วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๑๗ เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วโจษจันกันทั่วเมือง




ภาพที่ ๑๗
เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วโจษจันกันทั่วเมือง




เมื่อนายฉันนะ  มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์กลับคืนไปแจ้งข่าวทางเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว    พระมหาบุรุษ  หรือก่อนแต่นี้คือเจ้าชายสิทธัตถะ  เสด็จจากหาดทรายชายฝั่งแม่น้ำอโนาไปยังตำบลที่มีป่ามะม่วงมากแห่งหนึ่ง  ที่เรียกโดยชื่อว่า 'อนุปิยอัมพวัน'  ตำบลนี้อยู่ในเขตแขวงมัลลชนบท ประทับอยู่ที่นี่  หนึ่งสัปดาห์  ในวันที่  ๘   จึงเสด็จจารึกเข้าแคว้นมคธไปโดยลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์     ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นนี้ในสมัยนั้น


แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่  มั่งคั่ง  มากด้วยพลเมืองและมีอำนาจมากเท่าเทียบกับอีกแคว้นหนึ่ง  ในสมัยเดียวกันนี้คือ  แคว้นโกศล  ซึ่งมีกรุงสาวัตถีเป็นเมืองหลวง


กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ของกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ ในสมัยที่กล่าวนี้ทรงพระนามว่า  พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระมหาบุรุษ ขณะที่กล่าวนี้จึงทรงเป็นกษัตริย์หนุ่ม


เวลาเช้า    พระมหาบุรุษเสด็จเข้าเมือง      ชาวเมืองเกิดอาการที่ปฐมสมโพธิรายงานไว้ว่า 
"ตื่นเอิกเกริก  โกลาหลทั่วพระนคร"  เพราะได้เห็นนักบวชที่ทรงรูปสิริลักษณะเลิศบุรุษ จะว่าเป็นเทวดา 
หรือ  นาค  สุบรรณ  (ครุฑ)  คนธรรพ์  ทานพ  (อสูรจำพวกหนึ่งในนิยาย)  ประการใดก็มิได้รู้   เข้ามาสู่
พระนคร  เที่ยวโคจรบิณฑบาตประหลาดนัก  ต่างก็โจษจันกันทั่วเมือง


เจ้าชายสิทธัตถะ   หรือขณะนี้คือพระมหาบุรุษ   และต่อมาคือพระพุทธเจ้า   ทรงเกิด  ในขัตติยสกุล   คือสกุลกษัตริย์   ทรงเป็นอุภโตสุชาต   คือ  ทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นกษัตริย์บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายมารดา   ทรงมีผิวพรรณที่ภาษาบาลี   เรียกว่า  'กาญจนวัณโณ'   แปลตามตัวว่าผิวทอง  ความหมายก็คือผิวเหลืองขาว   ทรงมีพระรูปโฉมสง่างาม   ถึงแม้จะทรงปลงพระเกศา    และพระมัสสุ และทรงนุ่มห่มผ้ากาสาวพัสดุ์อย่างนักบวชผู้สละทิ้งความงามทางฆราวาสวิสัยแล้วก็ตาม  แต่พระอาการกิริยาเวลาเสด็จดำเนินก็ยังคงลีลาของกษัตริย์ชัดเจน  คือสง่างามผิดแผกสามัญชน


เพราะเหตุนี้  เมื่อชาวเมืองราชคฤห์ได้เห็น  จึงแตกตื่นกัน  จนความทราบไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร  ผู้เป็นพระราชาธิบดีแห่งกรุงราชคฤห์