วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๒๘ เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี




ภาพที่ ๒๘
เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี




ตรัสรู้แล้ว   พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา  ๗  วัน  คำว่า 'เสวยวิมุติสุข'  เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว  เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือพักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง


หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์  ต้นนิโครธคือต้นไทร  ส่วนคำหน้าคือ  'อชปาล'  แปลว่า  เป็นที่เลี้ยงแพะ  ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้
เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน    คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา


ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่  นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์  ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลัง    พระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี   ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า    ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน  ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป  ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้     ลูกสาวพระยามารมี  ๓  
คน  คือ  นางตัณหา  นางราคา  และนางอรดี


ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ   เช่น   เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก  แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง  เป็นสาวใหญ่บ้าง  เป็นสตรีในวัยต่างๆ  บ้าง  แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติแม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง


เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน  ถอดความได้ว่า  ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น  ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น  อย่างหนึ่งคือความยินดี  อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง   ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัรหา   คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด     อีกส่วนหนึ่งเป็นราคา  
หรือราคะ    คือความใคร่หรือกำหนัด     ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี   อรดีในที่นี้คือ 
ความริษยา


ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ  แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น  ก็หมายถึงว่า  พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง