วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๓๐ ขณะประทับโคนไม้เกด ท้าวโลกบาลถวายบาตร เทวดาบอกสองพาณิชให้ไปเฝ้า




ภาพที่ ๓๐
ขณะประทับโคนไม้เกด ท้าวโลกบาลถวายบาตร เทวดาบอกสองพาณิชให้ไปเฝ้า




เสด็จประทับอยู่ภายใต้ต้นจิก  หรือมุจลินทร์ตลอด ๗  วันแล้ว  พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่
ใต้ต้นไม้ที่ภาษาบาลีเรียกว่า 'ราชายตนะ'  อยู่ถัดไปทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์   ราชายตนะแปลกันว่า  ไม้เกด  เป็นไม้ที่อยู่ในตระกูลพิกุล  ผู้บรรยายเคยเห็นที่ชานพระทักษิณาด้านนอกขององค์ปฐมเจดีย์  นครปฐม  ที่ทางราชการนำมาปลูกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  ๕  เป็นต้นใหญ่แล้ว  จำได้ว่าใบเหมือนประดู่


ตอนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่   มีพ่อค้านายกองเกวียนสองคนเข้ามาเฝ้า  และนำของมาถวาย
คนหนึ่งชื่อ 'ตปุสสะ'  อีกคนหนึ่งชื่อ 'ภัลลิกะ'  เดินทางด้วยขบวนเกวียนหลายร้อยเล่ม (ปฐมสมโพธิว่า  ๕๐๐ เล่ม)  มาจากอุกกลชนบท  ได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้เกด   ก็ให้นึกเลื่อมใสจึงนำ
ข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง   ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย   ข้าวสัตตุนี้   ไทยเราเรียกว่าข้าวตู  
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า  "ข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผลเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว"


พระพุทธเจ้าทรงรับอาหารนายกองเกวียนสองคนนั้นด้วยบาตรศิลาที่ท้าวจตุมหาราชทั้ง   ๔  นำมาถวาย      เสวยเสร็จแล้ว     นายกองเกวียนทั้งสองคนเกิดความเลื่อมใสได้แสดงตนเป็นอุบาสก    ขอถึง
พระพุทธเจ้าและพระธรรมเจ้าเป็นสรณะ


กล่าวอย่างสั้นๆ  ก็ว่า  ทั้งสองประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน  ทั้งสองจึงนับได้ว่าอุบาสกหรือ
พุทธศาสนิกชนคู่แรกก่อนใครในโลก    นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นต้นมา   ที่ทั้งสองนายประกาศตนนับถือพระรัตนะทั้งสองดังกล่าวแล้วนั้น  เพราะตอนที่กล่าวนี้  สังฆรัตนะ คือ  พระสงฆ์ยังไม่เกิดมี  ด้วยพระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสเทศนาโปรดใครเลย


ปฐมสมโพธิเล่าว่าเมื่อสองนายกองเกวียนประกาศตนเป็นอุบาสกแล้ว      ก่อนที่จะถวายบังคมกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไป  ได้กราบทูลขอสิ่งของเป็นที่ระลึกจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบเบื้องพระเศียรและว่า "ลำดับนั้นพระเกศาธาตุ (ผม)  ทั้ง ๘  เส้นมีสีดุจแก้วอินทนิล  แลปีกแมลงภู่...ก็หล่นลงประดิษฐานในฝ่าพระหัตถ์"


แล้วทรงประทานเส้นพระเกศาทั้งแปดแก่นายกองเกวียนเพื่อนำไปบูชาเป็นที่ระลึก   ทั้งสอง
เมื่อได้รับต่างโสมนัสยิ่งนัก  แล้วถวายอภิวาทกราบทูลลาพระพุทธเจ้าจากไป