วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๒๑ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา




ภาพที่ ๒๑
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา




ตอนนี้เป็นตอนที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกกรกิริยา  กลุ่มคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์นั้นคือ
คณะปัญจวัคคีย์  มี  ๕  คนด้วยกัน  คือ  โกณฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ  ทั้งหมดตาม
เสด็จพระมหาบุรุษออกมาเพื่อเฝ้าอุปัฏฐาก  ส่วนผู้ที่ถือพิณอยู่บนอากาศนั้นคือพระอินทร์


คนหัวหน้าคือโกณฑัญญะ  เป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน  ที่เคยทำนายพระลักษณะ
ของเจ้าชายสิทธัตถะ  ตอนนั้นยังหนุ่ม  แต่ตอนนี้แก่มากแล้ว  อีก  ๔  คน  เป็นลูกของพราหมณ์  ที่เหลือ  คือในจำนวนพราหมณ์  ๗  คนนั้น


ทุกกรกิริยาเป็นพรตอย่างหนึ่งซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน  มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา  จนถึง
ขั้นอาการปางตายที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด  ปางตาย  คือ  กัดฟัน  กลั้นลมหายใจเข้าออก  และอดอาหาร


พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง  เช่น  คราวลดเสวยอาหารน้อยลงๆ  จนถึง
งดเสวยเลย   แทบสิ้นพระชนม์   พระกายซูบผอม   พระโลมา (ขน)   รากเน่าหลุดออกมา  เหลือแต่หนังหุ้ม
กระดูก  เวลาเสด็จดำเนินถึงกับซวนเซล้มลง


ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง  ความจริงที่ว่านี้  กวีท่านแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน  
คือ  พระอินทร์ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง  สายพิณที่หนึ่งลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด  สายที่สองหย่อน
เกินไปดีดไม่ดัง  สายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก  ดีดดัง  เพราะ


พระอินทร์ดีดพิณสายที่สาม  (มัชฌิมาปฏิปทา)   ดังออกมาเป็นความว่า   ไม้สดแช่อยู่ในน้ำ  
ทำอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้  ถึงอยู่บนบก  แต่ยังสด  ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้  ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบกจึงสีให้เกิดไฟได้   อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลสและอยู่ครองเรือน   อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว   แต่ใจยังสดด้วยกิเลส  อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวจากกิเลส


พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น    พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา    ซึ่งเป็นความ
เพียรทางกาย   แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญความเพียรทางใจ  พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้าก็เกิดเสื่อมศรัทธา   หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียรเวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว   เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น