วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔๕.แม่ชีที่หนองป่าพง


             หลังจากหลวงพ่อชาและคณะได้พำนักอยู่ที่ดงป่าพงเดือนกว่า คุณแม่พิมพ์ ช่วงโชติ ซึ่งเป็นโยมมารดาของหลวงพ่อ พร้อมกับโยมผู้หญิงอีก ๓ คน ได้มาบวชชีศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย จึงเป็นสาเหตุให้มีหมู่สตรีผู้หวังความสงบสุข เข้ามาบวชเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสำนักชีที่ปรากฏในปัจจุบัน

สังคมแม่ชีที่ป่าพง ถูกแยกออกเป็นคนละส่วนกัน พระมีเขตแดนล้อมรั้วเป็นสัดส่วน มีเสนาสนะ กุฏิและธรรมศาลาสำหรับรวมปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับสำนักของภิกษุ มีการปกครองกันเองโดยหัวหน้าและแม่ชีอาวุโส แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของประธานสงฆ์ด้วย ซึ่งบางโอกาสครูอาจารย์จะเข้าไปอบรมธรรมแก่แม่ชีที่สำนักในวันโกน

ความเป็นอยู่ของแม่ชีถูกวางหลักเกณฑ์อย่างละเอียดรอบคอบจากหลวงพ่อชา จึงอยู่กันโดยสงบเรื่อยมา และเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังร่มเงาวัดของหนองป่าพง

แม่ชีจะเก็บตัวอยู่อย่างสงบเงียบ ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณบ่อยนัก คงมุ่งต่อการประพฤติปฏิบัติ และเกื้อกูลต่อความเป็นอยู่ของภิกษุ ด้วยใจเสียสละและอดทนดำเนินตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สตรีทั้งหลายเสมอมา

ผู้เข้าสู่วิถีชีวิตแม่ชีที่ป่าพง ต้องต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าการเป็นพระกรรมฐาน หลวงพ่อได้กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้มาบวชชีไว้อย่างถี่ถ้วน

ขั้นแรกมอบหมายให้แม่ชีเก่าผู้หนักแน่นในศีลสมาธิแล้ว เป็นพี่เลี้ยงคอยตรวจสอบกิริยามรรยาทว่ามีความสำรวม มีความบริสุทธิ์ และพร้อมจะบวชหรือไม่ ระยะเวลาตรวจสอบไม่เท่ากัน อาจเป็น ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๓ เดือน ขึ้นกับความพร้อมของบุคคลผู้มาบวช หลังจากบวชเป็นแม่ชีแล้วต้องอยู่ในกติกาข้อวัตรปฏิบัติดังนี้

๑. ห้ามคลุกคลีคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันกลางคืน
๒. เวลาฉัน ล้างภาชนะ กวาด สรงน้ำ ให้พร้อมเพรียงด้วยความมีสติ
๓. รักษาความสะอาดบริเวณกุฏิ เช่น เก็บกวาด ไล่มด ปลวก
๔. มักน้อยสันโดษในการกิน นอน พูด
๕. แบ่งปันเอกลาภอย่างเป็นธรรมในคณะ
๖. เมื่อมีการเจ็บป่วยให้ช่วยกันรักษาพยาบาลอย่างเมตตา
๗. ประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมด้วยความเมตตาต่อเพื่อนชี
๘. เคารพนับถือกันและกันตามวัยวุฒิ
๙. รักษาศีลให้สมบูรณ์
๑๐. ห้ามไม่ให้ชีคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจปกครองหรือตั้งกติกาด้วยความเห็นผิด
๑๑. เมื่อมีความขัดข้องประการใดให้แจ้งประธานสงฆ์เพื่อแก้ไข
๑๒. จะไปไหนมาไหนต้องบอกลาประธานสงฆ์ทุกครั้ง
๑๓. ไม่ให้ถือสิทธิในกุฏิที่ตนสร้างขึ้น
๑๔. ห้ามรับแขกที่เป็นเพศชายบนกุฏิของตน เว้นแต่อาพาธ เป็นบางครั้ง
๑๕. ห้ามแสดงหรือโฆษณาสิ่งอันไม่เป็นธรรมวินัย เพื่อเห็นแก่อามิสสินจ้าง
๑๖. ห้ามประจบประแจงคฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นการประทุษร้ายตระกูล
๑๗. อย่าทะเลาะวิวาทกับใครเพราะความเห็นผิด
๑๘. ห้ามติดต่อกับภิกษุ สามเณร แม่ชี คฤหัสถ์ ทั้งในและนอกวัด
๑๙. ห้ามสัญจรไปมาเพื่อเรี่ยไร
๒๐. ห้ามชายที่มีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไป พักค้างคืนที่นี้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
๒๑. ผู้ประสงค์จะมาบวช ต้องมีผู้ปกครองนำมาฝากเป็นหลักฐาน และมีผู้อุปัฏฐากพอสมควร

ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกติกา สงฆ์มีอำนาจบริหารเต็มที่

แม่ชีเป็นสตรีที่ได้แสดงให้โลกรู้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่จำกัดเพศ วัย ชาติ ชั้นวรรณะ และธรรมะของพระพุทธองค์มิได้แสดงเจาะจงแก่บุรุษหรือสตรีเท่านั้น แต่ตรัสสอนมนุษย์ ชายและหญิงที่มุ่งมั่นประพฤติธรรม ย่อมมีโอกาสพบความสงบสุขในชีวิตได้เช่นเดียวกัน