วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๖๔ ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน



ภาพที่ ๖๔
ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน




ภาพที่เห็นนั้น  เป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก  คือ  จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เมื่อภาย
หลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือวันออกพรรษา  เมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร   เสด็จลงตรงประตูเมือง  พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น    ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า  'อจลเจดีย์'   เรียกอย่างไทยเราก็ว่า  'รอยพระพุทธบาท'  ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฎอยู่


ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง    เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได  ๓  บันไดเป็นที่เสด็จลง  คือ
บันไดทอง  บันไดเงิน  และบันไดแก้วมณี    บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา  บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม   และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า   หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ  เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร


หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพ   จึงคือหมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ   เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือท้าวมหาพรหม    ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือพระอินทร์    ผู้ถือพิณบรรเลงถัดมาคือปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร  ถัดมาเบื้องขวาคือมาตุลีเทพบุตร  ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน


พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์        นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนาม
เฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า  'เทวาติเทพ'  แปลว่า  ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น   เทพต่างๆ ที่คนอินเดียในสมัยนั้นนับถือกัน  เช่น  พระอินทร์  และท้าวมหาพรหม  เป็นต้น


คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย  ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง   จึงนิยมทำ
บุญตักบาตรกันในวันนี้   เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์    เรียกการตักบาตรนี้ว่า  'ตักบาตรเทโว'    ย่อมาจากเทโวโรหณะ  แปลว่า  ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง