วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๒๙ ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน




ภาพที่ ๒๙
ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน




ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา    นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้    ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ  ๗  วัน    ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม  และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม  คือ ใต้ต้นมุจลินทร์  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์


มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย  มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี  ทั้งประเภทชาดก   และอย่างอื่นมากหลาย    ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยเมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า


ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก  เข้าใจว่าจะใช่  เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน  คือ  ชอบ
เกิดตามที่ชุ่มชื้น  เช่น  ตามห้วย  หนอง  คลอง  บึง  เป็นไม้เนื้อเหนียว  ดอกระย้า  มีทั้งสีขาวและสีแดง   ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก  ปกติใบดกหนา  เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี


เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่  ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย  ท่าน
ผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า     พญานาคชื่อมุจลินทร์ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้เข้าไปวงขนด ๗ รอบ  แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย  ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง  พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์


พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น    ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้   เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา  เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา  เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระ
เข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า  ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์