารกรรม) ของอังกฤษ ให้ไปฝั่งตัวอยู่ในกลุ่มพวกอาหรับอีกด้วย

อังกฤษในตอนแรก แม้ว่าจะได้ตกลงกับ Hussein ไปแล้ว แต่ลึก ๆ ก็ยังไม่เชื่อว่าพวกอาหรับจะสามารถทำอะไรได้จริง แต่จดหมายจากนาย Lawrence ส่งถึงเจ้านายเมื่อประมาณ ต้นปี ค.ศ. 1916 บอกอะไรหลายอย่าง ที่ทำให้อังกฤษ ปรับแนวคิดเกี่ยวกับพวกอาหรับ นาย Lawrence บอกว่า “พวกอาหรับจะเดินตามแนวทางที่เราต้องการ และจะสามารถ “ทลาย” กลุ่มอิสลามที่ผนึกตัวกันได้ และจะสามารถเอาชนะ และทำให้ออตโตมานปั่นป่วนได้ แต่อังกฤษอย่าได้คิดเลยว่า ความฝันของ Hussein ที่จะรวมตัวพวกอาหรับเข้าด้วยกันได้ จะเป็นความจริง และถ้ารัฐอาหรับของ Sharif สามารถตั้งขึ้นได้เพื่อเอาชนะออตโตมานจริง ก็จะเป็นอันตรายกับทางอังกฤษต่อไป พวกอาหรับอารมณ์ไม่มั่นคงและไม่อยู่กับร่องกับรอย ยิ่งกว่าพวกเตอร์กเสียอีก แต่ถ้าเราดำเนินการอย่างถูกต้อง รัฐอาหรับนี้จะกลายเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่แข่งขันกันเอง ทะเลาะกันเอง ยากแก่การรวมตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเราอย่างมหาศาลต่อไป (เหมือนเราวางไม้เสี้ยมถาวรไว้ ไม่ต้องทำอะไรเลย ให้พวกเขาทะเลาะกันเอง ! น่าสนใจนะ สมันน้อย)

เล่ามาถึงตรงนี้ ขอแถมซักหน่อยว่า ไอ้หมอนี่ผู้แนะนำให้อังกฤษ วางไม้เสี้ยมถาวรไว้ คือคนที่เรารู้จักกันในนามของ Lawrence of Arabia หนังใหญ่ยาว 4 ชม.กว่า แสดงโดย Peter O’Toole ออกฉายเมื่อประมาณ 40 ปีมานี้ บางท่านที่เกิดทันอาจจะร้อง อ๋อ ถ้าจะให้ดี ลองไปเอาหนังเรื่องนี้มาดู จะเห็นภาพบางอย่างชัดขึ้น แต่หนังก็คือหนัง มันไม่ได้บอกอะไรหมด แถมใส่สีใส่บทเพิ่มเติมกว่าความเป็นจริง ที่สำคัญมันผิดความเป็นจริงอย่างยิ่ง อยู่หลายส่วน โดยเฉพาะเกี่ยวกับบทบาทของนาย Lawrence และแผนซ้อนของอังกฤษ แต่กระนั้นก็น่าเอามาดูกันครับ จะได้ซึ้งกับความเป็น Hollywood สื่อฟอกย้อมชิ้นสำคัญของนักล่า !

เมื่อสงครามโลกยึดเยื้อไปถึงปี ค.ศ. 1917 และ ค.ศ. 1918 กลุ่มกบฏอาหรับยึดได้เมืองสำคัญหลายเมืองของออตโตมาน ส่วนอังกฤษก็รุกเข้าไปถึง ปาเลสไตน์ และอิรัค ยึดเมือง เยรูซาเร็ม และแบกแดดได้ กลุ่มกบฎอาหรับช่วยให้กองทัพอังกฤษยึดเมืองอัมมานและดามัสคัสได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มกบฎอาหรับนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือเห็นพ้องจากกลุ่มอาหรับส่วนใหญ่ มันเป็นเพียงขบวนการของกลุ่มข้างน้อย ซึ่งมีหัวหน้าไม่กี่คน พวกอาหรับส่วนใหญ่ยังแยกตัวเอง ออกจากความขัดแย้ง และไม่สนับสนุนพวกกบฎหรือทางออตโตมาน แม้จะมีคนสนับสนุนไม่มาก แต่ความฝันของ Sharif Hussein ก็ชัดเจนว่า เขาอยากจะให้มีอาณาจักรอาหรับและมาถึงตอนนี้ ความฝันก็ดูใกล้ที่จะเป็นจริง ถ้าอังกฤษจะไม่ได้หักหลัง โดยไปมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น กับใครอื่นเสียก่อนแล้ว

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
18 ส.ค. 2557



ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 4”

ก่อนที่พวกกบฎอาหรับจะเริ่มปฏิบัติการ และก่อนที่ Sharif Hussein จะได้สร้างอาณาจักรอาหรับในฝัน ตามที่ McMahon ทำสัญญาหลอกให้ sharif Hussein มารบมาตายแทนอังกฤษ อังกฤษกับฝรั่งเศส มีแผนอื่นที่ตกลงกันไปเรียบร้อยแล้ว ฤดูหนาวปี ค.ศ. 1915 – ค.ศ. 1916 นักการทูต 2 นาย คือ Sir Mark Sykes ของอังกฤษกับ Francois Georges–Picot ของฝรั่งเศส ได้แอบหารือกันอย่างลับ ๆ เกี่ยวกับการกำหนดอนาคตของอาณาจักรออตโตมาน หลังการล่มสลาย ! หวังว่าคงจำกันได้ อังกฤษได้วางแผนให้ฝรั่งเศสมาร่วมรายการสลายออตโตมาน ขยี้เยอรมันด้วยกัน (อยู่ในตอนแถมของนิทาน “ลูกครึ่งหรือนกสองตัว”) เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องมีสัญญาแบ่งเค้ก แบ่งรางวัลที่จะได้มาจากการปล้นเมืองเขากัน

สัญญานี้ต่อมาเรียกว่า Sykes-Picot Agreement อังกฤษกับฝรั่งเศส ตกลงที่จะแบ่งโลกอาหรับระหว่างพวกเขากันเอง อังกฤษบอกว่าเราจะเอาบริเวณ ซึ่งปัจจุบันเป็นอิรัค คูเวต และจอร์แดน ส่วนฝรั่งเศสบอก งั้นเราเอาส่วนที่ทันสมัยหน่อย คือ ซีเรีย เลบาบอน และทางใต้ของตุรกี ส่วนสถานะของปาเลสไตน์ ยังไม่ตกลงกันเอาไว้ว่ากันที่หลัง เพราะจะต้องถามพวกยิวก่อน แต่ส่วนดินแดนที่ควรจะเป็นอาณาจักรอาหรับในความฝันของ Sharif Hussein ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของอังกฤษและฝรั่งเศส อืม ! รบเกือบตาย ได้แต่ความฝัน ! สมันน้อยมีเรื่องให้เรียนรู้แยะนะ !

สัญญา Sykes-Picot นี้ อังกฤษและฝรั่งเศส ตั้งใจจะเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด สำหรับการแบ่งขนมเค้กชิ้นที่เรียกว่าตะวันออกกลาง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ขึ้นชื่อว่าความลับ ยังไงก็ต้องมีรั่ว ไม่เคยปิดมิดหรอก เพราะฉะนั้นอย่าไปมีเลยความลับ เปิดซะให้หมดนะครับ เปิดเองดีกว่าให้คนอื่นมาเปิด นี่ผมบอกกับตัวเองนะ ใครอย่าเหมาว่าผมบอกใบ้ใครก็แล้วกัน

สัญญาลับนี่เกิดรั่วมาถึงสาธารณะ เมื่อปี ค.ศ 1917 เมื่อหลังสงครามโลก หลังรัสเซียเกิดปฏิวัติ รัฐบาล
บอลเชวิกนำสัญญาแบ่งเค้กมาเปิดเผย เพราะอยากจะหักหน้าอังกฤษและฝรั่งเศส มันขัดกับสัญญาที่อังกฤษทำให้ไว้กับ Sharif Hussein และก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงระหว่างชาวอาหรับกับอังกฤษ แต่สัญญานี้ไม่ใช่เป็นข้อขัดแย้ง ฉบับเดียวที่อังกฤษสร้างไว้ให้แก่ชาวอาหรับ

อีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะมีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับดินแดนในตะวันออกกลาง คือกลุ่มสนับสนุนชาวยิว Zionism เป็นขบวนการทางการเมืองที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐยิวขึ้น ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของปาเลสไตน์ มันเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 กว่า ขบวนการนี้พยายามจะหาที่ลงให้แก่ชาวยิว ที่หนีหรือถูกไล่ออกมาจากยุโรป ซึ่งส่วนมากเคยอาศัยอยู่ในเยอรมัน โปแลนด์ และรัสเซีย (เบื้องหลังของการที่พวกยิวถูกให้ออกมาจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียนั้น ช่วยกลับไปอ่านนิทานมายากลยุทธนะครับ)

ในที่สุดพวกนิยมชาวยิว Zionist ก็ กดดันรัฐบาลอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้ยินยอมให้พวกเขา ตั้งรกฝังรากที่ปาเลสไตน์ เมื่อสงครามจบสิ้น ด้านรัฐบาลอังกฤษเอง ก็มีพวกที่เห็นใจชาวยิว เช่น นาย Arthur Balfour รมว.ต่างประเทศของอังกฤษเอง ซึ่งถึงกับเขียนจดหมายลงวันที่ 2 พ.ย 1912 ไปหา หัวหน้ายิวตัวใหญ่ คือ Baron Rothschild (ตัวแสบ) แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษ ยินดีสนับสนุนอย่างเป็น

ทางการให้ ชาวยิวได้มีสถานที่ตั้งรกฝังรากที่ปาเลสไตน์ โดยจะพยายามผลักดันเต็มความสามารถ แต่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแจ้งชัดว่า การสนับสนุนนี้ ย่อมไม่เป็นการกระทบต่อสิทธิอันเสมอภาคของประชาชน และสิทธิทางศาสนาที่มีอยู่ของชุมชนที่มิใช่ชาวยิว ที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ ในขณะเดียวกัน สิทธิของชาวยิวหรือสถานะทางการเมืองของชาวยิว ที่มีอยู่ในประเทศอื่น ก็ย่อมไม่ถูกกระทบด้วยเช่นเดียวกัน
จดหมายนี้ประวัติศาสตร์ เรียกว่า The Balfour Declaration ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นการฑูตแบบตวัดลิ้นของอังกฤษได้ชัดเจนดี

ขณะนั้นนาย Woodlow Wilson ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอเมริการอบ 2 ประกาศว่า มนุษย์ควรมีสิทธิเลือกระบบการปกครองของตนเอง พัฒนาตนเองโดยไม่มีการปิดกั้น ไม่มีการข่มขู่ และไม่ต้องมีความเกรงกลัว นักประวัติศาสตร์ฝรั่งบันทึกว่าในขณะที่ประกาศ ประธานาธิบดี Wilson ไม่รู้เลยว่าสัญญาแบ่งเค้ก Sykes-Picot Agreement นั้น เกิดขึ้นแล้ว แต่อังกฤษก็ร้อนท้อง ไม่อยากให้มิตรใหม่มองเห็นความตะกละของตนชัดแจ้งนัก จึงรีบเดินหน้าเรื่องข้อตกลง Balfour กับยิว (เป็นการเปิดตัวแสดงของอเมริกา ผู้พิทักษ์ที่สวยหรูมาก ควรจะมีไฟส่องและเพลงชาติอเมริกันประกอบ จะดูเนียนมาก)

เมื่อประธานาธิบดี Wilson เดินทางมาถึงปารีส เมื่อต้นปี ค.ศ. 1919 เพื่อเข้าร่วมเจรจากับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Lloyd George และหัวหน้าของฝ่ายฝรั่งเศส Clemenceau เขาได้เห็นอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังยื้อแย่งเค้กอาหรับกัน อย่างตะกระตะกราม ฝรั่งเศสยืนยันว่าตนเองควรได้ปกครองเลบานอน และดินแดนที่ยึดไปถึงแม่น้ำ Tigris ซึ่งปัจจุบันคือซีเรีย ตามที่สัญญาแบ่งเค้ก Sykes-Picot กำหนดไว้

อังกฤษขณะนั้น เพิ่งได้รับข่าวเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันมหึมาแถวเมโสโปเตเมีย (หรืออิรัคในปัจจุบัน) จึงรีบเปลี่ยนบทเป็นคัดค้าน อ้างว่าถ้ายก Syria ให้ฝรั่งเศส แล้วเราจะไปตอบกับพวกอาหรับที่มาช่วยรบได้อย่างไร แล้วอันที่จริงเราอังกฤษน่ะ เป็นผู้ลงทุนลงแรงเกือบทั้งหมดในการต่อสู้ในตะวันออกกลาง ใช้ทหารไปเกือบล้านคน ตายเจ็บไป 125,000 คน ดังนั้น ถ้าซีเรียจะเป็นของใครอื่นนอกจากชาวอาหรับแล้ว ก็ควรเป็น ของอังกฤษมากกว่า โอโห ! บทนี้มันอังกฤษของแท้ ตอแหลบิดเบือนได้อย่างยากที่ใครจะเลียนแบบ ขนมเค้กทำให้คู่หูเริ่มแตกคอกัดกันเอง

ประธานาธิบดี Wilson เสนอทางออกว่า วิธีที่จะรู้ว่าชาวซีเรียยอมรับการปกครองของฝรั่งเศสหรือไม่ และปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมีย จะรับการปกครองของอังกฤษหรือไม่นั้น ไม่ยากเลยเพื่อน ก็แค่ไปทำการสำรวจถามชาวบ้านแถวนั้นเขาดูว่า เขาต้องการอย่างไร เอ๊ะ ! ฉลาด เป็นกลาง หรือมีแผนซ้อน ! ?

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
18 ส.ค. 2557



ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 5”

เป็นเวลากว่า 2 เดือน ที่นักธุรกิจชาว Chicago (มาแล้ว !) ชื่อ Charles Crane และนักเทววิทยา (อีกแล้ว) ชาวอเมริกัน ชื่อ Henry King เดินทางไปทั่วตะวันออกกลางตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดี Wilson เพื่อสอบถามชาวอาหรับระดับหัวหน้าหลายร้อยคน แม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะพยายามใช้อิทธิพลของตนเอง กำหนดโผของตนเองให้ชาวอาหรับท่องตาม แต่ผลของการสำรวจก็ดูจะออกมาทางตรงกันข้ามกับโผที่คู่หูคู่กัดอังกฤษฝรั่งเศสที่ไปกำกับบทไว้

ชาวซีเรียไม่ต้องการอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และชาวปาเลสไตน์ไม่สนใจที่จะอยู่ในความปกครองของอังกฤษ แต่อังกฤษประสบผลสำเร็จในการสกัดไม่ให้อเมริกาทำการสำรวจในแถบเมโสโปแตเมีย (น่าคิดอังกฤษทำได้อย่างไรนะ)

เดือนสิงหาคม King และ Crane ส่งรายงานสำรวจ เขาเสนอให้มีการปกครองซีเรียและปาเลสไตน์ร่วมกัน โดยคนกลางคืออเมริกา แทนการปกครองโดยพวกอดีตนักล่าอาณานิคมยุโรป และเสนอให้ Faisal ลูกชายของ Hussein เป็นหัวหน้ารัฐอาหรับ ถือเป็นการพยายามเป็นตาอยู่ของอเมริกาที่น่าสนใจ แม้จะโป๊อล่างฉ่าง ตามสไตล์และตามประสานักล่าหน้าใหม่ แต่ต้องให้คะแนนความกล้าหน้าด้านแข่งกับพวกนักล่ารุ่นเก๋า ในเกมการแย่งชิงชามข้าวหรือขนมเค้ก คติพจน์ที่เราไม่ควรลืมคือ ด้านได้ อาย อด เขาใช้กันมาทุกชาติ ทุกสมัย จนถึงปัจจุบันนี้

ภายใต้ความกดดันของอังกฤษและของฝรั่งเศส และเพราะความป่วยไข้ของประธานาธิบดี Wilson รายงานนี้ได้ถูกซ่อน และได้นำออกมาเปิดเผย 3 ปีให้หลัง ซึ่งถึงตอนนั้น ปารีสและลอนดอน ก็ตกลงกันในแผนที่ใหม่ของตะวันออกกลางเรียบร้อยไปแล้ว ซึ่งแน่นอนออกมาตรงกันข้ามกับที่ King และ Crane เสนอ

ฝรั่งเศสตกลงได้ปกครองเลบานอนและซีเรียตามต้องการ
ส่วนอังกฤษได้ปกครองเมโสโปเตเมีย ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอีรัค ซึ่งได้รวมเอา Mosul ส่วนที่เต็มไปด้วยแหล่งน้ำมันเข้าไว้ด้วย พร้อมกับได้ปกครองปาเลสไตน์ (ชื่อ Mosul นี้ คงทำให้ท่านผู้อ่านนิทานเริ่มเห็นภาพ หรือเข้าใจบางอย่างได้อย่างลาง ๆ แล้ว)

ส่วนจอร์แดนให้เป็นรัฐกันชน โดยให้ Prince Abdullah ลูกชายของ Sharif Hussein มาเป็นกษัตริย์ปกครอง ภายใต้การดูแลของอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็ยังเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง เหนือดินแดนของลูกถูกเสี้ยมทั้งหมด มันเป็นการหลอกและต้ม Sharif Hussein จนเปื่อยยุ่ย

ส่วนพวกยิว ได้รับอนุญาตจากอังกฤษให้ตั้งรกรากอยู่ที่ปาเลสไตน์ โดยมีข้อจำกัดบางประการ อังกฤษยังไม่พร้อมที่จะให้กลุ่มอาหรับ ที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์อยู่แล้วลุกฮือขึ้นมา ดังนั้น จึงพยายามจำกัดจำนวนยิว ที่จะอพยพเข้าไปอยู่ในปาเลสไตน์ การจำกัดจำนวนนี้ ก็ทำให้ฝ่ายยิวไม่พอใจ หาทางที่จะเล็ดลอดอพยพเข้าไปในดินแดนนี้อยู่ดีในช่วงปี ค.ศ. 1920-1940 ขณะเดียวกันฝ่ายอาหรับที่อาศัยตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ ก็ถือว่าการอพยพชาวยิวมาอยู่ที่ปาเลสไตน์ เป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขาที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1187

ข้อตกลงทั้งหมดนี้ ภายหลังได้รับความเห็นชอบและยืนยัน โดยสันนิบาตชาติ (League of Nations ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสหประชาชาติ) ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1918 ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแบ่งสมบัติส่วนที่เคยเป็นอาณาจักรออตโตมาน ในระหว่างฝ่ายผู้ชนะสงคราม
สันนิบาตชาตินี้ นำโดยสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจที่ชนะสงคราม คือ อังกฤษและฝรั่งเศส อีก 2 ชาติมหาอำนาจ รัสเซียกับเยอรมัน ไม่มีสิทธิร่วมด้วย เพราะเยอรมันเป็นผู้แพ้สงคราม ส่วนรัสเซียหลังสงคราม เกิดปฏิวัติบอคเชวิก เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ถูกจำกัดสิทธิไม่ให้เป็นสมาชิก การแบ่งเค้กที่ ตกลงข้างต้น จึงไม่มีทางแหกโผของอังกฤษ !

ต้องยอมรับในความตอแหล หน้าด้านของอังกฤษว่าสามารถจริง ๆ ค.ศ. 1917 โลกส่วนหนึ่งมึนงงกับข้อตกลงที่อังกฤษทำไว้กับ 3 กลุ่ม ตกลงเกี่ยวกับอนาคตของตะวันออกกลาง 3 แบบ พวกอาหรับยืนยันว่าพวกเขาต้องได้อาณาจักรอาหรับในฝัน ตามที่อังกฤษตกลงไว้กับ Sharif Hussein ส่วนฝรั่งเศส และอังกฤษ ตั้งใจที่จะเดินหน้าแบ่งเค้กอาหรับตามที่ตกลงกัน และชาวยิวก็เชื่อว่าตัวเองจะต้องได้ครอบครอง ปาเลสไตน์ ตามที่นาย Balfour รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษตกลงไว้

อังกฤษทำได้อย่างไร อังกฤษบอกทำได้สบายมาก เพราะเป็นสันดานที่เห็นแก่ได้ โกหก ตลบแตลง ปลิ้นปล้อน ที่ทำมาตลอดในการล่าเหยื่อ และเด็กชายสยามก็เกือบจะไม่รอดจากการเป็นเหยื่อ จากการกระทำเยี่ยงนี้ของอังกฤษ

ชาวอาหรับบอกว่า จนถึงทุกวันนี้ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดน ในตะวันออกกลาง ไม่ได้แสดงถึงความขัดแย้งอย่างแท้จริงระหว่างกลุ่มชนพื้นเมือง ระหว่างชาวอิรัค ชาวซีเรีย ชาวจอร์แดน ฯลฯ แต่เป็นความขัดแย้งที่มีรากมาจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่ง “ตั้งใจ” วางรูปแบบและแผนการณ์ที่จะให้มีความขัดแย้ง และการแตกแยกเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชนชาวอาหรับด้วยกันเองต่างหาก อังกฤษและพวกได้กำหนดเขตแดนของพวกเขาโดยไม่เคารพ ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ถึงจริยธรรมและความต้องการพวกเขา เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตนเกี่ยวข้องกับแผนที่และพื้นที่ ราวกับพวกเขาเป็นมนุษย์ล่องหน พวกเขาตกเป็นเหยื่อแห่งความกระหาย ตะกระ ตะกรามของอังกฤษและพวก ซึ่งกำหนดเขตแดนขึ้นมาอย่างชนิดที่ คนที่อยู่ในเขตแดนก็รับไม่ได้ และที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่พอใจ แล้วแบบนี้ความสงบ ความปรองดอง มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นผลงานที่สร้างตะวันออกกลางใหม่ จากอำนาจ และจากความพอใจของผู้สร้าง คือ นักล่าอาณานิคม ที่ควบคุมโดยอังกฤษแต่ผู้เดียว

มันเป็นการจงใจสร้างให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่สามัคคีในระหว่างชาวอาหรับ ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ทั่วทั้งตะวันออกกลาง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และยังมีผลสืบเนื่องอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
ไม้เสี้ยมของอังกฤษ ยังทำงานได้ผลดีเยี่ยม แม้ว่าจะได้เสียบไว้นาน 100 ปี แล้ว

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
19 ส.ค. 2557



บทขยาย ท้ายตอน "เสี้ยม" (1)

The Three Pasha ที่โค่นสุลต่าน Abdulhamid ในปี ค.ศ. 1908 และจัดการตัวเองขึ้นปกครองออตโตมาน ปาชา พวกนี้คือรุ่นแรกของกลุ่ม Young Turk ที่โด่งดัง เหล่ายังเตอร์กพวกนี้ ส่วนใหญ่เรียนจบมาจากลอนดอนหรือปารีส (แปลกใจไหมครับ ? !) เมื่อสงครามโลกใกล้จะเกิดเต็มแก่ และอังกฤษแสดงท่ารังเกียจ (จริง ๆ คืออิจฉาน่ะ) เยอรมัน อย่างออกนอกหน้า สามปาชาก็ร้อนใจ พยายามจะเอาใจอังกฤษ โดยแสดงอาการผลักหลังดันไหล่ ให้เยอรมันออกไปห่าง ๆ อีกประมาณหนึ่งช่วงแขน แล้วกลับไปทอดสะพานยาวเพิ่มขึ้นให้กับอังกฤษ

สามปาชา ยินยอมทำสัญญาให้อังกฤษต่อเรือรบให้ออตโตมาน การต่อเรือนี้จะอำนวยการแสดงโดยท่านหลอด Winston Churchill เอง ในฐานะท่านแม่ทัพเรือ (ฉากใหญ่มาก !) แต่อู่ต่อเรือนี้ อังกฤษบอกต้องอยู่ที่กรุงคอนแสตนติโนเบิลนะ

สามปาชาให้เกียรติยกย่อง อังกฤษ ให้มีอำนาจเหนือออตโตมาน อย่างที่ไม่เคยมีชาติไหนได้รับมาก่อน ยอมให้อังกฤษเข้านอกออกใน ร่วมตัดสินปัญหาราชการร่วมกับรัฐบาลตุรกี ที่สำคัญ อังกฤษส่งนายพลเรือ Gamble และนายพลเรือ Limpus มาดูแลกองทัพเรือให้ออตโตมาน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการวางระเบิดใต้น้ำแถวช่องแคบ Golden Horn รวมทั้งเส้นทางที่ควรยิงตอร์ปิโด โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตุรกี
เป็น การวางแผนยุทธศาสตร์แบบเซียนเหยียบเมฆ ไร้ร่องรอย ความชั่วร้ายไม่มีหลุดออกมาให้เห็น (เท่าไหร่เลย) ฉากหน้าเหมือนมาดูแลออตโตมานคนป่วยด้วยความห่วงใย ระวังนะลมแรงใส่เสื้อหนาวซะนะ เดี๋ยวเป็นหวัด แต่แท้จริงหมออังกฤษเอายาพิษมาผสมอาหารให้คนป่วยกิน เพื่อจะได้ไปเร็วขึ้น

การที่อังกฤษโหมทั้งมาต่อเรือให้ตุรกี และมาดูแลกองทัพเรือให้ตุรกี แน่นอน เป็นการเร่งเครื่องให้เยอรมันทนไม่ได้ ละครฉากนี้เนียนมาก ปาชาศิษย์เอก จะทันเหลี่ยมของครูที่สอนลูกศิษย์มาเองหรือ บางทีครูเขาก็ไม่ได้สอนมาหมดหรอกนะ (เอะ ! หรือเขาร่วมมือกัน ไม่น่า! คงไม่ใช่กรณีออตโตมาน!)
ก่อนหน้าที่ออตโตมานจะตัดสินใจ ประกาศเข้าสู่สงครามโลก โดยอยู่ฝ่ายเยอรมัน นาย Edward Grey รมต.ต่างประเทศของอังกฤษขณะนั้น ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เตรียมขั้นตอนการส่งมอบกรุงแสตนติโนเปิล ให้กับรัสเซียหลังสงครามเลิก เป็นค่าสินบนตามสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น นาย Grey ได้ทำบันทึกถึงกระทรวงต่างประเทศว่า “จงถ่วงเวลาที่จะทำให้สงครามโลกระเบิด ให้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อที่เราจะได้มีเวลานานที่สุด ในการที่จะบอกกับทุกฝ่าย เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นแล้วว่า เราได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะไม่ให้สงครามโลกเกิดขึ้น แต่ออตโตมานเป็นฝ่ายที่ทำให้มันเกิดขึ้น”

นี่ ก็น่าจะเป็นใบเสร็จ ให้เห็นถึงความร้ายกาจของการฑูตของอังกฤษ ที่สามารถแสดงการปลิ้นปล้อน ตอแหล ได้อย่างเยี่ยมยอด นอกเหนือจากสัญญา ซ้งกะบ๊วย Sykes-Picot และ Balfour Declaration ที่ทำไว้ก่อนหน้าแล้ว ฝีมือการใช้ไม้เสี้ยมจากสำนักชาวเกาะ ใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยเท้าซ้าย นี่ถือว่าเยี่ยมยุทธจริง ๆ เยี่ยงนี้ออตโตมานหรือจะรอดพ้น จากการหลอกไปขึ้นเขียง แล้วสับละเอียดเป็นหมูบะช่อ

ไม้เสี้ยมมีเท่านี้หรือ คงไม่ใช่! จอมยุทธระดับนี้แล้วต้องพกมาหลายไม้ ขณะที่อังกฤษแพ้หมดรูปในการรบที่ Gallipoli ระหว่างทาง แทนที่จะรีบเคลื่อนพลกลับเกาะ กองทัพเรืออังกฤษกลับแวะพักเลียแผลอยู่ที่อียิปต์และกรีก ซึ่งประกาศตัวเป็นกลาง ส่วนกองทัพภาคพื้นดินของอังกฤษ ก็มุ่งหน้าไปทางปาเลสไตน์ และเมโสโปเตเมีย (อีรัค) และยึดเมืองทั้ง 2 มาจากชาวพื้นเมืองที่มีอาวุธ อานุภาพต่างกันราวฟ้ากับดิน ไม้สุดท้ายนี้เป็นไปตามแผน หาบ้านให้ยิว

แผนการหาบ้านให้ยิวนี้ ดูเหมือนจะเป็นการซ้อนแผน คนโคตรรวย Rothschild ที่ขุนนางอังกฤษมองว่า ถึงจะโคตรรวย แต่ก็เป็นแค่พ่อค้า จะคิดมาเป็นระดับผู้ปกครองประเทศ (ruling class) คงเป็นการคิดใหญ่เกินสถานะไปหน่อย พวกขุนนางบอกว่า พวกยิวไม่มีสำนึกของความเป็นชาติ เพราะฉะนั้นย่อมเป็นอันตราย ถ้าให้มาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในประเทศ หวังว่าสมันน้อยจะอ่านความตรงนี้ให้แตก
เมื่อสงครามโลกเริ่มติด เครื่อง อเมริกาประกาศวางตัวเป็นกลาง แถมออกจะมองอังกฤษอย่างไม่ค่อยไว้ใจ ว่าจะมีแผนลวงล่อ อะไรอีกเกี่ยวกับการเข้าสู่สงคราม ถึงเขี้ยวจะเพิ่งงอก แต่นักล่าหน้าใหม่ก็มีพี่เลี้ยงดูแล ติวเข้มกันมานานแล้ว คนอ่านนิทานแกะรอยนักล่าคงจะจำกันได้

เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 อังกฤษ ตั้งหน่วยงาน ชื่อ War Propaganda Bureau ซึ่งตั้งอยู่ที่ Wellington House หน่วยงานนี้ จึงเป็นที่รู้จักกัน ในชื่อของ Wellington House หน่วยงานนี้ ขึ้นตรงกับกระทรวงต่างประเทศ มีหน้าที่ชัดเจนคือปฏิบัติการใส่สีต่อเป้าหมาย ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม และฟอกย้อมความคิดของฝ่ายเป็นกลาง โดยเฉพาะอเมริกาที่แม้จะพยายามทำตัวเป็นกลาง แต่น้ำหนักมาก พอที่จะทำให้ตาชั่งหมุนกลับได้ กลางแบบนี้ จึงทิ้งไว้ข้างสนามไม่ได้ ให้ใครมาฉกไปไม่ได้

กระทรวงต่างประเทศมอบหมายให้ นาย David Lloyd George เป็นผู้รับผิดชอบดูแลหน่วยงานนี้ Lloyd George มอบให้นักเขียนและสมาชิกรัฐสภาพรรคลิเบอรัล Charles Masterman เป็นหัวหน้าดูแลอีกต่อหนึ่ง

นาย Masterman ได้เชิญนักเขียนชื่อดังของอังกฤษขณะนั้นมา 25 คน มาประชุม เพื่อช่วยกันคิดแผนใส่สีฟ้อกย้อมเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ในการทำสงครามของอังกฤษ ผู้ที่เข้ามาร่วมมี ทั้ง William Archer, Arthur Conan Doyle (คนเขียนนิยาย เชอร์ลอคโฮม) Arnold Bennett, John Masefield, Ford Madox Ford, G. K. Chesterton, Henry Newbolt, John Galsworthy, Thomas Hardy, Rudyard Kipling (คนเขียนนิยายชื่อดัง ระดับได้รางวัล Noble) Gilbert Parker, G. M. Trevelyan and H. G. Wells (คนเขียนหนังสือดัง เช่น the Time Machine, the Invisible Man เป็นต้น)

ทั้งหมด ตกลงที่จะเก็บเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความลับ (ความลับเพิ่งมาแตกเอาปี 1935) แต่ละคนต่างรับหน้าที่ไปเขียนเรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับเยอรมัน จริงบ้าง เท็จบ้าง และมีสำนักพิมพ์อย่าง Hodder & Stoughton, Methuen, Oxford University Press, John Murray, Macmillan and Thomas Nelson เป็นผู้รับหน้าที่พิมพ์ จำชื่อสำนักพิมพ์พวกนี้ไว้บ้างนะครับ ใครที่เป็นนักอ่านหนังสือรุ่นเก่า จะได้รู้ว่าเรื่องไหนมันถูกย้อมมาแล้วหรือเปล่า หน่วยงาน War Prepaganda นี้ ผลิตงานทั้งหมด 1,160 รายการ ระหว่างสงคราม ผู้ที่โดนใส่สีย้อมหนักที่สุด คงไม่มีใครเกินเยอรมันและตุรกี

หนังสือ กว่า 2.5 ล้านเล่ม รวมทั้งแผ่นพับส่งไป 13,000 จุดหมายและหน่วยงานสำคัญในอเมริกา ขณะนั้นอเมริกาไม่ไว้ใจว่าอังกฤษ กำลังเล่นละครเรื่องใดในตะวันออกกลาง เบื้องหน้าฉากเป็นอย่าง แล้วเบื้องหลังฉากเป็นอย่างไร อเมริกาจึงยังไม่เข้าร่วมสงครามรายการถล่มตุรกี

แต่หลังจากมีสื่อ และแผ่นพับทยอยไปสู่ประชาชนชาวอเมริกันมากขึ้น คนอเมริกันเริ่มมีความเห็นออกมาว่า ตุรกีน่าจะป่วยหนัก ร่างกายและความคิด คงหลวมหลุดไปแยะ ไม่สมควรจะปกครองอาณาจักรออตโตมานต่อไป และการที่อังกฤษจะเข้าไปในอาหรับ ก็เหมือนเป็นพระผู้มาโปรดคนอาหรับ น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะคนอาหรับไม่ฉลาดไม่มั่นคง ไม่เหมาะที่จะปกครองดินแดนของตัวเองอย่างยิ่ง !

แล้วความเป็นกลางของอเมริกาก็เริ่มจะเอียง และเอียงมากขึ้นไปทางสนับสนุนฝ่ายอังกฤษ
อเมริกาเริ่มด้วยการส่งเสบียงสนับสนุนฝ่ายอังกฤษ แท้จริงแล้ว มันเป็นโอกาสทอง ของการทำมาค้าขายครั้งสำคัญของอเมริกานั่นแหละ

ใน ที่สุดอเมริกา ก็ประกาศอย่างเป็นทางการเข้าร่วมสงคราม สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเมษายน ค.ศ. 1917 เหล่าพี่เลี้ยงและผู้อยู่หลังฉากของการประกาศเข้าสู่สงครามของอเมริกา ต่างถอนหายใจเฮือกใหญ่ แหม ! ลุ้นกันเกือบตาย กว่าจะเป็นตามแผน!
ไม่รู้ใครหลอกใคร ใครต้มใคร ช่วยกลับไปอ่านนิทานเรื่องแหกคอก อีกรอบนะครับ

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
20 ส.ค. 2557



บทขยาย ท้ายตอน "เสี้ยม" (2)

นาย Charles Richard Crane (1850-1939) เป็นเศรษฐีอเมริกัน ครอบครัวอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมทำระบบท่อใน Chicago ยุค ค.ศ. 1900 เขาเป็นคนนิยมชมชอบวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบริเวณนั้น ด้วยธุรกิจของครอบครัว ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางเป็นว่าเล่น จนทำให้รู้จักและคุ้นเคยกับผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองเกือบทุกระดับใน 2 ภูมิภาคนี้

ประมาณปี ค.ศ 1900 กว่า เขาได้นำผู้ทรงคุณวุฒิจากรัสเซียมาบรรยายที่มหาวิทยาลัย Chicago และในที่สุดก็เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง Russian Studies ขึ้นที่มหาวิทยาลัย Chicago

นาย Crane รู้จักและคุ้นเคยดีกับนาย Woodlow Wilson เขาเป็นนายทุนสนับสนุนเมื่อนาย Wilson หาเสียงในปี ค.ศ. 1912 เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี เมื่อนาย Wilson ได้เป็นประธานาธิบดี จึงตกรางวัลตั้งนาย Crane ให้เป็นผู้แทนพิเศษทางการฑูตระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1917 เรียกว่า Root Commission และมอบหมายให้นาย Crane ร่วมกับนาย King นักเทววิทยา ทำการสำรวจประชามติของชาวอาหรับ เกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

น่าสนใจว่าใน รายงานของ Kingและ Crane มีระบุไว้ตอนหนึ่ง ว่านาย Crane ได้เตือนประธานาธิบดี Wilson ให้ระวังในการจะไปตกปากรับคำ สร้างรัฐปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว มันจะเป็นการบังคับให้อเมริกาต้องใช้กำลังในการควบคุมดูแลอาณาบริเวณนั้น เพราะด้วยกำลังเท่านั้น จึงจะควบคุมชาวยิวให้อยู่ในแถวได้

นาย Crane อยู่ฝ่ายที่คัดค้านให้ชาวยิวมาตั้งรกรากอยู่ที่ตะวันออกกลาง เขาสนับสนุนให้มีรัฐอาหรับ ปกครองโดยอาหรับ ตามฝันของ Sharif Hussein

กว่า การสำรวจนี้จะทำเสร็จ การประชุมกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่ปารีส ในปี ค.ศ. 1919 ก็เดินหน้าไปจวนจะจบการประชุม คณะสำรวจ รีบส่งรายงานไปให้ประธานาธิบดี Wilson เพื่อพิจารณา ก็แต่ประธานาธิบดีเกิดป่วยกระทันหัน ไม่รู้ได้อ่านรายงานนี้หรือไม่ นอกจากนี้ รายงานนี้ได้ถูกมือดี หรือ มือร้าย นำไปซ่อน สูญหายไปจากระบบงานกระทรวง ถึง 3 ปี กว่าจะหาเจอ อังกฤษและฝรั่งเศส ก็แบ่งเค้กอาหรับระหว่างกันเอง เรียบร้อยไปแล้ว

ข้อมูลเกี่ยวกับนาย Crane จะดูไม่ครบ ถ้าไม่บอกว่าเขาเป็นก๊วนเดียวกับตระกูล Rockefeller
ท่าน ผู้อ่านนิทาน ที่ติดตามอ่านกันมานานเห็นชื่อมหาวิทยาลัย Chicago ก็คงพอเดาออกแล้ว ยิ่งเห็นว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Russian Studies ที่มหาวิทยาลัยนี้ ก็คงไม่ต้องเล่าต่อกันมาก นอกจากนี้ นาย Crane ยังเป็นสมาชิกสมาคม Jekyll Island Club ที่โด่งดัง และมีสมาชิกที่เป็นพวกโคตรรวยและมีอิทธิพลทางการเมือง การเงิน เช่น Rockefeller และ Morgan รวมทั้ง พวกอีลิต นักการเงินและสื่อใหญ่เท่านั้น และที่ คลับนี้เอง ที่พวกมีอิทธิพล ได้ประชุมสุมหัวกันต้ัง US Federal Reserve ธนาคารกลางของอเมริกา เมื่อ คศ 1910

น่าจะต้องจารึกไว้ ด้วยว่า ค.ศ. 1931 นาย Crane เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ในการสำรวจน้ำมันครั้งแรกของอเมริกาที่ Saudi Arabia และ Yemen เขาเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้อเมริกาได้สัมปทานน้ำมันที่นั่น
เขียนยืดยาวเกี่ยวกับนาย Crane ถึงสิ่งที่เขาคิดและทำ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนิทาน ลองต่อจิกซอว์กันดูเองบ้าง

ท่าน ที่เคยอ่านนิทานเรื่องมายากลยุทธ คงจำได้ว่า อังกฤษจัดการให้ยิวไปอยู่ปาเลสไตน์ ไม่ใช่เพราะมีมนุษยธรรมสูงส่ง อย่าเข้าใจผิดขนาดนั้นเลย เหตุผลแรกที่อังกฤษส่งยิวไป เพราะช่วงนั้น Rothschild คนโคตรรวยผู้คุมตลาดการเงินของอังกฤษ อยากจะค้าขายกับ Russia แต่ทางรัสเซียวางเงื่อนไขว่า ถ้าจะค้าขายกันก็รีบจัดการ เอาพวกยิวออกไปจากรัสเซียเสียก่อน เพราะรัสเซียแสนจะรังเกียจยิว Rothschild ซึ่งจำเป็นต้องช่วยอพยพชาวยิวมาอยู่ที่อังกฤษ ทางอังกฤษก็ใช่ว่าจะรักยิวไปทั้งหมด รวมทั้งยิวที่อยู่ในอังกฤษเอง ก็ไม่อยากให้เพิ่มจำนวนยิวมาแย่งกันปล่อยเงินกู้ Rothchild จึงหาทางส่งออกยิวที่อพยพมาใหม่ออกไปอย่างรีบด่วน

Rothschlid ใช้อิทธิพลบีบรัฐบาลอังกฤษ แล้วที่ไหนจะเหมาะเท่าปาเลสไตน์ ใช้กระสุนนัดเดียว ยิวก็พ้นภาระไปจากอังกฤษ และไปอยู่ที่ตะวันออกกลางเป็นก้างเสียบไม้เสี้ยมและขวางทางเจริญ และความสามัคคีปรองดองของชาวอาหรับ ตลอดกาล...เหี้ยมถึงใจ ตามที่อังกฤษต้องการ

แต่ฝ่ายอเมริกาโดยเฉพาะกลุ่ม Rockefeller และ CFR ก็น่าจะรู้ทันเกม จึงมีการส่งให้นาย Crane ไปประกบประธานาธิบดีและไปทำประชามติ จริง ๆ ก็คือไปเดินกล่อมอาหรับ ให้รับอเมริกา แทน อังกฤษ ฝรั่งเศส นอกจากนั้น นาย Crane ยังพยายามกระตุกอเมริกาว่าอย่าติดปีกให้ยิว ดีที่สุดเอาอาหรับที่ตัวเองไปกล่อมไว้แล้ว มาปกครองอาหรับเองดีกว่า เป็นการถีบอังกฤษให้ออกไปจากตะวันออกกลางเสียก่อน แล้วอเมริกาจะได้มาเป็นตาอยู่ กินรวบตะวันออกกลางต่อไป แผนผิดไปหน่อย 100 ปี ต่อมา ก็ดูเหมือนยังไม่สายเกินต้มแกงกิน

ประธานาธิบดี Wilson คงไม่ได้บังเอิญป่วย และรายงานของ King Crane คงไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็หายตัวไป 3 ปี เกมชิงอำนาจ เกมล่าเหยื่อ เผ็ดมันทุกขั้นตอน
อ่าน เรื่องนาย Crane อย่างย่อ ๆ แล้ว นึกถึงนาย Kenneth Landon ของผม ในนิทานเรื่องแกะรอยเก่า กันบ้างไหมครับ จำไม่ได้กลับไปอ่านอีกรอบนะครับ จะได้เห็นป่ากว้างและลึกขึ้น

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
20 ส.ค. 2557



ที่มาของข้อมูล นิทานเรื่องจริง ตำนานการลวง หลอกล่อ ลงหม้อตุ๋น