วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เหยื่อติดคอ




นิทานเรื่องจริง เรื่อง “เหยื่อติดคอ”

ตอนที่ 1

ปี ค.ศ.1899 Lord Curzon อุปราชของจักรภพอังกฤษ ประจำอินเดีย (British Viceroy of India) เขียนไว้ เมื่อยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษว่า อิหร่านและเพื่อนบ้านเป็นหมากที่สำคัญบนกระดานของเกมชิงโลก และอนาคตของจักรภพอังกฤษ ก็ขึ้นอยู่กับบริเวณนั้นแหละไม่ใช่อยู่ที่ยุโรป

คงด้วยความคิดแบบนี้ การล่าเหยื่อจึงเข้มข้นและแพร่ขยายเหมือนเชื้อโรคร้ายนานกว่า 150 ปี ทำให้อิหร่านและตะวันออกกลางตกเป็นเหยื่อของนักล่าชาวตะวันตกซ้ำแล้วซ้ำอีก การต่อสู้เกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ ทางตะวันออกกลางอยู่เสมอ และก็ย้ายบริเวณการต่อสู้ไปเรื่อยๆ ตามการวางไม้เสี้ยม ไม้ขวางของนักล่า ที่ออกอาการหวงรางหญ้าและเหยื่อของตนเอง

อังกฤษนักล่ารุ่นเก่า ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ โม้ว่า “moment” ของตนในการเคี้ยวเหยื่อแถบตะวันออกกลาง อยู่ในช่วงตั้งแต่ ค.ศ.1914 ถึง 1950

แต่แค่หลัง ค.ศ.1925 เป็นต้นมา นักล่าหน้าใหม่ของอเมริกาเขี้ยวเริ่มงอก ก็คิดฝันเข้ามาล่าเหยื่อแถวตะวันออกกลางด้วยเหมือนกัน อเมริกาเข้าตะวันออกกลางตั้งแต่ก่อนเริ่มศตวรรษที่ 19 เล็กน้อย แต่ยังไม่ถึง “เวลา” ที่จะเปิดหน้าเปิดตัว รอจนสงครามโลกครั้งที่ 1 เลิกเล่น การช่วงชิงเหยื่อจากปากนักล่ารุ่นเก่า จึงเริ่มมีลีลาเล่ห์เหลี่ยมอย่างคึกคัก

ค.ศ.1944 กระทรวงต่างประเทศของอเมริกาลงบันทึกว่า น้ำมันได้กลายเป็นอาวุธสำคัญ สำหรับการจะเป็นมหาอำนาจ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีมาในประวิติศาสตร์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกานักล่าหน้าไหม่ แม้เขี้ยวจะเพิ่งงอก แต่ดูแหลมและแผนลึก เล็งตะวันออกกลางตาเขม็ง ในความเห็นของอเมริกา ตะวันออกกลางอยู่ระหว่างทางแยกระหว่างอาฟริกา เอเซีย และยุโรป และที่สำคัญเป็นบริเวณที่ดกไปด้วยแหล่งน้ำมัน นักยุทธศาสตร์อเมริกัน ก็ทำการบ้านเป็นไม่ต่างกับนักยุทธศาสตร์ของอังกฤษ ต่างก็รู้ดีว่า ใครก็ตามที่ควบคุมบริเวณนี้ ไม่ใช่แค่ชนะสงคราม แต่จะกลายเป็นมหาอำนาจ ผู้นำหมายเลขหนึ่งของโลกเลยทีเดียว จะปล่อยให้พวกนักล่าหน้าเก่าๆครอบครองกันต่อไปหรือ คิดแล้วอเมริกาก็มือไม้สั่น ต้องรีบเร่งสร้างกับดักเหยื่อ

เมื่อเยอรมัน บุกรัสเซียในปี ค.ศ.1941 อังกฤษจึงหันมาจับมือกับรัสเซียอีกรอบ เพราะมีศัตรูรายเดียวกัน และใช้อิหร่านเป็นเส้นทางในการลำเลียงส่งอาวุธให้รัสเซีย เดือนสิงหาคม ค.ศ.1941 อังกฤษและรัสเซีย ส่งกองทัพเข้าไปในอิหร่าน ทำการควบคุมอิหร่าน เพื่อให้อิหร่านเป็นด่านหน้ารับมือแทนพวกสัมพันธมิตร

แต่การสั่งงานไม่ค่อยได้ผลเพราะ Shah Reza Pahlavi (Reza Khan) ซึ่งปกครองอิหร่านขณะนั้น ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวอิหร่าน เพราะความเป็นเผด็จการและกดขี่ อังกฤษตั้งได้ ก็ปลดได้ แล้วอังกฤษก็ปลด Shah ออกจากตำแหน่ง และเอาลูกชายของ Shah ชื่อ Mohammud Reza Pahlavi ขึ้นมาครองแทน อังกฤษจำใจต้องใช้ Pahlavi ต่อ เพราะกลัวว่า Pahlavi คนพ่อจะเอาความชั่วของอังกฤษสมัยที่ใช้ให้ไปช่วยวางสาระพัด ไม้เสี้ยม มาปูดให้ชาวโลกรู้

ในปี ค.ศ.1942 อเมริกาเข้าสู่สงครามอยู่ฝายสัมพันธมิตร และเป็นชาติหนึ่งที่ต้องส่งเสบียงให้รัสเซียผ่านทางอิหร่าน อเมริกาไม่ชอบพวก Pahlavi เพราะเห็นว่าเป็นพวกอังกฤษ ยอมทำทุกอย่างตามที่อังกฤษสั่ง โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันบริษัทน้ำมันของอเมริกา ไม่ให้เข้ามาอิหร่านอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี แต่ก็จำใจคบพร้อมเริ่มวางแผน

ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ช่วยให้อเมริกามีโอกาสแทรกเข้าไปในอิหร่านและกดดันให้อิหร่านทำสัญญาหลายฉบับกับอเมริกาโดย Shah Mohammud Reza Pahlavi ให้ความร่วมมือ อเมริกาหวังว่าต่อไปสัญญากับดักเหล่านี้จะทำให้ Shah หมดอำนาจหรืออำนาจน้อยลงในอิหร่าน สัญญาเหล่านี้เปิดโอกาสให้ กองทัพ ทหาร ตำรวจ ความมั่นคงภายในประเทศ และการเงินของประเทศอิหร่านอยู่ในกำมือของที่ปรึกษาชาวอเมริกัน

นาย Wallace Murray ที่ปรึกษาอเมริกัน ทำหนังสือถึงประธานาธิบดี Roosevelt ว่า “ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า จริงๆแล้ว เราอเมริกาเป็นผู้บริหารประเทศอิหร่าน จากการทำงานอย่างเยี่ยมยอดของพวกที่ปรึกษาชาวอเมริกัน”

อเมริกาจัดการให้อิหร่านตั้งหน่วยงานชื่อ Royal Gendamerie ภายใต้รหัสชื่อ Genmish โดยอเมริกาส่ง Col. Norman H. Schwazkopf มือหนึ่งจากกองทัพ แต่จริงๆสังกัด CIA มาเป็นผู้จัดตั้งและดูแล ขนาดว่า ต่อไปอิหร่านไม่จำเป็นต้องพึ่งกองกำลังของต่างชาติแต่อย่างใด ดูเหมือนอังกฤษจะถูกยันออกจากอิหร่านระยะหนึ่งแล้ว ไม่รู้ว่ารู้ตัวหรือไม่

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง Royal Gendamerie ก็ยังคงอยู่ และอยู่เลยไปถึง ค.ศ.1950 และขยายตัวมากขึ้นภายใต้สัญญา United Security Pact by Iran and American ทำให้กำลังพลเพิ่มจาก 35,000 เป็น 70,000 โดยการอบรมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ส่งมาจากอเมริกา ในที่สุด The Gendarmerie ก็มีหน้าที่ดูแลทั้งความมั่นคงภายในอิหร่านและบริเวณนอกอาณาเขตของอิหร่านด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้ Col. Schwazkopf กลายเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลสูงอยู่ในอิหร่าน โดยเฉพาะกับหัวหน้าเผ่าต่างๆ ฑูตอเมริกันในอิหร่าน นาย John C. Wiley ส่งโทรเลขรายงานกลับไปที่อเมริกาว่า “ขณะนี้ Schwazkopf สามารถควบคุมเสียงในสภาอิหร่านได้แล้วถึง 88 คน”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การควบคุมอิหร่านของอังกฤษเริ่มสั่นคลอน แม้อังกฤษจะยังควบคุมกิจการด้านน้ำมันของอิหร่านผ่าน Anglo-Persian Oil Company (ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนเป็น British Petroleum หรือ BP) Anglo-Persian คุมทั้งการผลิต การการกลั่น และการขายน้ำมันของอิหร่าน

ระหว่าง ค.ศ.1945 ถึง ค.ศ.1950 อังกฤษเก็บเงินค่าน้ำมันในอิหร่านเข้ากระเป๋าไป 250 ล้านปอนด์ ในขณะ
ที่เจ้าของแผ่นดินได้ประมาณ 90 ล้านปอนด์ น้ำมันอิหร่านจึงยังเป็นของยั่วยวนใจ บวกกับโอกาสการเข้าครอบครองตะวันออกกลางโดยใช้อิหร่านเป็นหมาก ทำให้สหภาพโซเวียตและอเมริกาต่างทำงานหนัก ในการแย่งเหยื่อชื่ออิหร่าน มาจากปากของอังกฤษ

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
22 กันยายน 2557



ตอนที่ 2

อเมริกาเอาจริงเรื่องอิหร่าน ขนเอาเจ้าหน้าที่ของ CIA เข้ามาตั้งหน่วยงานใหญ่อยู่ในอิหร่าน เกาะติดทุกรายการ ทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะเอาเข้าไปคลุกคลีอยู่กับนักการเมือง นักการเงิน และพวกอีลิตของอิห ร่าน Dr. Taqi ชาวอิหร่านสาย CIA รับหน้าที่กล่อมมงกุฎราชกุมาร Abdoreza และนายพล Ali Razmara รายหลังแสดงความสนใจที่จะผูกมิตรจับมือร่วมงานกับอเมริกา เขาบอกกับ Dr. Taqi ว่า ถ้าอเมริกาจัดการให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอิหร่านได้ เขาก็จะตั้งให้ Dr. Taqi เป็นรัฐมนตรีคุมเศรษฐกิจอิหร่าน เราผลัดกันเกาหลังให้กันไงเพื่อน! แล้วเราจะได้วางแผนเขี่ยอังกฤษออกไปจากอิหร่านได้เสียที

ค.ศ.1950 Shah ก็แต่งตั้งให้นายพล Razmara เป็นนายกรัฐมนตรี
นายพล Razmara ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปลดพวกข้าราชการระดับสูง 400 คนทันที และลงนามในสัญญา “Point Four” กับอเมริกา ซึ่งมีผลให้อเมริกาเข้า ไปมีอิทธิพลในอิหร่านภายใต้เสื้อคลุมการพัฒนาเศรษฐกิจ นี่ผมเขียนเรื่องอิหร่านนะครับ แม้มันจะดูคล้ายกับเหตุการณ์ในแดนสมันน้อยก็ตาม

แต่สำหรับเรื่อง Anglo-Persian Oil อะไรคงยังจุกคอท่านนายพล Razmara อยู่ เขาไม่ขยับตามที่อเมริกาต้องการ แถมออกกฏหมายรับรอง Anglo-Persian Oil ให้ควบคุมน้ำมันของอิหร่านต่อ นี่ลองของหรือไง หลังจากนั้นไม่นานท่านนายพล Razmara ก็ถูกฆาตกรรม เก็บลงหีบเรียบร้อย เขาเล่นกันแรงจริง
สภาผู้แทนอิหร่านหรือที่เรียกว่า Majlis ซึ่ง Col. Schwazkopf มีอิทธิพลครอบอยู่ จึงจับมือ Shah ให้ตั้ง Mohammed Mossadeq เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายพล Razmara

Mossadeq เป็นนักการเมืองที่มีความสามารถ และเป็นที่นิยมของชาวอิหร่าน เพราะเขาประกาสต่อต้านอิทธิพลของอังกฤษอย่างเปิดเผยมาตลอด จนอังกฤษทนไม่ไหว และขับให้เขาออกนอกประเทศไป
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 แต่ใน ค.ศ.1921 อังกฤษก็สั่งให้ Reza Khan เรียกตัว Mossadeq กลับอิหร่านใหม่ หวังเอาฐานเสียงของ Mossadeq มาสนับสนุน Khan ซึ่งกำลังง่อนแง่น แต่เมื่อ Khan ตั้งตัวเองเป็น Shah ในปี
ค.ศ.1925 Mossadeq คัดค้านอย่างรุนแรง และบอกว่า นี่เป็นการยุยงของอังกฤษที่จะทำให้อิหร่านล่ม ความคิดเช่นนี้ของ Mossadeq เข้าทางอเมริกาที่กำลังหาคนไปแซะอังกฤษออกจากอิหร่าน ดังนั้นเมื่อ Mossadeq ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมใจอเมริกา และปฏิบัติการยึด Anglo-Iranian Oil จากอังกฤษ มาเป็นของอิหร่าน จึงไม่ถูกต้านทานจากอเมริกา อเมริกาน่าจะประเมิน Mossadeq พลาด

การยึด Anglo-Iranian Oil อังกฤษเต้นเป็นเจ้าเข้า โกรธจนเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ กระเทือนยังกับแผ่นดินไหว เตรียมกองทัพจะมาขยี้อิหร่าน อังกฤษซ้อมค้าง ชวนอเมริกาไปขยี้อิหร่านด้วยกัน อเมริกาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการจะใช้กำลังกับอิหร่าน (แหม! ไต๋โผล่เร็วจัง) เจรจากับอิหร่านดีกว่าน่าลูกพี่ อังกฤษไม่ยอม วิ่งจนหัวล้านเปียก ใช้ช่องทางของสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน และสั่งรวบรวมเด็กในคาถาที่อยู่อิหร่านเตรียมตัวปฏิวัติโค่น Mossadeq อเมริกาไม่เล่นด้วย เราเล่นเองก็ได้ ชาวเกาะชักย๊วะ

การคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน ทำให้ตลาดโลกน้ำมันปั่นป่วน หลังจากนั้นก็มีข่าวลือในวอซิงตันว่อนตามโต๊ะทำงานว่า สหภาพโซเวียตฉวยโอกาสนี้ ยุทหารอิหร่านทำการปฏิวัติและส่งเสริมระบอบคอมมิวนิตส์ในอิหร่านเสียเอง ฮื่ม แก้เกมเก่งนะลูกพี่ แบบนี้อเมริกาก็เลิกลั่ก หันไม่ถูกทางเหมือนกัน

แล้วอเมริกาก็สะดุดกับดักของอังกฤษ หันกลับมากดดัน Mossadeq ให้ประนีประนอมกับอังกฤษ Mossadeq ปฏิเสธ อเมริกาชักไม่ชอบใจที่สั่งขวาหันกับ Mossadeq ไม่ได้ อเมริกายังไม่ตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรดี ข่าวลือมาอีกรอบ น่าสงสัยว่า Mossadeq จะทำงานร่วมกับสหภาพโซเวียตผ่านพวกคอมมิวนิตส์ในอิหร่าน คราวนี้อเมริกาเป็นฝ่านเต้น เข้าใจเล่นจริงลูกพี่ แล้ว CIA ก็จับมือกับหน่วยราชการลับอังกฤษ MI6 จัดการให้มีการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล Mossadeq ในปี ค.ศ.1953 CIA เรียกว่า “Operation Ajax”

Operation Ajax ทำให้ Shah Mohammud Reza Pahlavi กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง และเขารู้ว่าเขาควรจะขอบคุณใครบ้าง วงการข่าวเล่ากันว่า ในวันครองบัลลังก์ Shah ได้พูดว่ากับนาย Kermit Roosevelt Jr. หัวหน้า CIA ประจำอิหร่านว่า “ขอบคุณพระเจ้า ประชาชนของเรา กองทัพของเรา และท่าน !”

หลังจาการปฏิวัติ บริษัทน้ำมันที่อิหร่านยึดมาเป็นของรัฐ ใช้ชื่อว่า National Iranian Oil Company ก็จริง แต่การควบคุมการผลิตและการขายน้ำมันอิหร่าน ตกอยู่ในกำมือของกลุ่มบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ซึ่งแน่นอน พ่วงเอา 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาเข้าไปด้วย กลุ่มอเมริกาได้รับหุ้นน้ำมัน หอมชื่นใจไป 40% ส่วนของ Anglo-Iranian Oil ของอังกฤษ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น British Petroleum หรือ BP ถูกลดลงมาเหลือ 40% ฝรั่งเศสและดัชท์ในฐานะผู้เข้าร่วมแสดงได้ 20% เหลือ 40% ดีกว่าเหลือแต่ถังน้ำมันเปล่าๆ นักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ คงรำพึงด้วยความซ้ำใจ

ผลของการยึดบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐและแรงกดดันของประชาชน ทำให้ส่วนแบ่งรายได้น้ำมันของอิหร่านเพิ่มขึ้นเป็น 50% แต่อิหร่านไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบสมุดบัญชีบริษัท มันเป็นชัยชนะที่จอมปลอม เหมือนชัยชนะของการต่อสู้โดยประชาชนส่วนใหญ่ ที่สุดท้ายแล้วก็โดนหลอกโดนต้มเหมือนเดิม

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
22 กันยายน 2557




ตอนที่ 3

แล้ว Shah ก็อยู่ในอำนาจนานถึง 25 ปี ในฐานะหุ่นเชิดราคาแพงของอเมริกานักล่าหน้าใหม่ ที่แสดงวิธีการล่าเหยื่ออย่างเด็ดดวง ชนิดนักล่ารุ่นเก่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย ต้องจำใจคายเหยื่อให้ครึ่งตัว ศักดิ์ศรีของนักล่าชาวเกาะฯหมองหม่นไปจมหู

CIA รับหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงภายในให้แก่ Shah โดยตั้งหน่วยงานชื่อ SAVAK ขึ้นมาใหม่ แน่นอน หน่วยงานนี่อยู่ในความดูแลของ Col. Schwazkopt เจ้าพ่อ CIA คนเดิม อเมริกาป้อนกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์ให้ Shah อย่างไม่อั้น เงินจำนวน 68 ล้านเหรียญ ส่งให้ Shah วันขึ้นครองบัลลังก์เป็นการปลอบใจ ที่อิหร่านขาดรายได้ในช่วงที่ถูกอังกฤษคว่ำบาตร หลังจากนั้นก็ให้เงินกู้จำนวน 300 ล้านเหรียญ สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอีก 600 ล้านเหรียญ สำหรับสร้างกองทัพก็ตามมา นับเป็นเหยื่อที่อเมริกาลงทุนสูง สมันน้อยอย่าเอาตัวเองไปเทียบเลยนะ เดี๋ยวจะน้อยใจ ลมใส่กันเป็นแถวๆ

หลังจากการปฏิวัติในปี ค.ศ.1953 แม้ Shah จะเป็นผู้ครองบัลลังก์ แต่ผู้บริหารประเทศอิหร่านจริงๆ ดูเหมือนจะเป็นบริษัทน้ำมันของอเมริกา อิหร่านยังต้องพึ่งอเมริกาทางด้านเทคนิคการผลิต กลไกการตลาดทุกอย่าง ถึงกับมีสื่อประชดว่า “Ownership Without Control”

ค.ศ.1963 ภายใต้การชักใยของอเมริกา ซึ่งส่งที่ปรึกษา นักวิชาการเข้ามาล้นแทบขี่คอกันอยู่ในอิหร่าน อิหร่านก็เริ่มทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตามที่อเมริกาสั่ง นโยบายที่เขียนโดยบรรดาอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard จัดมามาให้ เรียกว่า “White Revolution” ซึ่งมีเป้าหมายให้อิหร่านกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม อเมริกาบอกเป็นการสร้างโอกาสให้ชนชั้นกลาง สร้างงานให้ชนชั้นแรงงานไงล่ะ แล้วทุนต่างชาติก็หลั่งไหลเข้ามาในอิหร่าน สังคมอิหร่านกลายเป็นสังคมศิวิไลซ์ตามความคิดของอเมริกา ต่างกันไหมกับเหยื่อชื่อไทยแลนด์แดนสมันน้อย

White Revolution บอกว่าต้องปฏิรูปที่ดิน บังคับให้เจ้าของที่ดินขายคืนให้รัฐ เพื่อให้รัฐนำไปจัดสรรใหม่ ส่วนหนึ่งเอาไปทำเป็นพื้นที่อุตสาหรรรมเพิ่มเติม อีกส่วนหนึ่งจัดสรรให้ชาวไร่ชาวนา เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านเช่าที่ดินและใช้ทำกิน เงินที่ได้จากการให้เช่าที่ดินก็ส่งไปสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา การยึดที่ดินทั้งหมดไปจากพวกเขา เปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีที่สนับสนุนศาสนาอิสลามที่ดำเนินกันมาเป็นเวลานาน ตามนโยบายของ White Revolution รายการนี้ ดูเหมือนจะไปสะดุดตอใหญ่ ที่รอเวลาการงอกมาขวางทางเดินของ Shah

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของอิหร่านงอกงาม ขยายตัว แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่อำนวยความสะดวก เช่น รถยนต์ ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ของอิหร่านยังอาศัยอยู่ในเรือนไม้เล็กๆ ชาวเมืองอิหร่านเองก็เริ่มเสพติด “ของนอก” การนำเข้าสินค้าของอิหร่านกระโดดจาก 400 ล้านเหรียญในปี ค.ศ.1958-1959 เป็น 18.4 พันล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.1975-1976 สื่ออังกฤษได้โอกาสเสียดสี “อิหร่านได้แปรสภาพเป็นตะวันตกอย่างผิดที่ผิดทาง มีแต่โรงงานผลิตน้ำอัดลม Pepsi, Coke และ Canada Dry โผล่ขึ้นทั่วไปหมด ในขณะที่ชาวบ้านในเขตยากจนยังดื่มน้ำจากก็อกน้ำหัวถนน ซึ่งอยู่ข้างๆกองขยะ สนามบินเตหะรานหรูหราที่สุดในตะวันออกกลาง แต่ถนนหนทางดูเหมือนจะยังไม่พร้อมจะเชื่อมโยง โรงแรม Hilton ของอเมริกันสูงลิบกำลังสร้างอยู่ แต่ชาวอิหร่านอีกมากมายยังอาศัยนอนอยู่ตามถนน”

อเมริกาหนุนให้ Shah ทำหน้าที่ตำรวจเฝ้ายามประจำอ่าวเปอร์เซีย คอยกันไม่ให้สหภาพโซเวียตแหลมเข้ามาตามเขตแดนด้านใต้ของสหภาพโซเวียต อเมริกาเริ่มวางแผนด้านกองทัพให้อิหร่าน ตั้งแต่ ค.ศ.1940 กว่า แต่หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1953 อเมริกาเหมือนเป็นผู้นำกองทัพของอิหร่านเสียเอง ในปี ค.ศ.1954 มีหน่วยงานด้านกองทัพของอเมริกา 3 หน่วยงานคอยดูแลกำกับกองทัพอิหร่าน ให้ทั้งการฝึกทางอากาศ ทางทะเล และด้วยอาวุธที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ในช่วง ค.ศ.1970 กว่า อิหร่านขึ้นตำแหน่งเป็นลูกรักของอเมริกาในตะวันออกกลาง แน่นอน คงสร้างความขมให้แก่ซาอุดิอารเบียไม่น้อย ประธานาธิบดี Nixon บอกว่า เรากำลังปวดหัวกับเรื่องเวียตนาม ระหว่างนี้เรื่องทางตะวันออกกลางเราขอให้ท่าน พร้อมกับซาอุดิอารเบียและอิสราเอล ถือบังเหียนไปก่อนนะ
เพื่อให้สมกับเป็นผู้นำตะวันออกกลาง ที่ได้รับความไว้วางใจจากอเมริกา ในปี ค.ศ.1975 อิหร่านใช้เงิน 35 พันล้านเหรียญ (จากรายได้น้ำมัน 62 พันล้านเหรียญ) เพื่อลงทุนสร้างกองทัพอิหร่านให้แข็งแกร่ง ในช่วงนั้นมีที่ปรึกษาด้านการทหารของอเมริกาอยู่ในอิหร่านประมาณ 8,000 คน

Shah มองตัวเองในกระจก เข้าใจว่าหลังจากได้อาหารดี ร่างกายแข็งแรงพอที่แหกกรงเหยื่อเป็นอิสระจากอเมริกา เขาเริ่มเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศของอิหร่าน มุ่งหน้าไปสู่การเป็นผู้นำของตะวันออกกลาง ตัวจริงไม่ใช่ตัวแทน เขาเร่งสร้างกองทัพให้ใหญ่ขึ้น แข็งแกร่งขึ้น อเมริกาเริ่มคิ้วขมวดมองดู

Shah มองตัวเองในกระจก เห็นแต่ภาพที่ตัวเองอยากเห็น แต่ไม่เห็นภาพที่ตัวเองเป็น เหยื่อ มักไม่รู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อ เมื่อ Shah เริ่มเบ่งกล้ามใส่อเมริกา อนาคตของ Shah ก็เริ่มสั้นลง แต่ดูเหมือน Shah จะเดินไปไกลเกินกว่าจะถอยหลัง เขาให้สัมภาษณ์ใน US News and World Magazine เมื่อ ค.ศ.1976 เกี่ยวกับอำนาจและอิทธิพลของอเมริกาในอิหร่านว่า “ถ้าอเมริกาพยายามจะสร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อประเทศเรา เราก็สามารถทำให้อเมริกาเจ็บได้ ไม่น้อยกว่าที่อเมริกาจะทำให้เราเจ็บ ไม่ใช่แค่ในด้านของน้ำมัน เราสามารถสร้างปัญหาให้กับอเมริกาได้ในบริเวณนี้ ถ้าอเมริกาบีบให้เราต้องเปลี่ยนจากการเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ผลสะท้อนมันคงเกินจะประมาณได้” อเมริกาควันออกทุกทวาร ความร้อนขึ้นจนปรอทแทบแตก และชะตาชีวิตของ Shah ก็ถูกตัดสินโดยวอชิงตันเรียบร้อย

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
23 กันยายน 2557



ตอนที่ 4

อเมริกาเริ่มมองหาผู้ที่น่าจะเหมาะสมเป็นหุ่นตัวใหม่แทน Shah สาระพัดฑูตและที่ปรึกษาถูกส่งตัวไปเดินหาข่าวแถวอิหร่าน แน่นอนทุกคนต่างหาเรื่องโกหกมาบังหน้าในการเดินเข้าไปอยู่ในสังคมอิหร่าน
นาย Henry Precht นักการฑูตคนหนึ่ง ซึ่งถูกส่งไปเดินเล่นช่วงนั้น บรรยายถึงการปฏิบัติการดังกล่าว “เป็นปฏิบัติการสร้างหนทางสำหรับให้คนในสังคมการเมืองระดับสูง เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอิหร่านที่สนับสนุนอเมริกา”

นาย William H. Sullivan ฑูตอเมริกันประจำอิหร่านช่วง ค.ศ.1977 ถึง ค.ศ.1979 พูดถึงช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า “ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ.1978 (ประมาณ 1 ปี ก่อนมี Islamic Revolution ) สถานะการณ์ในอิหร่านเกิดการเปลี่ยนแปลง และเราก็คอยโอกาสนั้น......... สถานฑูตเราได้สร้างเครือข่ายติดต่อกับผู้ไม่เห็นด้วย (กับ Shah) และเราก็ทำให้พวกเขาเชื่อมั่น.......... พวกเขาส่วนมากแปลกใจที่ความเห็นของเรากับของพวกเขาใกล้เคียงกันมาก......... เขา (Shah) ถามผมบ่อยๆว่า พวกนักสอนศาสนาเพื่อนคุณทำอะไรกันนะ ? ......”

เมื่อพวกนักเดินเล่น ส่งรายงานกลับไปที่วอซิงตัน พวกเขาสรุปกันว่า อเมริกาควรสนับสนุนพวก Islamic ที่อยู่ตรงกันข้ามกับ Shah พวกนักการเมืองฝ่านค้าน อ่อนแอเกินไป ส่วนพรรคคอมมิวนิตส์ ก็ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตมากไป พวก Islamic นี้ มีผู้นำชื่อ Ayatollah Ruhollah Khomeini ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมือง Najif ในอิรักมาหลายปี ตั้งแต่ตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ Shah แต่ใน ค.ศ.1978 Saddam Hussein ไล่เขาออกไปจากอิรัก Khomeini ย้ายไปปักหลักแถวชานเมืองของปารีสที่ฝรั่งเศสชื่อ Neauphle Le Chateau

เมื่ออยู่ที่เมือง Najif พวกอเมริกันไปแวะเยี่ยม Khomeini บ่อยๆ Richard Cottam พวก CIA กลุ่มที่มีส่วนในการสร้างการปฏิวัติโค่น Massadeq ได้ไปพบ Khomeini ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลอเมริกัน Cottam เข้าใจว่า Khomeini มีความเป็นห่วงคอมมิวนิตส์จะเข้ามาครองอิหร่าน และบอกว่าจะต้องระวังไม่ใช่ไล่ Shah ออกไป แล้วเป็นการเปิดทางให้คอมมิวนิตส์เข้ามาครองอิหร่านแทน Khomeini ขอให้ Cottam สื่อสารกับนายที่วอซิงตันให้รู้เรื่องว่า Khomeini หวังจะได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา หากพวกคอมมิวนิตส์ในอิหร่านต่อต้านการปฏิวัติ

อเมริกาส่งตัวแทนไปคุยที่ Neauphle Le Chateau ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1978 แล้ว Khomeini กับอเมริกา ก็ได้มีตกลงกันเป็นทางการว่า Khomeini ตกลงจะให้ความร่วมมือกับอเมริกา ถ้าอเมริกาจะช่วยเขาโค่น Shah และรับรองว่าหลังจากการปฏิวัติโค่น Shah อเมริกาจะไม่เข้ามายุ่งในกิจการภายในของอิหร่าน อเมริกาตกลงรับคำ

ประธานาธิบดี Jimmy Carter ส่ง General Robert Huyser ไปอิหร่านเพื่อประสานงานกับพวกนายพลอิหร่าน Huyser ถึงอิหร่านในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1979 เขาบอกกับนายพลอิหร่านว่า ถ้าพวกคุณไม่สนับสนุนการปฏิวัติของ Khomeini โดยนั่งอยู่เฉยๆแล้วละก้อ พวกคอมมิวนิตส์จะฉวยโอกาสนี้บุกเข้าประเทศคุณ เปลี่ยนอิหร่านเป็นรัฐคอมมิวนิตส์แน่นอน ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในรายงานของ Al Watan รายงานในหนังสือพิมพ์ Kuwaiti วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1979 ประธานาธิบดี Carter เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำของเขาว่า “Huyser มีความเห็นว่า กองทัพอิหร่านเตรียมพร้อมที่จะป้องกันอาวุธพวกเขา (ไม่ไห้ตกไปอยู่ในมือของคนอื่น) และรับรองว่าจะไม่ออกมาขัดขวางตามถนน”

Shah เองก็สังหรณ์ใจว่า น่าจะมีอะไรผิดปกติ เขาเขียนในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการมาอิหร่านของ General Huyser ในเดือนมกราคม ค.ศ.1979 ว่า “Huyser ไม่แจ้งเราล่วงหน้าถึงการมา เขามาเตหะรานบ่อยมาก และทุกครั้งจะแจ้งตารางการนัดพบล่วงหน้า เพื่อหารือกับเราเกี่ยวกับเรื่องการทหาร กับเราและพวกทหาร” แต่การมาคราวนี้ของ Huyser ไม่มีการแจ้งให้ Shah ทราบ Shah ได้เขียนบันทึกต่อไปว่า “Huyser ได้กล่อมให้หัวหน้าเลขาธิการของเรา General Ghara-Baghi ซึ่งพฤติกรรมช่วงหลังของเขา ทำให้เราเชื่อว่าเขาทรยศต่อเราแล้ว Huyser ขอให้ Ghara-Baghi นัดให้เขาพบกับทนายชื่อดังด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ Mehdi Bazargan” (ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาล Khomeini)

“นายพล Ghara-Baghi แจ้งเราเกี่ยวกับเรื่องที่ Huyser ขอให้นัด ก่อนที่เราจะไปจากอิหร่าน และเราไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เรารู้แต่ว่า Ghara-Baghi ใช้อำนาจของเขา ห้ามกองทัพมิให้ขัดขวาง Khomeini เขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่า มีการตัดสินใจกันอย่างไรและในราคาใด เข้าใจว่าพวกนายพลของเราตอนหลังได้ถูกประหารชีวิตหมด ยกเว้น Ghara-Baghi ที่ได้รับผ่อนผัน คนช่วยเขาก็คือ Mehdi Bazargan นั่นแหละ”

วันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1979 ฑูตอเมริกันได้นัดพบกับ Ebrahin Yazedi ผู้ช่วยของ Khomeini พร้อมด้วยตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศอเมริกา Yazedi อาศัยอยู่ในอเมริกาเป็นเวลานานตั้งแต่ ค.ศ.1961 เขาถูกบังคับให้ลี้ภัยจากอิหร่าน เพราะเขาต่อต้าน Shah หลังจากเข้าไปอยู่ในอเมริกา เขาผูกสัมพันธ์แน่นชิดกับ CIA และกระทรวงต่างประเทศอเมริกา ตอนหลังเขาได้แปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน

ระหว่างการนัดพบ Warren Zimmerman ในฐานะตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศอเมริกา บอกให้ Yazedi แจ้ง Khomeini ให้คอยก่อน อย่างเพิ่งกลับมาอิหร่าน จนกว่า Huyser จะได้เตี๊ยมกับบรรดาพวกนายพลอิหร่านเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นใน วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1979 นาย Ramsay Clark จากกระทรวงต่างประเทศก็ไปพบ Khomeini ที่ Neauphle Le Chateau หลังจากพบ เขาแจ้งแก่นักข่าวว่า เราหวังว่าการปฏิวัติจะสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้กลับมาสู่ชาวอิหร่าน การปฏิวัติได้ถูกเตรียมการพร้อมเดินหน้าแล้ว

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 Khomeini ก็ขึ้นเครื่องบิน Air France จากปารีสบินเข้าเตหะราน ส่วน Shah รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และคงไม่อยู่ในสภาพที่จะระงับได้ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 Khomeini ก็ขึ้นมาเป็นผู้ครองอิหร่าน และตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ มี Mehdi Bazargan เป็นหัวหน้ารัฐบาล

Bazargan เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างพวกปฏิวัติกับอเมริกา ในช่วง ค.ศ.1978 ตัวแทนของรัฐบาลอเมริกัน เช่น John Stempel, Hurry Precht, Warren Zimmerman และ Richard Cottam ต่างได้มาพบพูดคุยกับขบวนการ Iranian Freedom Movement ซึ่งนำโดย Bazargan อยู่ตลอด อเมริกาติดต่อกับ Bazargan โดยผ่านขบวนการ Freedom Movement นี้ตลอดช่วงเดือนแรกๆ หลังจากการปฏิวัติ

Bazargan ได้แต่งตั้ง Abbas Amir Entezam ซึ่งอยู่อเมริกามากว่า 20 ปี ให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี Entezam นี้ใกล้ชิดติดต่อกับ CIA มาตั้งแต่สมัยของ Massadeq และเป็นสายข่าวให้แก่ CIA เมื่อมีการสร้างปฏิวัติล้ม Massadeq นอกจากนี้ยังตั้ง Kerim Sanjabi เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ Sanjabi ก็เช่นกัน เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับสถานฑูตอเมริกาในกรุงเตหะราน คณะรัฐมนตรีของ Bazargan สรุปแล้วมีคนอิหร่านถือสัญชาติอเมริกันถึง 5 คน

ในบันทึกความทรงจำของประธานาธิบดี Carter เขียนชื่นชมว่า Bazargan และคณะรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาจากตะวันตกว่า ให้ความร่วมมือกับอเมริกาอย่างดีเยี่ยม คอยดูแลป้องกันสถานฑูต ดูแลการเดินทางของ General Philip C. Gast ซึ่งมาแทน Huyser และคอยส่งข่าวให้พวกเรา Bazargan เองก็ประกาศชัดเจนว่า ต้องการจะสร้างสัมพันธ์ไมตรีอันดียิ่งกับอเมริกา และอิหร่านก็จะกลับมาส่งน้ำมันให้แก่ลูกค้าตามปกติในเร็วๆนี้

การปฏิวัติในอิหร่านในปี ค.ศ.1979 เหมือนเป็นการจับคู่ที่เหมาะสม ระหว่างกลุ่มอิสลามที่เคร่งครัดและไม่ชอบระบอบคอมมิวนิตส์ กับจักรวรรดิอเมริกาที่กีดกั้นระบอบคอมมิวนิตส์ แต่ไม่แน่ว่าการจับคู่ถูกในตอนนั้น จะไปลงท้ายด้วยการหย่าและเคียดแค้น หรือถือไม้เท้ายอดทองด้วยกัน

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
23 กันยายน 2557



ตอนที่ 5

ในขณะนั้นการกีดกั้นสหภาพโซเวียต เป็นสุดยอดนโยบายของอเมริกา นักยุทธศาสตร์ชั้นเซียนของอเมริกา ต่างเชื่อกันว่าขบวนการ Khomeini จะเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านระบอบคอมมิวนิตส์ ไม่ให้เข้ามาในอิหร่าน และคิดไกลไปถึงว่า เนื่องจากเป็นพวกกลุ่มศาสนา อาจจะไม่สนใจหรือไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจดีพอ ก็อาจจะยอมให้พวกอิหร่านที่นิยมอเมริกาและชำนาญด้านเศรษฐกิจเป็นผู้ชี้นำประเทศในภายหลัง แต่จริงๆแล้วในรัฐบาล Carter ไม่มีใครรู้จัก Khomeini จริง และไม่รู้ว่าเป้าหมายแท้จริงของขบวนการ Khomeini มุ่งหน้าไปถึงไหน พวก CIA ที่อเมริกายกโขยงมาอยู่ที่อิหร่าน กลุ่มใหญ่มัวแต่จับตาดูไปที่สหภาพโซเวียต เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ CIA ได้บันทึกไว้ตอนหลังว่า “....จริงๆแล้วรัฐบาล Carter ไม่รู้เลยว่า Khomeini เป็นใคร กว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว…..”

วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1979 อเมริกันก็ถูกปลุกอีกครั้งหนึ่ง จากข่าวด่วนว่านักศึกษาที่เป็นอิสลามบุกยึดสถานฑูตอเมริกาที่กรุงเตหะราน โดยมีไฟเขียวของ Khomeini นำหน้า และยึดเจ้าหน้าที่สถานฑูตเป็นตัวประกัน เรียกร้องให้อเมริกาส่ง Shah กลับมาขึ้นศาลในอิหร่าน

ชนวนการบุกสถานฑูต มาจากการที่อเมริกาตกลงให้ Shah ซึ่งป่วยหนักในขณะนั้น ไปรักษาตัวที่อเมริกา และจากการที่มีข่าวว่า ได้มีการนัดพบกันที่อัลจีเรีย ระหว่างที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Carter คือนาย Zbigniew Brzezinski กับนายกรัฐมนตรีอิหร่าน รัฐมนตรีกลาโหม และรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นพวกเดียวกับ Khomeini แต่สนับสนุนอเมริกา ถึงพวกเดียวกันแต่อุดมการณ์ต่างกันไกล อเมริกาคงยังนึกไม่ถึง

ไม่นานหลังจากที่สถานฑูตอเมริกาโดนยึดในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 สหภาพโซเวียก็ฉวยโอกาสลองของ บุกเข้าไปในอาฟกานิสถาน

อาฟกานิสถาน ถือว่าเป็นกันชนสำคัญ กั้นเส้นทางเดินของสหภาพโซเวียต ที่จะเดินผ่านปากีสถานเข้ามายังอิหร่านและอ่าวเปอร์เซีย การลองของครั้งนี้ของสหภาพโซเวียต ทำให้อเมริกาสะดุ้งเหมือนถูกไฟซ๊อต สหภาพโซเวียตคงไม่ได้คิดแค่เข้ามานั่งเล่นที่อาฟกานิสถานแน่ แผนของโซเวียตน่าจะลึกกว่านั้น มันเหมือนเป็นการท้าทายในการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในบริเวณทั้งหมดของตะวันออกกลาง มหาสมุทรอินเดีย อาฟริกา คาบสมุทรอารเบียน ถึงบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาคิดเช่นนั้น และอเมริกายอมไม่ได้

23 มกราคม ค.ศ.1980 อเมริการวบรวมลูกหาบเจ้าของบ่อน้ำมันแถวทะเลทราย บุกเข้าไปยึดอาฟกานิสถานคืน สหภาพโซเวียตรู้แล้วว่ากล่องดวงใจของอเมริกาอยู่ที่ไหน ถอยทัพกลับไปหน้าตาเฉย
นาย Zbigniew Brzezinski ที่ปรึกษาใหญ่รีบประกาศว่า เราต้องปรับยุทธศาสตร์การครองโลกของอเมริกาเสียใหม่ การควบคุมอ่าวเปอร์เซีย ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันดับแรก ที่อเมริกาต้องรีบดำเนินการ พร้อมกับการประกาศ ที่ปรึกษาใหญ่ทำบันทึกถึงประธานาธิบดี Carter (สั่ง) ประธานาธิบดีว่า “เราจะต้องรีบดำเนินการ ขวางการแทรกเข้ามาในบริเวณนี้ของสหภาพโซเวียต เราน่าจะต้องให้ของขวัญแบบ “สงครามเวียตนาม” ให้แก่สหภาพโซเวียตบ้าง” ขิงแก่ของจริง รสเผ็ดจัด

ตลอดเวลากว่า 10 ปี รัฐบาลอเมริกัน ส่งอาวุธและความช่วยเหลือเป็นเงินกว่า 3 พันล้านเหรียญ ให้แก่กลุ่มอิสลาม Mujahadeen เพื่อให้สร้างเครือข่ายนักรบอิสลาม และพวกนี้ก็ได้เป็นต้นกำเนิดขวัญใจคาวบอย Bush กลุ่มอัลกออิดะห์ของ Osama Bin Laden เพื่อเอาไว้แหย่ให้สหภาพโซเวียตวุ่นวายอยู่ที่อาฟกานิสถาน จะได้ไม่มีเวลาข้ามมาเดินเล่นแถวทะเลทรายในตะวันออกกลาง บ่อน้ำมันมีเยอะ ตกลงไปจะลำบาก

หมากล่อให้สหภาพโซเวียตวุ่นวายแถวอาฟกานิสถานหมากเดียว คงกลัวเอาไม่อยู่ ต้องแถมให้อิหร่านอีกสักหน่อย เป็นการทำโทษที่บังอาจมายึดสถานฑูตที่เตหะราน นี่มันเป็นการหยามน้ำหน้ากันมากนะ ใหญ่ขนาดนี้ โดนลูบคมซะทื่อไปหมด พี่เบิ้มสมควรจะลาออกจากตำแหน่ง แต่พี่เบิ้มหน้าด้านอยู่แล้ว เก็บความอายไว้ก่อน ยังต้องใช้อิหร่าน จึงยังไม่ทลาย ขอแค่บี้ซ้ายขยี้ขวา ให้อยู่สุขไม่ได้แล้วกัน

ในขณะนั้น อเมริกามีกองกำลังจำนวนจำกัดอยู่ในแถบทะเลทราย ดังนั้นหมากที่ใช้คือเสี้ยมให้มันรบกันเอง เราอย่าขนคนของเราไปให้เสียเวลาเลยนะ อิรักมีประชากรเป็นชีอ่ะ 60% ซึ่ง Saddam ไม่พอใจและกดขี่อยู่เสมอ แล้วนี่ถ้าอิหร่านซึ่งเป็นชีอ่ะบุกเข้ามาที่อิรัก พากันเปลี่ยนประเทศอิรักป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดทั้งหมดจะเป็นยังไงนะ แค่เปรยเท่านี้ Saddam ก็เต้น เพราะไม่ชอบชีอ่ะ และไม่อยากเปลี่ยนเป็นอิสลามเคร่งครัด อเมริกาบอก งั้นก็ต้องกันก่อนแก้ซิ Saddam เอ๋ย

ในปี ค.ศ.1980 ดอกไม้กำลังบานไสวไนฤดูใบไม้ผลิต่อฤดูร้อน อิรักก็บุกอิหร่านตามคำยุของอเมริกา แหม! ทำไมยุขึ้นง่ายอย่างนี้นะ อ้อ! พี่เบิ้มเขาส่งอาวุธให้แบบไม่อั้น กันยายน ค.ศ.1980 อิรักเคลื่อนพลขยับไปจนเกือบเหยียบจมูกอิหร่าน เข้าไปถึงชานเมืองตะวันตกเฉียงใต้ แล้วกัน Saddam กำลังจัดการงานนอกสั่ง เราสั่งแค่ให้แหย่ ไม่ใช่ให้ยึด ฟังภาษาไม่รู้เรื่องหรือไง Saddam ฟังออก แต่โอกาสมันมาถึงจะให้ถอยก็คงยาก

ในที่สุดไอ้คนยุก็เลยต้องรีบปรับแผน “แลกกันเอาไหม ยูปล่อยตัวประกันอเมริกันให้หมด ไอส่งอาวุธให้ยู 300-500 ล้านเหรียญ เอาไปถล่ม Saddam กลับ” มันเป็นการแอบเจรจากันระหว่างกลุ่มหนุนหลังของ Reagan (ซึ่งกำลังท้าชิงตำแหน่งกับ Carter ) และทีมงานของ Khomeini แต่ยูปล่อยตัวประกันเมื่อ Reagan ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีนะ

มันเป็นกลุ่มหนุน Reagan ที่มีแผนลึกซ่อนอยู่ Ayatollah ตกลงกับข้อเสนอ เพราะก็มีแผนลึกซ่อนอยู่เช่นกัน

มกราคม 21 ค.ศ.1981 Reagan ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในวันที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง อิหร่านก็ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่สถานฑูตที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกันอาบน้ำแต่งตัวกลับบ้านไป

อเมริกาคิดว่าแผนรุกของตนได้ผล สงครามอิรักอิหร่านดำเนินอยู่ถึง 8 ปี ไม่มีฝ่ายใดชนะหรือแพ้ (เพราะกรรมการเชียร์ทั้ง 2 ฝ่าย) ส่วนที่อาฟกานิสถาน ในที่สุดสหภาพโซเวียตก็แตกพ่าย ถอยทัพหน้าตกกลับประเทศในปี ค.ศ.1989 เป็นการพ่ายแพ้ที่ยับเยินของสหภาพโซเวียต และเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย อเมริกาผงาดเป็นผู้ชนะ ขึ้นแท่นเป็นพี่เบิ้มหมายเลขหนึ่งของโลก และเป็นการเริ่มต้นของ “สงครามเย็น”
เรื่องราวของอเมริกากับอิหร่านและตะวันออกกลางกับสหภสาพโซเวียตดูเหมือนจะจบ แต่แค่ดูเหมือน

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
24 กันยายน 2557



ตอนที่ 6

สงครามอิรักอิหร่าน ที่ถูกชักใยโดยอเมริกา ทำให้ชาวอิหร่านตายไปไม่น้อยกว่า 300,000 คน และชีวิตชาวอิรักอีกประมาณ 100,000 คน มีคนเจ็บประเทศละไม่น้อยกว่า 700,000 คน ส่วนการรบใน
อาฟกานิสถาน ระหว่าง ค.ศ.1979-1989 ชีวิตของคนอาฟกันต้องเสียไปประมาณ 1 ล้านคน (รวมทั้งทหารของสหภาพโซเวียตอีก 15,000 นาย) 1 ใน 3 ของชาวอาฟกันกลายเป็นผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ตามเต้นท์ และมันกลายเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการต่อต้านการล่าอาณานิคม คราวนี้ไม่ใช่นักล่าจากเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย แต่เป็นอเมริกา นักล่าหน้าใหม่ ใจเหี้ยมโหด จากแผ่นดินใหญ่ที่แย่งชิงมาจากอินเดียนแดง เป็นวีรกรรมที่ต้องบันทึกไว้

เมื่อสหภาพโซเวียตล้มครืนในปี ค.ศ.1991 อเมริกากระหยิ่ม คิดว่าเส้นทางก้าวสู่การเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกสะดวกโล่ง เมื่อคู่แข่งคนสำคัญถูกเขี่ยตกไปจากลู่แข่ง มันอาจจะเป็นการตกจากลู่แข่งเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ตอนนั้นอเมริกาไม่ได้คิดอย่างนั้น ความเกลียด ความสะใจคงจะทำให้มองภาพไม่ชัด อเมริกาคิดว่านี่เป็นโอกาสเหมาะ ที่จะสยายปีกมาทางตะวันออกกลาง และยิ่งเมื่อ Khomeini ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว อิหร่านคงไม่แกร่งอย่างเดิม อเมริกาไม่จำเป็นต้อง “เลี้ยง” อิหร่านอีกต่อไป ยักษ์ล้มไปแล้ว ยันต์กันยักษ์ไม่มีความหมายเหมือนเก่า

แต่ดูเหมือนอเมริกาจะอ่านไม่ขาด สงครามอิรัก อิหร่าน กลับทำให้การปกครองของ Khomeini เข้มแข็งขึ้น ชาวตะวันออกเห็นความอึดและเด็ดขาดของ Khomeini ชัดเจน มีการรวมตัวกันมากขึ้น เพราะเห็นเป้าหมายชัดเจน ยิ่งเมื่อสหภาพโซเวียตที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งคนเดียว ที่พอจะต่อกรกับอเมริกาได้ถูกน๊อคนับ 10 กลุ่มอิสลามกลับคิดรวมตัวกัน เพื่อป้องกันการครอบครองของอเมริกา และเริ่มเข้าไปมีส่วนในการเมืองในภูมิภาคของตนเอง

นอกจากนั้น การที่อเมริกาอุดหนุนให้อาวุธ และทำการฝึกให้กลุ่มอาฟกันและ Mujahadeen เพื่อให้ไปโซ้ยกับรัสเซียแทนตนนั้น ทำให้กลุ่มอิสลามติดอาวุธพวกนี้ยิ่งฮึกเหิม พวกเขาเชื่อว่า เมื่อล้มยักษ์ได้ตัวหนึ่ง (สหภาพโซเวียต) ทำไมจะล้มยักษ์ตัวอื่นๆอีกไม่ได้ และเมื่อเริ่ม ค.ศ.1990 เป็นต้นมา กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงก็ดูเหมือนจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นเหยื่อที่มีก้าง ติดเสียบค้างอยู่กลางคอของอเมริกา
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่ได้นำความสะใจมาให้อเมริกาแต่อย่างเดียว น่าจะนำความวุ่นวายใจมาให้ด้วย หลังสหภาพโซเวียตล่ม กลับมีการเกิดใหม่ของรัฐเล็กรัฐน้อย ที่เคยอยู่ในอ้อมแขนของสหภาพโซเวียต ทยอยออกมาตั้งเป็นรัฐอิสระ รัฐเล็กๆเหล่านี้เต็มไปด้วยแหล่งทรัพยากร จิ้มไปตรงไหน ไม่น้ำมันผุดก็แก๊สพุ่ง แบบนี้นักล่าต่างๆจะอดใจไหวอย่างไร แต่คราวนี้พวกที่จ้องกันน้ำลายไหลไม่ได้มีแต่นักล่าตะวันตก ประเทศที่เพิ่งโตเช่น จีน และแม้แต่เจ้าของเก่าเช่นรัสเซีย ก็ออกอาการ

นาย Zbigniew Brzezinski ที่ปรึกษาใหญ่ ออกมากระตุกแขนอเมริกา อย่าลืมนะ รางวัลใหญ่คือ Eurasia ปล่อยให้หลุดมือไม่ได้

อิหร่านที่มีเขตแดนติดอยู่กับสหภาพโซเวียตเดิม ยาวพันกว่ากิโลเมตร เป็นเพื่อนบ้านกันมากับรัฐเล็ก รัฐน้อยแถบนั้น ผูกพันกันทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษา จะปล่อยให้คนแปลกหน้าต่างถิ่น เดินเข้าไปชิงตัดหน้าอย่างนั้นหรือ อิหร่านเริ่มเสนอโครงการท่อส่งสามัคคี ยาวตั้งแต่ Caspian Sea จากทางเหนือลงใต้ไปถึงอ่าว Persia ถ้าข้อเสนอของอิหร่านเกิดขึ้น ความฝันที่จะชิงรางวัลใหญ่ของอเมริกาก็คงริบหรี่ แล้วจะปล่อยไปได้อย่างไร

อเมริกาพยายามคิดวิธีการที่จะจัดการกับอิหร่าน สมัยรัฐบาล Clinton เขาบอกว่า ไม่ต้องยกทัพไปขยี้อิหร่านหรอก อิหร่านไม่ใช่คู่แข่งของเรา เราเอาการค้านำหน้า เป็นการค้าเสรีให้มันทั่วโลก พวกเขาไม่ฉลาดเท่าเราหรอก เราเปิดให้ทุนเข้าไปไม่เท่าไร เดี๋ยวเราก็กินเขาได้หมดเองน่า เออ! มันก็ได้ผลหลายที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกแห่งจะคี้ยวได้ง่าย แต่สายเหยี่ยวของอเมริกาไม่เห็นด้วย เขายืนยันว่าอิหร่านเป็นเป้าสำคัญในตะวันออกกลาง ถ้าเราปล่อยให้อิหร่านโตไปเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าต่อไปอิหร่านจะหันหน้าไปซบใคร สู้ตัดตอนมันไปเสียก่อนไม่ดีกว่าหรือ

เมื่อ George Bush ได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ.2000 หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยา สายเหยี่ยวได้โอกาส (หรือสร้างโอกาส..!?) ประกาศว่า เราต้องจัดระเบียบโลกใหม่เกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย แล้วอิหร่านและอิรักก็ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ที่อเมริกาจะต้อง “จัดการ” รุ่นแรก
รัฐมนตรีกลาโหม Donald Rumsfeld และผู้ช่วยตัวแสบ Paul Wolfowitz บอกว่าเราต้องสูบพวกนี้ออกมาให้หมดจากบริเวณตะวันออกกลาง “draining the swamp” แล้วพ่วงเอาผู้ปกครองอิรัก อิหร่าน และซีเรียไปด้วย เพราะพวกนี้แหละที่เป็นตัวขวางไม่ให้อเมริกาสยายปีกการล่าเหยื่อในตะวันออกกลาง

การสูบน้ำออกจากหนอง แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2001 เมื่ออเมริกาทิ้งบอมบ์อาฟกานิสถาน และล้มรัฐบาลตาลีบัน (ซึ่งสร้างมากับมือ) อิรักเป็นขั้นตอนต่อไป แม้ Saddam จะไม่เป็นอิสลาม และไม่ได้เป็นพวกอัลกออิดะห์ แต่การอยู่ของ Saddam ทำให้อเมริการำคาญใจ เพราะเกะกะขวางทางการไปเอาน้ำมันในอิรัก ขั้นตอนสุดท้ายคืออิหร่าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับรายการ 11 กันยา แถมยังยอมให้อเมริกาเข้ามาในเขตแดนของอิหร่าน ตอนกวาดพวกตาลีบันด้วย

แต่อิหร่านเป็นแม่พิมพ์ของพวกอิสลามเคร่งครัด ถ้าแม่พิมพ์ยังอยู่ดี เดี๋ยวก็มีการถ่ายแบบกันไปทั่วตะวันออกกลาง อเมริการับไม่ได้ แต่ที่สำคัญ น่าจะเป็นข่าวที่เริ่มกระจายออกไปว่า อิหร่านก็คิดมีเพื่อน และเพื่อนที่อิหร่านอยากคบคือรัสเซียและจีน ซึ่งยืนตรงกันข้ามกับอเมริกา โดยเฉพาะรัสเซีย และจากสาเหตุสุดท้ายนี้ อิหร่านก็ได้ถูกเลื่อนอันดับอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาล Bush เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่จะต้องถูกจัดการสังเวยความกระหายน้ำมันและอำนาจ บวกความหมั่นไส้ที่ไม่รู้จักเลือกคบเพื่อน มองข้ามหัวอเมริกาอย่างท้าท้าย

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
24 กันยายน 2557




ตอนที่ 7

เดือนมกราคม ค.ศ.2002 คาวบอย Bush กล่าวหาอิหร่านว่ากำลังคิดการใหญ่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ เลื่อนอันดับอิหร่านไปอยู่อันดับเดียวกับเด็กแสบเกาหลีเหนือ ถือเป็นการยกย่องอย่างรวดเร็ว อเมริกาบอกมันเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลกเชียวล่ะ

กุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 อิหร่านยอมรับว่ากำลังสร้างโรงงานพัฒนาแร่ยูเรเนียม 2 โรง แต่เมื่อ Atomic Energy Agency (IAEA) บอกให้หยุด อิหร่านก็หยุด แต่อเมริกาไม่หยุด กล่าวหาต่อไปว่า อิหร่านกำลังสร้างอาวุธนิวเคลียร์แน่นอน อเมริกาไม่ยอม มันต้องมีสิ อเมริกาว่ามีก็ต้องมี อเมริกาไม่สนใจหรอกอิหร่านมีนิวเคลียร์กี่ลูก แต่มันเสียหน้า เข้าใจไหม

พฤษภาคม ค.ศ.2003 อิหร่านยอมอ่อนข้อ ขอเจรจากับอเมริกา ขอให้อเมริกาเลิกการคว่ำบาตร ปลดชื่ออิหร่านจากป้ายผู้ก่อการร้าย เราดีกันนะอย่าโกรธกันต่อไปเลย เราอิหร่านก็จะยอมตามใจอเมริกา ในตะวันออกกลาง เราไม่ขวาง ไม่ขัดคออีกแล้วล่ะ อิหร่านยอมแพ้กระทั่งหยุดเดินหน้าการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และให้อเมริกาตรวจสอบตามสบายว่าไม่มีนิวเคลียร์ซักลูกอยู่ในกระเป๋ากางเกง นอกจากนี้ก็จะไม่ยุ่ง ไม่ยุพวกฮามาสในอิสราเอลด้วย อะไรอีกล่ะ อ้อ เราจะเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย เราจะให้ความร่วมมือ ฯลฯ สาระพัดอิหร่านจะยอม ข้ออ่อนจนยืนไม่ตรง คาวบอย Bush ไม่รับข้อเสนอ ปฏิเสธที่จะเจรจากับอิหร่าน นี่มันนึกว่ากำลังเล่นขี่วัวมาราธอนอยู่หรือไงนะ

รัฐบาล Bush คิดว่าตัวเองกำลังถือไพ่เหนือมืออิหร่าน สายเหยี่ยวคิดว่าการสั่งสอนอิรัก จะทำให้อิหร่านดีฝ่อ อเมริกาคิดว่าการหนุนและชุบเลี้ยงพวกชีอ่ะในอิรัก (ซึ่งมีจำนวนถึง 60% ของชาวอิรัก) โดยเฉพาะพวกที่อยู่ที่ Najaf และ Karbala จะทำให้พวกชีอ่ะเหล่านี้ไม่เข้าพวกกับอิหร่าน เพราะติดใจอาหารที่อเมริกาใช้เลี้ยง

อเมริการู้สึกจะประเมินผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ การบุกขยี้อิรัก ทำให้ชาวตะวันออกกลางยิ่งรังเกียจอเมริกา และเริ่มรวมตัวกันทั้งนิกายชีอ่ะและสุนหนี่ ทำให้กลุ่มอิสลามเคร่งครัดยิ่งเข้มแข็งขึ้นและใหญ่ขึ้น
แม้อิหร่านจะไม่แสดงอาการท้าทายอเมริกาอย่างตรงๆ แต่อิหร่านมีนโยบายสนับสนุนทั้งอาวุธและทุนให้กับกลุ่มชีอ่ะในอิรัก รวมทั้งสนับสนุนรัฐบาลผสม Maliki ซึ่งเป็นตัวเลือกของอเมริกาในอิรัก ในปี ค.ศ.2005 มีการเลือกตั้งในอิรัก ซึ่งอำนวยการสร้างโดยอเมริกา CIA รายงานว่า อิหร่านส่งเงินสนับสนุนพวกชีอ่ะจำนวน 11 ล้านเหรียญต่อสัปดาห์ เพื่อสร้างฐานเสียงให้แก่ชีอ่ะ ซึ่งในที่สุดก็ได้คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ถึงอิหร่านจะไม่ได้ประกาศท้าทายอเมริกาโดยตรง แต่ดูเหมือนการกระทำของอิหร่านจะชัดขึ้นเรื่อยๆ

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ตำแหน่งการยืนของอิหร่าน หรืออาการเป็นเหยื่อของอิหร่าน เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน น่าสนใจในสายตาโลก และน่ากลุ้มใจในสายตาของอเมริกาอย่างยิ่งคือ เมื่อ Mahmoud Ahmadinejad ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2005

หลังจากถูกกล่าวหาว่ามีนิวเคลียร์อยู่ในกระเป๋ากางเกงหลายลูก อิหร่านวิ่งพล่านพยายามหาเพื่อนช่วย อิหร่านขอให้อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ช่วยเจรจากับอเมริกาอยู่หลายปี แต่คำตอบคือความเงียบจากบรรดาผู้ที่คิดว่าเป็นเพื่อนหรือเคยเป็นเพื่อนของอิหร่าน

Ahmadinejad มีความเห็นว่า เราจะวิ่งพล่านง้อชาวบ้านเขาตลอดเวลา คงไม่ไหว อิหร่านควรพึ่งตัวเอง ยืนบนขาตัวเองเสียที เลิกได้แล้วที่จะไปคอยของ้อ ขอเจรจา ความอยู่รอดของพวกเรา ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเราเอง และคบเพื่อนให้ถูกคน สมันน้อยน่าจะได้ข้อคิดจากเหยื่อรายนี้บ้าง

เดือนสิงหาคม ค.ศ.2005 หลังจากรับตำแหน่ง Ahmadinejad ก็ประกาศว่า เราจะเดินหน้าพัฒนาแร่ยูเรเนียมต่อไป และในเดือนมกราคม ค.ศ.2006 การค้นคว้าด้านนิวเคลียร์ที่ Nataz ของอิหร่านก็กลับมาเดินหน้าต่อ

ในเดือนเมษายน อิหร่านประกาศว่า การพัฒนาแร่ยูเรเนียมของอิหร่านประสบผลสำเร็จอย่างดี IAEA รีบวิ่งไปรายงานสหประชาชาติ

ภายใต้ Nuclear Non-Proliferation Treaty อิหร่านมีสิทธิจะเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เพื่อเป็นพลังงานได้ แต่เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนา ก็เป็นประเด็นว่าสามารถพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่

อเมริกาเต้น พวกเรายอมไม่ได้ เอาเรื่องเข้าสหประชาชาติด่วน และทำการชักใยสหประชาชาติ ให้สั่งอิหร่านหยุดดำเนินการโครงการพัฒนานิวเคลียร์ พร้อมขู่จะใช้กำลัง และเพิ่มการคว่ำบาตรอีกหลายใบ ถ้าอิหร่านไม่เชื่อฟัง

แต่แล้วก็มีพระเอกสองคนจูงมือกันมาขวางทาง มาแล้วคุณพี่ปูตินกับอาเฮียกระเป๋าใหญ่ ทั้งสองบอกว่า มติเช่นนี้ของสหประชาชาติ มันไม่ได้สร้างสันติหรอกนะ แต่มันเป็นข้ออ้างให้อเมริกาสร้างสงครามมากกว่า

เดือนพฤษภาคม ค.ศ.2006 อเมริกาเปลี่ยนบท ยอมให้ตัดข้อความในมติของสหประชาชาติ ส่วนที่บอกว่าจะใช้กำลังกับอิหร่านออกไป และพร้อมที่จะเจรจากับอิหร่านเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ถ้าอิหร่านรับรองว่าจะหยุดโครงการพัฒนาแร่ยูเรเนียม อะไรทำให้อเมริกาเปลี่ยนบทแบบหักมุม จนมุมหัก มันเป็นแผนต้มอิหร่านซ้ำซากหรืออะไรกันแน่

วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.2006 คณะทำงานของกรรมธิการด้านข่าวกรอง ทำหนังสือแจ้งประธานกรรมาธิการ ด้านข่าวกรองประจำสหรัฐอเมริกา ยาวเกือบ 30 หน้า สรุปสั้นๆเอาแต่เนื้อไม่ติดมันว่า อิหร่านกำลังกระทำการ ที่เป็นการท้าทายความมั่นคงของอเมริกาอย่างสูง (ว๊าว ! ) ไม่ว่าจะเรื่องการซุ่มสร้างระเบิดนิวเคลียร์ การแอบทำอาวุธชีวภาพ การสร้างระบบป้องกัน และยิงจรวดวิถีไกล ซึ่งถ้านำระเบิดนิวเคลียร์มาใช้ร่วมกับระบบนี้ หลายบริเวณของโลกต้องร้อนระอุ นี่ยังไม่นับการส่งเสียเลี้ยงกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นอาวุธ ที่อิหร่านเลี้ยงดูอยู่หลายกลุ่ม เพื่อเอาไว้แหย่รังแตนในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะแตนแถวอิสราเอล และการเข้าไปกระชับมิตร กอดคอกับกลุ่มเพื่อน สร้างแนวร่วมพระจันทร์เสี้ยว เช่น อิรัก ซีเรีย และเลบานอน พฤติกรรมเช่นนี้ อเมริกาบอกยังไม่รู้จะวางแผนรับมืออย่างไร (อ้าว ! ) เพราะอเมริกาขาดข้อมูล งานด้านข่าวกรองในอิหร่านทำงานไม่ได้ผล

ที่สำคัญไม่สามารถแน่ใจได้ว่า อิหร่านมีนิวเคลียร์กี่ลูก และระยะยิงไกลขนาดไหน อเมริกาคาดว่า จากการตรวจสอบปริมาณแร่ยูเรเนียมและพลูโตเนียมที่ IAEA ค้นพบ (ยังไม่นับที่ฝังดินซ่อนไว้และยังไม่พบ !) น่าจะทำให้อิหร่านสร้างนิวเคลียร์ได้ไม่น้อยกว่า 12 ลูก (แหม! 2 ลูกก็เกินพอแล้ว) นอกจากนี้ Dr. A.Q. Khan มือพระกาฬในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ของปากีสถาน สารภาพ (หลังจากถูกเค้นจนต้องคาย) ว่า เขาได้ขายสูตรพิเศษ ในการทำระเบิดนิวเคลียร์ไห้แก่อิหร่าน ลิเบีย และเกาหลีเหนือ ไปเรียบร้อยนานแล้ว

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
25 กันยายน 2557



ตอนที่ 8 (ตอนจบ)

ตั้งแต่อเมริกาบีบให้สหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 อิหร่านก็เปิดประตูรับแขกตะวันตกน้อยลง โดยเฉพาะสัญชาติอเมริกัน สมน้ำหน้า ! เขาไม่รับให้เข้าไปเดินเล่นในประเทศ แล้วคุยผ่านคนกลาง มันจะน่าเชื่อถือได้มากหรือน้อย อิหร่านทำตัวต่างกับสมันน้อย ที่เปิดมันหมดทั้งประตูหน้า ประตูหลัง หน้าต่างมีกี่บานเปิดถ่างมันหมด ข้อมูลทุกอย่างก็ไหลเหมือนท่อแตก ทำให้การวางแผนควบคุม (ไม่อยากใช้คำว่า เขมือบหรือขม้ำ มันแสลงใจกัน) สมันน้อย จึงเหมือนแค่ปลอกกล้วยให้ลิงกิน
ตั้งแต่รบกับอินเดียนแดงชนะ ได้แผ่นดินเขามาครอง อเมริกาเคยรบข้าศึก หรือ ศัตรูในประเทศตัวเองบ้างไหม คำตอบคือไม่เคยเลย เคยแต่รบกันเอง เดินดาหน้าเป็นแถว ยิงปืนใส่กัน สมัยสงครามกลางเมืองเหนือใต้หลายร้อยปีมาแล้ว นอกนั้นอเมริการบนอกบ้านทั้งสิ้น แล้วการรบของอเมริกาที่นอกบ้านเป็นอย่างไร ที่เกาหลี เวียตนาม อาฟกานีสถาน และอิรัก รวมทั้งหลายแห่งในอาฟริกา ล้วนเป็นการรบกับประเทศที่ด้อยกว่าทั้งด้านอาวุธและฝีมือ อเมริกาใช้เวลา อาวุธ และกำลังพล เหมือนขี่ช้างไปจับตั๊กแตน และผลลัพธ์ ถ้าไม่แพ้น๊อกเช่นที่เวียตนาม ก็แพ้คะแนนในการรบทุกแห่ง ยกเว้นอาฟริกา ที่เหมือนรบกับคนใกล้ตาย อันนี้เป็นคำกล่าวของนายทหารอเมริกันเอง แล้วอิหร่านเป็นตั๊กแตนแน่หรือ ถ้าเป็นตั๊กแตน ก็ตั๊กแตนติดนิวเคลียร์ ดูเอาจากรายงานของคณะทำงานฉบับวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.2006 ก็คงจะพอเดากันออก

อเมริกาที่ใครๆคิดว่าแน่ คิดว่าใหญ่ เป็นพี่เบิ้มครองโลกหมายเลขหนึ่ง ดูเหมือนจะเก่งทางสร้างภาพผ่านสื่อ เอะอะก็ขู่จะเอากองทัพไปถล่มเขา เห็นลมพัดใบตองแห้งเป็นไม่ได้ ต้องออกเสียง แต่ก็ยังมีหลายคนในแดนสมันน้อย ที่กลัวพี่เบิ้มใบตองแห้ง จนไม่กล้าขยับหนี คงเพราะถูกครอบด้วยกระป๋องสี่เหลี่ยมติดตายอยู่ที่หัว หรืออิ่มจนพูดไม่ออก เฮ้อ! เหนื่อยใจ! ไม่เบื่อกระป๋องสี่เหลี่ยม คิดถอดออกบ้างหรือไงครับ…!?

ถึงอิหร่านจะถูกจับเป็นเหยื่อ มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี แต่ไม่ได้หม่ายความว่า เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว จะต้องเป็นเหยื่อเขาไปตลอดกาล เหยื่อที่อ่อนแอเท่านั้นที่คิดเช่นนั้น อิหร่านบอกว่าข้อเสนอของคาวบอย Bush เมื่อกลางปี ค.ศ.2006 เหมือนกับให้รัฐบาลอิหร่านไปเลียเกือกบู๊ทของ Bush ต่อหน้าสาธารณะ และเป็นการจบสิ้นศักดิ์ศรีทางการเมืองของอิหร่าน “ Bush might as well have offered the Iranian regime a chance to lick his boots in public and commit political suicide…”

เดือนตุลาคม ค.ศ.2007 คุณพี่ปูตินทำให้โลกอ้าปากค้าง มองตาไม่กระพริบ คุณพี่เดินทางไปอิหร่านอย่างเป็นทางการในฐานะหัวหน้ารัฐบาลของรัสเซีย หลังจากรัสเซียไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนอิหร่านมา 60 ปี คุณพี่ประกาศในการไปเยี่ยมอิหร่านว่า รัสเซียจะปกป้องอิหร่านจากการคุกคามของอเมริกา เหมือนเป็นทางการเตือนผ่านไปในอากาศ ข้ามทวีปไปถึงคาวบอย Bush ว่า “โปรดระวัง” เตือนมา 7 ปีมาแล้ว การเตือนนี้จะยังมีผลอยู่หรือไม่ น่าติดตาม

เสียงเตือนของคุณพี่ปูติน ถูกแปลงเป็นการเร่งเครื่อง คาวบอยอเมริกันเหมือนถูกหยามหน้า Pentagon รายงานว่า มีการหารือกันถึงการวางแผนจะให้ของขวัญอิหร่าน จะเอาแบบ “a broad bombing attack” ทิ้งระเบิดแบบปูพรมทั่วไปทั้งเตหะราน หรือเอาแบบ “surgical” ส่งให้เฉพาะกองทัพของอิหร่านดีนะ เรือรบจำนวนกว่าครึ่งของกองทัพเรืออเมริกา ถูกสั่งให้พร้อมเคลื่อนที่ประชิดอิหร่าน หน่วยงานความมั่นคงของอเมริกา National Security Strategy ออกข่าวในเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 ว่า “เราอาจจะไม่เคยเจอประเทศใดเพียงประเทศเดียว ที่ท้าทายเราได้มากเท่าอิหร่าน !” เป็นคำพูดที่น่ากลัวมาก จากหน่วยงานความมั่นคง ของนักล่าใบตองแห้ง

เจ้าหน้าที่อเมริกันบันทึกว่า การแข่งขันระหว่างอเมริกา รัสเซีย ได้เริ่มต้นใหม่อีกแล้ว การแข่งขันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่มันเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งแชมป์โลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารในตะวันออกกลาง และเลยไปกว่านั้น แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้ มันก็มีแต่การคว่ำบาตรกับการส่งเสียงใส่ใบตองแห้ง พี่เบิ้มอเมริกายังไม่ขยับเข้าไปใกล้เหยื่อชื่ออิหร่านมากกว่านั้น ยังปล่อยให้คาคออยู่อย่างนั้น

จะเป็นพี่เบิ้มหมายเลขหนึ่งของโลก ต้องมีอุปกรณ์พร้อมอย่างน้อย 3 อย่าง อาวุธหนัก ทุนหนา และน้ำมันแน่น (ถัง) มันเป็นส่วนผสมที่เสริมสร้างกันเอง ดังนั้นอเมริกาต้อง “ได้” ตะวันออกกลาง ที่มีแหล่งน้ำมันกว่าครึ่งของโลก แต่จะได้ตะวันออกกลางอยู่ในมือเบ็ดเสร็จ ต้องจัดการเอาซาอุดิอารเบีย และอิหร่าน 2 ประเทศใหญ่ของตะวันออกกลาง มาอยู่ในกรงเลี้ยงให้เชื่อง

ซาอุดิอารเบียติดอาหารยี่ห้อกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์จนอิ่มแปร้ เกาะนิ่ง แม้บางครั้งจะออกอาการกระสับกระส่าย แต่ไม่ออกฤทธิ์ ตรงกันข้ามกับเหยื่อชื่ออิหร่าน

อิหร่านดิ้นรน ออกแรง เพื่อให้หลุดจากกรงเหยื่อมานาน และอเมริกาก็ใช้สารพัดกับดัก ไม้เสี้ยม ไม้เสียบเพื่อให้เหยื่อเชื่องอยู่มือ อเมริกาคิดว่าเหยื่อทุกรายในตะวันออกกลาง (และดูเหมือนจะทั้งโลก !) จะชอบอาหารยี่ห้อเดียวกัน อาจจะใช่ แต่ไม่แน่ว่าจะเสมอไป และตลอดไป เมื่อหมดหนทางทำให้เหยื่อเชื่อง อเมริกาก็ตัดสินใจทำลายเหยื่ออย่างเหี้ยมโหด

อิหร่านไม่หวังจะเป็นเหยื่อตลอดกาล แต่จะสู้โดยลำพัง ไม่แน่ว่าจะหลุดจากกรงได้ อิหร่านรู้จักสร้างแนวร่วม อิรัก เลบานอน และซีเรีย ซึ่งค่อยๆย้ายที่มายืนแถวเดียวกับอิหร่าน แต่ที่สำคัญ อิหร่านรู้จักแยกว่าใครคือเพื่อน และใครคือศัตรู

สำหรับรัสเซียและจีน เพื่อไม่ให้อเมริกาครอบครองตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ทั้งรัสเซียและจีนเสียเปรียบ และอาจจะถึงเสียหาย จึงมีแต่จะต้องสนันสนุนอิหร่านให้เข้มแข็ง ให้เป็นไม้ขวางที่หนักและเคลื่อนย้ายยาก เหมือนท่อนซุงขวางทาง ไม่ให้อเมริกาก้าวครอบตะวันออกกลางทั้งหมดได้ง่ายๆ ยิ่งบวกอิรัก ซีเรีย และเลบานอน เข้าไปด้วย 4 ประเทศ รวมเป็นเสี้ยวพระจันทร์ อเมริกาเห็นแล้วก็คงหนาว ขบวนการเข้าไปในอิรัก ฉายหนังโหดซ้ำซากรอบหลังนี้ และการทำลายซีเรีย ซึ่งไม่น่าต้องถามว่าฝีมือใคร

นับตั้งแต่คุณพี่ปูติน เดินเข้าไปจับมือกับอิหร่านเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว สัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน รวมทั้งจีน ดูเหมือนยิ่งกระชับและชิดแน่น การสนับสนุนร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ มีทั้งเปิดเผยและปิดลับ มันเป็นการเปิดทางให้เหยื่อก้าวย่างออกจากกรงอย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นใจ

อิหร่านถูกเหล่านักล่าตะวันตก ขูดเลือดเอาน้ำมันมากว่า 70 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังถูกขูดอยู่ ผ่านสงครามโลกมา 2 ครั้ง ก็ยังถูกหลอก ถูกย่ำยี จนศักดิ์ศรีของประเทศและประชาชนกร่อนแห้ง จากถูกอังกฤษขูดเลือด มาถูกอเมริกาเลาะเนื้อเถือกระดูกต่อ คนอิหร่านยอมลำบาก แต่ไม่ยอมก้มหัวเป็นเหยื่ออีกต่อไป

เมื่อเหยื่อรายสำคัญ ตัดสินใจเลือกเดินออกจากกรง อเมริกาจะปล่อยมือ เปิดกรงให้ง่ายๆเช่นนั้นหรือ อเมริกาน่าจะคิดหนัก แต่ดูเหมือนเสียง “โปรดระวัง” ของคุณพี่ปูตินจะลอยลมมาผ่านข้ามไปอีกฟากหนึ่งของโลก......ให้อเมริกาได้ยิน.....อีกรอบหนึ่ง

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
25 กันยายน 2557


ที่มาของข้อมูล นิทานเรื่องจริง ตำนานการลวง หลอกล่อ ลงหม้อตุ๋น