วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แกะรอยเก่า




นิทานเรื่องจริง เรื่อง "แกะรอยเก่า”

ตอนที่ 1

เมื่อตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1942 อเมริกาไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่จะไปทำสงคราม แต่เป้าหมายของอเมริกาไกลกว่านั้น เขามองถึงการเป็นพี่เบิ้มใหญ่ของโลกหลังสงคราม และอเมริกาก็ทำได้ตามเป้าหมายมาตลอด ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน กลยุทธใด แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นนักล่าหน้าใหม่ แต่ฝีไม้ลายมือในการล่าไม่เบา หลังจากเป็นผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกามองตัวเองว่าเป็นจักรวรรดิอเมริกา เพราะจักรวรรดิต่างๆ ได้ล่มสลายไปหมดเหลือไว้แต่ซากกับประวัติ อเมริกาหมดคู่แข่งชั่วคราว ผงาดตัวมาเป็นนักล่าหมายเลขหนึ่ง แม้ตอนนี้ แท่นยืนของนักล่าหมายเลขหนึ่ง จะออกอาการง่อนแง่น แท่นเอียง ขาเก เพราะโดนทั้งปลวกทั้งด้วงแมงแทะในบ้านอยู่ แถมหลายประเทศที่อเมริกาเคยใช้กลยุทธ โกหก ตอแหล สร้างเรื่องสาระพัด หลอกโลกและใช้หน่วยงานที่ตนเองชักใย รุมกันจนประเทศเหล่านั้นแตกเป็นเสี่ยง หรือโดนกองทัพอันเกรียงไกรของพี่เบิ้มบุกเข้าประเทศ ประหนึ่งขี่ช้างจับตั๊กแตน จนบ้างเมืองเขาพินาศ เหลือเป็นซากเศษอิฐ หรือที่เคยมองประเทศเหล่านั้นอย่างหยามเหยียดด้วยหางตา ประเทศเหล่านั้นเริ่มขยับมาตีเสมอ เผลอๆ จะจับมือกันร่วมหัว ร่วมท้าย ท้าทายอเมริกา กระแซะพี่เบิ้มให้ตกจากแท่นยืนในฐานะหมายเลขหนึ่งเอาเสียด้วยซ้ำ แต่เกมการล่า การแข่งขันชิงแชมป์โลก ต้องมองกันนานๆ ดูกันไปยาวๆ อย่าเพิ่งตัดสินแค่ยกสองยก มวยใหญ่มันอึด มีท่วงทีลีลาน่าศึกษา แต่ที่สำคัญอยู่ที่ชั้นเชิง ไม่รู้ปล่อยกันออกมาหมดหรือยัง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ยุคสงครามเย็น ระบอบคอมมิวนิสต์ออกดอกแพร่พันธ์ไปหลายแห่งในโลก สายหนึ่งไปทางสหภาพโซเวียต สายหนึ่งมาทางเอเซีย สู่จีนและเวียตนาม ใครเป็นคนเอาพันธ์มาแพร่ ก็รู้ๆ กันอยู่ อเมริกาทำเป็นทนดูไม่ได้ แบบนี้เสียหน้าผู้พิทักษ์โลกสวยใบนี้หมด (แหม! ใช้ศัพท์สมัยใหม่เป็นเหมือนกันเหรอลุง ฮา!) ดังนั้น อเมริกาจึงทำทุกอย่างเพื่อหลอกให้ชาวโลกเชื่อว่า สงครามเท่านั้นแหละ ที่จะเป็นยาขจัดการแพร่พันธ์คอมมิวนิสต์อย่างชงัด
เมื่ออเมริกาตัดสินใจทำมาหากินกับสงครามเวียตนาม ก็จำเป็นต้องมีเหยื่อเข้ามาร่วมกิจกรรม จะไปรบคนเดียวได้ยังไงเหงาตาย ไทยแลนด์สมันน้อยถูกผู้กำกับคัดตัวให้ไปเล่นบทตัวเอก แต่สมันน้อย อ่านบทไม่แตก ไม่ตัดสินใจเสียที อเมริกาจึงลงทุนประคองคุณป๋าสฤษดิ์บินไปอเมริกาเพื่อไปรักษาตัวตอนคุณป๋าป่วย พอไปถึงคุณป๋านอกจากจะถูกบรรดาหมอรุมกันรักษาแล้วคูณป๋ายังถูกอุ้มลงเปลเห่กล่อม ติวเข้มเกี่ยวกับภัยคอมมี่ กลับมาคุณป๋าร้องเฮ้ยเว้ย เอาไง เอากัน จะปล่อยให้คอมมี่มันบุกบ้านเรา บ้านพี่เมืองน้องเราได้ยังไง (ท่านที่ยังไม่เคยอ่านนิทานจิกโก๋ปากซอย ตอนนี้เป็นโอกาสดี เชิญแวะไปอ่านหน่อยนะครับ ทำลิงค์ไว้ให้แล้ว หาไม่เจอบอกมาจะลงให้ใหม่ จะได้อ่านนิทานเรื่องนี้แบบไม่ขาดลอย เพราะมันเกี่ยวเนื่องกันครับ แหม ! เอาใจคนอ่านจังนะลุง กลัวแฟนเพจไม่ถึงหมื่นหรือไง ฮา !)
ขบวนการล่อเหยื่อ จับลงเปลเห่กล่อมเขาน่าสนใจ อเมริกาจะทำอะไร ไม่ใช่ทำวันนี้คิดพรุ่งนี้ จะทำวันนี้เขาคิดมา 20-30 ปีก่อนหน้าแล้ว วางแผนซับซ้อน วิธีการวางแผน หาข้อมูล ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ เหมือนพวกไอ้ป้อดอีแป้ดมันออกรุ่นใหม่ มีลูกเล่นมาหลอกให้เราซื้ออยู่เรื่อย แต่ลูกหลักมันก็ไม่ต่างกันหรอก เพราะฉะนั้นถึงแม้นักล่าจะเปลี่ยนลูกเล่นอยู่เรื่อย แต่ลูกหลักมันก็พอมองออก ถ้าหมั่นติดตาม
แกะสะเก็ด แกะรอยเก่า รอยใหม่ เอาแว่นมาส่องดู ก็คงพอจะตามรอยมันได้บ้าง ตอนนี้นักล่าประกาศไปทั่วโลก ว่าจะกลับมาวิ่งเล่นลิงชิงหลักอยู่แถวเอเซีย ตามนโยบาย Rebalancing ไทยแลนด์แดนสมันน้อยก็ไม่แคล้วจะถูกคัดตัวมาเข้าฉากอีก แต่คราวนี้จะได้รับบทตัวเอก ตัวประกอบ หรือบทไหน เรายังไม่รู้แน่ แต่จะไปรอรู้เอาตอนจบ นอนนับศพนับซากในบ้านเรา มันจะไหวหรือ สมันน้อยตื่นตัว ตามศึกษาแกะรอยนักล่ากันหน่อย อย่าดูแค่ที่เห็นข้างหน้า หัดเหลียวหลังแลข้างบ้างน่าจะดีกว่านะ
มารู้จักสามีภรรยาคู่หนึ่งกันหน่อย นาย Kenneth และนาง Margaret Landon เขา 2 คนนี้ น่าสนใจมาก เขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทยกับอเมริกา ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้าง เครื่องมือการล่าเหยื่อของอเมริกาในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในเมืองไทย เครื่องมือการล่าเหยื่อชนิดนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ อุปกรณ์หลักเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนอุปกรณ์เสริมให้ทันตามสมัยนิยมเท่านั้นเอง
นาง Margaret มีชื่อเสียงเพราะเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง Anna and the King ซึ่งตอนหลังHollywood เอาไปสร้างหนังเรื่อง The King and I นำแสดงโดย Rex Harrison ตอนรุ่นแรก แต่มาดังตอนสร้างครั้งที่สองโดยเอานาย Yul Brynner มารับบทเป็น The King หนังเรื่องนี้ถูกห้ามฉายในประเทศไทย นอกจากนั้นหนังสือเรื่องนี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นละคร Broadway ดังระเบิด เพลงเพราะ ฉากสวย แต่เนื้อเรื่องแต่งตามความคิดของฝรั่งมองไทย ที่รู้จักไทยอย่างครึ่งๆ กลางๆ แต่คิดเอาเองว่ารู้จักหมด แต่นิทานเรื้องนี้จะไม่เล่าเกี่ยวกับนาง Margaret แต่จะเล่าเกี่ยวกับสามีนาง Margaret ที่ชื่อนาย Kenneth ผู้สร้างรอยเก่าน่าสนใจตามแกะดู


ตอนที่ 2

นาย Kenneth Perry Landon เป็นมิชชั่นนารี หมอสอนศาสนา แต่ไม่ใช่มิชชั่นนารีประเภทเดินหน้าเซียวเที่ยวเคาะประตูบ้าน เหมือนคนขายหนังสือพจนานุกรมสมัยก่อน แต่เขาเป็นนักสอนศาสนามีดีกรี จบปริญญาตรีทางเทววิทยา Theological Seminary จากมหาวิทยาลัย Princeton (วิชานี้เขาว่านักบวชสมัยก่อนที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนา แถวเอเซีย ลาตินอเมริกา ล้วนจบวิชานี้ทั้งนั้น นอกเหนือจากเรียนหลายภาษาแล้ว หนึ่งในหลักสูตรเขาว่าต้องเรียนฟันดาบและต่อสู้ป้องกันตัวด้วย)หลังจากนั้นนาย Kenneth ก็เรียนต่อจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Chicago เขาเดินทางมาเมืองไทย พร้อมภรรยา เมื่อประมาณ ค.ศ. 1927 (อย่าเพิ่งโว้ย ว่าเล่านิทานโบราณจัง ตอนนี้ใครๆ เขาเขียนเรื่องเรือบินหายหรือสงครามโลกครั้งที่ 3 กันทั้งนั้น ใจเย็น อ่านต่อไปก่อนน่า เดี๋ยวมันก็อธิบายมาถึงปัจจุบันได้เองแหละ)
เขากับนาง Margaret เดินทางมาทางเรือจากด้านตะวันออกของอเมริกา ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก มาโผล่เอาที่สิงคโปร์ ตลอดทางที่เรือแวะจอดท่าต่างๆ เขานั่งเบิ่งตา หูตั้ง มองทุกอย่าง ฟังทุกเรื่อง จัดเก็บข้อมูลเรียงแน่นอยู่ในหัว (ใบสั่งมันคงระบุชัดเจนดี) จนเมื่อเรือแล่นจากสิงคโปร์ขึ้นมาบางกอก เมียก็ถามเขาว่า นี่เธอรู้จักเมืองไทยดีแค่ไหนนะเนี่ย เขาตอบว่า ฉันรู้แต่ว่าคนไทยส่วนมากเป็นฝาแฝดตัวติดกัน แล้วก็มีช้างเผือกแยะมาก และที่เมืองไทยฝนน่าจะตกชุก เพราะฉันเห็นรูปถ่ายพระเจ้าแผ่นดินของไทย นั่งอยู่ใต้ร่มอันใหญ่มาก หน้าตาเหมือนน้ำพุ 9 ชั้น (อืม ! ชั้นเชิงใช้ได้ ตอบเมียตัวเองได้แบบนี้อนาคตไกล)
นาย Kenneth กับนาง Margaret เมื่อแรกมาถึงเมืองไทยก็พักอยู่ที่เมืองบางกอกก่อน อยู่ประมาณ 1 ปี ตลอดเวลา 1 ปี เขาถูกพาไปป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ในสังคมฝรั่งที่มีทั้งพวกมิชชั่นนารี พวกฑูต และพ่อค้าฝรั่ง แล้วฝรั่งพวกนี้ก็พาเขาเข้าสังคมคนไทยชั้นสูง ทำให้เขามีโอกาสรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองไทย รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ระดับสูง เช่น กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นต้น (อย่าลืมว่าเมื่อนาย Kenneth มาถึงเมืองไทย ช่วงนั้นยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ น่าสนใจวิธีการนำตัวเข้าสังคมของนักสอนศาสนารายนี้จริงๆ) นาย Kenneth ไม่ได้ใช้เวลาเดินเล่นอยู่ในวงสังคมชั้นสูงอย่างเดียว อีกอย่างที่เขาทำอย่างเอาจริงเอาจัง และไม่ให้ใครรู้ คือ เขาตั้งใจเรียนภาษาไทย เขาจ้างครูมาสอน เขาและภรรยาเรียนภาษาไทยกับครูทุกวันๆ ละ 3 ชั่วโมง และทำการบ้านเตรียมตัวอีกวันละ 3 ชั่วโมง สำหรับการเรียนในวันรุ่งขึ้น เป็นการเรียนแบบหลักสูตรเร่งรัดเลยละ (มันทำไมต้องเร่งรัดกันขนาดนี้นะ ?) เขาฝึกบทเรียนภาษาไทยที่เขาเรียน ด้วยการออกไปเดินเที่ยวเล่นในตลาด ไปเดินซื้อของและถามแม่ค้า เป็นภาษาไทยว่า “เท่าไหร่” และไม่ว่าแม่ค้าจะตอบว่าอะไร และไม่ว่าเขาจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ เขาก็จะตอบกลับเป็นภาษาไทยว่า “แพงไป” แล้วก็เดินไปหาแม่ค้าเจ้าอื่นต่อไป (เห็นลีลาสายลับรุ่นโบราณไหมครับ สมัยนี้ก็ยังทำแบบนี้ แต่แทนที่จะเดินเล่นตามตลาด เขาไปเดินเล่นตามห้าง ตามงานสังคมชั้นสูง ตามที่มั่วสุมของคนชั้นสูง เช่นที่สปอร์ตคลับ และตามบ้านคนใหญ่คนโตทั้งหลาย ฯลฯ เสร็จแล้วพวกเขาก็ไปรายงานข้อมูลที่ได้ยินมาจากที่ไปเดินเล่น ตามที่ตัวเองเข้าใจ แบบ งูๆ ปลาๆ ต่อนายเหนือ เรื่องมันถึงได้วุ่น !)
จากการเรียนภาษาไทยอย่างตั้งอกตั้งใจ ทำให้เขาเข้าใจว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความละเอียดอ่อนของความเป็นคนไทย เขายกตัวอย่างคำว่า ฉัน ภาษาอังกฤษ ใช้ I หรือ me แค่ 2 คำ แต่ภาษาไทยมีให้เลือกใช้ถึง 15 คำ แต่ละคำแสดงถึงสถานะทางสังคมของ ผู้พูด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและยังแยกเพศได้อีก สิ่งเหล่านี้ไม่มีในภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นคำเดียวกันนั้น ถ้าใช้คู่กับอีกคำ ระหว่างบุรุษที่ 1 กับบุรุษที่ 2 ยังแสดงถึงอารมณ์ ความสนิทสนมของผู้ใช้อีกด้วย รวมทั้งแสดงได้ถึงฐานะที่สูงต่ำกว่ากัน เช่นคำว่า “มึง” และ “กู” ดังนั้นจึงเป็นการยากที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจคนไทย และสังคมไทยถ้าไม่เข้าใจภาษาไทยให้แตกฉานเสียก่อน (อยากรู้ว่าไอ้พวก app รุ่นใหม่ที่ไปเดินเล่นตามสังคมนั้น มันจะเข้าใจความละเอียดอ่อนของคนไทยได้แค่ไหนกัน)
นอกจากนี้จากการเรียนภาษาไทย ทำให้เขาเข้าใจว่า กว่าครึ่งของภาษาไทยมีรากมาจากภาษาสันสกฤตและบาลี ซึ่งเป็นภาษาโบราณของอินเดีย และเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของคนไทย เขาบอกกับตัวเองว่าถ้าจะเข้าใจคนไทยให้ลึกซึ้ง ต้องเข้าใจภาษาไทย และควรจะศึกษาเกี่ยวกับอินเดียด้วย เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปของคนไทย ประเพณี และวิธีการคิดของคนไทย ซึ่งภายหลังเขาได้กลับไปเรียนต่อปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย Chicago เขาเรียนภาษาสันสกฤต บาลีรวมทั้งเรียนวิชาเกี่ยวกับอินเดียด้วย (เขาหาอุปกรณ์เสริมได้เก่ง ต้องยอมรับ นักสอนศาสนาคนนี้ ไม่ธรรมดาจริงๆ)
เขาเรียนภาษาไทยแตกฉานได้อย่างรวดเร็ว ระหว่างที่อยู่บางกอก เขาทดสอบความแตกฉานของตัวเองด้วยการ เริ่มเทศน์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เป็นภาษาไทย ช่วงแรกๆ เวลาเขาเทศน์ เมื่อพูดถึงพระเยซูถูกตรึง “กางเขน” เขาออกเสียงภาษาไทย เป็นพระเยซูถูกตรึง “กางเกง” และนั่นทำให้เขาเป็นที่ชอบใจของคนไทย ว่าเขาเทศน์ได้ตลกดี และทำให้มีคนมาฟังเขาแยะ แม้จะไม่รู้จักพระเยซูและศาสนาคริสเตียนเลยแม้แต่น้อย แต่ก็พากันมาดูฝรั่งแทศน์เป็นภาษาไทย แบบดูการแสดงตลก โดยไม่คิดอะไรมาก


ตอนที่ 3

หลังจากอยู่กรุงเทพฯได้ 1 ปี นาย Kenneth และครอบครัว ก็ถูกให้ย้ายไปประจำที่นครศรีธรรมราช เขาอยู่ที่นั่น 1 ปี จากนั้นก็ย้ายมาประจำที่ตรัง รวมๆ แล้ว เขาอยู่แถวภาคใต้ของไทย ประมาณเกือบ 10 ปี ตอนที่อยู่ที่นครศรีธรรมราช เขาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงเรียนสตรี ซึ่งเป็นของพวกมิชชั่นนารี ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นที่พระราชทานจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เมื่อมาอยู่ตรัง เขามีบ้านแยกต่างหากจากโรงเรียน ระหว่างที่เขาอยู่ตรังเขาเดินทางไปทั่ว ขึ้นมาจนทับสะแก (คือหัวหินในปัจจุบัน) และลงใต้ไปถึงแหลมมาลายู เขาบอกว่าในภาคใต้ของไทย มีคนจีนอาศัยอยู่มาก และส่วนมากเป็นพวกใช้แรงงาน หรือขายของชำ บ้างก็เปิดร้านค้าเล็กๆ ในตลาด ครอบครัวเขามีคนรับใช้และคนทำอาหารเป็นชาวจีน เขาจึงหัดพูดภาษาจีนกับคนรับใช้ทุกวัน
จากการที่เขาคุยกับคนรับใช้ชาวจีน เขารู้ว่าคนจีนเหล่านั้นไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ไม่มีโรงเรียนของคนจีน เขาจึงพยายามให้ทางคณะมิชชั่นนารีช่วยจัดตั้งโรงเรียนให้คนจีน โดยเอาครูมาจากกรุงเทพฯ สิงคโปร์ ปีนัง ส่วนค่าก่อสร้างเขาก็ขอรับบริจาคบ้างจากคนในจังหวัด เขาสามารถสร้างใด้ถึง 4 โรงเรียน การคลุกคลีกับคนจีน ทำให้เขาพูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้และเทศน์เป็นภาษาจีนได้อีกด้วย การสอนภาษาของ นาย Kenneth ขยายไปตั้งแต่คอขอดกระจนถึงชายแดนมาลายู และทำให้เขาต้องเดินทางแถบนั้นบ่อยมาก โดยรถไฟ เกวียน ช้าง เรือข้ามฝั่ง เรือเล็กตามคลอง รวมทั้งที่จักรยาน และการเดินเท้าของตนเอง และเพื่อให้มีการติดต่อระหว่างสังคมไทยและจีน ซึ่งอยู่ห่างไกลกัน นาย Kenneth ลงทุนพิมพ์จดหมายเหตุรายเดือน เป็นภาษาไทยและจีน เพื่อให้คนเหล่านั้นได้ข้อมูลและข่าว (ตามที่เขาเขียน !) ต้องนับถือผู้ที่เลือกถิ่นที่ทำงานให้นาย Kenneth จริงๆ ภาคใต้น่าสนใจหลายอย่าง รวมทั้งภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ยาวตลอดไป ตามอ่าวไทยของไทยจนไปถึงเขตแดนมลายู
นาย Kenneth และครอบครัว ย้ายกลับไปอเมริกาใน ค.ศ. 1937 โดยอ้างว่า เบื่อที่จะเป็น มิชชั่นนารีแล้ว เพราะรายได้ไม่พอ (หรือภาระกิจสำเร็จได้ตามเป้า เลยเก็บฉากขนของกลับบ้านซะเฉยๆ งั้นแหละ !?) เมื่อเขากลับ เขาหอบหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ออกเป็นงวด ที่เกี่ยวกับเมืองไทยที่เขาเก็บสะสมไว้ ตลอด 10 ปีที่อยู่เมืองกลับไปด้วย รวมทั้งแผนที่ของเมืองไทยแสดงอาณาบริเวณต่างๆ ทั่วประเทศอย่างละเอียด ยังไม่หมดยังหอบเอาหนังสือจากห้องสมุดของไทย ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เท่าที่ตัวเองจะหาได้กลับไปด้วย ที่สำคัญ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย เมื่อปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) นาย Kenneth บอกว่าเป็นช่วงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เขาเก็บเอกสารในช่วง 5 ปี ระหว่างนั้นไว้หมด โดยตั้งใจจะเขียนหนังสือ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย (นับว่าเป็นมิชชั่นนารี “ตัวอย่าง” จริงๆ ตกลงจะมาเผยแพร่ศาสนาหรือมาทำอะไรกันแน่)
วันหนึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ขณะที่เขาเริ่มเขียนหนังสือ เรื่อง Siam in Transition เขายังอยู่ที่ตรังกับครอบครัว มีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ ตอนเป็นผู้สำเร็จราชการ เกิดอยากจะแต่งงานในโบสถ์คริสเตียน กับสาวตรังซึ่งเป็นคริสเตียน นายคนสนิทนี้ก็มาหา นาย Kenneth เพื่อขออนุญาตนาย Kenneth ให้คู่บ่าวสาวได้แต่งงานและทำพิธีในโบสถ์ นาย Kenneth ดีใจจนบอกไม่ถูก เห็นโอกาสทองลอยอยู่ข้างหน้า เขาบอกกับนายคนสนิทว่า ได้สิ ถ้าคุณหาเอกสารมาให้ผมชิ้นหนึ่ง เอกสารนั้นคือบทความเค้าโครงเศรษฐกิจ ฉบับที่นายปรีดีเขียน เพื่อจะนำมาใช้กับประเทศไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงไม่เห็นด้วย ทรงเห็นว่านายปรีดีมีแนวความคิดเช่นลัทธิคอมมิวนิสม์ ต่อมาเอกสารนั้นก็ถูกเก็บ เป็นเอกสารต้องห้าม ไม่มีใครได้เห็นอีก (นาย Kenneth นี่ต้องนับว่าเป็นนักฉวยโอกาสตัวยงจริงๆ) คงจะเป็นเพราะกำลังหน้ามืดอยากแต่งงานเต็มแก่ นายคนสนิทลงทุนไปเอาเอกสารมาให้นาย Kenneth รวมทั้งแถมรายงานการประชุมคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่านายปรีดี เป็นคอมมิวนิสต์และที่ประชุมเห็นว่านายปรีดี ควรลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
ภายหลังเมื่อนาย Kenneth ได้เขียนหนังสือ Siam in Transition เขาได้นำเอกสารทั้ง 2 ชิ้นมาแนบท้ายหนังสือไว้ด้วย แต่หนังสือนี้ถูกห้ามขายในประเทศไทย
หลังจากเขาได้เอกสารนี้มาไม่นาน พระองค์เจ้าธานีฯ (นาย Kenneth เขียนชื่อไว้เช่นนั้น) ทรงทราบข่าวที่นาย Kenneth ได้เอกสารนี้มา ท่านสนใจมากถึงขนาดลงทุนเดินทางจากกรุงเทพมาหานาย Kenneth ที่ตรัง เพื่อขออ่านเอกสารทั้ง 2 ชิ้น (แสดงว่าเอกสาร 2 ชิ้นนี้ต้องมีความสำคัญมากสำหรับ การเมืองของไทย แล้วมิชชั่นนารี ซึ่งไม่น่าจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองบ้านเรา ทำไมถึงให้ความสนใจจนลืมมรรยาท ถึงกับใช้วิธีการฉวยโอกาสอย่างคนไม่มีระดับถึงขนาดนี้!?) นาย Kenneth รู้ว่าเอกสารนี้ต้องห้าม เขาเลยเอาไปซ่อนไว้ในกองหนังสือพิมพ์ในห้องส้วมของเขาและ พระองค์เจ้าธานีฯ ก็ต้องไปนั่งอ่านเอกสาร โดยล็อคตัวเองอยู่ในส้วมของนาย Kenneth !
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายหลายพระองค์ รวมทั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ กรมพระยาดำรงฯเสด็จไปอยู่ปีนัง เมื่อนาย Kenneth และครอบครัวจะกลับอเมริกา เขาเดินทางไปเยี่ยมท่านที่ปีนัง เขาอ้างว่าเป็นการเยี่ยมในฐานะเพื่อนเก่า ระหว่างคุยกัน เขาถามกรมพระยาดำรงฯ ว่าท่านจะยินยอมให้เขานำหนังสือที่ท่านทรงสะสมไว้ มอบให้แก่มหาวิทยาลัยในอเมริกาหรือไม่ เพราะกรมพระยาดำรงฯ ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาฯ อยู่ช่วงหนึ่ง และท่านได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้ทรงจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งกรมพระยาดำรงฯก็จัดตั้งเรียบร้อย โดยหนังสือทุกเล่มที่อยู่ในหอสมุด ท่านก็จะมีอีกชุดหนึ่งเก็บไว้ที่ท่านเอง รวมทั้งหนังสือที่ท่านทรงสะสมเอง ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณคดี ศาสนา ฯลฯ ของไทยและเอเซียตะวันออก มีทั้งเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส กรมพระยาดำรงฯ ตอบว่าท่านเสียดายที่หนังสือนั้นจะไม่มีใครสนใจอีกต่อไป แต่ถ้ามีมหาวิทยาลัยที่สนใจ มีคนได้ศึกษาและมีคนอย่างนาย Kenneth ดูแลท่านก็ยินดีที่จะยกให้
แล้วนาย Kenneth ก็นำรายชื่อหนังสือประมาณ 600 เล่ม ของกรมพระยาดำรงกลับอเมริกาไปด้วย โดยเขาอ้างว่า เขาจะนำไปจัดทำห้องสมุดไทยหรือเอเซียตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยดังๆ ในอเมริกา ค่าเดินทางไปปีนังนี่มันคงไม่ใช่ราคาถูกๆ แต่คงจะเป็นการลงทุนที่เกินคุ้มหลายร้อยเท่า เมื่อเทียบกับรายชื่อหนังสือ 600 เล่ม ที่นาย Kenneth จะเอาไป อ้างว่าเป็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของเมืองไทยที่จะมอบให้นาย Kenneth ที่จะได้มาโดยการ “กล่อม” ซึ่งต่อมาเขาได้นำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสร้างประโยชน์ให้แก่อเมริกาอย่างมหาศาล ในการใช้เป็นต้นแบบเครื่องมือการล่าชนิดหนึ่ง!
(หมายเหตุคนเล่านิทาน : เข้าใจว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านคงกำลังเศร้าพระทัย จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และจากการที่คณะราษฎร์แสดงความไม่ประสงค์ดีต่อท่าน จนท่านถึงกับต้องเสด็จไปประทับอยู่ปีนัง ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ สนใจศึกษาหาความรู้ ทรงเก็บสะสมหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้แยะ เมื่อคณะราษฎร์ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนการปกครอง ซึ่งอาจจะกระทบถึงวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งหลักสูตรการศึกษา ฯลฯ หนังสือต่างๆ เหล่านั้น คณะราษฎร์อาจไม่เห็นประโยชน์อีกต่อไป เมื่อนาย Kenneth เข้าไปขอในจังหวะนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะคล้อยตาม !)


ตอนที่ 4

ระหว่างที่อยู่นครศรีธรรมราช นาย Kenneth อยู่กับสังคมชาวมิชชั่นนารี ซึ่งมีภาระกิจต่างๆ กัน ท่านสาธุคุณ E. P Dunlap ผู้ซึ่งชาวมิชชั่นนารีชื่นชมมากกว่าเป็นคนเดียวที่สามารถเข้าถึงกษัตริย์ไทย เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงรัชกาลที่ 7 ให้ความสนิทสนมด้วย ถึงกับทรงนับว่าเป็นเพื่อน นอกจากนี้ยังมีท่านสาธุคุณ Frank L. Snyder กับครอบครัว ซึ่งครอบครัวนี้เดิมอยู่บางกอก นาย Snyder ทำหน้าที่ดูแลการเงินของพวกมิชชั่นนารี ซึ่งแน่นอนคนคุมเงินยอมมีอำนาจ นาย Snyder เข้าไปร่วมวงกับพวกคนจีน และรวมกันตั้งโบสถ์คริสเตียนร่วมกับคนจีน ต่อมาก็สร้างตึกให้กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน วันหนึ่งนาย Snyder เขียนจดหมายไปถึงใครคนหนึ่งในอเมริกา ในจดหมายด่ารัฐบาลไทยเสียไม่เหลือ นาย Snyder คงไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยก็ทำการตรวจสอบเป็นเหมือนกัน รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งให้นาย Snyder เป็นบุคคลต้องห้าม Personna non grata และให้ออกนอกประเทศไป ต่อมาทางมิชชั่นนารีขอร้องรัฐบาลไทยยินยอมให้นาย Snyder กลับมาอยู่เมืองไทย แต่ไปอยู่ไกลหูไกลตา รัฐบาลไทยก็ยอม ทางคณะมิชชั่นนารีจึงส่งนาย Snyder มาประจำอยู่นครศรีธรรมราช สรุปว่า รัฐบาลไทยนี้ใจอ่อน มองแต่เสื้อคลุมเครื่องแบบไม่ไส่ใจเนื้อในของผู้ใส่ และนครศรีธรรมราชนี่น่าจะเป็นชุมทางสำคัญ !
ระหว่างที่อยู่ที่นครศรีธรรมราช วันหนึ่งประมาณปี ค.ศ. 1929 หรือ 1930 นาง Margaret ไปเยี่ยมคุณหมอ Edwin Bruce Mcdaniel ซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของนครศรีธรรมราช คุณหมอยื่นหนังสือเล่มหนึ่งให้นาง Margaret ชื่อ “The English Governess at the Siamese Court” เขาบอกกับนาง Margaret ว่า หนังสือเล่มนี้ต้องห้ามนะ คนไทยไม่ชอบ แต่เอาไปอ่านเถอะ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Anna Leonowens เป็นสำนวนวิกตอเรียนในยุค ค.ศ. 1860 สำหรับหลายๆ คน อาจเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ อ่านแล้วง่วง เหมือนกินยานอนหลับ แต่สำหรับนาง Margaret กลับตรงกันข้าม มันเหมือนนางกินยาอีเข้าไปแทน นางเพลิดเพลินกับหนังสือจนอ่านแบบรวดเดียวจบ ลืมวันเวลาไปเลย คงนึกว่าตัวเองเป็นนาง Anna ?!
ต่อมาคุณหมอ Edwin ก็ยื่นหนังสือให้นาง Margaret อีกเล่ม ชื่อ Romance of the Harem (คุณหมอนี่ช่างสะสมหนังสือ “ต้องห้าม” เสียจริง พวกมิชชั่นนารีนี่ถ้าจะชอบการผจญ “ภัย”)หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ ติดอยูในใจของนาง Margaret มาตลอด จนเมื่อกลับมาที่อเมริกา นางตั้งใจจะหาหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ให้ได้ และตั้งใจจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Anna นาย Kenneth สาธยายชื่นชมเมียว่าเป็นคนช่างเขียน ช่างจดช่างจำ ละเอียดละออ เขียนอะไรก็ไพเราะไปหมด ไม่ว่าเขียนหนังสือธรรมดาหรือเขียนเป็นโคลง (น่าจะปลื้มเมียมากเอาการ) เขาพยายามหนุนให้เมียเขียนหนังสือ โดยเฉพาะเรื่อง Anna นี้อยู่ตลอดเวลา
แล้ววันหนึ่งขณะที่เดินเข้าไปในร้านหนังสือที่เมือง Chicago นาง Margaret ก็ไปเจอหนังสือชื่อ “English Governess” ในราคาถูกมาก หลังจากนั้นก็ไปเจอหนังสือ Harem อยู่ในกองหนังสือที่ขายแบบเลหลัง นาง Margaret บอกว่าแบบนี้แล้ว ฉันคงจะต้องเขียนหนังสือเรื่อง Anna แล้วละ ยังกับสวรรค์ประทาน ทำนองนั้น
ระหว่างที่ประจำอยู่ที่ตรัง นาย Kenneth บอกว่าเขาต้องเดินทางตลอดเวลา เพื่อไปเยี่ยมและไปสอนศาสนาตามมิชชั่นนารีต่างๆ ที่มีอยู่หลายจังหวัดทางภาคใต้ วันหนึ่งเขาต้องเดินทางโดยเรือไปจากชุมพร แล่นเรือออกไปในเวลากลางคืน เรือแล่นไปสักพัก รู้สึกเรือแล่นได้ช้าลง และเครื่องยนต์ทำท่าจะไปไม่รอด ทะเลกลายเป็นสีดำ และเมื่อมองไปทางฝั่งและยอดคลื่น เขาเห็นแสงเรืองของฟอสฟอรัสสว่างไสวเต็มไปหมด มันเป็นภาพที่นาย Kenneth บอกว่าไม่มีวันจะลืม เรือแล่นไปบนทะเลสีดำ ด้านซ้ายมองเห็นประภาคารอยู่ไกลๆ ฟองน้ำแตกตามรอยเรือแล่น สว่างด้วยแสงฟอสฟอรัส และทั้งทะเลเหมือนประกายเพชรระยิบระยับ เขารู้สึกเหมือนเรือแล่นอยู่บนฟองน้ำมัน ทะเลทั้งผืนเหมือนเต็มไปด้วย น้ำมัน !
ไม่กี่ปีต่อมา ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันในอ่าวไทย ก็เป็นข้อมูลที่อเมริกาให้ความสนใจยิ่ง ถึงขนาดเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ขณะที่อังกฤษกำลังฉวยโอกาส จากการที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาตามญี่ปุ่น อังกฤษกะเล่นงานไทยกลับอย่างเจ็บแสบ ด้วยการยื่นข้อเรียกร้อง 21 ข้อ อเมริกากลับบอกไม่ติดใจ และเข้ามาช่วยไทยเจรจาอังกฤษ เรียกว่าอ้าแขนมาปกป้องไทยแลนด์สมันน้อย อย่างพี่เบิ้มใจดี ดีจนเหลือเชื่อ ขณะเดียวกันก็เสนอความช่วยเหลือแก่ไทยหลังสงครามโลก สมัยจอมพล ป. คนใส่หมวกแล้วชาติเจริญ เป็นนายกรัฐมนตรี


ตอนที่ 5

เมื่อครอบครัว Kenneth กลับมาถึงอเมริกา นาย Kenneth กลับไปทำปริญญาเอกต่อที่มหาวิทยาลัย Chicago เมื่อได้ปริญญา เขาก็รีบหางาน เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกากำลังตกสะเก็ด งานที่เขาคิดจะทำและน่าจะสมประโยชน์ คือ ไปติดต่อมหาวิทยาลัยดังๆ ในอเมริกา ให้ตั้งแผนก Southeast Asian Studies ด้วยหนังสือที่จะได้รับมาจากกรมพระยาดำรงฯ โดยเขาจะเป็นหัวหน้าแผนกวิชา เขาไปทุกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เช่น Princeton, Columbia, Yale, Pennsylvania, Harvard และ Chicago ฯลฯ แต่ไม่เป็นผลไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้จัก สยาม รู้จักแต่จีนและเวียตนาม ส่วนใหญ่จะรู้จักประเทศที่เป็นอาณานิคม
มหาวิทยาลัยต่างๆนี้มันอยู่ไกลกันคนละเมือง งานก็ไม่มีทำ เงินก็ไม่มี แล้วเดินทางได้ยังไง น่าสงสัยจริง แล้วนาย Kenneth ก็สารภาพมาเองว่า ที่เขาสามารถเดินทางไปติดต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ เพราะเขาได้รับการเงินทุนสนับสนุน จาก the American Council of Learned Societies สมาคมนี้เป็นสมาคมเก่า ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1919 โดยผู้รักการศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทางด้านมนุษย์วิทยาและสังคมวิทยา และเน้นหนักทางเอเซียตะวันออกและลาตินอเมริกา ตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1930 กว่า สมาคมนี้มีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ ชื่อนาย John D. Rockefeller (เขียนมาถึงตรงนี้ นักอ่านนิทานจมูกไว ร้องอ๋อกันเป็นแถว บอกไม่ต้องอ่านก็ต่อได้ แค่นี้ก็รู้เรื่องแล้ว เอาน่า อ่านต่อไปเถอะครับ มันอาจจะมีมากว่าที่นึกก็ได้)
หมดท่าเข้านาย Kenneth จึงสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ชื่อ Earlham College ในปี ค.ศ. 1939 ขณะเดียวกัน ก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาปรัชญาจีนบ้าง อินเดียบ้าง ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังเล่นยิงกันอยู่แถวยุโรป อเมริกายังสงวนท่าที ทำเป็นเฉยไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง วันหนึ่งประมาณปลายปี ค.ศ. 1941 ระหว่างที่ครอบครัว Kenneth ไปพักผ่อนที่ทะเลสาบแถว Michigan ขณะเขากำลังพายเรืออยู่กับลูกในทะเลสาบ เมียก็มาตะโกนบอกว่า มีโทรศัพท์ถึงเขาจากวอชิงตัน ให้เขาโทรกลับไป นาย Kenneth บอกไม่รู้จักใครเลยที่วอชิงตัน แต่เขาก็โทรกลับไป เขาบอกว่าโทรศัพท์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตเขาโดยสิ้นเชิง (เป็นไปตามแผน !?)
เมื่อเขาโทรศัพท์ไปที่วอชิงตันตามหมายเลขที่ให้ไว้ คนที่รับโทรศัพท์บอกว่าเป็นนายพล Donovan และพูดในฐานะตัวแทนของประธานาธิบดี Roosevelt นาย Kenneth แทบหยุดหายใจ ท่านนายพลต้องการให้นาย Kenneth มากรุงวอชิงตันเดี๋ยวนี้เลย (โอ้พระเจ้า แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง มันเรื่องจริงหรือนี่ นาย Kenneth คงคิดอยู่ในใจ) เพื่อมารายงานเกี่ยวกับเรื่องญี่ปุ่นและอินโดจีนให้ประธานาธิบดีทราบ
นาย Kenneth นี้ต้องเป็นคนรอบคอบ (เค็ม !) เอาเรื่อง ขนาดบอกประธานาธิบดีให้ไปพบ เขากลับถามว่าออกค่าใช้จ่ายให้เขาหรือเปล่า และต่อรองเรื่องค่าจ้างก่อนที่จะตอบตกลง เมื่อตกลงเรื่องค่าจ้างได้ เขาจึงตอบตกลงว่าจะไปพบ
ประธานาธิบดี Roosevelt ต้องการรู้ว่า ญี่ปุ่นมีความคิดเกี่ยวกับอินโดจีนอย่างไร และมีความตั้งใจเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างไร และถ้าญี่ปุ่นคิดจะบุกประเทศไทย จะบุกมาทางใดและช่วงเวลาไหน ฯลฯ คำถามแบบนี้ นาย Kenneth บอกหมูสะเต๊ะ เขารู้คำตอบตั้งแต่ก่อนจะถามแล้ว
เรื่องมันจะบังเอิญไปหน่อยหรือเปล่านะ นาย Kenneth เล่าว่า เมื่อประธานาธิบดีต้องการรู้เช่นนั้น ลูกน้องก็ตาหูเหลือก ไม่มีใครรู้จักสยามเลย รู้จักญี่ปุ่นนิดหน่อย นาย Donovan (ชื่อเต็มคือนาย William Donovan หรือ Wild Bill Donovan) ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดี ให้เป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์การรบ ก็ต้องไปเดินคลำหาคนที่รู้จักสยาม แห่งแรกที่เขาไป คือ ห้องสมุดรัฐสภา Library of Congress หัวหน้าห้องสมุดชื่อนาย Ernest Griffith บอกว่าที่นี่ไม่มีใครรู้เรื่องสยามกับอินโดจีนหรอก นู่น คุณลองไปถามที่ American Council of Learned Societies ดูซินะ มันพวกคงแก่เรียนทั้งนั้นที่นั่นแหละ ที่เดียวที่น่าจะรู้เรื่อง แหม ! ยังกะล็อคโผ ไปถามหานาย Mortimer Graves นะ เขาคงจะรู้ที่สุดแหละ คำตอบที่นาย Donovan ได้จากนาย Graves ก็คือ น่าจะมีคนเดียวนะ ชื่อนาย Kenneth Landon ไปติดต่อเขาดูแล้วกัน นาย Donovan บอกงั้นเขาจะให้ฝ่ายข่าวกรองตรวจสอบประวัตินาย Landon นี่ก่อน ว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงที่รู้เรื่องสยาม อินโดจีน และญี่ปุ่นหรือเปล่า
(หมายเหตุคนเล่านิทาน : ผมเพิ่งไปอ่านเจอเอกสารฉบับหนึ่ง บอกว่านาย Donovan เป็นเครือข่ายของพวก CFR ! หน่วยงานที่อยากให้อเมริกา ค้าสงคราม เลยต้องทำความรู้จักเขาหน่อย นาย William J. Donovan จบกฏหมายจากมหาวิทยาลัย Columbia ตอนเรียนหนังสือมีเพื่อนร่วมชั้นชื่อนาย Franklin Delano Roosevelt เมื่อเรียนจบมา ก่อนเปลี่ยนเข็มไปเป็นทหาร เขาทำอาชีพนักกฏหมายตามที่เรียนมาก่อน ประสพความสำเร็จอย่างสูงจากฝีมือและฝีปาก ซึ่งดังไปเข้าหูนาย Rockefeller จึงจ้างเขาไปทำงาน “War Relief Mission” ในยุโรป พูดให้เฉพาะก็คือไปอยู่ที่ Belgium ประเทศที่มีเมืองหลวงชื่อ Brussel ที่เป็นที่ตั้งชุมทางนักล่าชั้นสูง สมาคม Bilderberg นั่นเหละ War Relief หรือ เรียกอีกชื่อว่า American Relief นี้ ไม่รู้ทำอะไรมั่ง จะต้องไปตามสืบต่อ แต่ทำให้นาย Donovan ต้องอยู่แถวยุโรปอยู่หลายปี และทำให้เขามีโอกาสรู้จักผู้ที่ไปมาแถวยุโรปมากมาย คนหนึ่งคือนาย William Stephenson เป็นชาวแคนาดา ซึ่งเป็นสายลับตัวฉกาจ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำงานประสานระหว่างยุโรปกับอเมริกา เขาเขียนหนังสือชีวประวัติของตัวเองไว้ชื่อ The Man Called Intrepid (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำมาแปลเป็นไทย และทรงตั้งชื่อเรื่องว่า “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”) ต่อมานักเขียนชื่อดัง Ian Fleming นำมาดัดแปลงเป็นบุคลิกของพระเอก James Bond สายลับ 007
เมื่อนาย Donovan จะต้องตั้งหน่วยงาน OSS สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Stephenson นี้มีส่วนช่วยอย่างสำคัญ เรื่องของนาย Donovan เองก็โลดโผนโจนทยานไม่น้อย เรียกว่าเอาไปเป็นพระเอกหนังบู๊ปนรักหักเหลี่ยมสายลับได้อย่างสบาย ไม่แพ้ James Bond เหมือนกัน ไม่รู้หลุดมือนักสร้างหนัง Hollywood มาได้ไง)
เมื่อฝ่ายข่าวกรองโทรไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกมหาวิทยาลัยตอบเหมือนกันหมดว่า ถ้าจะมีคนรู้เรื่องสยามกับอินโดจีน ก็น่าจะเป็นนาย Kenneth นี่แหละ (ก็จะไม่ใช่ได้ยังไง เดินสายขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้ง Southeast Asian Studies อยู่เป็นปี !) แล้วนาย Kenneth ก็ถูกโทรศัพท์ตามตัวจากทะเลสาบ Michigan ให้มาพบประธานาธิบดี Roosevelt
ส่วนคำตอบของนาย Kenneth เกี่ยวกับญี่ปุ่นนั้น นาย Kenneth บอกเขาไม่รู้หรอกว่าญี่ปุ่นคิดอย่างไรกับไทย แต่รู้ว่าถ้าญี่ปุ่นจะบุกไทย ถ้าญี่ปุ่นฉลาด ญี่ปุ่นน่าจะมาช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน เพราะก่อนหน้านั้นเป็นหน้ามรสุม ฝนตกชุก! ไม่น่ามีใครบ้าเคลื่อนทัพ และขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของหนักระหว่างฝนตกน้ำท่วม รถแท๊งค์ ปืนใหญ่จมโคลนหมด คำถามต่อไปว่า แล้วถ้าญี่ปุ่นจะมาทางรถ จะขับมาได้ถึงไหน นาย Kenneth บอกญี่ปุ่นไม่น่าจะใช้ทางหลวง เพราะเป็นเป้า น่าจะมาทางป่าและสามารถใช้จักรยานขี่ผ่านสวนยางไปตลอดทางใต้ถึงแหลมมาลายู ฯลฯ และเมื่อญี่ปุ่นบุกอินโดจีนจริงๆ ญี่ปุ่นไม่ได้ยกพลมาลงที่กรุงเทพ แต่ไปลงที่ Kota Baru ในมาลายู และขนเอาจักรยานมาด้วย ขี่ลงใต้ไปจนถึงแหลมมาลายู (ฟังดูแล้วคำถามของอเมริกานี่พื้นมาก ไม่น่าจะเป็นคำถามของพี่เบิ้มเลย ไม่รู้ว่านาย Kenneth อมข่าวหรือเต้าข่าวให้เราฟังกันแน่)


ตอนที่ 6

แล้วนาย Kenneth ก็ตกลงจะทำงานช่วงสั้นเฉพาะกิจให้นาย Donovan ใน office of the Co-Ordination (OCI) ซึ่งนาย Donovan ตั้งขึ้น (สงสัยเพราะตกลงราคาค่าจ้างยังไม่เป็นที่พอใจกัน อดีตมิชชั่นนารี ต่อรองกับอดีตนักกฏหมาย ผลก็น่าจะพอเดากันออก)
นาย Donovan เคยไปรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เก่งกล้าสามารถมาก จนได้สมญาว่า “Wild Bill Donovan” เขาเชื่อว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นแน่ และอเมริกาจะต้องเกี่ยวข้องด้วย (ทำไมนาย Donovan ถึงเชื่อเช่นนั้น เอ! หรือนาย Donovan จะเกี่ยวกับ CFR จริง !) แต่ตอนนั้นไม่มีใครในอเมริการู้จักคู่รบของอเมริกาเลย เขาจึงเตือนประธานาธิบดี Roosevelt ให้เตรียมตั้งหน่วยงานข่าวกรอง เพื่อหาข้อมูลและข่าวเกี่ยวกับญี่ปุ่นและประเทศแถบอินโดจีนเอาไว้
เมื่อประธานาธิบดี Roosevelt เห็นชอบด้วย นาย Donovan จึงตั้งหน่วยงานชื่อ Office of the Co-Ordination of Information (OCI) ขึ้น ซึ่งต่อมาเมื่ออเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มตัว OCI ได้เปลี่ยนเป็น Office of Strategic Services (OSS) ภายใต้การดูแลของนาย Donovan เช่นเดิม
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง OSS ได้ถูกยกเลิกและเปลี่ยนเป็น Central for Intelligence Agency (CIA) แทน นอกเหนือจากนาย Donovan ผู้ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด OSS และ CIA แล้ว นาย Kenneth บอกว่า เขาก็ถูกนับว่าเป็น “รุ่นก่อตั้ง” ของหน่วยงานข่าวกรอง OSS ด้วยเช่นกัน (นาย Kenneth นี่ ไม่ใช่แค่เป็นนักฉวยโอกาส แต่เป็นคนชี้ไม้อีกด้วย คุณสมบัติแบบนี้ถ้าเบื่อเป็นมิชชั่นนารี น่าจะไปทำงานประเภทเล่าข่าวเช้านี้ บางคนอาจตกอันดับ)
นาย Kenneth ให้เหตุผลว่า ที่อเมริกาไม่เคยมีหน่วยงานข่าวกรองของตนเอง เกี่ยวกับต่างประเทศมากนัก เพราะก่อนหน้านั้น อเมริกามีนโยบายสันโดษ (isolation) ไม่ยุ่งกับประเทศอื่นมาตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1930 ต้นๆ โดยเฉพาะไม่ร่วมทำสงครามด้วย และถ้าอยากจะได้ข้อมูลเชิงลึกอะไร อเมริกาก็จะอาศัยถามเพื่อนรัก ร่วมก๊วน 3 เกลอหัวแข็ง คือ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งข้อมูลของทั้ง 2 ประเทศ ส่วนมากก็จะเกี่ยวกับประเทศอาณานิคมของเขา (อเมริกาเปลี่ยนจากนโยบายสันโดษ เป็นนักค้าสงครามเมื่อประมาณ ค.ศ.1945 ตามแรงผลัก แรงดันของกลุ่ม CFR ที่ควบคุมนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา ผ่านคนของ CFR อีกต่อหนึ่ง!)
การบ้านที่นาย Donovan มอบให้นาย Kenneth ทำคือ ทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดีร้ายขนาดไหน ใครคุมใคร ใครได้เปรียบเสีบเปรียบ ใครมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ใส่มาให้หมด สิว ไฝ ฝ้า อยู่ตรงไหนอย่าลืมบอก รวมทั้งฝรั่งเศสไอ้จั๊กกะแร้เหม็นเขียวด้วย คนแถบอินโดจีนเขามองเจ้านี่อย่างไร เขายังอยากจะไปซบจั๊กกะแร้เหม็นอยู่อีกไหม แล้วอย่าลืมรายงานเรื่องคนไทยกับพี่ยุ่นด้วยล่ะ หลังถูกพี่ยุ่นเอารถถังมาวิ่งรอบเมืองกรุงเทพแทนรถเมล์แล้วน่ะ คนไทยทำยังไง เอาดอกไม้ไปให้พี่ยุ่น หรือเอาประทัดไปไล่ ความสัมพันธ์ของไทยกับญี่ปุ่นนี้ จะเป็นตัววัดผลแพ้ชนะของการรบในภูมิภาคนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของพี่เบิ้ม รายงานผิดเดี๋ยวได้กลับไปอยู่เมืองตรังแน่
อีกรายงานหนึ่งที่นาย Kenneth ต้องทำคือวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับลูกหาบเช่น พม่า รวมทั้ง มาลายู และสิงคโปร์ จะได้เอาไปตรวจสอบได้ว่าอังกฤษมิตรรัก บอกความจริงกับอเมริกามากน้อยแค่ไหน ถึงจะสัมพันธ์ชิดมิตรใกล้ก็เถอะ ไว้ใจกันได้ที่ไหน เรื่องของผลประโยชน์! ข้อมูลเหล่านี้ช่วยทำให้อเมริกาวางยุทธศาสตร์การรบของอเมริกา ในช่วงสงครามโลกและที่สำคัญคือช่วงหลังสงครามโลกเป็นอย่างดี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย เมืองไทยเองก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาล จอมพล ป. เจ้าของนโยบายใส่หมวกแล้วชาติเจริญ เป็นนายกรัฐมนตรีที่แสดงตัวเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น ถึงขนาดประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เอาใจญี่ปุ่นกันจนออกนอกหน้า ขณะที่คนไทยอีกพวกหนึ่งคือพวกเสรีไทย ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ (อังกฤษและอเมริกา) และอยู่ในประเทศไทย เข้ากับฝรั่งทั้งอังกฤษและอเมริกาแบบออกนอกหน้าพอกัน ประกาศไม่เห็นด้วยกับการเข้าพวกกับญี่ปุ่นของจอมพล ป. นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์ Pearl Harbor มรว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งขณะนั้นเป็นฑูตไทยประจำที่อเมริกาแต่มาธุระที่เมืองไทย รีบบินกลับไปอเมริกา เพื่อไปบอกอเมริกาว่าการประกาศสงครามของไทยต่ออเมริกาและอังกฤษนั้น เราคนไทยไม่เกี่ยวนะ ไม่ใช่ความต้องการของพวกเรา เราไม่เอ้า ไม่เอาญี่ปุ่น เราเอาพวกท่าน คนไทยขอให้พวกท่านเข้าใจและช่วยเหลือพวกเราด้วย
ในตอนนั้นนาย Donovan ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาอีกหน่วย ชื่อ Office of War Information (OWI) ทางอเมริกาจึงตกลงให้ มรว. เสนีย์ ทำการออกอากาศเป็นภาษาไทยจากอเมริกา ผ่านหน่วยงานของ OWI ประกาศเจตนารมณ์ของเสรีไทย ให้คนไทยทางเมืองไทยทราบ วิทยุเสรีไทยที่ออกอากาศเป็นภาษาไทยนี้ มีนาย Kenneth เป็นผู้ประสานงาน นาย Kenneth บอกว่าอเมริกาให้เขาคอยเฝ้าดูว่าฝ่ายไทยจะพูดจาออกอากาศตรง กับที่แจ้งไว้กับอเมริกาหรือไม่ (แสดงถึงความเชื่อใจกันอย่างเต็มที่เลย !) ในเมื่อเขาเป็นคนอเมริกันคนเดียวตอนน้ัน ที่อยู่ตรงนั้น ที่รู้ภาษาไทย จึงรับหน้าที่ประสานงานกับเสรีไทย จึงเป็นเหตุให้นาย Kenneth จึงยังทำงานกับรัฐบาลอเมริกาต่อไป (และเข้าใจว่า คงต่อรองเรื่องค่าจ้างกันจนเป็นที่ถูกใจ นาย Kenneth แล้ว)
นาย Kenneth เล่าว่า ช่วงที่สงครามโลกกำลังเข้มข้นอยู่แถวอินโดจีน ประเทศอาณานิคม เช่น มาลายู สิงคโปร์ คิดว่าอังกฤษจะช่วยรบกับญี่ปุ่นให้ แต่อันที่จริงแล้ว นายเชอร์ซิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่เคยมีเจตนาเช่นนั้นเลย นายเชอร์ซิลพร้อมที่จะทิ้งอาณานิคมของตนให้สู้ไปลำพัง สมันน้อยก็จำตรงนี้ไว้นะ ชอบเชื่อฝรั่งอั่งม้ออยู่เรื่อย เขาบอกอะไรก็เชื่อ ท้ายที่สุดเขาก็ต้องเห็นประโยชน์ของเขามากกว่า เรานึกว่าเขาจะอุ้มกระเตงเราไปตลอดหรือไง หมดประโยชน์เขาก็โยนทิ้ง เฮ้อ! บอกเท่าไหร่ไม่เคยเชื่อ บูชาคุณพ่อฝรั่งกันเหลือเกิน


ตอนที่ 7

ระหว่างสมครามโลกลามมาถึงเอเซีย ขบวนการเสรีไทยก็แตกหน่อขยายตัว มีนักเรียนไทยในอังกฤษและอเมริกาเข้ามาร่วม พวกที่อยู่ในอเมริกา อยู่ในความดูแลของสถานฑูตไทยในวอชิงตัน ส่วนที่อังกฤษ น่าจะอยู่ในความดูแลของฑูตทหารไทยในอังกฤษ ด้านอังกฤษไม่ค่อยมีกิจกรรมมากนัก แต่ทางด้านอเมริกา ผู้ช่วยฑูตฝ่ายทหาร คือ ม.ล ขาบ กุญชร และผู้ช่วย ได้รับการฝึกอบรมจากทางอเมริกาและร่วมทำงานกับหน่วยงาน OSS นาย Kenneth อ้างว่าเขาเข้าร่วมวางแผนยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการนำสายลับ เข้าไปในไทยและก่อการวุ่นวายในประเทศ เขาเล่าว่าผู้สำเร็จราชการขณะนั้น คือ นายปริดี พนมยงค์ ลาออกจากเป็นรัฐมนตรีคลัง เพื่อเป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย ซึ่งทำให้นายปรีดีไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและเคลื่อนไหวได้สะดวก เขาบอกนายปริดีนี่แหละคือคนของอเมริกา he was “our boy” และได้รับชื่อรหัสว่า “Ruth” เอาไว้ใช้ในการสื่อสารลับ อีกคนหนึ่งคือหลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ก็เช่นกันและได้ชื่อรหัสว่า “Betty”
ช่วงนั้นอเมริกาส่งสายลับมาเต็มอัตรา เดินกันขวักไขว่อยู่ในเอเซีย ผู้ที่เดินสายอยู่แถบอินโดจีน ส่วนมากจะเป็นพวกเสรีไทย มีบ้างที่เป็นสายลับอเมริกา ที่มีชื่อโด่งดังก็คือ นาย Jim Thompson (ซึ่งต่อมาเป็นราชาผ้าไหมไทย เจ้าของกิจการ Jim Thompson คนนั่นแหละ เรื่องของนาย Jim นี้ ก็น่าสนุกนะ มีคนเขียนชีวประวัติเขา มีขายกันทั่วไป ลองไปหาอ่านกันดู) จากการทำงานในช่วงนี้ทำให้นาย Kenneth กับนาย Jim รู้จักและสนิทสนมกัน ถึงขนาดเมื่อหนังสือของนาง Margaret ได้ถูกนำไปทำละคร ทำหนังเรื่อง The King and I นาย Jim นี่แหละเป็นคนส่งผ้าไหมไทยไปให้ตัดเย็บชุดดารา ทำให้ผ้าไหมไทย โดยเฉพาะของ Jim Thompson ดังเป็นพลุแตกตอนนั้นแหละ
งานจารกรรมพวกนี้ดำเนินการ โดย OSS และเนื่องจากไม่มีใครรู้จักเมืองไทยและอินโดจีน เท่ากับนาย Kenneth ช่วงนี้นาย Kenneth โอ่ว่าเขาเป็นขวัญใจของทุกหน่วยงาน ใครๆก็เรียกหา ใครๆก็อยากใช้เขา แผนที่และหนังสือพิมพ์ที่เขาเก็บสะสมมา 10 ปี และหอบกลับมาอเมริกา พิสูจน์ให้เห็นว่ามีค่าขนาดไหน สำหรับทุกหน่วยงาน เหมือนอย่างกับ นาย Kenneth รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า !
ช่วงปี ค.ศ. 1942 Kenneth ย้ายไปทำงานที่หน่วยงาน Board of Economic Warfare (BEW) โดยนาย Donovan ไม่ขัดข้อง หน้าที่ของเขาคือ ชี้เป้าสำหรับให้นักบินทิ้งระเบิด นับว่าเป็นมิชชั่นนารีพันธ์พิเศษจริงๆ อย่าลืมนาย Kenneth หอบแผนที่ไทย และรวมทั้งแถบอินโดจีนกลับมากับตัวด้วย ทำให้นักบินอเมริกันสามารถทิ้งระเบิดถล่ม ทางรถไฟไปหลายสายทั้งในจีน ฮานอย และแน่นอนรวมทั้งทางรถไฟของไทยด้วย นาย Kenneth บอกว่าผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือการถล่มเขื่อน และต้องทำตอนเขื่อนมีน้ำเต็ม ครั้งหนึ่งเขากะสถานที่และเวลาให้นักบินอเมริกันทิ้งบอมบ์เขื่อนที่เวียตนามเหนือ หลังจากเขื่อนทลาย น้ำจะท่วมพื้นที่บริเวณนั้นอย่างกว้างขวาง ไร่นาฉิบหายหมด เขาตั้งใจจะสกัดไม่ให้ญี่ปุ่นมีอาหารกิน แต่ผู้ที่รับเคราะห์คือชาวบ้าน เขามารู้จากลุงโฮจิมินท์ เมื่อมาพบกันตอนปี ค.ศ. 1946 ซึ่งบอกว่า คุณรู้ไหมระเบิดคราวนั้นทำให้ประชาชนเวียตนามอดอยากแทบตายถึง 2 ล้านคน !
หลังจากนั้น นาย Kenneth ก็ได้ถูกชวนให้ย้ายไปอยู่ สำนักงานตะวันออกไกล Far East Bureau ของกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตะวันออกไกล (Far East) จากมิชชั่นนารี กลายมาเป็นนักวางแผนอยู่ในกระทรวงต่างประเทศ แทบไม่น่าเชื่อ! งานสำคัญชิ้นแรกที่เขาทำคือ ร่างนโยบายของอเมริกาเกี่ยวกับอินโดจีนหลังสงครามโลก ให้กับประธานาธิบดี Roosevelt ซึ่งให้ธงไว้ว่า อเมริกาไม่เอาใจฝรั่งเศส และเห็นว่าฝรั่งเศสเป็นนักล่าอาณานิคมที่แย่มาก เขาร่างนโยบายอยู่ 30 รอบ กว่าจะเป็นที่พอใจของทุกคน โดยเฉพาะประธานาธิบดี ซึ่งประทับตราเห็นด้วย ด้วยการบอกว่าฉันไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสกลับมาที่อินโดจีนอีก “I want no French returned to Indochina, FDR” (เพราะเราอเมริกาจะเป็นผู้ครอบครอง อินโดจีนต่อไป ! ) เขาทำงานอยู่ที่หน่วยงานนี้จนถึงปีค.ศ. 1954
เมื่อสงครามโลกปิดฉาก อังกฤษแก้แค้นที่ไทยประกาศสงครามใส่ โดยการยื่นข้อเรียกร้องกับไทย 21 ข้อ นาย Kenneth บอกว่าข้อเรียกร้องของอังกฤษโหดมาก ถ้าไทยยอมก็เท่ากับตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทางอเมริกาเองไม่ถือว่าไทยเป็นคู่รบ และไม่ได้เรียกร้องอะไรกับไทย (แต่มีแผนการอย่างอื่น เตรียมไว้ให้โดยไม่บอกให้อังกฤษรู้) และส่งนาย Charles Yost (ซึ่งเป็นนักการฑูตที่มีประสบการณ์และชั่วโมงบินสูง เขามาประจำอยู่ที่เมืองไทยระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนหลังไปประทำที่สหประชาชาติ) และนาย Kenneth มาช่วยไทยเจรจากับอังกฤษ การเจรจาใช้เวลาอยู่หลายเดือน ในที่สุด อังกฤษยอมยกเลิกข้อเรียกร้อง 21 ข้อ เหลือเพียงข้อเดียวให้ไทยชดใช้ โดยการส่งข้าว ให้แก่อังกฤษแทน


ตอนที่ 8

ระหว่างการเดินทางมาอยู่เมืองไทย เพื่อช่วยเหลือไทยเจรจากับอังกฤษ นาย Kenneth ได้ถือโอกาสเดินทางสำรวจประเทศไทย พม่า ลาว เขมร เวียตนาม อย่างละเอียดละอออีกรอบ คุยกับรัฐบาลและประมุขของรัฐ ในฐานะตัวแทนอเมริกาผู้ชนะสงครามโลก แบบไม่มีฟกไม่มีช้ำ ใครๆ ก็ต้องเปิดประตูรับนาย Kenneth (เขามาสำรวจอะไร? สำรวจให้ใคร?)
เขาได้ไปขอพบลุงโฮจิมินท์ ซึ่งเขาทึ่งมากว่า ลุงโฮ เป็นบุคคลที่ฉลาดล้ำ นอกจากพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ลุงโฮยังพูดภาษารัสเซียได้ด้วย ลุงโฮพยายามที่ออกจากอ้อมอกและจักกะแร้เหม็นเขียวของฝรั่งเศส ได้ขอร้องให้อเมริกาช่วย มันก็เข้าทางอเมริกาอยู่แล้ว ค่อยๆ แซะไปทีละขั้น ลุงโฮรู้ด้วยว่าประธานาธิบดี Roosevelt ก็ไม่อยากให้ฝรั่งเศสมาเพ่นพ่านอยู่แถวนี้อีกต่อไป นาย Kenneth บอกลุงโฮไม่ต้องห่วง เดี๋ยวผมเดินเรื่องต่อให้ ระหว่างการสนทนาลุงโฮเล่าให้นาย Kenneth ฟังว่า ช่วงหนึ่งที่เขาหนีฝรั่งเศส เขาได้แอบเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอยู่หลายปี โดยบวชเป็นพระอยู่แถวภูพานทางเหนือของอีสาน ! ช่วงที่เป็นขบวนการใต้ดินต่อสู้กับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้กลิ่นว่าลุงโฮอยู่แถวนั้น ขนทหารมาเป็นกองทัพจะมาจับ ลุงโฮลงทุนถอดเสื้อผ้า เหลือแต่กางเกงใน เอารถเจ็กออกมาลาก แล้วเอาอาเจ้ตัวอ้วนที่ขายไก่อยู่แถวนั้น นั่งบนรถเจ็กและลากรถเจ็กที่มีอาเจ้และไก่ วิ่งผ่านทหารฝรั่งเศส ซึ่งมัวแต่ตะลึงมองความอวบของอาเจ้กับฝูงไก่ แล้วลุงโฮก็หลบมาได้ โดยไม่มีใครสงสัยมองคนลากรถตัวผอม ที่นุ่งแต่กางเกงในเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลุงโฮชอบใจมาก เล่าไปหัวร่อไป ว่าต้มไอ้จักกะแร้เหม็นเขียวได้
เมื่อเสร็จจากรายการสำรวจประเทศเพื่อนบ้าน นาย Kenneth กลับเข้ามาที่เมืองไทย และได้พบกับนายปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการ ได้เชิญเขาทานอาหารเย็น ระหว่างทานอาหาร นายปรีดีได้ถามว่า เอกสารแนบท้าย 2 ชิ้น ที่นาย Kenneth นำไปแนบท้ายหนังสือ Siam in Transition น่ะ ยูไปได้มาจากไหนนะ นาย Kenneth ไม่ยอมบอกแหล่งที่มา แต่บอกว่าเขาก็เขียนถึงปรีดีและนำเสนอเอกสารนั้นอย่างดีกับนายปรีดีนะ ซึ่งนายปรีดีก็เห็นด้วย นาย Kenneth ตามนิสัยนักฉวยโอกาส (หรือตามหน้าที่ !?) บอกนายปรีดีว่า เขาอยากได้เอกสารที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เขียนวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี แต่นายปรีดีปฏิเสธ บอกว่าคุณก็ไปหาตามวิธีที่คุณได้เอกสารของผม นั่นไง ซึ่งนาย Kenneth ก็ทำและหามาได้ (แสดงว่านาย Kenneth มีเพื่อนไทย หรือคนไทยที่อยากเอาใจฝรั่งอยู่รอบตัวแยะจริงๆ)
แต่ถึงแม้นายปรีดีจะไม่ให้เอกสารเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ตามที่นาย Kenneth ขอ แต่นายปรีดีได้มอบหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยเกือบ 700 เล่ม เมื่อนาย Kenneth ขอ นายปรีดีสั่งให้ห้องสมุดในกรุงเทพฯ จัดหนังสือตามที่นาย Kenneth ต้องการ หนังสือทุกเล่มจัดเป็น 2 ชุด ชุดหนึ่งให้นำไปไว้ที่ Library of Congress ในวอชิงตัน เป็นของขวัญจากผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ มอบให้แก่รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา และอีกชุดหนึ่งยกให้เป็นสมบัติส่วนตัวของนาย Kenneth อืม ! สมันน้อยยื่นตาข่ายดักให้นักล่าเอง นักล่าบอกแบบนี้สบายเรา อย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่า Our boy Ruth ได้ยังไง !
นอกจากเอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยที่นาย Kenneth ได้จากนายปรีดีแล้ว ระหว่างที่เดินทางมาเมืองไทยเที่ยวนี้ เขาได้แวะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษเพื่อซื้อหนังสือเกี่ยวกับสยามและประเทศไทย ที่มีคนต่างชาติและคนไทยเขียน เขาเล่าว่าทุกร้านหนังสือที่ฝรั่งเศสและอังกฤษที่เขาเข้าไป เขากวาดซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับเมืองไทยและอินโดจีนจนหมดเกลี้ยงร้าน รวมแล้วเขาซื้อทั้งหมดประมาณ 1 พันเล่ม
หนังสือทั้งหมดที่นาย Kenneth ได้ไป ไม่ว่าจะเป็นของขวัญจากใคร รวมทั้งที่เขาหาซื้อมา ภายหลังนาย Kenneth ได้นำไปใช้ในการตั้งหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับเมืองไทย และเอเซียตะวันออกอย่างละเอียดถี่ยิบ เมืองสยามที่คนอเมริกันไม่เคยได้ยิน ก็ได้รู้จักกันคราวนี้ และรู้ว่าควรจะ "จัดการ" อย่างไรกับไทยแลนด์แดนสมันน้อย การออกแบบเครื่องมือการล่ารุ่นแรกสำเร็จได้เพราะเหตุนี้! จำกันไว้ให้ดี


ตอนที่ 9

นาย Kenneth ถูกกระทรวงต่างประเทศ ส่งกลับมาทำการสำรวจเมืองไทยรอบใหญ่อีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1950 นาย Kenneth เล่าว่าเป็นปีที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทำพิธีอภิเศกสมรสกับสมเด็จพระราชินี และทำพิธีขึ้นครองราชย์ ทางอเมริกาเตรียมของขวัญที่จะถวายสำหรับพระราชพิธีอภิเศก เป็นแก้วเป่าของ Steuben ซึ่งมีชื่อมาก แต่นาย Kenneth ในฐานะเคยอยู่เมืองไทยมานาน และอ้างว่าเคยรู้จักและเคยพบพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง ก็รีบเสนอหน้าแนะนำไปยังประธานาธิบดี ให้รัฐบาลอเมริกันจัดการเปลี่ยนของขวัญ เขาบอกว่าในหลวงทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ส และโปรดฟังเพลง ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ก็เริ่มมาจากดนตรี ดังนั้นน่าจะถวายของขวัญเป็นอะไรที่เกี่ยวกับดนตรี
ในที่สุดนาย Kenneth ก็จัดการให้รัฐบาลอเมริกันถวายเครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมทั้งแผ่นเสียงของ Gershwin ครบชุด เขาอ้างว่าทรงโปรดมาก และเป็นของขวัญชิ้นเดียวที่ทรงนำไปยังวังไกลกังวล หลังจากทรงทำพิธีอภิเศกสมรสแล้ว (ไม่รู้นาย Kenneth รู้ได้อย่างไร!? แต่อย่างน้อย การแนะนำเช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า การอยู่ใกล้ เข้ามาคลุกคลีในประเทศ ทำให้นักล่ารู้จักหลายอย่างเกี่ยวสมันน้อย ดีกว่ามองจากทางไกลหรืออ่านแต่รายงาน)
ในการเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ นาย Kenneth ได้ถือโอกาสจัดการตัวเองให้ได้พบกับจอมพลสฤษดิ์ เขาบอกว่าถ้าอยากรู้เรื่องเมืองไทยต้องอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย และต้องรู้จักอ่าน “ระหว่างบันทัด” ให้เป็น จึงจะรู้ว่าคนไทยพูดเรื่องอะไรกันบ้าง อะไรเป็นข่าวในตอนนั้น ด้วยวิธีนี้ ทำให้เขารู้เรื่องเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ในหลายมุม ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ยังเป็นเพียงนายทหารระดับนายพล คุมกองทัพภาค 1 ในกรุงเทพฯ แต่เขาเห็นว่าแล้วว่าจะมีอนาคตไกล เขาจึงขอให้ฑูต Stanton ช่วยนัดให้เขาพบกับจอมพลสฤษดิ์ ฑูตบอกว่าไม่ได้หรอก ต้องผ่านฑูตทหารอีกที แล้วฑูตทหารก็จะถามว่าไปพบทำไม นาย Kenneth จึงบอกว่าไม่เป็นไร เขานัดเองก็ได้ แล้วเขาก็ให้เพื่อนคนไทยนัดให้
เพื่อนไปแจ้งสฤษดิ์ สฤษดิ์ถามกลับว่าจะมาพบทำไม เขาไม่พูดภาษาอังกฤษ (I don’t speak English) นาย Kenneth ให้เพื่อนตอบกลับไปว่า เขาก็ไม่พูดภาษาอังกฤษเหมือนกัน (I don’t speak English either !) คำตอบนี้ทำให้สฤษดิ์ขำ และสนใจนาย Kenneth ขึ้นมา จึงยอมรับนัด ปรากฎว่าเมื่อทั้ง 2 พบกันก็ถูกชะตากัน และคุยกันเป็นภาษาไทย สฤษดิ์ถามว่านาย Kenneth สนใจอะไรเขา นาย Kenneth บอกว่า เขาเชื่อว่าวันหนึ่งสฤษดิ์จะเป็นบุคคลสำคัญมากในวงการเมืองของประเทศไทย สฤษดิ์ถามว่า ฉันจะต้องไปรบกับใครหรือ นาย Kenneth บอกไม่ใช่รบแบบทหาร แต่รบในทางการเมืองละก้อใช่ สฤษดิ์ถามว่าคุณรู้ได้ยังไงนาย Kenneth บอกเขาอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ซึ่งมีบทความมากมายและถ้ารู้จักวิธีอ่าน ก็จะได้ข้อมูลอย่างนึกไม่ถึง สฤษดิ์ตอบว่าใช่ ใช่แล้ว ! หลังจากนั้นทั้ง 2 คน ก็กลายเป็นเพื่อนกัน และเป็นเพื่อนชนิดที่ไว้ใจกัน
หลังจากพบกับสฤษดิ์ นาย Kenneth เดินทางไปพบกับอดีตจักรพรรดิ์เบาได๋ (Baodai) ของเวียตนาม ซึ่งหนีลุงโฮมาอยู่ทางใต้ของเวียตนาม เบาได๋เชื่อว่าวันหนึ่งฝรั่งเศสจะคืนเอกราชให้เวียตนาม เบาได๋ขอให้อเมริกาช่วยจัดการให้ฝรั่งเศสออกไปจากเวียตนาม และช่วยให้เขากลับมามีอำนาจในเวียตนามต่อไป แล้วเขาจะให้ความร่วมมืออย่างดีกับอเมริกา นาย Kenneth เห็นว่า เบาได๋เป็นคนอ่อนแอ และไม่น่าที่จะรักษาเวียตนามไว้ได้
จากเวียตนามเขาเดินทางต่อไปพบเจ้านโรดมสีหนุที่เขมร ซึ่งขณะนั้นก็ยังไม่ได้อิสรภาพจากฝรั่งเศส ฝรั่งเศสตั้งให้เจ้านโรดมเป็นกษัตริย์ ตั้งแต่ยังเด็กโดยหวังจะให้เป็นหุ่นชักของฝรั่งเศส นาย Kenneth บอก เจ้าสีหนุเป็นคนฉลาด เจ้าเล่ห์ ลื่นไหล ลดเลี้ยวเก่งมาก เขาคิดว่าฝรั่งเศส (รวมทั้งอเมริกาด้วย) คงจะชักหุ่นชื่อสีหนุนี้ยาก
ต่อจากเขมร นาย Kenneth ก็ไปลาว เขาไปพบรัฐบาลลาวที่เวียงจันทร์ หลังจากนั้นก็ไปพบกษัตริย์ลาวที่หลวงพระบาง ตอนแรกเจ้าลาวก็ทำตัวเกร็งกับนาย Kenneth ฝ่ายหนึ่งพูดฝรั่งเศษ อีกฝ่ายพูดอังกฤษกันจนเมื่อยมือ จนนาย Kenneth พูดภาษาไทยด้วย เจ้าลาวก็ดีใจ ได้พูดลาวโดยนาย Kenneth ก็อ้างว่าเข้าใจ หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็สื่อสารกันได้ (หมายเหตุ คนเล่านิทาน : กษัตริย์ลาวที่นาย Kenneth ไปพบน่าจะเป็นเจ้าสุวรรณภูมา เพราะนาย Kenneth บอกว่าภายหลัง กษัตริย์ลาวองค์นี้ถูกพวกคอมมิวนิสต์จับได้และปฏิบัติต่อพระองค์แย่มาก ในที่สุดก็สวรรคตในค่ายกักกันของคอมมิวนิสต์)
จากลาว นาย Kenneth กลับมาเมืองไทยและเดินทางลงใต้ไปสิงค์โปร์และกัวลาลัมเปอร์ เสร็จแล้วก็ข้ามไปยังจาร์กาต้า เพื่อพบนายพลซูการ์โน เขาเจอลูกเล่นสาระพัดจากนักการเมือง และทหารที่จาร์กาต้า รวมทั้งถูกลองดี เช่น เครื่องบินที่เขาจะต้องใช้บินกลับมาสิงค์โปร์ ถูกดูดเอาน้ำมันออกจนเกลี้ยงถัง นาย Kenneth “รู้จัก” คนอินโดนีเซียจากประสบการณ์ของจริง !


ตอนที่ 10

เมื่อกลับมาถึงอเมริกา นาย Kenneth ก็ทำรายงานเกี่ยวกับอินโดจีน ในค.ศ. 1950 ส่งให้กับประธานาธิบดี นาย Kenneth บอกว่าช่วงนั้นประเทศต่างๆ ในแถบอินโดจีนก็อยากเข้าสังกัดพี่เบิ้มอเมริกาทั้งนั้น โถ ! เพิ่งเลิกรบมาใหม่ๆ สมันน้อยชาติต่างๆ ก็ยังผวาไม่หาย พี่เบิ้มก็รับมาอุปการะ (ก่อนที่อังกฤษกับฝรั่งเศส จะฟื้นและมาฉกเอาเหล่าสมันน้อยแถบนี้กลับไปกกต่อ) นาย Kenneth ได้รับมอบหมายจากกระทรวงต่างประเทศ ให้ดูแลเวียตนามและไทย ทั้ง 2 ประเทศ ก็อยากได้เงินสนับสนุนทางด้านการทหารจากอเมริกา (Military Assistance) เพื่อมาปรับปรุงกองทัพของตน อเมริกาบอกไม่มีปัญหา และก็มอบให้ประเทศละ 10 ล้านเหรียญ นาย Kenneth บอกเงิน 10 ล้านเหรียญสำหรับอเมริกา มันกระจอกมากนะ มันเหมือนเป็นสินน้ำใจเท่านั้นแหละ เอาไปทำอะไร จริงจังไม่ได้หรอก just a token, it was a symbolic aid, it didn’t amount to much !
ท่านผู้อ่านนิทานจิกโก๋ปากซอยมาแล้ว คงจำกันได้ เงิน 10 ล้านเหรียญที่อเมริกาบอกว่า just a token นั้น หลังจากอเมริกาโยนเงินจำนวนกระจอกนี้มาให้ไทย สมัยจอมพล ป. ใส่หมวกแล้วชาติเจริญเป็นนายกรัฐมนตรี อเมริกาก็จับมือไทยแลนด์สมันน้อย ทำสัญญาทาส ผูกคอตัวเอง เป็นสัญญาที่กระทรวงต่างประเทศไทยเรียกกันว่าสัญญา JUS MAC (Joint US Military Assistance Co-operation) ซึ่งสัญญานี้ยังมีผลผูกพันธ์อยู่จนทุกวันนี้ และทำให้อเมริกาสามารถเอาไปใช้ เป็นข้ออ้างในการที่จะมาตั้งฐานทัพในเมืองไทยได้ตลอดเวลา อ่านตรงนี้กันหลายๆหนหน่อยนะครับ เรากำลังจะเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ ไม่อยากเป็นขี้ข้าใครต่อไป ก็อย่าลืมตามหาสัญญานี้ และยกเลิกมันเสียที ทหารและกระทรวงต่างประเทศ นั่งทับนอนอมพนำมาจะ 60 ปีแล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราควรคิดเปลี่ยนบ้าง ทำตัวเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ท่องว่าฝรั่งคือคุณพ่อมากว่า 60 ปีแล้ว เหลือเชื่อจริงๆ )


ตอนที่ 11

ค.ศ. 1953 นาย Donovan ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชฑูตอเมริกาประจำเมืองไทย นาย Kenneth บอกว่าที่นาย Donovan ต้องมาเป็นฑูตที่เมืองไทย มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่นาย Donovan ไม่พอใจนัก เนื่องมาจากเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ประธานาธิบดี Truman ก็สั่งยกเลิกหน่วยงาน OSS ของนาย Donovan เมื่อนาย Eisenhower ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาสั่งให้มีการจัดตั้งหน่วยงานข่าวกรองรูปแบบใหม่ คือ Central Intelligence Agency (CIA) หน่วยงานนี้ให้ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี นาย Donovan ก็ดำเนินการตามสั่งจนเสร็จ และคิดว่าตนจะได้เป็นหัวหน้า CIA คนแรก แต่พอตั้งเสร็จ ประธานาธิบดี Eisenhower ซึ่งเลือกนาย John Foster Dulles มาเป็น รมว.ต่างประเทศ นาย John บอกว่าถ้าจะให้ดี ทำงานเข้าขากัน เขาแนะนำให้ประธานาธิบดีตั้งนาย Allen น้องชายเขามาเป็นหัวหน้าหน่วยงาน CIA จะดีกว่า ประธานาธิบดีก็ยอม และเพื่อไม่ให้นาย Donovan กินแห้ว เลยส่งมาเป็นฑูตที่เมืองไทย ซึ่งนาย Kenneth ว่า ก็เป็นตำแหน่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าเป็นหัวหน้า CIA หรอกนะ และตอนนั้นนาย Donovan ก็อายุ 70 ปีแล้ว
(หมายเหตุคนเล่านิทาน : นาย Kenneth น่าจะวิเคราะห์เรื่องนาย Donovan ไม่พอใจที่ต้องมาเป็นฑูตที่เมืองไทยไม่ถูกต้อง มันน่าจะตรงกันข้าม นาย Donovan น่าจะถูกเลือกมาโดยเฉพาะให้มาเป็นฑูตในตอนนั้น เพราะเป็นช่วงที่อเมริกากำลังจะเริ่มรบกับเวียตนาม จำเป็นต้องทำการเข้าใจทั้งการรบ และเข้าใจทั้งเมืองไทยและอินโดจีนอย่างดี และอาจจะมีภาระกิจอื่นแถม! นาย Donovan รู้จักคนไทยสำคัญๆหลายคน สมัยทำงาน OSS น่าจะได้รับความร่วมมือมากกว่าจะเอาหน้าใหม่มา หมายเหตุเพิ่มเติม ทั้งประธานาธิบดี Eisenhower นาย John Foster Dulles และนาย Donovan ล้วนเกี่ยวกับ CFR ทั้งสิ้นครับ)
เมื่อนาย Donovan ได้เป็นฑูตประจำไทย นาย Kenneth เป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศอเมริกา ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศไทย ทั้ง 2 คน จึงได้กลับมาร่วมงานกันอีก นาย Kenneth ถือโอกาสติดตามนาย Donovan มาเมืองไทย อ้างว่าจะมาติวเข้มให้ ว่าใครเป็นใครในเมืองไทย เรื่องนี้ ต้องยอมรับว่านาย Kenneth "รู้งาน" เพราะสมัยนายDonovan คุมหน่วย OSS ตอนสงครามโลก แม้เขาจะรู้จักกับคนไทยที่ร่วมงาน OSS เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตอนหลังหมดอำนาจ แถม ยืนอยู่คนละค่ายกับ จอมพล ป ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นอีกด้วย การเมืองไทยซึ่งช่วงน้ันแบ่งเป็นหลายก๊ก หลายแก๊งค์ ถ้าไม่ติวกันให้ดี อาจจะมีการเหยียบตาปลาเสียเรื่องกันซะเปล่าๆ
นาย Kenneth โม้ต่อไปว่า เดิมอเมริกาให้การสนับสนุนแก่เผ่า (อตร.สมัยนั้น โดยเฉพาะด้านตำรวจตระเวนชายแดน) แต่เป็นเพราะฝีมือเขานะ ที่หว่านล้อมให้นาย Donovan ทำเรื่องไปทางวอชิงตันว่าควรสนับสนุนสฤษดิ์ด้วย เพราะสฤษดิ์น่าจะเป็นผู้นำที่ดีกว่าเผ่า วอชิงตันเห็นด้วย และเริ่มให้การสนับสนุนทางการทหารและการเงินแก่กองทัพไทย และด้วยเงินสนับสนุนของอเมริกานี้ ทำให้สฤษดิ์เริ่มมีรัศมีอำนาจฉายแสงสู้กับเผ่าได้ ทั้ง 2 คน แข่งกันสร้างอำนาจและสร้างพรรคพวก อย่างสูสีกัน ถ้าเป็นม้าแข่งก็ต้องตัดสินด้วยรูปถ่าย
ยังไม่รู้ว่าใครจะเข้าวิน สฤษดิ์ก็ดันล้มป่วย อเมริการีบประคองส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล Water Reed (แสดงว่าคุณป๋าถ้าจะเข้าวิน) แน่นอนคนที่ไปนั่งกุมมือคุณป๋ายามป่วย นอกจากนายพล Erskine (ที่ประจำอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของ Pentagon ที่รัฐบาลอเมริกาส่งมาประกบสฤษดิ์เป็นพิเศษ และภายหลัง กลายเป็นเพื่อนซี้ ขนาดคุณป๋ายกลูกชายคนโต ให้เป็นลูกบุญธรรมของท่านนายพล) แน่นอนย่อมต้องมีนาย Kenneth นี่อีกคน ที่ไปนั่งคุยเป็นภาษาไทย ไม่ให้คุณป๋าเหงาหู อย่าลืมคุณป๋าไม่ชอบพูดภาษาอังกฤษ เมื่อไปนอนอยู่ต่างบ้านต่างเมือง มีตลกหัวทองมานั่งพูดไทยด้วย มันก็หายเมื่อยมือเวลาพูดไปแยะ บางวันคุณป๋าก็ออกไปนั่งเล่น กินข้าวอยู่ที่บ้านนาย Kenneth ซึ่งถือโอกาสผูกมิตรชิดใกล้เข้าไปเรื่อยๆ แบบนี้ มันก็น่าจะสร้างความอบอุ่นหัวใจของคุณป๋าไม่น้อย เป็นธรรมดาของคนอยู่ไกลบ้าน
คุณป๋าสฤษดิ์หายป่วยกลับมาเมืองไทยไม่นาน คุณป๋าก็ทำการรัฐประหารดีดจอมพล ป. ออกไปนุ่งกิโมโนอยู่ญี่ปุ่น ส่วนนายเผ่า Sea Supply คู่ปรับเก่าก็ถูกส่งตัวไปนั่งนับเนยแข็งอยู่ที่สวิส หลังจากตั้งหุ่นชื่อ พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพอยู่แป๊บหนึ่ง คุณป๋าก็รัฐประหารใหม่ คราวนี้เลิกเหนียม ตัดใจเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ระหว่างคุณป๋าเป็นนายกฯ ก็ทำงานใกล้ชิดกับอเมริกา คุณป๋าทหารหาญคิดว่าอเมริกานักล่า เป็นเพื่อนรักยามยาก มาช่วยเหลือไม่ให้คอมมี่บุกไทยแลนด์ อยากได้อะไร เปรยปั๊บ ได้ปุ๊บ คุณป๋าก็เลยทั้งทุ่มทั้งเทตอบ ใครจะนึกว่าเพื่อนรักแอบเล่นบทตามสุภาษิต ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า มิตรรัก จดจำกันไว้ อย่าได้เชื่อจนหมดใจ เหลือที่ไว้ เผื่อขาด เผื่อเหลือบ้าง จะได้ไม่ต้องนั่งชีช้ำ นึกถึงประเทศอิหร่าน ฟิลิปปินส์ ลิเบีย อียิปต์ อาฟกานิสถาน อิรัก ฯลฯ ไว้บ้างก็แล้วกัน
ส่วนนาย Kenneth เอง น่าจะได้ความดีความชอบไม่น้อย จากการแทงม้าถูกตัว เมื่อคุณป๋าเป็นนายกไทยแลนด์ สัมพันธ์ไทยอเมริกาลื่นเหมือนทาด้วยน้ำมันของ Standard Oil นาย Kenneth จึงได้ย้ายไปนั่งคอยืดอยู่สภาความมั่นคงของอเมริกา National Security Council (NSC) เรียกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับ “วงในสุด” ของอเมริกา เขาอยู่หน่วยงานที่รับผิดชอบวางแผนเกี่ยวกับ ความมั่นคงของประเทศ และติดตามผลงาน แม่เจ้าโว้ย ! มันใหญ่จริงๆ สำหรับอดีตมิชชั่นนารีจากเมืองตรัง เขาทำงานกับหน่วยงานและบุคคลระดับใหญ่ และลับเฉพาะสูงสุดของประเทศ เช่น รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ หัวหน้างานข่าวกรอง (CIA) อะไรทำนองนั้น หน้าที่ของเขาคือร่างแผนปฏิบัติการณ์ในภูมิภาคเอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เขาทำงานนี้จนถึงสมัยรัฐบาล Kennedy เป็นมิชชั่นนารี พันธ์พิเศษจริงๆ เก่งขนาดร่างแผนการล่าได้ หรือว่าเป็นภาระกิจถนัดของมิชชั่นนารีพันธ์พิเศษ ?!



ตอนที่ 12

ประมาณปี พ.ศ.1960 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล Eisenhower นาย Kenneth ขออนุญาตกระทรวงต่างประเทศอเมริกา เดินทางมาสำรวจเมืองไทย และแถบอินโดจีนอีกรอบ (!!!) ตอนนั้น นาย Alexis Johnson เป็นฑูต และ นาย Leonard Unger เป็นผู้ช่วยฑูต ทั้ง 2 คนเป็นคนฉลาดรู้จักเมืองไทยอย่างดี เข้ ากับทหารไทยได้แบบคอหอยกับลูกกระเดือก โดยเฉพาะนาย Unger เมื่อมาถึงปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ส่งนายทหารคนสนิทมารับนาย Kenneth ถึงสนามบิน จอมพลสฤษดิ์ถามเขาว่า มาทำไม นาย Kenneth บอกจะมาดูสถานการณ์ในลาวสักหน่อย หลังจากนั้นจะไปกัมพูชา ไซ่ง่อนและพม่า นาย Kenneth บอกว่า จริงๆจะมาตรวจการบ้านด้วยว่าเงินช่วยเหลือทางทหาร Military Assistance Program (MAP) ที่อเมริกาให้แต่ละประเทศ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน จอมพลสฤษดิ์บอกว่ากลับมาแล้ว มาเล่าให้ฟังกันด้วย ปรากฎว่าส่วนใหญ่ได้ผล ยกเว้นแต่ลาว ซึ่งอเมริกาให้เงินช่วยเหลือมากกว่าไทยเสียอีก แต่อเมริกาทำท่าจะเสียลาวให้แก่คอมมิวนิสต์ (และในที่สุดก็เสียจริงๆ ! ) โดยอาจจะมีการปฏิวัติโดยลาวแดงเร็วๆนี้ ขากลับ นาย Kenneth ก็รายงานเรื่องลาวอาจมีการปฏิวัติให้จอมพลสฤษดิ์ทราบ แล้วก็เดินทางต่อลงมาที่สิงค์โปร์
ที่สิงคโปร์ เขาได้พบกับเศรษฐีสิงคโปร์คนหนึ่งชื่อ Ko Geng Hsui ซึ่งเป็นกระเป๋าใหญ่ให้แก่นาย Lee Kwan Yew และภายหลังได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม นาย Ko ต้องการให้นาย Kenneth ช่วยตั้งสถาบันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ให้ ภายหลังนาย Kenneth ได้ลางานจากรัฐบาลอเมริกัน 1 ปี เพื่อมาจัดตั้งสถาบันนี้ให้สิงคโปร์ โดยเอาชาวยิวชื่อ Harry Benda จากมหาวิทยาลัย Yale มาช่วย สิงคโปร์จึงเป็นประเทศแรกในแถบนี้ ที่มีสถาบันการศึกษาลงลึกอย่างจริงจังเกี่ยวกับเอเซียอาคเณย์ ตกลงสิงคโปร์ไม่ได้ลอกเลียนแค่งานสงกรานต์ไปจากบ้านเรา แต่ลอกหลายอย่างรวมทั้งวิชาความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ประเทศที่ไม่มีรากไม่มีเหง้า ไม่มีวัฒนธรรม ประเพณีของตนเอง แต่มีคนไทยหลายคนปลาบปลื้มกับความเจริญของสิงคโปร์ จนถึงขนาดอยากให้เมืองไทยเป็นเหมือนสิงคโปร์ เศร้าครับ!
เมื่อนาย Kenneth กลับมาถึงวอซิงตัน การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังเข้มข้น แล้วนาย Kennedy ก็ชนะการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันลาวก็อาการทรุดตามที่นาย Kenneth คาด รัฐบาล Kennedy เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ยังจับต้นไม่ชนปลาย นาย Mc Geroge Bundy จอมแสบที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Kennedy ถึงจะแสนรู้อย่างไร มาใหม่ๆก็มึนรับประทาน แนะนำสั่งการอะไรไม่ถูก ได้แต่เรียกให้นาย Kenneth ให้มาสรุปสถานการณ์ในลาวให้รัฐบาลฟังก่อนตัดสินใจ ทุกอย่างอลเวงไปหมด และนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประธานธิบดี Kennedy ฉุนขาด ประกาศว่าหน่วยงาน National Security Council ทำงานไม่ได้ผล (คงไม่ให้ราคานาย Kenneth สักเท่าไหร่) ถ้าเขายุบหน่วยงานนี้ได้เขาจะยุบแล้ว เพียงแต่ต้องไปขออนุมัติจากสภาสูง ต้องออกกฏหมาย ฯลฯ ดังนั้นเขาจึงสั่ง “แขวน” พนักงานทุกคนในหน่วยงานรวมทั้งนาย Kenneth ด้วย และได้ยกเครื่องการทำงานสภาความมั่นคงเสียใหม่
หลังจากโดนแขวนอยู่หลายเดือน นาย Kenneth ก็เดินแกว่งไปตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาที่ลง เพราะแม้จะมีเงินเดือนกิน แต่ไม่มีเก้าอี้นั่งชูคอ แบบรัฐบาลก่อนๆ มันก็ทำให้เขาเสียรังวัดไปพอสมควร จะโม้อะไร โอ้อวดอะไร อย่างเมื่อก่อนก็ไม่ถนัดปาก ก็คนโดนแขวนอยู่มันจะให้โม้อะไรไหว จนวันหนึ่ง นาย Walt Rostow ซึ่งเป็นผู้ช่วยของนาย McGeorge Bundy และรู้จักกับนาย Kenneth ตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ OSS เป็นลูกน้องนาย Donovan มาด้วยกัน ก็ติดต่อนาย Kenneth บอกว่ามีงานให้ทำแล้ว ประธานาธิบดี Kennedy เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของอเมริกาไม่ว่าทหาร หรือพลเรือน เมื่อจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เมืองใด ควรรู้เรื่องเมืองนั้นอย่างดี ไม่ใช่ไปแบบยืนหน้าเซ่อ ร้องเพลงรำวงวันคริสตมาสให้ชาวบ้านฟัง (สงสัยคุณนายเคนนี่ฑูตอเมริกาคนปัจจุบัน คงไม่เคยได้รับการอบรมอะไรเลยก่อนมาประจำเมืองไทย คุณนายถึงได้ทำตัวทุเรศปานนั้น) จึงมอบหมายให้นาย Kenneth เป็นผู้จัดการหลักสูตรอบรม เกี่ยวกับการต่อต้านเหตุการณ์ไม่สงบ (Counter Insurgency) ชื่อเต็มก็คือการต่อต้านความไม่สงบ อันเกิดจากภัยคอมมิวนิสต์ในโลกที่ 3 นั่นแหละ เป็นหลักสูตรที่จัดรวมให้สมุนนักล่าไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแบบใด นาย Kenneth บอกไม่มีปัญหาขอให้จัดงบแบบไม่อั้นมาแล้วกัน นักล่ากำลังฟิต เพราะฉะนั้น เท่าไรเท่ากัน จัดไปเลยย
นาย Kenneth สารภาพว่า แรกๆ เขาก็ยังงงว่าจะทำได้อย่างไร เขาไม่ใช่ทหาร ไม่รู้เรื่องการรบ แต่เขารู้จักประเทศต่างๆ ที่คอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม เขาจึงนำประสพการณ์ ข้อมูลที่เขาได้จากการที่เขาเคยอยู่ในเมืองไทยและการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และเจอผู้คนในประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะระดับรัฐบาล ผู้นำประเทศ หรือชาวบ้านทั่วไป บวกกับข้อมูลจากหนังสืออีกเกือบ 2,000 เล่ม ที่เขาสะสมไว้ เอามาผสมปนเปแบบตอแหล ทำเป็นหลักสูตรสำหรับการอบรมประมาณ 2 เดือน เป็นการติวเข้มสมุนนักล่า
ปรากฎว่าการตอแหลได้ผลดีเกินคาด เจ้านายสั่งให้เพิ่มบริเวณพื้นที่การอบรม จากครอบคลุมเฉพาะแถบเอเซีย เพิ่มลาตินอเมริกา อาฟริกา และตะวันออกกลางเข้าไปด้วย นี่มันกำลังทำสนามนักล่าขนาดใหญ่ครอบคลุมโลกนี่หว่า นักล่าหน้าใหม่มาแรงจริงๆ แต่นาย Kenneth มีภูมิมีพื้นแค่แถบอินโดจีน แต่คนพันธ์นาย Kenneth ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เสียเหลี่ยมมิชชันนารีจากเมืองตรังหมด โม้เอาไว้เยอะ เขาบอกไม่มีปัญหา เขาไปกว้านเอาอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญตามที่เจ้านายต้องการ มาช่วยกันสร้างหลักสูตรปรับพื้นสนามนักล่าจนสำเร็จ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลิกไม่ถึง 15 ปี อเมริกานักล่าหน้าใหม่ ก็พร้อมที่ลงสนามล่า ที่ได้ส่งสมุนไปปรับพื้นทำสนาม เตรียมไว้ตามแผน โดยการอนุเคราะห์ของผู้ถูกล่าเองเสียหลายส่วน! น่าเศร้าใจจนต้องหยุดพักเขียนไปหลายวัน


ตอนที่ 13

นาย Kenneth จัดหลักสูตรปรับพื้นสนามล่า ให้การอบรมแก่เหล่าสมุนนักล่าอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นก็มีคนอื่นมารับหน้าที่ปรับพื้นสนามต่อ ตัวเขาย้ายกลับไปอยู่กระทรวงต่างประเทศ เดินแกว่งไปมาอีกรอบ จน ค.ศ. 1966 Pentagon มีงานพิเศษ Advanced Research Project Agency (ARPA) ต้องการได้ข้อมูลแบบละเอียดเหมือนทำสารานุกรม เกี่ยวกับพื้นที่แถวอีสานเหนือของไทย ที่อเมริกามาสร้างสนามบินไว้หลายแห่ง เพื่อให้เครื่องบินรบของอเมริกาบินไปถล่มเวียตมินท์ เวียตนาม หรือกัมพูชา ข้อมูลที่ Pentagon ต้องการอยู่แถวอีสาณตอนบน แถบ นครพนม มุกดาหาร และเส้นทางตามแม่น้ำโขง นั้นแหละ ซึ่งอเมริกาอ้างว่าต้องการข้อมูลเพิ่ม หัวหน้าทีม ชื่อ Wilfred Smith ถูกตามตัวมาจากอียิปต์ ( ! ? ) เพื่อมาคุมทีม ทางPentagon ขอให้นาย Kenneth มาด้วย พร้อมกับนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญด้านเกษตรกรรม และสภาพอากาศ นาย Smith ตามประวัติบอกว่าเกิดและโตที่เมืองจีน พ่อแม่เป็นมิชชั่น นารี (อีกแล้ว!) ต่อมาเป็นทหารอเมริกัน และล่าสุดสังกัดหน่วย OSS สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ชำนาญด้านระบอบคอมมิวนิสต์ ชนิดติดตามแบบวันต่อวัน ประธานาธิบดี Kennedy ประทับใจมาก ให้ไปจิกตัวกลับมาจากอียิปต์ เพื่อมาคุมงานนี้ แต่เพื่อไม่ให้สมันน้อยตกใจจับไต๋ได้ แทนที่จะมาในนาม ARPA เขาใช้ชื่อบริษัท Philco บังหน้า จึงเรียก Phico Project
บริษัท Philco นี้ เป็นคู่สัญญากับกองทัพอเมริกา รับงานสร้างและติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร ตั้งแต่ชิ้นส่วนเล็กไปจนถึงสร้างสถานีส่งเรดาห์สัญญาณสื่อสารและดาวเทียม เขามาทำอะไรมาสำรวจอะไร นาย Kenneth ไม่ได้โม้ให้ฟัง บอกว่ามาสำรวจอยู่กว่า 3 เดือน และเขาได้พบกับนายพจน์ สารสิน (อีกแล้ว ! ) ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีด้านพัฒนาสังคมของเมืองไทย ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คณะสำรวจอย่างดี
ก็น่าสนใจการสำรวจคร้ังนี้ หัวหน้าทีมชำนาญด้าน คอมมิวนิสต์ มาสำรวจพื้นที่บ้านเรา แถบที่พวกเขามาสร้างสนามบินไว้ แต่หอบเอานักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์มาด้วย จะว่ามาสำรวจเพื่อสร้างสนามบินเพิ่ม มันก็จะมากไปหน่อย จะต้ังสนามบินแฝดหรือไง หรือว่ามีอะไรพิเศษที่นักล่าสนใจรู้เค้ามา แต่ไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะรู้เรื่องกับเขาหรือเปล่า
ท่านผู้อ่านนิทานจะพอจำกันได้ไหม เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง อันลือชื่อของไทยเรา ถูกค้นพบโดยนาย Stephen Young ลูกชายของฑูต Kenneth Young ประจำประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 1966 ตอนนั้นนาย Stephen เพิ่งอายุประมาณ 15 - 16 ปี ยังเรียนหนังสืออยู่มัธยม มันเหลือเชื่อน่าสงสัยขนาดไหน ลองไปหาอ่านกันดู นาย Stephen Young ล่าสุดดำรงตำแหน่ง Global Exclusive Director ของ Caux Round Table
และหวังว่ายังคงไม่ลืมค่ายรามสูร (ถ้าจำไม่ได้ ช่วยกลับไปอ่านจิกโก๋ปากซอยนะครับ) ที่นักล่าสร้างไว้ที่อุดร ใหญ่ชนิดมีสนามกอล์ฟและสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก มีพนักงาน 2,000 คน เอาไว้ดักฟังสัญญาณต่างๆ ได้ถึงดาวอังคาร เมื่อสงครามเวียตนามเลิก อเมริกาบอกปิดค่ายรามสูรอพยพกลับบ้าน แต่ข่าววงในบอกว่าอพยพแต่เจ้าหน้าที่ แต่เครื่องมือย้ายมาอยู่แถวบางเขน บ้างก็ว่าอยู่ทุ่งมหาเมฆ แต่สรุปว่า เอาแค่ป้ายชื่อค่ายรามสูรออก ขนคนทำงานประเภทเสมียนกลับอเมริกา ส่วนคนไทยก็ปลดออก แล้วย้ายเรดาห์ทั้งหมดมาอยู่ในที่กรุงเทพแทน! แหม! ดักฟังได้ชัดเจนกว่า นายกรัฐมนตรีคนไหนของไทยจะกระแอม จะคุยกับอาเฮีย หรือ จะเรียก 20 เรียก 30 กับมันได้ยินกันหมด แล้วมันจะไม่อยู่ในมือเขาหรือ แล้วไอ้เรื่อง Philco Project นั้นมันจะเกี่ยวข้องกับบ้านเชียงหรือเปล่า มันน่าอัศจรรย์เกินบรรยาย กรมศิลปากรทั้งกรมค้นหามาไม่รู้กี่สิบปีไม่เจอซักกะหม้อ แหม พอหนุ่มน้อยอายุ 15-16 ปี เดินเล่นชมนกชมไม้ (ไปตามที่เครื่องมือของ Philco Project มันทำทางไว้ ! ?) ดันเจอหม้อไหอายุ 5000 ปี เต็มไปหมด เด็กอะไรมันเก่งขนาดนั้น แล้วมันจะเกี่ยวกับน้ำมัน ที่ภายหลังต่างชาติ โดยเฉพาะ Chevron เขาสำรวจเจอน้ำมัน ได้สัมปทานช่วงปี 1970 ต้นๆ เพียบเลยหรือเปล่า
นี่ยังไม่นับรวมแร่ธาตุและทองอีกเพียบ ที่สำรวจเจอ แต่ปิดปากกันเงียบรู้กันเฉพาะวงในสุดๆ เช่น โปแตส ซึ่งเป็นแร่สำคัญ เป็นสารต้ังต้นของอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิด เป็นส่วนผสมของการทำระเบิดขนาดเล็กไปถึงขนาดปรมาณู มีมากอยู่แถวอีสาณเหนือนั้นแหละ ใครวิ่ง ใครได้สัมปทาน ก็ไปสืบกันดู และไอ้เจ้าโปแตสนี้ มีอยู่มากที่อาฟกานิสถาน นักล่าถึงยังเล่นรบอยู่แถวน้ัน ไม่เลิกเสียที ก็ลองคิดนอกกรอบกันดูบ้างแล้วกัน


ตอนที่ 14 (ตอนจบ)

หลังจากนาย Kenneth จัดอบรมหลักสูตรปรับพื้นสนามล่าได้ประมาณ
2 ปี วันหนึ่งในปี ค.ศ.1963 นาย Alexis Johnson ก็เข้ามาเยี่ยมระหว่างการฝึกอบรมและประกาศว่านาย Kenneth ทำหน้าที่ปรับพื้นสนามล่าได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงจะให้นาย Kenneth ไปทำหน้าที่สำคัญกว่านั้น โดยเป็น Dean of Area Studies for the Foreign Service Institute ซึ่งเป็นการสร้างหลักสูตรสำหรับโปรแกรมต่างๆ ทั่วโลก เป็นงานนั่งโต๊ะ ซึ่งนาย Kenneth บอกว่าไม่รู้ตัวเลย ว่าเขาถูกปลดจากที่ยืนบนแท่นที่มีไฟส่อง ไปนั่งโต๊ะทำงานในมุมมืด แต่งานมันมีมุมลึกกว่าเดิม ถึงจะลึกยังไง คงไม่สบกับอารมณ์ของนาย Kenneth ซึ่งชอบเสนอหน้า เขาทนนั่งทำงานอยู่ที่สถาบันนี้อยู่ 2,3 ปี จึงออกไปทำงานเป็นศาสตราจารย์เต็มตัวใน American University ตามคำชวนของนาย Ernest Griffith แห่ง Council for American Learned Studies ตกลง ใครนะเป็นเจ้าของ มิชชั่นนารี จากเมืองตรัง
นาย Griffith ขอให้เขาตั้งสถาบันเอเซีย ท้ังตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ที่ American University ซึ่งนาย Kenneth ก็ตกลง เขาคิดหลักสูตรและให้มีการสอนทั้งภาษา ไทย พม่า เวียตนาม ฮินดู และอินโดนีเซีย ฯลฯ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยดังๆ ต่างๆ ในอเมริกา ต่างพากันตั้งสถาบันทำนองนี้กันหมด ครอบคลุมไปหลาย area เครื่องมือนักล่าแพร่หลายและใช้การได้อย่างดี นาย Kenneth (หรือคนสร้างนาย Kenneth ? ) เป็นคนมองเห็นการณ์ไกลจริง
และก็สถาบันแบบนี้แหละ ที่ ประมาณ 6,7 ปีมานี้ ไอ้โจรร้ายได้ส่งพวกอาจารย์นักบิด(เบือน)รุ่นใหญ่ ไปเป็นหัวหน้าภาควิชา โดยการสนับสนุนให้ทุนก้อนใหญ่ และการร่วมมือของพวกนักล่า ไปปรับหลักสูตรใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสถาบัน หลังจากน้ัน บทความที่บิดเบือนเกี่ยวกับสถาบัน เขียนโดยสมุนนักล่า และ ขี้ข้าโจร ก็ทยอยกันออกมา จนถึงทุกวันนี้ และตอนนี้ก็กำลังโหมฟืนเพิ่มไฟ นักล่าและไอ้โจรร้าย ทำทุกวิถีทางที่จะเขย่าเสาหลักให้คลอน การครอบครองแดนสมันน้อยจะได้ง่ายขึ้น เลิกสงสัยกันได้ว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อเมริกาซึ่งเคยรู้จักเมืองไทยแบบลางเลือน รู้แค่ว่าเมืองไทยมีแต่คนฝาแฝดตัวติดกัน รู้จักสถาบันกษัตริย์ของไทยผ่านสายตา ของนางพี่เลี้ยงที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและเพ้อเจ้อ เช่น นาง Anna Leonowens ก็ได้ค่อยๆเริ่มเปลี่ยนไป คงต้องยอมรับว่า ฝีมือกระล่อนและความเป็นนักฉวยโอกาสของนาย Kenneth ได้ผล ทำให้เครื่องมือนักล่าประเภทนี้ขึ้นอันดับ อเมริกาติดใจดัดแปลงเครื่องมือชนิดนี้ไปเรื่อๆ นาย Kenneth มาเป็นมิชชั่นนารี อาสามาทำงานในเมืองไทยเอง หรือจะมาด้วยเหตุผลอื่น เรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเครื่องมือนักล่าเช่นนี้ ได้ผลอย่างชนิดเหลือเชื่อ การเรียนภาษาไทยจนเข้าใจและอ่านได้ ถึงขนาดอ่านขาดว่าม้าตัวเต็งชื่อสฤษดิ์จะเข้าวิน ทำให้อเมริกาเดินงานได้ตามแผนที่วางไว้เกือบทุกอย่าง แบบนี้จะมีหรือที่ อเมริกาจะไม่เก็บเครื่องมือชนิดนี้ไว้ใช้ต่อ แค่ดัดแปลงใส่ app ใหม่ๆเข้าไปเรื่อยๆเท่านั้น
สถาบันเอเซียศึกษาไม่ว่าอยู่ในเมืองไทย หรือในอเมริกา มาจากไหน หนังสือเกือบ 2000 เล่ม และแผ่นที่หอบไป ขยายผลได้มากมาย มูลนิธิต่างๆ เช่น Asia Foundation ..... ได้ถูกนำมาก่อตั้งในเมืองไทยมีทั้งแบบโจ๋งครึ่ม และปกปิด ครูบาอาจารย์หรือ ให้ทุนมันเข้าไป จะได้ไปรับวัฒนธรรมทางความคิดของอเมริกากลับเข้ามา เหตุการณ์ ค.ศ.1960 ที่ประธานาธิบดี Kennedy ฉุนขาดจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ผ่านมากว่า 50 ปี เรารู้กันบ้างไหมว่าเขาเอานาย Kenneth 1,2,3..... ถึง 1000 มาไว้บ้านเรากี่คนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น นาย Kenneth รุ่นใหม่ ชื่อพี่เจฟ เข้ามาเป็น Peace Corp อยู่ทางใต้ (เดินตามรอยกันมาเดี๊ยะเชียวนะ ! ) ตั้งแต่ยังแน่นหนุ่ม ตอนนั้นทั้งเหี่ยวทั้งล้านก็ยังอยู่เมืองไทย เข้าออกในที่สูงที่ลับที่แจ้ง บนเวทีลุงกำนันก็ไปขึ้นมาแล้ว ขนพรรคพวกมาอยู่ข้างเวทีเกือบทุกวัน สมัยหนึ่ง 3-4 ปีมาแล้วถึงกับจัดงานหาทุนให้พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่ง (ไม่เข็ดเรื่อง Lotus Project หรือไง ต้องให้แฉกันมากกว่านี้มั๊ย ? ท่านใดอ่านแล้วงงก็ไปหาอ่านกันต่อในนิทานเรื่องจิ๊กโก๋ปากซอยนะครับ) ยังมีทุนการศึกษาต่างๆ เช่น American Field Service (AFS) ที่ให้แก่นักเรียนชั้น ม. ปลาย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไปอยู่กับครอบครัวอเมริกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเวียตนาม หลายๆคน เดี๋ยวนี้ก็ยังเข้มแข็งจัดงานเฉลิมฉลองมิตรไมตรีความเข้าใจอันดีของ 2 ประเทศอยู่ทุกปี ขนาดโดนเขาด่า เขามาแทรกแซงประเทศ คนพวกนี้ก็เหมือนจะเห็นบุญคุณของ 1 ปี ที่ไปอยู่กับเขามากกว่าแผ่นดินเกิดของตนเอง
นี่ยังไม่ได้พูดถึงครูบาอาจารย์ ที่ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี โท เอก ของ Asia Foundation, Fulbright, Ford Foundation, Rockefeller ฯลฯ อาจารย์ต่างๆเหล่านี้ กลับมาสอนในมหาวิทยาลัยไทย แต่จัดหลักสูตรใหม่ตามที่ผู้ให้ทุนต้องการ เขารู้จักเรามากว่า 50 ปีแล้วจากที่แทบจะไม่มีใครในบ้านเมืองเขาได้ยินชื่อเมืองเราเลย จนเดี๋ยวนี้เขารู้จักเมืองเราทุกตารางนิ้ว รู้จักและใช้คนของเราทำงานเพื่อประโยชน์ของเขา เขาติดตามเราทุกย่างก้าว ครอบงำความคิด วัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ เราเกือบทุกเรื่อง โดยเราไม่รู้ตัว หรือรู้ตัว แต่ไม่รู้สึก ไม่ฉุกคิด ไม่เฉลียวใจ ไม่รับรู้ ไม่หวงแหน นี่ขนาดเขาใช้เครื่องมือล่าระดับง่ามไม้เล็กๆ เขายังกวาดข้อมูล นำไปใช้เป็นต้นแบบเครื่องมือล่าให้แม่นยำขึ้นไปอีก แล้วถ้าเราเจอเครื่องมือล่าประเภทหัวเจาะ ไม่ว่าเป็นประเภทหัวเจาะผมทอง หรือผมดำสัญชาติไทยแต่ใจเป็นอื่น ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยในบ้านเรา และอาจจะกำลังถูกนำมาใช้งานเร็วๆนี้ แล้วเราจะนั่งไม่รู้ไม่ชี้ต่อไปหรือครับ

บทตามท้ายเรื่อง ของนิทานเรื่องจริง "แกะรอยเก่า"

ผมเริ่มอ่านเรื่องของนาย Kenneth ด้วยความสนใจ ปนสงสัย อ่านๆไปความเซ็ง ความเศร้าใจเข้ามาแซม หนังสือหนาต้ัง 600 กว่าหน้ากระดาษขนาดเอ 4 มันมีเรื่องราวมากมายกว่าที่เล่าไป อ่านจบผมคิดว่า น่าจะเอามาเล่าเป็นนิทานให้ฟัง เพราะมันน่าจะให้รู้กัน ก่อนเล่าก็ทำการตรวจสอบกับเอกสารอื่นๆ เท่าที่หาได้ เรื่องเวลาของเหตุการณ์ถูกต้อง เรื่องคนที่เขาอ้างถึง ส่วนใหญ่มีตัวตนที่ตรวจสอบได้ ยกเว้นเกี่ยวกับชาวบ้านทางภาคใต้ที่ยังตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็คิดว่าจะตามต่อ เพราะมีอะไรน่าสนใจ ติดค้างคออยู่
ระหว่างเขียนนิทาน และตรวจสอบ ผมไปเจอเอกสารมากขึ้น มีข้อมูลขยายที่น่าตกใจ ถ้าเป็นเรื่องจริง มันอาจจะโยงย้อนไปถึงไหนๆ ผมชักลังเล เวลาเขียน เราต้องคิด และมองไกลไปกว่าที่นาย Kennethเล่า ยิ่งคิดยิ่งเศร้าใจ เกือบจะเลิกเขียน หยุดพักไปหลายหน ถึงได้ใช้เวลาเขียนนืทานเรื่องนี้นานเกินแก้ตัว
ผมรู้ว่านิทานเรื่องนี้ จะเป็นนิทานที่ไม่น่าตื่นเต้น เรื่องมันไม่ได้สลับซ้ำซ้อนแบบหักเหลี่ยมโหด มายากลยุทธอะไรทำนองนั้น แต่ เรื่องมันเดินไปเรื่อยๆ แสนธรรมดา แต่ภายใต้ความธรรมดา มันซ่อนแผนล่าเราอย่างเนียน เนียนจนเหมือนไม่มีการซ่อนแผน เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ เกิดขึ้นตามสภาพ ไม่ได้จัดแสร้งแต่งเสริม มันเป็นการต้มตุ๋นที่หมดจดที่สุด มันทำให้ผมทั้งเศร้าทั้งโกรธ อารมณ์ขันของผมมันฝ่อไปหมด เมื่อขาดอารมณ์ขัน นิทานมันจะสนุกได้ยังไง ใครจะมาอ่าน เขียนนิทานไม่สนุกไม่น่าอ่าน แล้วจะเขียนไปทำไม
แต่ผมก็ตัดสินใจจะเขียนนิทานเรื่องนี้ เขียนทั้งๆที่รู้ว่า จะทำให้สนุกไม่ได้มาก และอาจไม่มีคนตามอ่าน ผมได้แต่หวังว่า จะมีคนอ่านบ้าง และเห็น "ภัย" ที่ผมพยายามเล่าให้ฟัง
ผมเขียนนิทานเรื่องนี้จนจบ และนำลงให้ท่านอ่านกันแล้ว ผมขอบคุณแฟนเพจทุกท่านที่ตามอ่านนิทานเรื่องนี้ และขอบคุณที่สุดสำหรับความเห็นที่ท่านให้กันมา มันเยี่ยมมาก นาฬิกาปลุกยี่ห้อคนเล่านิทานทำงานแล้วครับ หลายท่านมองเห็นแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านจะต้ังนาฬิกาปลุกกันต่อๆไป บ้านเมืองนี้ถึงจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ดี มีค่า วิจิตร งดงาม อย่างที่จะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วควรแก่เก็บการรักษา สืบทอด อีกมากมายเหลืออยู่ ช่วยๆกันครับ บ้านเมืองของเราทุกคน
ผมได้ทำลิงค์ ของนิทานเรื่องนี้ เพื่อความสดวกของท่านที่จะอยากจะส่งไป
"ปลุก" ต่อ ไว้ให้แล้วนะครับ
สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
22 เมย 57

ที่มาของข้อมูล นิทานเรื่องจริง ตำนานการลวง หลอกล่อ ลงหม้อตุ๋น