วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๑.ล้างบาตร


             หลังจากฉันอาหารเสร็จ ความรู้สึกแจ่มใสเพลิดเพลิน จะบังเกิดขึ้นมาแทนที่ความหิกระหายกระวนกระวายและขุ่นมัว ดังนั้บริเวณที่ล้างบาตรจึงมีป้ายเขียนคำเตือนติดอยู่บนต้นไม้ว่า “โปรดสงบกาย วาจา และห้ามพูดเวลาล้างบาตร” เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีสติควบคุมอารมณ์ไว้ ไม่ปล่อยตัวเผลอสติ เอิกเกริก เฮฮา ร่าเริง เพราะหลงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ

การล้างบาตรดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและรอบคอบ ให้ทันเวลานั่งรวมกันอีกครั้งในโรงฉัน เพื่อกราบพระและครูอาจารย์ ตลอดจนฟังธรรมหรือคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน

บาตรจะถูกล้างให้สะอาดจนปราศจากกลิ่นและคราบไขมันต่าง ๆ แล้วเช็ดด้วยผ้าจนแห้ง จึงนำไปผึ่งแดดสักครู่หนึ่งเพื่อให้แห้งสนิท จากนั้นก็ใส่ถลกเก็บไว้อย่างเรียบร้อย โดยเปิดฝาบาตรแง้มนิดหน่อยเพื่อป้องกันกลิ่นอับ

วิธีการใช้และรักษาบาตร มีพุทธบัญญัติพระวินัยเข้มงวดกวดขันมาก เพราะบาตรเป็นบริขารสำคัญของบรรพชิต โดยเฉพาะพระกรรมฐาน บาตรเป็นทั้ง “โรงครัว” และ “กระเป๋าเดินทาง” คือนอกจากใช้รับอาหารจากชาวบ้านเพื่อประทังชีวิตแล้ว เมื่อมีกิจธุระจำเป็น ต้องเดินทางหรือจาริกธุดงค์ไปในป่าเขา บาตรก็กลายเป็นกระเป๋าสำหรับใส่สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปในตัว ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลรักษาที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและสามารถใช้ได้อย่างยาวนาน

ในสมัยนี้นิยมใช้ “บาตรสแตนเลส” ซึ่งทำมาจากโลหะชนิดดี มีความแข็งแกร่งทนทานและไม่เป็นสนิม หากผู้ใช้ไม่เกิดตัณหาอยากเปลี่ยนหรืออยากทิ้ง บาตรใบหนึ่ง ๆ สามารถใช้ได้ชั่วอายุคนเลยทีเดียว

การรักษาบาตรปรากฏในวินัยว่า เมื่อฉันเสร็จล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ห้ามเอาบาตรผึ่งแดดทั้งที่ยังมีน้ำชุ่มอยู่ ต้องเช็ดให้แห้งจึงนำไปผึ่ง และไม่ผึ่งนานจนเกินไป ไม่ใช้บาตรเป็นกระโถน คือ ทิ้งของเป็นเดนหรือล้างมือบ้วนปากลงไป ไม่วางบาตรบนที่สูงซึ่งง่ายต่อการตก ไม่อุ้มบาตรขณะเปิดปิดประตู และห้ามวางบาตรบนของแข็ง เพราะอาจบุบหรือแตกได้

เมื่อเสร็จสิ้นจากการล้างและเก็บบาตรแล้ว ภิกษุสามเณรจะห่มจีวรแล้วเข้าไปนั่งในโรงฉัน การขึ้นนั่งบนอาสนะของภิกษุสามเณรวัดหนองป่าพง ถูกฝึกไม่ให้เหยียบขึ้น แต่ใช้การคุกเข่าขึ้นในเรียบร้อย

ในช่วงเวลานี้ครูอาจารย์จะแสดงธรรม ให้คำแนะนำในการประพฤติปฏิบัติ และบางครั้งก็ตักเตือนเกี่ยวกับความประพฤติที่บกพร่อง หรือย่อหย่อนของภิกษุสามเณรบางรูป ตลอดจนชี้แจงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติร่วมกันในแต่ละวัน

บางครั้งในเวลาหลังอาหารนี้ จะเป็นห้วงแห่งการทรมานภิกษุสามเณรหรือผู้กินจุด้วยการนั่งทำสมาธิ หลังจากการฟังธรรมหรือชี้แจงกิจกรรมต่าง ๆ การทำสมาธิภาวนาหลังอาหารด้วยอิริยาบถนั่งนี้ ภิกษุสามเณรบางรูปถึงกับนั่งหลับสัปหงก เพราะถูกนิวรณธรรมครอบงำ แต่ขณะเดียวกันการกระทำเช่นนี้ก็เป็นการฝึกให้อดทน และค้นหาวิธีกำจัดนิวรณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นด้วย

เมื่อเสียงระฆังดังขึ้นอีกครั้ง ภิกษุสามเณรจะลุกขึ้นกราบพระพร้อมกัน แล้วจึงเลิกจากโรงฉันกลับกุฏิ

การกราบพระในวัดหนองป่าพง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ ถ้านับก็เกือบร้อยครั้งในแต่ละวัน

เริ่มจากตื่นนอน เมื่อลงจากกุฏิก็กราบพระเสียก่อน มาถึงศาลากราบพระแล้วจึงนั่งทำสมาธิ จะลุกขึ้นนั่งลงบนอาสนะก็กราบ หรือแม้แต่การไปทำความสะอาดศาลา โบสถ์ กุฏิครูอาจารย์ และสถานที่เคารพต่าง ๆ ก็ต้องกราบพระทุกครั้ง

ดังนั้น ภิกษุสามเณรของวัดหนองป่าพงจึงมีนิสัยกราบติดอยู่กับตัว ซึ่งเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตัว มีความเคารพต่อบุคคล สถานที่ และประการที่สำคัญคือ เป็นการฝึกให้มีสติอยู่ตลอดเวลา