ภาพที่ ๗๓
เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่
พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์บริวารเสด็จไปถึงชานเมืองกุสินาราในเวลาจวนค่ำ เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดี แล้วเสด็จเข้าไปในอุทยานนอกเมืองนั้น ที่มีชื่อว่า 'สาลวโนทยาน'
เมืองต่างๆ ในสมัยพระพุทธเจ้าส่วนมาก มีอุทยานเหมือนสวนสาธารณะอย่างทุกวันนี้ สำหรับประชาชนในเมืองและชนชั้นปกครองได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนกันทั้งนั้น กรุงราชคฤห์ก็มีอุทยานชื่อ ลัฏฐิวันที่เรียกว่าสวยตาลหนุ่ม กบิลพัสดุ์เมืองประสูติของพระพุทธเจ้าก็มีลุมพินีวัน กุสินาราจึงมีสาลวโยานดังกล่าว
สาลวโนทยานอยู่นอกเมืองกุสินารา มีต้นไม้ใหญ่สองต้นเคียงคู่กันอยู่ เรียกว่า 'ต้นสาละ' อุทยานแห่งนี้จึงได้นามตามต้นสาละว่าสาลวโนยานดังกล่าว
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงอุทยานแห่งนี้แล้ว ตรัสสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียง หันทางเบื้องศีรษะ ไปทางทิศเหนือ ให้เตียงอยู่ระหว่างใต้ต้นสาละทั้งคู่ ตรัสว่า "เราลำบากและเหน็ดเหนี่อยมาก จักนอนระงับความลำบากนั้น"
พระอานนท์จัดตั้งเตียงและปูผ้ารองเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จบรรทมตะแคงข้างขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ตั้งพระบาทซ้อนเหลี่ยมกัน ดำรงสติสัมปชัญญะแล้วตั้งพระทัยจะเสด็จบรรทมเป็นไสยาวสาน (นอนเป็นครั้งสุดท้าย) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'อนุฐานไสยา' แปลว่า นอนโดยจะไม่ลุกขึ้นอีก
ปฐมสมโพธิว่า "ในขณะนั้นเอง มิใช่ฤดูกาลจะออกดอกเลย แต่สาละทั้งคู่ก็ผลิดอกออกบาน
ตั้งแต่โคนรากเบื้องต้นถึงยอด และทั่วทุกกิ่งสาขาก็ดาดาด (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานใช้ ดารดาษ หรือดาษดา) ด้วยดอกแลสะพรั่ง แล้วดอกสาละนั้น ก็ร่วงหล่นลงบูชาพระพุทธเจ้า ดอกมณฑารพดอกไม้ทิพย์ของสวรรค์ตลอดถึงจุณจันทน์สุคนธชาติของทิพย์ก็โปรยปรายลงจากอากาศ ดนตรีสวรรค์ก็บันลือประโคม เป็นมหานฤนาทโกลาหลเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าในกาลอันเป็นอวสานพระองค์"