ภาพที่ ๗๙
โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร
ข่าวพระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองกุสินาราแล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์แห่งนครนี้พร้อมด้วยคณะสงฆ์
ได้ถวายพระเพลิงแล้วนั้น ได้แพร่ไปถึงบรรดาเจ้านครแห่งแคว้นต่างๆ บรรดาเจ้านครเหล่านั้นจึงได้ส่งคณะฑูตรีบรุดมายังเมืองกุสินาราพร้อมด้วยพระราชสาส์น
คณะฑูตทั้งหมดมี ๗ คณะ มาจาก ๗ นคร มีทั้งจากนครใหญ่ เช่น นครราชคฤห์ แห่ง
แคว้นมคธ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นแห่งแรก และนครอื่นๆ เช่น กบิลพัสดุ์ เมืองประสูติ
ของพระพุทธเจ้า คณะฑูตทั้ง ๗ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองกุสินาราก็ได้ยื่นพระราชสาส์นนั้นแก่เจ้ามัลลกษัตริย์ ในพระราชสาส์นนั้นมีความว่า เจ้านครทั้ง ๗ มาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำไปบรรจุในสถูปให้เป็นที่สักการบูชาไว้ที่นครของตน พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ตอบปฏิเสธแข็งขันไม่ยอมให้ โดยอ้างเหตุผลว่าพระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองของตน พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสมบัติของเมืองนี้เท่านั้น
เมื่อเจ้ามัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่ง บรรดาเจ้านครทั้ง ๗ ก็ไม่ยอม จะขอส่วนแบ่งให้ได้ สงคราม
แย่งพระบรมสารีริกธาตุก็ทำท่าจะเกิดขึ้น แต่พอดีท่านผู้หนึ่งซึ่งชื่อ 'โทณพราหมณ์' ได้ระงับสงครามไว้เสียก่อน โทณพราหมณ์อยู่ในเมืองกุสินารา ตามประวัติแจ้งว่าเป็นผู้เฉลียดฉลาดในการพูด เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาเจ้านคร และเป็นผู้มีชื่อเสียงในเรื่องเกียรติคุณ ได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขา
ธิการสหประชาติในสมัยปัจจุบัน คือได้ระงับสงครามไว้เสียทัน โดยได้ปราศรัยให้ที่ประชุมฟังว่า
"พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงสรรเสริญขันติธรรมและสามัคคีธรรม แล้วเราทั้งหลายจะมาทะเลาะวิวาททำสงครามกันเพราะพระบรมสารีริกธาตุเป็นเหตุทำไม มาแบ่งกันให้ได้เท่าๆ กันดีกว่า พระบรมสารีริกธาตุจักได้แพร่หลายและเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั่วโลก"
ที่ประชุมเลยตกลงกันได้ โทณพราหมณ์จึงทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน
โดยใช้ตุมพะ คือทะนานทองเป็นเครื่องตวง ให้เจ้านครทั้ง ๗ คนละส่วน เป็น ๗ ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นของเจ้านครกุสินารา แล้วเจ้านครทั้งหมดต่างอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้นไปเป็นที่ระลึก แล้วนำไปบรรจุไว้ในสถูปต่างหาก การแจกพระบรมสารีริกธาตุก็เสร็จสิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย