วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เหยื่อตอนที่ 2 - ขวาง




นิทานเรื่องจริง เรื่อง “เหยื่อ”


ตอนที่ 2 : “ขวาง 1”

อิรักเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน นานแสนนานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่ม เรียกว่าเป็นมณฑลด่านนอก ซึ่งประกอบด้วย เมือง Basra, Bagdad และ Mosul อังกฤษนักล่าฯ จากเกาะใหญ่ฯ เรียกมณฑลนี่ว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) แม้จะเป็นด่านนอก แต่มีความสำคัญกับออตโตมาน เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อมทางชะตากรรมและทิศทางของเมืองร่วมกัน

แต่บางครั้งด้วยการคมนาคมที่ขลุกขลัก ทำให้หลายครั้ง อิรัก เหมือนถูกโดดเดี่ยว ไม่รู้ทิศทางเลี้ยวของนายเหนือ ปล่อยให้อิรักหลงทางและเป็นเหยื่อเผชิญศึกอยู่แต่ลำพัง

อิรักเริ่มคบค้ากับนักล่าชาวเกาะใหญ่ฯ ผ่านการค้าของ English East India ซึ่งนักล่าเปิดสำนักหว่านไว้ทั่ว สำนักพวกนี้ มีหน้าที่เปิดเผยเป็นตัวแทนค้าขาย ให้กับรัฐบาลและพ่อค้าชาวอังกฤษ แต่หน้าที่หลักที่ปกปิดไว้ คือ สืบราชการลับ ครอบงำ กำกับดูแล ผู้ปกครองอาณาบริเวณที่ชาวเกาะไปตั้งสำนักอยู่ เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นหน่วยงานช่างไม้ ทำหน้าที่เหลาไม้เสี้ยม ไม้ขัด ไม้ขวาง ไว้ตามบ้านเหยื่อต่าง ๆ

สำหรับนักล่าชาวเกาะใหญ่ อิรักอยู่ในเส้นทางติดต่อระหว่างเกาะใหญ่ของนักล่ากับอินเดีย กล่องดวงใจของ นักล่า

อิรักมีขนาดกำลังดี ทั้งในแง่พลเมืองและเศรษฐกิจ พอมีเรื่องให้ทำมาค้าขาย ไม่ให้หน่วยงานช่างไม้เหงา นักล่าจึงตั้งโรงงานขึ้นใน Basra ตั้งแต่ ค.ศ. 1763 ความสัมพันธ์ระหว่างนักล่ากับอิรัก จึงไม่ใช่แบบหลวม ๆ แม้โรงงานจะไม่ค่อยได้ผลมากนัก แต่นักล่าก็พอใจที่จะให้มีโรงงาน เพื่อคนของตัวจะได้นั่งเหลาไม้อยู่แถวนั้น เพราะนักล่าเกี่ยวเอาคูเวต (Kuwait) เมืองที่มีท่าเรือน้ำลึกอยู่แถวนั้นเอาไว้ด้วย ดังนั้นแถบนี้ จึงเหมือนเป็นเส้นทางที่นักล่าวางไว้ให้เป็นทางหนี หรือทางไล่ หากออตโตมานมีปัญหาอะไร รับมือไม่ไหวก็กระโดดก้าวผ่านอิรักไปคูเวต ลงเรือหนี หรือทำกลับกัน ย้อนกลับไปเอาไม้มาเพิ่ม เข้าทางคูเวตก็ได้เช่นเดียวกัน เป็นการวางจุดที่ทำให้นักล่าเคลื่อนไหวได้คล่องตัว

พวก Mamluk เป็นผู้ได้รับอำนาจจากออตโตมานให้ปกครองอิรักในช่วงนั้น แต่ Mamluk เหม็นหน้าผู้ปกครองออตโตมานอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงพยายามผูกสัมพันธ์กับอังกฤษ สัมพันธ์ระหว่างอิรักกับอังกฤษ จึงสมประโยชน์กัน

ค.ศ. 1798 Mamluk ยอมให้อังกฤษ มาร่วมนั่งพิจารณาคดี ในห้องพิจารณาคดีที่ Bagdad นับเป็นความคืบหน้าของอังกฤษไม่น้อย และในที่สุดอังกฤษก็ตั้งสถานกงสุลใน Bagdad เมื่อ ค.ศ. 1802 การค้าขายระหว่างอังกฤษและอิรักก็ก้าวหน้าขึ้นอีก โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้า อังกฤษตั้งโรงงานทอผ้าในอิรัก และในที่สุด อังกฤษก็ชักจูงให้อิรักซื้อเรือกลไฟ และตั้งกิจการไปรษณีย์โทรเลข วางเสาไปทั่วเขตได้ โดยอังกฤษเป็นผู้ดำเนินการ

สิ่งหนึ่งที่เหล่านักล่าอาณานิคมชอบขายให้แก่เหยื่อ คือ กิจการโทรเลข เพราะเป็นช่องทางที่ข้อมูลของเหยื่อจะหล่นมาถึงผู้ติดตั้งระบบและเสา เป็นของแถม หรือจริง ๆ เป็นของหลัก ที่มีค่ามากสำหรับนักล่า เป็นงานจารกรรมข่าวกรอง ที่เหยื่อไม่เคยรู้ตัว ไม่ต่างกับการติดตั้งโทรศัพท์ ในสมัยต่อมา และดาวเทียมในระยะเวลาไม่นานมานี้ พอนึกภาพออกกันไหมครับ ยิ่งตอนหลังนี้ มีโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไอ้ป๊อด อีแป้ด อากู อะไรพวกนี้ มันเป็นเครื่องมือการดูดข้อมูลของเหยื่อทั้งสิ้น ถ้านึกกันไม่ทัน ก็คิดว่าผมเล่าฝันให้ฟังก็แล้วกัน

อาจจะเป็นเพราะมีระยะความชิดใกล้มากไป ระหว่างพวก Mamluk กับอังกฤษ ค.ศ. 1831 พวก Mamluks ก็ถูกออตโตมานปลดกลางอากาศ ออกจากการเป็นผู้ปกครองอิรัก และออตโตมานก็เริ่มคุมเข้มอิรักใหม่ แต่การค้าขายติดต่อกับอังกฤษก็ยังดำเนินต่อไปคล้ายเหมือนเดิม

อิทธิพลของฝรั่งตะวันตก ฝังรากลึกอยู่ในอิรัก ฝรั่งแนะนำให้อิรักปฏิรูปบ้านเมืองในเรื่องที่ดิน ให้มีการซื้อขายได้ และมีเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง อิรักเชื่อฟัง เดินตามที่ฝรั่งจูง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตัวเจริญ และทันสมัยอย่างที่ฝรั่งกล่อม ในที่สุดชาวอิรัก ซึ่งเคยมีชื่อเสียงในการเป็นช่างฝีมือ โดยเฉพาะในการทอพรม แกะสลักไม้ ก็ค่อย ๆ เหลือน้อยลง กลายเป็นช่างฝีมือเปิดปิดเครื่องจักรโรงงานให้ฝรั่งตะวันตกแทน

ตลอดศตวรรษที่ 19 อังกฤษพอใจกับการได้ประโยชน์ ในการตั้งโรงงานไม้เหลาอยู่ที่อิรักนี้ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายมาก และได้ผลตามที่ต้องการ แต่เมื่อเริ่มศตวรรษที่ 20 ออตโตมานชักเบื่อที่จะต้องถูกฝรั่งชาติเดียวหลอก จึงพยายามคบค้ากับฝรั่งชาติอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับรัสเซียและเยอรมัน การแข่งขันมีมากขึ้น ไม้เสี้ยม ไม้ขัด ไม้ขวาง ทำท่าจะไม่พอใช้ ช่างไม้ชาวอังกฤษต้องทำงานหนักขึ้น

การมาถึงของเส้นทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ทำให้หัวคิ้วของนักล่า ขมวดผูกเป็นเงื่อนตาย นี่ยังไม่ต้องนึกถึงเรื่องที่แอบเก็บฝังลึกไว้ในหัวสมองของชาวเกาะใหญ่ กลางคืนแทบไม่กล้านอน กลัวหลับแล้วละเมอถึงความลับ ชาวบ้านจะรู้กันหมด ?

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557



ตอนที่ 2 : “ขวาง 2”

คงเห็นชัดเจนแล้วว่าอังกฤษเป็นโรคแพ้ทางรถไฟ โดยเฉพาะสาย Berlin Bagdad ซึ่งสร้างโดยเยอรมัน อนุญาตโดยออตโตมาน อังกฤษจะแก้อาการแพ้ทางรถไฟนี้อย่างไร อังกฤษตั้งใจใช้ไม้เสี้ยม หวังให้รางรถไฟแหกโค้ง ตกเขาจบสิ้นไป แต่ถ้าเอาแว่นขยายส่องอีกหน่อย เราจะเห็นความเหี้ยมของอังกฤษว่า ไม่ใช่แค่เสี้ยมให้ทางรถไฟแหกโค้งตกเขา แล้วเรื่องจะจบ อาการแพ้จะหายไป นั่นมันง่ายไป และใจดีไปสำหรับชาวเกาะ มันต้องมีอะไรซับซ้อนซ่อนมากกว่านั้น เกินจิตนาการ เล่าแล้วเหมือนจะทำลายหัวใจ พวกที่นิยมบูชาฝรั่ง

เริ่มจาก ค.ศ. 1873 เป็นต้นมา ความเจริญทางเศรษฐกิจระหว่างอังกฤษกับเยอรมัน ดูเหมือนจะใช้อัตราและขนาด ทิ้งห่างกันออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ถึงระดับที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องถูกจุดให้เกิดระเบิดขึ้น ในปี ค.ศ. 1914 แต่สาเหตุแท้จริงของการจุดให้เกิดสงครามโลก ได้ถูกซ่อนลึก จนแทบจะไม่มีใครได้รู้จนเวลาผ่านพ้นไปนานพอสมควร

ประมาณปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มธุรกิจ การเงิน นักการเมือง และพวกอีลิตของชาวเกาะอังกฤษ เริ่มออกอาการ เนื่องจากเห็นความเปลี่ยนแปลง ของพวกอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรป ที่ดูจะคึกคักผิดปรกติ
การเกิดของกองเรือขนส่งสินค้าของเยอรมัน ที่ทำท่าว่ากำลังทำมาค้าขึ้น ข่าวเรื่องการก่อสร้างทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ที่จะวิ่งไปตามเส้นทาง ที่จะทำให้ อินเดีย กล่องดวงใจ ของรักของหวงของชาวเกาะ มีโอกาสล่อแหลมที่จะถูกฉกไปเชยชม แบบนี้ชาวเกาะจะไม่รู้สึกว่า มีอาการของกรดไหลย้อนขึ้นมาละหรือ

ในช่วง ค.ศ. 1890 อุตสาหกรรมของอังกฤษ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งด้านการเกษตร นำหน้าเยอรมันหลายช่วงตัว เรียกว่าเหลียวหลังหันกลับไปมองจนคอจะเคล็ดตาย ยังไม่เห็นแม้เงาราง ๆ ของเยอรมันวิ่งตามมา อังกฤษเจ้าแห่งนักล่าอาณานิคม มองเยอรมันเหมือนคนป่าเถื่อน เทอะทะ เฟอะฟะ พูดจาเหมือนออกมาจากดงดิบ ดีว่าตัวขาวผมทอง ไม่งั้นคงถูกเหมาว่ามาจากแถบอื่น ไม่ใช่ชาวยุโรป

เมื่อ ค.ศ. 1850 อังกฤษยังเพลิดเพลินและโดดเด่นในการล่าอาณานิคม ขยายอาณาเขตของตัวเองกว้างไกลไปไม่หยุด เพื่อไปขโมยเอาทรัพยากรของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อังกฤษทำเพราะส่วนหนึ่งเกาะตัวเองใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย จะเอาเนื้อที่ส่วนไหนมาให้ประชาชนทำมาหากิน ปลูกผักปลูกหญ้า แถมทรัพยากรสำคัญก็ไม่มี มีแต่ถ่านหินที่พอเชิดหน้าชูตาได้ จะกินเข้าไปได้หรือถ่านหินน่ะ อังกฤษจึงใช้ความคิดกับปากเป็นอาวุธสำคัญในการล่าอาณานิคม แต่อาวุธกับปากมันไปเองไม่ได้ จึงต้องมีกองทัพเรืออันยิ่งใหญ่ เพื่อไปหลอก ไปต้ม ไปเสี้ยม ไปล่า ไปเอาอาณานิคมมาเกือบทั้งโลก ก็ต้องยอมรับว่า วิทยายุทธการล่าเหยื่อของชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยเท้าซ้ายนี้สูงส่งนัก

แผนการหนึ่งของการล่า คือทำให้เหยื่อเปิดประตูบ้าน ให้นักล่าเข้านอกออกใน และหลังจากนั้น นักล่าชาวเกาะใหญ่นี้ จะได้ไปถอดกลอนประตูบ้านเขาให้เปิดกว้าง สู่การค้าเสรี การค้าเสรี นักล่ารุ่นเก่าเขาก็ทำนะ อย่านึกว่ามีแต่รุ่นใหม่ มีอะไรเอามาขายให้หมด (ในราคาถูก) เพื่อแลกกับของแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่อังกฤษนักล่า เอาไปหลอกขาย คิดดูแล้ว ก็เหมือนพ่อค้าเร่ขายยา มีของอยู่เต็มท้ายรถ ไปถึงก็หลอกชาวบ้าน โดยฉายหนังกลางแปลง ชาวบ้านก็หอบลูกจูงหลานมาดู หนังเลิก ก็อดซื้ออะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นติดไม้ติดมือกลับบ้านไปไม่ได้ พ่อค้าซื้อมาถูกๆ มาขายต่อราคาแพง ๆ กับชาวบ้านต่างถิ่นไกลโพ้น ที่ไม่มีโอกาสเห็นโลกกว้าง เออ! หลอกต้มแบบนี้มาตั้งกะสมัยปู่ย่า ถึงสมัยลูกหลานก็ยังโดนหลอกอยู่เหมือนเดิม

สินค้าที่พ่อค้าเร่ขายยา นักล่ารุ่นเก่าชอบเอามาหลอกเหยื่อสมัยนั้น ส่วนมากก็เป็นพวกเครื่องมือ เครื่องใช้สมัยใหม่ วิทยาการใหม่ทางวิทยาศาตร์ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ รถไฟ รถราง และเครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นต้น

แล้วเหยื่อส่วนใหญ่ก็กินเบ็ด เพราะไม่เคยมี ก็อยากมี แต่ไม่มีทุนพอซื้อหรือสร้าง นักล่าบอกไม่เป็นไร มีแผนสำเร็จรูปเตรียมไว้ให้ ได้เลย เดี๋ยวไอจัดการให้ ไอหาเงินกู้ดอกถูกมาให้สร้างเสาโทรเลขดีไหม จะได้ไม่ต้องขี่อูฐกันไป 3 เดือนกว่าจะรู้เรื่อง กดแต๊ก แต๊ก แต๊ก เดี๋ยวเดียว ก็รู้แล้วว่าไอ้คนที่เจ้านายส่งไปดูแลหัวเมืองน่ะ มันทำงาน หรือกลับบ้านไปนอนกลางวันทุกวัน นี่มันคิดหลอกกันแบบนี้ เป็นร้อยปีมากแล้ว แต่ยังใช้ได้อยู่ ลุงนิทานเล่าซ้ำซากด้วยความอ่อนใจ

เหยื่อส่วนใหญ่ก็ตกลง ให้นักล่าจัดการสร้างโน่น ติดตั้งนี้ ไปเรื่อย ๆ ด้วยเงินกู้ที่นักล่าจัดการให้ แล้วเหยื่อก็เป็นหนี้บานทะโล่ไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งที่ออตโตมานเจ๊ง ถูกเรียกว่าเป็นคนป่วยก็มาจากเหตุนี้แหละ ถูกต้ม ให้ซื้อ ให้ทำสงคราม ให้สร้างกองทัพ ฯลฯ ส่วนนักล่าเมื่อได้เงินมา ส่วนหนึ่งก็ซื้อสินค้าพื้นเมืองราคาถูก กลับไปขายแพงที่บ้าน มีกำไรดี แต่เงินส่วนใหญ่กลับไปหานายธนาคารผู้สนับสนุน ทั้งการเดินทาง และการสร้างของเล่นให้เหยื่อ ทำแบบนี้เหมือนอังกฤษน่าจะรวย แต่ ค.ศ. 1870 อังกฤษเกิดอาการเศรษฐกิจตกสะเก็ด เงินไปกระจุกตัวอยู่ที่นายธนาคารผู้ให้กู้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีกิน

เยอรมันบอกวิธีนี้ ถ้าเราทำตาม เราก็คงเจ็งตาม เยอรมันจึงเปลี่ยนวิธีการพัฒนาประเทศตนเองใหม่ เน้นหนักทางด้านอุตสาหกรรม

ค.ศ. 1890 เยอรมันผลิตถ่านหินได้ 88 ล้านตัน ส่วนอังกฤษผลิตได้ 182 ล้านตัน
ค.ศ. 1910 การผลิตถ่านหินของเยอรมัน พุ่งขึ้นเป็น 219 ล้านตัน ส่วนอังกฤษผลิตได้ 264 ล้านตัน ความห่างของปริมาณการผลิตเริ่มแคบเข้ามาเรื่อย ๆ
ค.ศ. 1914 เรือบรรทุกสินค้าของเยอรมัน ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่อังกฤษ เป็นการปรับตัวขยายที่รวดเร็วมาก เยอรมันเปลี่ยนตัวถังเรือจากไม้เป็นเหล็ก และเปลี่ยนเป็นใช้เครื่องจักรกลขับเคลื่อนเรือ ทำให้ขนาดเรือบรรทุกสินค้าใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และวิ่งเร็วขึ้น เยอรมันกลับกลายเป็นลูกพี่ในการขนส่งสินค้าทางทะเล

การขนส่งสินค้าทางเรือบรรทุกของเยอรมัน นอกจากเพิ่มจำนวนสินค้าแล้ว ยังมีการประกันภัยสินค้าด้วย ระบบที่ครบถ้วนของเยอรมัน เป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการมาก ขนาดฝรั่งเศส คู่หูอังกฤษเอง ยังออกปากว่า การขนส่งสินค้าทางเรือของเยอรมัน ไม่ได้วางระบบให้วิ่งไปหาการค้า แต่วิธีดำเนินการของเยอรมัน ทำให้การค้าวิ่งมาหาเอง มันเหนือกว่าที่เคย ๆ ทำ

เอะ ! ฝรั่งเศสหมายถึงใคร พูดชมใคร พูดแดกใคร ! แค่เยอรมันเริ่มทาบรัศมีการขนส่งทางเรือ อังกฤษก็ขัดใจแย่แล้ว นี่คู่หูดันไปชื่นชมอีก แบบนี้มันยิ่งกว่าขัดใจ

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557



ตอนที่ 2 : “ขวาง 3”

ประมาณ ค.ศ. 1882 น้อยคนในโลกจะรู้จักว่า ไอ้ดำ ๆ เหนียว ๆ และที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า น้ำมันดิบน่ะ มันมีค่ามหาศาลขนาดไหน ถึงกับเรียกเป็นทองดำกันเลย สมัยนั้นรู้จักกันแต่น้ำมันเติมตะเกียง ซึ่งโรงงานของเยอรมันนั่นแหละ เป็นผู้ผลิตตะเกียง ชื่อ Stohwasser น้ำมันนี้ เรียกว่า “rock oil” เพราะมันไหลออกมาจากหิน ซึ่งมีอยู่มากในแถบ Titusville ของ รัฐPennsylvania และที่ Baku ของรัสเซีย หรือ Galicia ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์

ค.ศ. 1870 นาย John D Rockefeller ตั้งบริษัท Standard Oil ขึ้นเพื่อหาน้ำมันมาเติมตะเกียง (ไม่ได้หรูหรา ตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลกัน อย่างที่คิดหรอกนะ ในสมัยนั้น) และเอามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำยาในอเมริกา ตอนนั้นยังไม่มีใครคิด เอาน้ำมันมาใช้ในการอุตสาหกรรม ฝรั่งก็ไม่ได้ฉลาดล้ำไปทุกเรื่องหรอก

แต่อย่างน้อยก็มีคนเข้าใจ และรู้จักคิด คือ กัปตัน Fisher ทหารเรืออังกฤษ ปี ค.ศ. 1882 กัปตันบอกว่า ถ้ากองทัพเรืออังกฤษเปลี่ยนจากใช้ถ่านหิน มาเป็นใช้น้ำมัน เรือรบอังกฤษจะวิ่งฉิวเลย เพราะไม่ต้องไปเปลืองน้ำหนักกับถ่านหิน ผลของการคิดก้าวไกล คุณกัปตันได้ก้อนอิฐเต็มหัว ใคร ๆ หาว่าเขาบ๊อง (เคยเขียนให้อ่านกันแล้วครับ ในนิทานเรื่องมายากลยุทธ) คุณกัปตันเจ็บใจ ซุ่มทำการบ้านอยู่หลายปี

ขณะเดียวกัน ค.ศ. 1885 วิศวกรชาวเยอรมัน นาย Gottlieb Daimler ก็เป็นคนคิดเครื่องยนต์ให้รถวิ่งโดยใช้น้ำมัน แต่ขณะนั้นรถยนต์มันเป็นเครื่องวิ่งแทนเท้าของพวกเศรษฐีเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปคงยังต้องใช้เท้าส่วนตัววิ่งเองตามเดิม ไม่ได้มีโอกาสได้ชื่นชมผลงานอันแสนสุดยอดนี้ในตอนนั้น แต่ถึงอย่างไรข่าวนี้แน่นอน ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้แก่อังกฤษ

ปี ค.ศ. 1905 อังกฤษเริ่ม “รู้สึก” ว่าน้ำมันนี่ น่าจะเป็นอาวุธสำคัญ แต่ทำอย่างไรล่ะ ทั้งเกาะใหญ่ของอังกฤษมีแต่น้ำมันตะเกียง ไม่มีแหล่งน้ำมันดิบของตัวเอง ใครรู้อายเขาตาย เป็นตั้งจักรภพอังกฤษ ใหญ่ซะไม่มีละ แต่ดันต้องพึงอเมริกา รัสเซีย หรือเม็กซิโก ให้ส่งน้ำมันให้ เป็นสิ่งที่อังกฤษรังเกียจ และเสียหน้าอันใหญ่โตมาก ตามประสาคนยะโส

ย้อนไปในปี ค.ศ. 1904 คุณกัปตัน Fisher มีคนตาแหลมมองเห็นว่า ไอ้หมอนี่นอกจากไม่บ๊องแล้ว มันยังเป็นอัจฉริยะอีกด้วย (2 อย่างนี้เส้นตัดแบ่ง มันบางมากนะครับ) คุณกัปตันเลยได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึงผู้บัญชาการทหารเรือ เขารีบตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาว่า จะหาน้ำมันมาจากไหนและทำอย่างไร เพื่อเอามาให้กองทัพเรืออังกฤษใช้ คราวนี้เอาจริง !

ขณะนั้นอังกฤษไปจับจองครองพื้นที่อยู่ที่เปอร์เซีย (Persia) และ Arabia Gulf ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมานแล้ว เปอร์เซียเองไม่ได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อังกฤษมีวิธีไปตั้งสถานกงสุลอยู่ที่เมือง Bushier และ Bandar Abbas โดยการเอากองทัพเรือมาจอดขวางกลางอ่าว ก็เท่านั้นเองแหละ เป็นการขวางไม่ให้ใครใช้เส้นทางไปสู่อินเดีย อังกฤษทำแบบนี้มาทุกครั้งที่ต้องการข่มขู่เหยื่อ สมันน้อยก็โดนมาแล้ว ยังจำ ร.ศ. 112 ได้หรือเปล่า หรือต้องให้ลุงนิทานเล่า เกินไปนะ ประวัติศาสตร์สำคัญของบ้านเรานะ หาอ่านกันเองบ้าง

ค.ศ. 1905 อังกฤษส่งสายลับมือหนึ่ง ชื่อ นาย Sidney Reilly (ซึ่งจริง ๆ เป็นชาวรัสเซีย ชื่อ Sigmund Georgjevich Rosenblum ชาวเมือง Odessa ในรัสเซีย) ให้เดินทางเข้าไปในเปอร์เซีย ภายใต้คำสั่งลับสุดยอดให้ไปควานหาตัวบุคคลลึกลับ ชื่อ นาย William Knox D’Arcy!

ต้องยอมรับว่าการข่าวกรองและการจารกรรมของอังกฤษ นำหน้ามาตลอดเป็นหลายร้อยปี ปัจจุบันก็ยังอยู่แถวหน้า ตัวใหญ่ ๆ ของ CIA ของนักล่ารุ่นใหม่ ก็เรียนงานมาจากรุ่นเก่านี้ทั้งนั้นแหละ โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกและสงครามเย็น

นาย D’Arcy เป็นวิศวกรชาวออสเตรเลีย ซึ่งสนใจและศึกษาประวัติศาสตร์เป็นงานอดิเรก อย่างเอาจริงและลึกซึ้ง ชนิดพูดกับก้อนหินรู้เรื่อง และเป็นคริสเตียนที่เคร่งครัด เขามีความเชื่อแบบฝันเฟื่องว่า เทพเจ้าแห่งไฟของเปอร์เซีย (Ormuzd) จุดน้ำมันตะเกียงถวายพระผู้เป็นเจ้าในสมัยโบราณตลอดเวลา แสดงว่าแถบนั้นน่าจะต้องมีน้ำมัน “rock oil” (พวกเฟื่อง พวกบ๊อง นี่ดูดี ๆ นะครับ บอกแล้วเส้นแบ่ง มันบางมาก !) เขาจึงไปเดินสำรวจแถวนั้นอยู่หลายรอบ และเมื่อเชื่อมากขึ้นว่า น่าจะมี "rock oil” เขาก็ไปติดต่อขอกู้เงินจากนายธนาคารของอังกฤษ เพื่อสนับสนุนความฝันเฟื่องของเขา (ข่าวมันน่าจะหลุดรอด ไปในช่วงนี่แหละ เพราะฉะนั้นถ้าอยากมีความลับอย่าไปยุ่งกับนายธนาคารเชียว !)

ประมาณช่วงปลาย ค.ศ. 1890 กว่า ๆ กษัตริย์ Reza Khan Pahlevi เพิ่งขึ้นครองบัลลังก์เปอร์เซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นอิหร่าน ได้เรียก นาย D’Arcy เข้าไปคุย เพราะนาย D’Arcy เป็นวิศวกรฝรั่งที่เดินทางเข้าออกหาน้ำมันอยู่แถวนั้น จนเป็นที่รู้จักกันดี ท่าน Khan อยากสร้างทางรถไฟ และอยากทำอุตสาหกรรมในเปอร์เซีย เลยอาศัยนาย D’Arcy เป็นที่ปรึกษา ตอนนั้นคงมีฝรั่งให้คุยด้วยไม่มาก

ค.ศ. 1901 บุญหล่นใส่นาย D’Arcy โครมใหญ่ ท่าน Khan ให้รางวัลเป็นสินน้ำใจที่นาย D’Arcy มาให้คำแนะนำ เป็นสัมปทานอายุ 60 ปี ที่อนุญาตให้นาย D’Arcy จะค้น จะขุด จะเจาะ อย่างไรก็ได้บนแผ่นดินของเปอร์เซีย และขุดได้อะไรมาก็ให้เป็นสมบัติของนาย D’Arcy โดยไม่มีใครจะมาขวางได้ !

นาย D’Arcy จ่ายเงินไปประมาณเท่ากับ 2 หมื่นปอนด์ และตกลงจะแบ่งให้ ท่าน Khan 16% จากจำนวนรายได้ที่ได้จากขายน้ำมัน ถ้าขุดเจอจากแหล่งนี้ นาย D’Arcy ไม่รู้เลยว่า เขาได้เอกสารมีค่ามหาศาล มันรวมไปถึงให้เป็นสิทธิตกทอดถึงทายาทและผู้รับโอนด้วย แม่เจ้าโว้ย ! สิทธิในการจะขุดน้ำมันไปจนถึง ค.ศ. 1961 เชียวนะ

นาย Reilly สมกับเป็นสายลับมือหนึ่ง เขาควานหาตัวนาย D’Arcy จนเจอ ในปี คศ 1905 ขณะที่นาย D’Arcy กำลังจะเซ็นสัญญา เลือกฝรั่งเศสมาเป็นหุ้นส่วน เป็นฝรั่งเศสที่ส่งมาโดยกลุ่มธนาคารของ Rothschild ในปารีส (แสดงว่า Rothschild มีการข่าวดี จำเรื่องปั่นหุ้น insider trading ครั้งแรกของโลกโดย Rothschild ฝ่ายอังกฤษได้ไหมครับ ก็มาจากการข่าวพิเศษของพวก Rothschild เล่าอยู่ในนิทานเรื่องมายากลยุทธ) นาย D’Arcy กะว่าจะให้หุ้นส่วนฝรั่งเศสขุดต่อ และตัวเขาจะเดินทางกลับไปออสเตรเลีย แหม เดินกลางแดด หาน้ำมันอยู่นาน ไอ้ที่ยังไม่เพี้ยน ก็เพี้ยนจริงได้เหมือนกัน

สายลับ Reilly ลงทุนปลอมตัวเป็นพระ ไปตีสนิทกับนาย D'Arcy นั่งกล่อมนาย D’Arcy ว่า ทั้งหมดนี่น่า คงเป็นรางวัลที่พระผู้เป็นเจ้า ประทานให้กับสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ คงไม่มีใครที่จะมีบุญขนาดนี้อีกแล้ว แต่จะได้บุญมากขึ้น ถ้าไม่เก็บไว้คนเดียว แต่ให้คนส่วนมากได้ประโยชน์ด้วย พระผู้เป็นเจ้าจะยิ่งดีใจ นาย Reilly คงกล่าวอย่างนั้น

ในที่สุด นาย D’Arcy ก็ตกลงโอนสิทธิสัมปทานให้แก่บริษัท ที่มีชื่อว่า Anglo Persian Oil Company ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อ Lord Strathcona นักการเงินชาวสก๊อต ซึ่งรัฐบาลอังกฤษส่งมาให้เป็นนอมินี (ตกลงนอมินีน้ำมัน รายที่ 1 เท่าที่เรารู้นี่ เริ่มโดยอังกฤษนะครับ สำหรับสมันน้อย ปตท. ใครเป็นนอมินี ให้ใครบ้าง

โปรดช่วยกันสืบต่อ อาจจะย้อนกลับไปที่เดิม อย่าแปลกใจก็แล้วกัน) ส่วนสายลับ Reilly ก็คงเกษียณไปพร้อมด้วยเงินรางวัลก้อนโต หรือไม่ก็โดนเก็บลงหีบ ตามธรรมเนียมชะตาชีวิต ของคนที่เป็นสายลับที่รู้ความลับชนิดปิดลึก วงการนี้เขาโหดร้ายอย่างนี้แหละ !

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557



ตอนที่ 2 : “ขวาง 4”

ค.ศ. 1889 กลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมของเยอรมัน นำโดย Deutsche Bank ไปได้สัมปทานจากรัฐบาลออตโตมาน ให้สร้างทางรถไฟจากกรุงคอนแสตนติโนเปิลไปถึงแคว้นอนาโตเลีย (Anatolia) ซึ่งต่อมาตกลงขยายเส้นทาง เป็น Berlin Bagdad

เยอรมันนั้นอยากคบค้ากับออตโตมานมานานแล้ว เพื่อให้เป็นตลาดใหญ่ทางตะวันออกของประเทศทางด้านอุตสาหกรรม ทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ก็น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าที่ดี แต่การหาแหล่งน้ำมันก็น่าจะเป็นสิ่งที่เยอรมันแอบซ่อนอยู่ อังกฤษคิดระแวงและพร้อมที่จะขวางทุกกระบวนท่า ความรู้สึกชิงชังเยอรมันที่อังกฤษแสดงในช่วง ค.ศ. 1890 เป็นต้นมาในตะวันออกกลาง ก็น่าจะงอกเงยมาจากทางรถไฟสายชิงชัง Berlin Bagdad และความระแวงเยอรมันเรื่องน้ำมัน

เป็นครั้งแรกที่ทางรถไฟจะเชื่อมอาณาจักรออตโตมานด้วยกันได้หมด และเมื่อไปถึง Bagdad จะทำให้เป็นการเดินทางภาคพื้นดินที่เร็วที่สุด และถูกที่สุดด้วย

อังกฤษก็มองเห็นจุดนี้และเห็นมากกว่า อังกฤษบอกว่าแบบนี้ผู้คนก็แห่กันไปใช้รถไฟหมด แล้วเรือเราจะขนอะไร และถ้าเยอรมันกับพวกเตอร์กเกิดเล่นกล จับมือกันบุกอียิปต์ ซึ่งอังกฤษมีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ ผลประโยชน์ในอียิปต์เราจะเป็นอย่างไร

มองดูจากแผนที่ เส้นทางที่รถไฟ Berlin Bagdad จะวิ่งผ่านเมืองใหญ่อะไรบ้าง เริ่มที่อาณาจักรเยอรมัน อาณาจักรออสเตรีย บูลกาเรีย และออตโตมาน (ตุรกี) และมีเมืองเล็ก ๆ คือ เซอร์เบีย (Serbia) ที่กั้นขวางระหว่าง ต้นทางกับปลายทางเซอร์เบีย อยู่ระหว่างเยอรมันกับทางเข้ากรุงแสตนติโนเปิลและ Salonika เหมือนเป็นประตูสู่ตะวันออก ถ้าเซอร์เบีย ถูกถล่ม หรือถูกนำเข้าไปเป็นตัวแสดง ขัดขวางทางเดินของรางรถไฟ Berlin Bagdad อาณานิคมอันกว้างใหญ่ของเรา คงถูกเยอรมันบุกเข้ามาขยี้แน่นอน... R.G.D Laffan ที่ปรึกษาการทหารของอังกฤษประจำกองทัพที่เซอร์เบีย รำพึง อึ่ม ! น่าสนใจ !

อันที่จริงตลอดเวลาที่คิดก่อสร้างทางรถไฟสายชิงชังนี้ เยอรมันรู้ว่าอังกฤษไม่พอใจ และถ้าไม่มีอังกฤษร่วม เยอรมันก็เหนื่อยแน่ในการหาเงินมาสนับสนุนการก่อสร้าง Deutsche Bank รับรายเดียวคงหลังแอ่น เยอรมันลงทุนง้องอนอังกฤษให้ร่วมมือ ถึงขนาดปลายปี ค.ศ. 1899 พระเจ้า Kaiser Wilhelm ที่ II อุตส่าห์ไปหา พระนาง Victoria เป็นการส่วนตัวที่วังวินด์เซอร์ เพื่อขอให้แนะนำรัฐบาลอังกฤษ เข้าร่วมในการสร้างรถไฟรายนี้ แต่อังกฤษไม่รับไมตรี

ตลอดเวลา 15 ปี อังกฤษได้พยายาม ทั้งเสี้ยม ทั้งขวาง ทั้งขัด ทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ทางรถไฟนี้เกิดขึ้นได้ นักเขียนประวัติศาสตร์ต่างบอกว่า ทางรถไฟสายนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 อันที่จริงอังกฤษก็ขวางเกือบสำเร็จ หมากตัวสำคัญที่อังกฤษนำมาใช้ ชื่อคูเวต (Kuwait) !

อังกฤษเลี้ยงดูคูเวตมานาน โดยเอาเรือรบมาจอดขวางอยู่ปากอ่าว เมื่อ ค.ศ. 1901 และประกาศให้ท่าเรือที่อยู่ใต้ไปนั้น Shaat al Arab ซึ่งปกครองโดย Sheikh Mubarak al-Sabah ให้เป็นรัฐที่อยู่ในความดูแลของอังกฤษ อย่างด้านๆ (British Protectorate) ระหว่างนั้น ออตโตมานป่วยเกินกว่าจะประท้วง ปล่อยเลยตามเลยและเห็นว่า Kuwait อยู่ไกลตัว Kuwait จึงเป็นหมากที่อังกฤษนำมาขวางไม่ให้ ทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ผ่านเข้ามาที่อ่าว Persia ได้

แต่นั่นคือหมากเปิด ที่อังกฤษปล่อยออกไปขู่เยอรมัน เกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ !
ค.ศ. 1902 อังกฤษรู้แล้วว่า ดินแดนที่อังกฤษเรียกว่าเมโสโปเตเมีย ซึ่งปัจจุบันเป็นอิรักและคูเวตนั้น เต็มไปด้วยแหล่งน้ำมัน มีมากแค่ไหน และจะเข้าไปเอาอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ว่ากันที่หลัง ที่สำคัญ ต้องกัน ต้องขวาง อย่าให้ใครเข้ามายุ่งไว้ก่อน โดยเฉพาะเยอรมัน

ค.ศ. 1907 Sheikh Mubarak Al Sabah (ซึ่งยึดอำนาจปกครองทั้งแคว้นได้ตั้งแต่ปี ค.ศ 1896 โดยฆ่าพี่ชายน้องชาย 2 คน ขณะที่นอนหลับอยู่ในวัง และคงมีคนช่วยที่เราน่าจะพอเดาออก) ได้ตกลงทำสัญญาให้อังกฤษเช่าที่ดินบริเวณ Bander Shwaikh เป็นสัญญาเช่าประเภทที่ไม่วันหมดอายุ ! มีรายงานว่า Sheikh จอมโหด ได้ค่าทำสัญญาเป็นทองคำและปืนไรเฟิลจากรัฐบาลอังกฤษเป็นค่าลงลายมือไปโขอยู่

เดือนตุลาคม ค.ศ. 1913 Sir Percy Cox ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ ยังจับมือให้ Sheikh ทำสัญญาสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ที่ทั้งผูกทั้งมัดคูเวต ว่าจะไม่ให้หน้าไหน มาได้สัมปทานน้ำมันในแถบนั้นไป เว้นแต่เป็นผู้ที่รัฐบาลอังกฤษส่งมา เข้าใจไหม Sheikh บอกเข้าใจแล้วนายท่าน ว่าแล้วก็ลูบคลำทองแท่งนุ่มมือชื่นใจ

ในที่สุดในปี ค.ศ. 1912 Deutsche bank ก็สามารถเจรจาให้ ออตโตมานลงนามให้ Bagdad Rail Co. ได้รับสิทธิในพื้นที่ (right of way) กว้าง 20 กิโลเมตร สองข้างทางรถไฟยาวไปตลอดทาง เส้นทางนี้ยาวไปถึง Mosul ซึ่งเป็นอิรักในปัจจุบัน ถึงตอนนี้ เยอรมันรู้แล้วว่า น้ำมันเป็นสิ่งมีค่าและจำเป็น และเยอรมันแม้มีเหล็ก มีอุตสาหกรรมเข้มแข็งอยู่เต็มประเทศ แต่ไม่มีแหล่งน้ำมันของตนเอง ทำให้ตนเองตกอยู่ในกำมือของบริษัทน้ำมันใหญ่ของอเมริกา Standard Oil Company ของนาย Rockefeller โคตรรวยนั่นเอง

ค.ศ. 1912 เยอรมันตั้งบริษัทร่วมกับ Standard Oil โดยฝ่ายอเมริกัน ถือหุ้น 91% และ Deutsche ถือหุ้น 9% เป็นการเจรจาทางธุรกิจที่ล้มเหลวสุดแย่ของเยอรมัน และเยอรมันก็รู้ตัว แต่ไม่มีทางเลือกในตอนนั้น เรื่องการยืมจมูกคนอื่นหายใจ ใครก็คงยอมไม่ได้นาน ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปเต็มบ้านเมือง แต่ไม่มีแหล่งน้ำมันของตัวเอง มิน่า ชาวเกาะใหญ่ เขาถึงได้ว่า เฟอะฟะ ! น่าจะโดนด่ามากกว่านั้นนะ

การสร้างทางรถไฟสาย Berlin Bagdad ก็ดูเหมือนจะเป็นการเดินทางไปหาจมูกหายใจ ให้กับตนเองของเยอรมัน ที่ต้องไม่มีส่วนผสมของ Standard Oil เจือปนอีกต่อไป และไม่มีการอุดปากปิดจมูกขัดขวาง จากอังกฤษด้วยเช่นเดียวกัน

อังกฤษเองก็ใช่ว่าจะมีแหล่งน้ำมันของตนเอง แต่อาศัยความเก๋าและการวางหมากที่แยบยล จึงหลอกได้แหล่งน้ำมัน Anglo Persian Oil มา และในค.ศ. 1915 ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยหลอด Churchill อังกฤษก็ซื้อหุ้นเพิ่มกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Anglo Persian Oil ซึ่งปัจจุบัน คือ British Petroleum นั่นแหละ

อังกฤษบอกกับตัวเองว่า ถ้าเราไม่สามารถจะสร้าง Daimler ได้อย่างเยอรมัน สิ่งที่เราควรทำก็คือ ควบคุมวัตถุดิบ ที่ Daimler จำเป็นต้องใช้ในการวิ่ง เท่านั้นเอง !

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557



ตอนที่ 2 : “ขวาง 5”

ความโตเร็วของเยอรมัน เริ่มเห็นชัดตั้งแต่ ค.ศ. 1890 ทำให้อังกฤษทนนั่งดูอยู่เฉยไม่ไหว อังกฤษเตรียมปรับแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่กับพันธมิตรในยุโรป เป็นการปรับชนิด กลับหลัง ตลบหน้า รุนแรงถึงขนาด ปักหมุดให้พันธมิตรเดินตามที่อังกฤษต้องการ หรือหยุดเดินไปในทิศทางที่อังกฤษไม่ต้องการ

เหตุการณ์ที่อียิปต์ Fashoda Crisis คงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด แต่เดิมที่ผ่านมา อังกฤษและฝรั่งเศสกอดคอเฮฮา นั่งกินเหล้าด้วยกันที่อียิปต์ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันในคลองสุเอช แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 1882 เป็นต้นมา กองทัพอังกฤษที่อียิปต์เหมือนจะงอกมากขึ้นเหมือนเห็ดในฤดูฝน และทำท่าว่าไม่ใช่งอกชั่วฤดูกาล แต่ออกอาการว่าจะอยู่ถาวร แถมอังกฤษแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าใหญ่ เข้าไปสั่งการกับรัฐบาลอียิปต์อีกด้วย ฝรั่งเศษตีโจทย์ไม่ออก นี่มันจะมาไม้ไหน อังกฤษบอกกับฝรั่งเศสว่าไม่ต้องคิดมาก ทุกอย่างที่เราทำ เราทำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเราทั้งสองนะ

แต่นาย Theophile Déclassé รัฐมนตรีที่ดูแลกิจการอาณานิคมของฝรั่งเศสไม่ยอมคล้อยตาม เขามองว่าอังกฤษกำลังจะฉวยโอกาสฮุบสุเอชและอียิปต์ไว้ฝ่ายเดียว เขาจึงสั่งให้มีการเคลื่อนพล ยกทัพมาจากฝรั่งเศส ข้ามทะเลทรายซาฮาร่า ในปี ค.ศ. 1898 เพื่อไปเผชิญหน้า เตรียมปะทะกับอังกฤษที่รออยู่ที่แม่น้ำไนล์ ให้รู้หมูรู้เสือ

แค่เงื้อดาบ ยังไม่ทันได้ฟันกัน กองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ก็ถูกนายเหนือสั่งให้หยุดการ (เกือบ) ปะทะไว้ชั่วคราว เฮ้ย หยุด หยุด นายเขากำลังเจรจากัน

ผลการเจรจา ฝรั่งเศสตกหลุมอังกฤษ ยอมถอยทัพ และเสียโอกาสมหาศาล ที่จะเข้าไปทำประโยชน์ในอาฟริกา นาย Déclassé สั่งเคลื่อนพล โดยไม่ได้หารือ ไม่รู้ถึงแผนลับของรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ซึ่งป่วยอยู่ในขณะนั้น

รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส นาย Gabriel Hanotaux มีชื่อเสียงว่า ไม่ชอบหน้าอังกฤษอย่างยิ่ง หรือใช้ว่า เกลียด อาจจะตรงกว่า มีนโยบายที่จะปรับปรุงและสร้างแหล่งอุตสาหกรรมในอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่อยู่ในอาฟริกา นาย Hanotaux ตั้งใจจะผนึกฝรั่งเศสกับอาฟริกาให้แน่นแฟ้น โดยสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่าง Dakar ใน French Senegal มาจนถึง Djibouti ที่ทะเลแดง มันจะเป็นการเชื่อมอาฟริกาตะวันออกถึงตะวันตกโดย “Trans-Sahara Railway Project” (ทางรถไฟอีกแล้ว!)

เส้นทางรถไฟนี้ ถ้าสำเร็จจะเป็นการขวาง ไม่ให้อังกฤษแต่ฝ่ายเดียว ที่หวังจะเป็นผู้ควบคุมอาฟริกาทั้งหมดผ่าน อียิปต์ ไปจนถึง อินเดีย นาย Hanotaux ได้แอบปรึกษากับเยอรมัน บอก ทางรถไฟเส้นทางนี้ จะเป็นยากัน การขยายอิทธิพลของอังกฤษอย่างชงัด เรามาปรุงยานี้กันไหม ?

ค.ศ. 1896 ฝรั่งเศสและเยอรมันหารือกันอีกรอบ “เราควรจะแสดงอิทธิฤทธิให้อังกฤษเห็นบ้างว่า ไม่ใช่อังกฤษฝ่ายเดียว ที่จะเป็นคนตัดสินใจและได้ทุกอย่างไป”

แต่แล้วก็ เกิดเหตุ Dreyfus Affair สื่อฝรั่งเศสตีข่าวกันใหญ่ว่า นายทหารระดับร้อยเอกของกองทัพฝรั่งเศส ชื่อ Dreyfus ถูกจับข้อหากระทำการจารกรรมต่อเยอรมัน เป็นเรื่องใหญ่นะ ทำให้การเจรจาระหว่าง Hanotaux กับเยอรมันสดุด การปรุงยาชะงักลง เขาต้องออกมาหน้าเครียดแก้ข่าวและเตือนสื่อว่า อย่าใส่สีมากนัก มันจะพาไปสู่สงครามกับเยอรมันได้ อยากได้อย่างนั้นหรือ

ในที่สุดร้อยเอก Dreyfus ก็ได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการสืบสวน จนได้ความชัดเจนว่า มันเป็นการสร้างหลักฐานปลอมใส่ Dreyfus โดย Count Ferdinand Walsin – Esterhazy (ชื่อยาวจัง !) ซึ่งได้รับจ้างให้ทำเรื่องนี้ ส่วนผู้จ้างคือตระกูล Rothschild ที่ทำธุรกิจธนาคารอยู่ที่ปารีส เรื่องนี้ เล่นกันเองแรงดี ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร ไม้ขวางอันนี้ อภินันทนาการจาก Rothschild

ค.ศ. 1898 Hanotaux ก็พ้นจากตำแหน่ง และผู้มาแทนเขาก็คือ Déclassé เงินใหญ่ จ้างผีระดับไหน ให้โม่แป้งก็ได้!

หลังจากเหตุการณ์ Fachoda จบลง อังกฤษก็สามารถปักหมุด ฉุด และจูง ให้ฝรั่งเศส ล้มเลิกแผนการปรับปรุงอาณานิคมในอาฟริกา และลดความสนใจในอียิปต์ลงไปได้ อังกฤษบอกแก่ฝรั่งเศส นี่ เพื่อน อย่าไปมัวสนใจอะไร ที่มันเลื่อนลอยเหมือนความฝันเลย อาฟริกานี่ไม่ใช่หมูนะ ไกลบ้านด้วย เพื่อนไปเอาอะไรที่จับต้องได้ ไม่ดีกว่าหรือ เช่นหล็กที่ Alsace- Lorraine ของเยอรมันยังไงล่ะ ดีกว่านะ เราจะสนับสนุนเพื่อนให้ได้เอง แล้วฝรั่งเศษก็ตกหลุมของอังกฤษอีกพลั่ก

นาย Hanotaux ได้กล่าวภายหลังว่า มันชัดเจนว่าทุกครั้งที่ฝรั่งเศสขยับตัว อังกฤษก็จะเกิดอาการผวา เหมือนเด็กเห็นเงา นึกว่าผีหลอกและเข้ามาขัดขวาง เพราะคิดว่าการดำเนินการของทุกคนนั้น ขัดประโยชน์ของอังกฤษทั้งสิ้น ไล่มาตั้งแต่กรณี อียิปต์ ตูนีเซีย มาดาร์กัสการ์ อินโดจีน แม้กระทั่งที่คองโก อังกฤษจะต้องถือไม้ออกมาวางขวางเสมอ

จากเหตุการณ์ Fachodo อังกฤษกับฝรั่งเศส จึงกลับมาเป็นคู่หูกันอีกครั้ง โดยทำสัญญาลับให้ไว้ต่อกัน มีกาวยี่ห้อขวางเยอรมัน ทาคู่หูให้ติดกันไว้ นาย Hanotaux บอกว่าอังกฤษเก่งมาก ที่แยกศัตรูไม่ให้รวมตัวกัน เป็นกลยุทธสุดยอดอีกอันหนึ่งของชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย (ของเท้าซ้าย)

ฝรั่งเศสคงไม่ใช่เป็นรายเดียวที่ต้องถูกปักหมุด ให้เดิน หรือเลิกเดิน และใช้กาวยี่ห้อขวางเยอรมันทาติดเอาไว้ รัสเซียเป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557


ตอนที่ 2 : “ขวาง 6”

รัสเซียเองก็มีความฝัน ฝันของรัสเซียยิ่งเฟื่องจัดกว่าฝรั่งเศส รัสเซียอยากสร้างทางรถไฟสาย Trans-Siberian ยาว 5,400 กิโลเมตร ยาวที่สุดที่มีใครเคยคิด ผู้ที่เสนอความคิดนี้คือ Count Sergei Witte รัฐมนตรีคลังของรัสเซีย เส้นทางนี้จะเริ่มที่เมือง Vladivostok วิ่งข้ามภูเขา เขตแดนโซบีเรียไปจบที่จีน โดยปลอดจากการมีส่วนร่วม อิทธิพล และการขัดขวางของอังกฤษ

เค้าท์ Witte บอกว่ารัสเซียควรจะเปลี่ยนสภาพจากการเป็น “ตะกร้าขนมปัง” (bread basket) ให้กับอังกฤษเสียที รัสเซียได้แต่ทำหน้าที่ส่งแป้งสาลีให้อังกฤษมากี่นานแล้ว เปลี่ยนมาทำให้ประเทศของตนเองรวยบ้างเถิด ลืมบอกไป เค้าท์ Witte นี้ ก็เป็นสหายรักกับนาย Hanotaux นักฝันเฟื่องเพื่อให้ประเทศเฟื่องฟูด้วยกัน

ข่าวเรื่องทางรถไฟ Trans Siberian แน่นอนต้องหลุดไปถึงหูของอังกฤษ คนแพ้ทางรถไฟ เส้นทาง Berlin Bagdad ยาวประมาณ 2,500 กิโลเมตร อังกฤษแพ้ขนาดไหน นี่มัน 5,400 กิโลเมตร อาการแพ้ก็ต้องมากกว่า ยิ่งรู้ว่าคนช่วยคิดมันเป็นกลุ่มไหน อังกฤษนั่งไม่ติด คันไปหมดทั้งตัว ยิ่งกว่าลมพิษขึ้น มันเป็นพิษของความอิจฉา ที่แรงกว่าพิษใดๆ ยกเว้นลมพิษหึง ตามตำราเขาว่างั้นครับ

สื่อใหญ่ชื่อ นาย A Colqhum ออกมาแสดงความเห็นทุกวัน “เส้นทางนี้ คงจะเป็นเส้นทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกจะเคยรู้จัก และแน่นอนมันจะเป็นอาวุธทรงอานุภาพในมือของรัสเซีย ซึ่งมีอำนาจและมีความหมายอย่างยากที่จะประเมิน มันจะทำให้รัสเซียเพียงชาติเดียวลำพัง ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าน

Dardanelles หรือคลองสุเอช (ที่อังกฤษควบคุม) มันจะทำให้รัสเซียเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในความกดดันของใคร เข้มแข็งอย่างชนิดที่รัสเซียไม่เคยฝันว่าจะเป็นได้ถึงขนาดนี้” โอ้โห ช่างสรรหาถ้อยคำมาพูดจริง พูดออกข่าวทุกวันแบบนี้ ชาวเกาะอยู่เฉยได้ให้มันรู้ไป

เป็นเวลาหลาย ๆ สิบปีมาแล้ว ที่อังกฤษจัดการวางไม้เสี้ยมและไม้ขวาง เพื่อดุลยอำนาจในยุโรป เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง อังกฤษขวางทางความเจริญของเยอรมันทางด้านอุตสาหกรรม สนับสนุนตุรกีให้ควบคุม Dardanelles ทางที่รัสเซียจะเข้าไปยังแหล่งน้ำอุ่น และแม้ตุรกีจะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

สำหรับอังกฤษ ในการใช้เป็นสนามเล่นวิทยายุทธแม่ไม้ต่าง ๆ แต่เมื่อเยอรมันโตเกิน เกินกว่าที่อังกฤษจะเล่นลำพังได้ อย่างที่เคยเล่าไว้แล้ว อังกฤษจึงจำเป็นต้องมีเพื่อน (หรือเหยื่อ) มาร่วมรายการขยี้เยอรมัน
อังกฤษพยายามจะขวางการสร้างทางรถไฟสายไซบีเรียนี้ สาระพัดไม้ที่จะวาง แต่เส้นทางมันไกลกัน ไม้เสี้ยม ไม้ขวาง ไปไม่ถึง รัสเซียสร้างทางนี้เกือบสำเร็จในปี ค.ศ. 1903 และอังกฤษก็ฉวยโอกาส ขณะที่รัสเซียกำลังหน้าแตก ช้ำใจแพ้ญี่ปุ่นในสงคราม Russo – Japan ค.ศ. 1905 อังกฤษ ผู้ชำนาญในการทูตแบบตวัดลิ้น จึงกลับไปเกี้ยวรัสเซีย ให้มาถล่มเยอรมันด้วยกัน โดยยอมถีบออตโตมานทิ้ง และพร้อมจะยกออตโตมานให้รัสเซีย แต่รัสเซียไม่รู้เลยว่า อังกฤษนั้นอยู่ข้างญี่ปุ่นและสนับสนุนญี่ปุ่นในการสู้รบกับรัสเซีย

ค.ศ. 1905 เค้าท์ Witte ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และผู้มาแทนเขา แนะนำพระเจ้าชาร์นิโคลัสให้ยอมรับ กลับไปสมานไมตรีกับอังกฤษ โดยรัสเซียบอกเพื่อแสดงไมตรีอันดียิ่ง เราขอยกอาฟกานิสถานและบริเวณส่วนใหญ่ของเปอร์เซียให้แก่อังกฤษ และรับปากว่าจะลดความอยากในเอเซียของรัสเซียลงไปหลายส่วน

หลังจากนั้นสัญญา 3 ฝ่าย ระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ก็มีการทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1907 ผนึกประเทศทั้ง 3 ไว้ด้วยกัน ด้วยกาวยี่ห้อขวางเยอรมัน เป็นการเตรียมพร้อม ในการปฎิบัติการขยี้เยอรมัน ให้แหลกไปจากเส้นทางเดินเข้าไปกินเค้ก ชิ้นโอชะที่ชื่อ ตะวันออกกลาง

หลังจากอังกฤษใช้ ไม้เสี้ยม ไม้ขวาง และกาว สำเร็จตามเป้าหมาย ฉากละครเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ดูเหมือนพร้อมที่จะลงโรง

ละครฉากแรก เปิดฉากเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1914 เป็นเวลาเพียง 3 เดือน หลังจากการใช้กาวทาเรียบร้อย อาร์คดยุก เฟอร์ดินานท์ มงกุฎราชกุมารของออสเตรีย ก็ถูกยิงกลางแดด โดยพวกเซิร์บ ละครเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เริ่มต้นแสดง

การทะยานขึ้นมาทาบรัศมีของเยอรมัน โดยความเจริญทางอุตสาหกรรม กองเรือขนส่งสินค้า กองทัพเรือ ทางรถไฟ ข้ามตะวันออกกลาง โดยเฉพาะรางรถไฟ ซึ่งวิ่งผ่านแหล่งน้ำมัน ที่อังกฤษ ไม่อยากให้ใครมาชิงตัดหน้าไปก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคู่แข่ง เป็นสิ่งที่อังกฤษ ชาติมหาอำนาจ นักล่าอาณานิคมหมายเลขหนึ่ง แม้จะเป็นชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย แต่ฝีมือสูงส่ง นอกเหนือจากการเสี้ยมแล้ว ฝีมือการขวางยิ่งล้ำเลิศ อังกฤษจึงต้อง ทั้งขัด และขวาง ไม่ให้เยอรมันแซงหน้าไปได้

อังกฤษพร้อมที่จะเปลี่ยนนโยบายจาก โปรออตโตมาน ขวางรัสเซีย เป็นโปรรัสเซีย ขวางเยอรมัน ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพลิกฝ่ามือ นโยบายการทูตของอังกฤษแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยคิดถึงน้ำใจไมตรีที่แท้จริง อังกฤษ มีแต่คำว่า ผลประโยชน์และผลประโยชน์

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557



ตอนที่ 2 : “ขวาง 7”

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในสายตาของผู้ดูละคร หรือแม้แต่ผู้ร่วมเล่นละครสงครามฉากนี้ด้วยกัน ก็อาจจะไม่รู้ว่า สงครามโลกนั้น มันเป็นฉากบังหน้าของการเข้าไปแย่งชิงน้ำมัน มันเป็นสงครามชิงน้ำมันครั้งแรก และแน่นอนไม่ใช่ครั้งสุดท้าย น้ำมันจึงกลายเป็นอาวุธสำคัญ ที่ตัดสินการแพ้ชนะของสงครามโลกครั้งนั้น และในสงครามโลกครั้งต่อๆไป อีกด้วยเช่นกัน

ในระหว่างที่ทำสงครามช่วง ค.ศ. 1914 ถึง 1918 กองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ต่างวางแผนที่จะเข้าไปชิงน้ำมัน เพื่อเอามาใช้ในการต่อสู้ เยอรมันสั่งผนึกท่อส่งน้ำมันในพวกตัวเองผ่านรูมาเนีย และการรบที่ Dardanelles ก็เป็นสนามรบที่มุ่งหมายจะชิงน้ำมันกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับด้านออตโตมานและเยอรมัน Dardanelles เป็นทางไปสู่รัสเซีย ที่มีน้ำมันอยู่ที่ Baku ปิดช่องทางนี้ อังกฤษก็ขึ้นไปเอาน้ำมันไม่ได้ รัสเซียก็เอาน้ำมันลงมาส่งพรรคพวกไม่ได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับอังกฤษ ก็หวังทะลวงผ่านช่องทางนี้ เพื่อไปเอาน้ำมันที่รัสเซีย และสกัดการควบคุมของออตโตมาน เยอรมัน ดังนั้นการสู้รบที่ Dardanelles จึงเข้มข้นสาหัส

เมื่ออังกฤษผ่านด่าน Dardanelles ไม่ได้ เหยื่อที่ต้องรับกรรมไปเต็ม ๆ จึงเป็นพวกอาหรับของ Sharif of Hejaz ที่ถูกหลอกให้มาตายแทนพวกฝรั่ง ที่พวกเขานึกว่าจะมาช่วยปลดปล่อยพวกเขา จากการปกครองของพวกเตอร์ก ที่พวกเขาแสนจะระอา แต่มันคงเจ็บช้ำหนักหนาสาหัสกว่า ถ้าพวกอาหรับรู้ว่า พวกเขาถูกหลอกให้มารบแทน และตายแทน พวกนักล่าอาณานิคม ที่กำลังจะมาขโมยน้ำมัน ทรัพยากรอันมีค่าที่เลี้ยงชีวิตพวกเขาด้วยซ้ำ มันเป็นการหลอกลวง ที่ผลของมันทำลายยิ่งกว่าความฝัน แต่เป็นการทำลายให้หัวใจสลายไปด้วย

นอกเหนือจากการทำลาย และการเฉือนอาณาจักรออตโตมาน แบ่งกันเองในระหว่างผู้ชนะแล้ว ในการแบ่งเค้กตะวันออกกลาง อังกฤษยังต้มคู่หู คู่กัด ที่หลอกมาให้ช่วยรบ คือ ฝรั่งเศส จนเปื่อยยุ่ยอีกด้วย

ตามสัญญาสุดชั่ว Sykes-Picot ฝรั่งเศสจะต้องได้ Mosul แหล่งน้ำมันใหญ่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปด้วย ก็ Mosul ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ใน CNN ทุกวัน ๆ ละ 24 ชั่วโมงนั่นแหละ ซึ่งตอนนั้นได้มีการให้สัมปทานน้ำมันแก่ Turkish Petroleum ซึ่งถือหุ้นโดย Deutsche Bank ไปแล้ว มาบัดนี้เป็นที่ประจักษ์เกินชัด แล้วว่า Mosul นั้นอุดมน้ำมัน ขนาดไหน ตอนนี้ใครกำลังแย่งชิงกับใคร อย่างได้หลงประเด็นเกี่ยวกับ Mosul ที่ CNN กำลังย้อมสีข่าวเป็นอันขาดเชียว

อังกฤษกลับไปต่อรองกับฝรั่งเศสใหม่ใน ค.ศ. 1918 ขณะนั้นฝรั่งเศสกำลังโทรมจัดจากการรบ อังกฤษก็ใช่ว่าจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่า แต่เพื่อฉากสำคัญ ลงทุนรบมา 4 ปี เตรียมตัวล่วงหน้ามาหลายปี ก็เพื่อจะมาเอารางวัลใหญ่ ที่ชื่อ Mosul นี่แหละ จะให้หลุดมือได้อย่างไร

อังกฤษใช้บทเดิมกับฝรั่งเศษ เรื่อง Mosul อังกฤษบอก ที่ฝรั่งเศส เลือก Mosul ไว้น่ะ มันเป็นถิ่นที่ยังไม่เจริญนะ ไม่เหมือนซีเรีย ถึงมีข่าวว่ามีน้ำมัน ก็แสนจะเลื่อนลอย เพื่อนกำลังผอมโซอย่างนี้ เอาอะไรที่มันแน่นอน จากเยอรมันไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องลงแรงมาก เราจะช่วยสนับสนุน ถ้าฝรั่งเศสไม่เอา Mosul เราจะยอมลงแรงขุดหาน้ำมันให้เอง และถ้าโชคดีเจอ เราจะแบ่งรายได้ จากการขุดน้ำมันให้

งานข่าวกรองของฝรั่งเศส คงจะทำงานสู้ของอังกฤษไม่ได้ ฝรั่งเศสเสียค่าโง่ตามเคย ยอมยก Mosul ให้อังกฤษ ถึง 100 ปีผ่านไป ฝรั่งเศสก็คงยังไม่หายกระอักโลหิต !

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
28 ส.ค. 2557


ที่มาของข้อมูล นิทานเรื่องจริง ตำนานการลวง หลอกล่อ ลงหม้อตุ๋น