วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๔๓ ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต เปรต ทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ




ภาพที่ ๔๓
ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต
เปรต ทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ




ในภาพที่  ๔๒  จะเห็นพระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า   การหลั่งน้ำในที่นี้เรียกว่าตามภาษาสามัญว่า  'กรวดน้ำ'   หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า  'อุททิโสทก'  แปลว่า  กรวดน้ำมอบถวาย  ใช้ในกรณีเมื่อถวายของใหญ่โตที่ไม่อาจยกประเคนใส่มือพระได้  เช่น  ที่ดินและวัด  เป็นต้น


ส่วนการกรวดน้ำของพระเจ้าพิมพิสารในภาพนี้เรียกว่า 'ทักษิโณทก'  แปลว่า  กรวดน้ำแผ่ส่วน
กุศลแก่คนตาย   ใช้ในกรณีที่จะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นผู้รับอีกเหมือนกัน   ผิดแต่ว่า   สิ่งที่ให้มองไม่เห็นตัวตน  เพราะเป็นบุญกุศล  ผู้รับก็มองไม่เห็น  เพราะเป็นคนที่ตายไปแล้ว  พิธีนี้เป็นที่นิยมกันอยู่ในเมืองไทยเวลาทำบุญทุกวันนี้


ภาพที่เห็นนี้เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งที่สองของพระเจ้าพิมพิสาร  เมื่อครั้งแรกพระเจ้า
พิมพิสารไม่ได้ทรงอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้ว    ปฐมสมโพธิจึงว่า   ในคืนวันนั้นพวกเปรตซึ่งเคยเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นในพระราชนิเวศน์  ที่แสดงให้เห็นก็มี


ตามนิยายธรรมบทเล่าว่า    เปรตเหล่านี้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์   เคยลักลอบ  (หรือจะเรียกอย่าง
ทุกวันนี้ว่าคอรัปชั่นก็ได้)  กินของที่คนเขานำมาถวายสงฆ์  ตายแล้วตกนรก  แล้วมาเป็นเปรต  และมาคอยรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศให้  แต่เมื่อผิดหวังจึงประท้วงดังกล่าว


พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น     ทูลถามทราบความแล้ว    จึงทรง
บำเพ็ญพระราชกุศลถวายอาหารและจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นอีกต่อมา  แล้วทรงหลั่งน้ำอุททิโสทกว่า   อิทัง  โน  ญาตีนัง  โหตุ    แปลว่า  "ขอกุศลผลบุญครั้งนี้จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ"   เปรตเหล่านี้จึงต่างได้รับกุศลผลบุญกันทั่วหน้า  และพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ได้รับอยู่


คำว่า  "อิทัง  โน  ญาตีนัง  โหตุ"  ได้กลายเป็นบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้คนตายที่คนไทย
ใช้อยู่ในปัจจุบัน