วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๓๗ ยสกุลบุตรหน่ายสมบัติ เดินไปสู่ป่าอิสิปตนะ พบพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด




ภาพที่ ๓๗
ยสกุลบุตรหน่ายสมบัติ เดินไปสู่ป่าอิสิปตนะ พบพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด




พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอริยสาวกทั้ง ๕  เสด็จจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  หรือ
สถานที่ทรงแสดงธรรม   ซึ่งนับเป็นพรรษาที่หนึ่ง  ตอนนี้ยังมิได้เสด็จไปโปรดใครที่ไหนอีก   เพราะย่างเข้าหน้าฝน  แต่มีกุลบุตรผู้หนึ่งนามว่า  'ยส'  มาเฝ้า


ยสกุลบุตรเป็นลูกชายเศรษฐีในเมืองพาราณสี    บิดามารดาสร้างปราสาทเปลี่ยนฤดูให้อยู่   ๓  
หลัง  แต่ละหลังมีนางบำเรอเฝ้าปรนนิบัติจำนวนมาก  เที่ยงคืนหนึ่ง  ยสกุลบุตรตื่นขึ้นมาเห็นนางบำเรอนอนสลบไสลด้วยอาการที่น่าเกลียด  (ท้องเรื่องเหมือนตอนก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา)     ก็เกิดนิพพิทา  คือความเบื่อหน่าย


ยสกุลบุตรจึงแอบหนีจากบ้านคนเดียวยามดึกสงัด   เดินมุ่งหน้าไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  
พลางบ่นไปตลอดทางว่า   "อุปัททูตัง  วต  อุปสัคคัง  วต"    แปลให้ภาษาไทยว่า   "เฮอ!  วุ่นวายจริง!  เฮอ!  อึดอัดขัดข้องจริง!"  หมายถึง  ความร้อนรุ่มกลุ้มใจ


ขณะนั้นมีเสียงดังตอบออกมาจากชายป่าว่า  "โน  อุปัททูตัง  โน  อุปสัคคัง" (ที่นี่ไม่มีความวุ่น
วาย  ที่นี่ไม่มีความอึดอัดขัดข้อง)  เป็นพระดำรัสตอบของพระพุทธเจ้านั่นเอง


ตอนที่กล่าวนี้เป็นเวลาจวนย่ำรุ่งแล้ว พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจงกรมอยู่  จงกรมคือการเดินกลับ
ไปกลับมา  เป็นการบริหารร่างกายให้หายเมื่อยขบและบรรเทาความง่วง  เป็นต้น


พระพุทธเจ้าตรัสบอกยสกุลบุตรว่า  "เชิญเข้ามาที่นี่แล้วนั่งลงเถิด  เราจะแสดงธรรมให้ฟัง"


ยสกุลบุตรจึงเข้าไปกราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้าแล้วนั่งลง    พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาให้ฟัง ฟังจบแล้วยสกุลบุตรได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์       แล้วจึงทูลขอบวชเป็นพระภิกษุกับ
พระพุทธเจ้า


ยสกุลบุตรบวชแล้วไม่นาน   ได้มีสหายรุ่นราวคราวเดียวกับท่านอีก  ๕๔  คนรู้ข่าวก็ออกบวช
ตามได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า  ได้ฟังธรรม  แล้วได้สำเร็จอรหันต์เช่นเดียวพระยสกุลบุตร  ตกลงภายในพรรษาที่หนึ่งของพระพุทธเจ้าได้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกทั้งหมด  ๖๑  องค์ด้วยกัน


.................................................................................


โปรดยสกุลบุตร

สมัยนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ยสะ  เป็นบุตรชายของเศรษฐีในเมืองพาราณสีกับนางสุชาดา เป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทะนุถนอมอย่างแก้วตา  มีชีวิตการเป็นอยู่คล้ายคลึงกับที่พระสิทธัตถโคตมะ  คือพ่อแม่ได้ปลูกเรือนให้ ๓ ฤดู กล่าวคือ มีความสุขสบายที่สุด ได้รับการบำเรอด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรีประโคมไม่มีบุรุษเจือปน

ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบตุรนอนหลับก่อน หมู่ชนบริวารหลับต่อภายหลัง  แสงไฟยังตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้นกลางดึก  เห็นหมู่ชนบริวารกำลังนอนหลับ มีอากัปกิริยาพิกลต่างๆ  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนเมื่อก่อน  คือบางนางมีพิณตกอยู่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ที่คอ  บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม  บางนางมีเขฬะไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ  หมู่ชนบริวารเหล่านั้นปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจซากศพทิ้งอยู่ในป่าช้า

ครั้นยสกุลบุตรได้เห็นแล้วก็เกิดความสลดใจคิดเบี่อหน่ายมาก ถึงกับออกอุทานว่า”ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”  ทนดูอากัปกิริยาพิกลต่างๆนั้นไม่ได้ รำคาญใจ  จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเมือง ตรงไปทางที่จะไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยไม่รู้สึกตัวเองว่าไปถึงไหน แต่ก็รู้สึกว่าสบายใจ ก็เดินเรื่อยไปไม่หยุด

ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรออกอุทานเช่นนั้น เดินมายังที่ใกล้  จึงตรัสเรียกยสกุลบุตรว่า “ยสะที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด  นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมให้ฟัง“ ยสกุลบุตรได้ยินว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง”มีความพอใจ  จึงถอดรองเท้าเข้าใกล้ ถวายบังคมแล้วนั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พระบรมศาสดาทรงตรัสอนุปุพพิกถาเทศนา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ได้แก่  การพรรณนาทานกถา การให้ก่อน  แล้วพรรณนาศีล ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน พรรณนาสวรรค์ พรรณนาโทษของกามคุณ ที่บุคคลใคร่  ซึ่งความสุขไม่ยั่งยืน  และพรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม  อันเป็นลำดับแห่งโทษของกามเรียกว่าเนกขัมมะ  ฟอกจิตของยสกุลบุตรให้ปราศจากมลทินให้เป็นจิตสมควรรับธรรมเทศนา ให้เกิดดวงตาเห็นธรรมเหมือนผ้าที่ปราศจากมลทินควรแก่การได้รับน้ำย้อมฉะนั้น แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค  เมื่อจบพระธรรมเทศนา  ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมพิเศษเป็นโสดาบุคคล

ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร ขึ้นไปบนเรือนในเวลาเช้า  ไม่เห็นลูกชายจึงบอกแก่ท่านเศรษฐีผู้สามีให้ทราบ  ท่านเศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาทั้ง ๔ ทิศ ส่วนตนเองก็ออกเที่ยวหาด้วยบังเอิญไปในทางที่จะไปยังป่าอิสปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วตามเข้าไปใกล้

ครั้นเศรษฐีเข้าไปถึงแล้ว  พระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกถาเทศนาอริยสัจ ๔  ให้เศรษฐีได้เห็นธรรมแล้ว  เศรษฐีทูลสรรเสริญธรรมเทศนาแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกว่า  “ข้าพเจ้าถึงพระองค์กับพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะที่พึงระลึกที่นับถือ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”  เศรษฐีเมืองพาราณสีนั้นได้เป็นอุบาสก อ้างพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์ ครบทั้ง ๓ สรณะ ก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก

ครั้งนั้นยสกุลบุตรได้พิจารณาภูมิธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสสอนเศรษฐีผู้เป็นบิดาอีกวาระหนึ่ง จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่า  ยสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้วจึงบอกความว่า

“พ่อยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศก พิไรรำพัน  เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด”

ยสกุลบุตรแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสแก่เศรษฐีให้ทราบว่า

“ยสกุลบุตร ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว  ไม่ใช่ผู้ควรจะกลับไปครองเรืองอีก”

เศรษฐีทูลสรรเสริญว่า “เป็นลาภของยสกุลบุตรแล้ว”

และทูลอาราธนาพระบรมศาสดา กับยสกุลบุตรเป็นผู้ตามเสด็จ เพื่อทรงรับภัตตาหารในเช้าวันนั้น  ครั้นเศรษฐีทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ลุกจากที่นั่งแล้วถวายอภิวาท ทำประทักษิณ (คือเดินเวียนขวา) ๓  รอบ แล้วหลีกไปยังเรือนแห่งตน  และแจ้งเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาและสะใภ้ได้ทราบ  พร้อมกับให้จัดอาหาร บิณฑบาตเช้า  เพื่อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย

เมื่อเศรษฐีผู้บิดาทูลลาพระบรมศาสดากลับไปไม่ช้า  ยสกุลบุตรจึงทูลขออุปสมบท  พระบรมศาสดาทรงอนุญาต ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้อุปสมบทด้วยพระวาจาว่า ”เอหิภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุเถิด  ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”  เช่นเดียวกับที่ทรงประทานแก่ปัญจวัคคีย์  แต่ในที่นี้ไม่ตรัสว่า ”เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ”  เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว  คือเป็นพระอรหันต์เสียก่อนแล้ว  สมัยนั้น ได้มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ ทั้งพระยสะ

ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดากับพระยสะตามเสด็จ  เสด็จไปถึงเรือนเศรษฐีนั้นแล้ว  ทรงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งถวาย  มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าไปเฝ้า  พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔  โปรดให้สตรีทั้ง ๒นั้นบรรลุพระโสดาปัตติผลได้ดวงตาเห็นธรรม  แล้วแสดงตนเป็นอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตลอดชีวิต โดยนัยหนหลัง ต่างแต่เป็นผู้ชายเรียกว่า “อุบาสก”  เป็นผู้หญิงเรียกว่า ”อุบาสิกา” เท่านั้น สตรีทั้ง ๒ นั้น ได้เป็นอุบาสิกาคนแรก ในโลก  คือเป็นอุบาสิกาก่อนกว่าหญิงอื่นในโลก

ครั้นถึงเวลา มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้น้อมนำเอาอาหารอันประณีต เข้าไปอังคาสพระบรมศาสดา และพระยสะ  คือถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยเคารพ ด้วยมือของตน พระบรมศาสดาทรงรับอาหารบิณฑบาตด้วยบาตร และทรงทำภัตตกิจ  คือฉันอาหารบิณฑบาตแล้วตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้ง ๓ ให้เห็น ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงในธรรม  แล้วเสด็จกลับไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

พระพุทธจริยาที่ทรงรับภัตตกิจฉันอาหารบิณฑบาตครั้งนี้ เป็นภัตตกิจที่ทรงทำครั้งแรกในบ้าน  เป็นนิมิตมงคลอันดี สำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา  ที่มีความพอใจในการทำบุญบำเพ็ญกุศลทานทั่วไป  ทั้งเป็นแบบอย่างให้มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ในบ้านสืบมาจนทุกวันนี้