วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๓๔ เสด็จพระพุทธดำเนินไปโปรดเบญจวัคคีย์ พบอุปกาชีวกในระหว่างทาง




ภาพที่ ๓๔
เสด็จพระพุทธดำเนินไปโปรดเบญจวัคคีย์ พบอุปกาชีวกในระหว่างทาง




ในสัปดาห์ที่  ๖  ถึงที่  ๘   เป็นระเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จแปรสถานที่ประทับไปมาที่ระหว่าง
ต้นศรีมหาโพธิ์กับต้นอชปาลนิโครธหื่อต้นไทร  จนถึงวันขึ้น  ๑๔  ค่ำ เดือน  ๘  ในสัปดาห์ที่  ๘  นับแต่ตรัสรู้มา  พระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจากบริเวณสถานที่ตรัสรู้   เพื่อเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าสารนาถ  ซึ่งอยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี  เวลาที่กล่าวนี้พวกเบญจวัคคีย์ที่เคยตามเสด็จออกบวชและอยู่เฝ้าอุปัฏฐากได้พากันผละหนีพระพุทธเจ้ามาอยู่ที่นี่


ระหว่างทาง คือ  เมื่อเสด็จถึงแม่น้ำคยาอันเป็นที่สุดเขตตำบลของสถานที่ตรัสรู้  พระพุทธเจ้า
ได้ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า  'อุปกะ'  เดินสวนทางมา  อาชีวกคือนักบวชนอกาสนาพุทธนิกายหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้า


ตอนที่เดินยังไม่เข้าใกล้และได้เห็นพระพุทธเจ้านั้น    อาชีวกผู้นี้ได้เห็นพระรัศมีที่แผ่ซ่านออก
จากพระวรกายพระพุทธเจ้ามากระทบเข้าที่หน้าตนก่อน  พระรัศมีนั้น  
สมัยนั้นเรียกว่า 'ฉัพพรรณรังสี'  คือ  พระรัศมี  ๖  ประการที่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า  ได้แก่


        ๑. นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
        ๒. ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
        ๓. โลหิตะ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน
        ๔. โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
        ๕. มัญเชฐะ สีแสดเหมือนดอกหงอนไก่
        ๖. ประภัสสระ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก


มาถึงสมัยสร้างพระพุทธรูปฉัพพรรณรังสีนี้เรียกกันว่า  'ประภามณฑล'  คือ  พระรัศมีที่พุ่ง
ขึ้นจากเบื้องพระเศียรที่เป็นรูปกลมรีขึ้นข้างบนนั่นเอง


พอพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้   อาชีวกจึงได้เห็นที่มาของรัศมี  พอเห็นก็เกิดความสนใจจึง
เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า  ใครเป็นพระศาสดาของพระพุทธเจ้า  พอพระพุทธเจ้าตรัสว่า  พระองค์ไม่มี
ศาสดาผู้เป็นครูสอน   พระพุทธองค์เป็นสยัมภู  คือ  ผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง  อาชีวกได้ฟังแล้วแสดง
อาการสองอย่างคือสั่นศีรษะและแลบลิ้น  แล้วเดินหลีกพระพุทธเจ้าไป