วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๓๖ สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม




ภาพที่ ๓๖
สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม




วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม   'ปฐมเทศนา'   ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น   คือ   วันขึ้น  
๑๕  ค่ำ  เดือน  ๘  เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์  คือ  วันอาสาฬหบูชานั่นเอง


ผู้ฟังธรรมมี  ๕  คน  ที่เรียกว่า 'เบญจวัคคีย์'  เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน  คือ  เรื่องทรมานตนให้ลำบาก   และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่  ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น  พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว  ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย  แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า  'มัชฌิมาปฏิปทา'  คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค  ๘  ที่กล่าวโดยย่อคือ  ศีล  สมาธิ  และปัญญา


เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว  พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า  'ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร'   หรือเรียกโดยย่อว่าธรรมจักร  โดยเปรียบเทียบการแสดง
ธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า       เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ  
ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม  หรือธรรมจักร


พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง   โกณฑัญญะ  ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม   คือ  
ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน  พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย   เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ  "อัญญาสิ  วตโก  โกณฑัญโญ  ฯลฯ"  แปลว่า "โอ!  โกณฑัญญะได้รู้แล้ว  ได้สำเร็จแล้ว"  ตั้งแต่นั้นมา  ท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า  'อัญญาโกณฑัญญะ'


โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ  พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาต
ให้ท่านบวช  ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า  "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"  พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน  ส่วนอีก  ๔   ที่เหลือนอกนั้น   ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ