วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๙ เสด็จ ประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต




ภาพที่ ๙
เสด็จ ประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต


พระเจ้าสุทโธทนะผู้มีพระราชบิดา   และ  พระญาติวงศ์ทั้งปวงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ  มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้  จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง  แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพรอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก    จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน  พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง  ๒๙  ก็ทรงเกิดนิพพิทา  คือ  ความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น   อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า   เทวฑูตทั้ง  ๔   ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง   พร้อมด้วยสารถีคนขับ  เทวฑูตทั้ง  ๔  คือ  คนแก่  คนเจ็บ  คนตาย  และนักบวช  ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า   "มีเกศาอันหงอก   แลสีข้างก็คดค้อม  กายนั้น
ง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า    มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี    มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช..."

ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย  เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง  และที่สาม   เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน  ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น  ทรงพระดำริว่า  สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน   คือ   มีมืดแล้ว  มีสว่าง   มีร้อน  แล้วมีเย็น    เมื่อมีทุกข์  ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่  ๔ ทรงเห็นนักบวช  "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."

เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา  ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียก
อีกอย่างหนึ่ง  ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า  "สาธุ  ปัพพชา"  สองคำนี้เป็นภาษาบาลี   แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า  "บวชท่าจะดีแน่"  แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า  จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา