บูรพาจารย์แห่งวัดหนองป่าพง
หลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดป่า ๑๐๐ แห่งในประเทศไทย และหลายแห่งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อให้เป็นที่พำนักอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐาน หรือ “พระป่า” และได้วางแนวทางปฏิบัติของวัดหนองป่าพงขึ้น โดยอาศัยหลักการจากพระธรรมวินัยประกอบกับประสบการณ์ทางธรรมของท่าน
หลวงพ่อได้ปฏิบัติตนตามข้อวัตรต่าง ๆ เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่สานุศิษย์โดยถือคติว่า “พึงตั้งตนให้อยู่ในคุณธรรมอันสมควรเสียก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่น จักไม่เป็นบัณฑิตทราม” และ “สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ”
แม้หลวงพ่อจะมรณภาพไปแล้ว แต่คำสอนและแนวทางปฏิบัติ ก็ยังเป็นเสมือนตัวแทนของท่านสืบไป ซึ่งสานุศิษย์ผู้ผ่านชีวิตพระธุดงค์กรรมฐานในป่าพงต่างร่วมกันดำรงรักษา และสืบทอดแนวทางปฏิบัตินั้นไว้อย่างมั่นคง
หลวงพ่อชา ในฐานะบูรพาจารย์แห่งวัดหนองป่าพง ได้มอบธรรมคำสอนที่ตรง ลึกซึ้ง และเข้าใจง่าย จุดประกายความสว่างทางปัญญาแก่ปวงชน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา
ประการสำคัญท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาสภาพการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระธุดงค์กรรมฐานไว้ เพื่อให้ชนในยุคปัจจุบันได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติตาม อันจะเป็นทางให้เกิดปัญญา สามารถสร้างความสงบสุขให้แก่ชีวิตของตน
หลวงพ่อชาและวัดหนองป่าพง จึงเป็นที่มาของพระธุดงค์กรรมฐานหลายร้อยชีวิตที่ต่างหลีกเร้นบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ สถานที่สงบวิเวกทั่วไป เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองให้ก้าวไปสู่คุณธรรมแห่งความเป็นสมณะ “ผู้สงบจากอกุศลกรรมทั้งปวง” และเพื่อเกื้อกูลความสุข เป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ชนในถิ่นนั้น ๆ
พระธุดงค์กรรมฐานเหล่านั้น ต่างผ่านการอบรมสั่งสอน ผ่านการฝึกหัดตามข้อวัตรปฏิบัติ ที่หลวงพ่อชาวางแนวทางไว้มาอย่างเคร่งครัด ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ สานุศิษย์ยังคงรักษาไว้เป็นแบบแผน เป็นเครื่องกลั่นกรองกุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งและเข้มข้นดุจเดิม...