ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา
ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า 'กัณฐกะ' เป็นสหชาติ
คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ (หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"
ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ ถ้า
ถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ หรือบุคคลผู้ทรง
ความเป็นเอกในเรื่อง
เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความ
ยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (ประมาณ ๔๐๐ เส้น)
โดยรอบ ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป..." ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง
ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้า
มาก ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้
จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ 'พระยาบาลทวาร'
โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ