วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ภาพที่ ๑๑ ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท
ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท
เป็นภาพตอนต่อเนื่องมาจากตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน แต่ตอนนี้
เป็นตอนเสด็จกลับเข้าเมืองพร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ สตรีที่ยืนเยี่ยมมองทางสิงหบัญชรหรือหน้า
ต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิบอกว่าเป็น 'นางขัตติยราชกัญญาองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์'
ทรงพระนามว่า 'กีสาโคตมี' เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไร ไม่ได้บอกไว้
แต่ในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่า เธอเป็นธิดาของ
พระเจ้าอา (หญิง) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็น
พระกนิษฐา หรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาพระองค์ไหนแน่ ท่านก็ไม่ได้บอกไว้
พระนางกีสาโคตมี ได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณี ใน
พระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรวปีติโสมนัส จึงตรัส
พระคาถา ชมเจ้าชายสิทธัตถะบทหนึ่ง พระคาถา คือคำกลอนหรือโศลกที่กวีแต่งร้องกรองความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า
"นิพพุตา นูน สา มาตา
นิพพุโต นูนโส ปิตา
นิพพุตา นูน สา นารี
ยัสสายัง อีทิโส ปติ"
ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทยว่า "ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดาและพระราชบิดาของเจ้าชาย
สิทธัตถะ ผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายาสตรีนั้น ก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ"
เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยินก็ชอบพระทัย ที่ทรงชอบที่สุดคือคำว่า 'ดับ' ซึ่งพระองค์ทรง
หมายพระทัยถึง 'นิพพุต' หรือนิพพาน จึงทรงเปลื้อง 'แก้วมุกดาหาร' เครื่องประดับพระศอราคาแสน
กหาปณะ มอบให้ราชบุรุษนำไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่า เจ้าชายทรง
มีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในพระนางก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก