วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔๔.วัตร ๑๔


           วัตร ๑๔ คือ ระเบียบวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ในสังคมความเป็นอยู่ของภิกษุ อันส่งเสริมให้การบำเพ็ญสมณธรรมดำเนินไปด้วยดีและเรียบร้อย

๑. อาคันตุกวัตร หน้าที่อาคันตุกะผู้เข้าไปสู่อาวาสอื่น ต้องมีความเคารพต่อสถานที่และประพฤติตัวให้เหมาะสม เช่น ถอดรองเท้า หุบร่ม ห่มเฉวียงบ่า เดินไปหาภิกษุผู้อยู่ในอาวาส ทำความเคารพท่าน ถามถึงที่พัก ห้องน้ำ ห้องส้วม น้ำใช้ น้ำฉัน ทำความสะอาดที่พักอาศัย และประพฤติตนตามกฎกติกาของวัด เป็นต้น

๒. อาวาสิกวัตร หน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะต้องปฏิบัติต่อพระอาคันตุกะ เช่น หากภิกษุอาคันตุกะพรรษาแก่กว่ามา ให้ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ลุกไปรับบาตรจีวร ถวายน้ำฉันน้ำใช้ กราบไหว้ บอกเรื่องต่าง ๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม โคจรบิณฑบาตและกติกาสงฆ์...ฯลฯ

๓. คมิกวัตร หน้าที่ของผู้เตรียมจะไปที่อื่น ก่อนออกเดินทางพึงเก็บเครื่องใช้สอย เช่น เตียง เก้าอี้ เสื่อ หมอน ผ้าห่มเป็นต้นไว้ให้ดี ปิดประตู หน้าต่าง ฝากหรือคืนเสนาสนะให้ภิกษุสามเณร อุบาสก หรือคนของวัด (ให้) ช่วยดูแลแล้วจึงเดินทาง ฯลฯ

๔. อนุโมทนาวัตร วิธีอนุโมทนา ให้ภิกษุเป็นเถระอนุโมทนา หากทายกนิมนต์ภิกษุหนุ่มให้อนุโทนา ต้องบอกหรือขอโอกาสพรเถระก่อน ในขณะภิกษุอื่นอนุโมทนาอยู่ หากมีเหตุจำเป็นเช่นปวดอุจจาระ ถ้าจะลุกไป ต้องลาภิกษุผู้นั่งใกล้ก่อน...ฯลฯ

๕. ภัตตัคควัตร ธรรมเนียมในโรงฉันหรือเมื่อไปฉันในบ้าน ต้องนุ่มห่มให้เรียบร้อย เดินไปตามลำดับอาวุโส ไม่เบียดกัน ปฏิบัติตามเสขิยวัตรทุกข้อ ไม่นั่งชิดพระเถระ นอกจากท่านอนุญาตจึงนั่ง...ฯลฯ

๖. บิณฑจาริกวัตร ระเบียบประพฤติในเวลาออกบิณฑบาต ให้ปฏิบัติตามเสขิยวัตร เช่น นุ่มห่มให้เรียบร้อย ซ้อนผ้าสังฆาฏิ ห่มคลุมกลัดรังดุม กลอกบาตร ถือบาตรในจีวร กำหนดทางเข้าออก ไม่ยืนใกล้หรือไกลจากผู้ให้นัก อย่ามองหน้าผู้ถวาย รูปใดกลับก่อนปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ฯลฯ

๗. อรัญญิกวัตร ระเบียบของผู้อยู่ป่า ก่อนออกบิณฑบาต เก็บเครื่องใช้สอยไว้ในกุฏิ ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย จัดหาน้ำใช้น้ำฉันมาเตรียมไว้ เรียนรู้ทิศต่าง ๆ และการเดินทางของดวงดาวเพื่อป้องกันการหลงทาง...ฯลฯ

๘. เสนาสนวัตร วิธีดูแลที่อยู่อาศัย ให้ทำความสะอาดอยู่เสมอ ให้เคลื่อนย้ายบริหารด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบครูดสีพื้นประตูหน้าต่าง ๆ ถ้ากุฏิเก่าให้ซ่อมแซม หากมีลมฝนแรงต้องปิดประตูหน้าต่าง...ฯลฯ

๙. ชันตาฆรวัตร ข้อปฏิบัติในเรือนไฟที่อบกายระงับโรค ทำความสะอาด ตั้งน้ำ ไม่นั่งเบียดชิดพระเถระ ไม่กีดกันอาสนะภิกษุหนุ่ม บีบนวดและสรงน้ำแก่พระเถระ...ฯลฯ

๑๐. วัจกุฏีวัตร ระเบียบปฏิบัติในเวลาเข้าส้วมถ่ายอุจจาระปัสสวะแล้วต้องทำความสะอาดส้วมให้เรียบร้อย เข้าห้องส้วมตามลำดับที่มาถึงก่อนหลัง พาดจีวรไว้ที่ราวข้างนอก อย่าเลิกผ้าเข้าไป อย่าเบ่งแรง อย่าเลิกผ้าออกมา นุ่มห่มเรียบร้อยแล้วจึงออก ถ้าส้วมสกปรกให้ทำความสะอาด ตักน้ำใส่ไว้ให้เต็ม...ฯลฯ

๑๑. อุปัชฌายวัตร วิธีปฏิบัติของสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ต่ออุปัชฌาย์ เข้าไปรับใช้ ถวายน้ำล้างหน้าบ้วนปาก ช่วยนุ่งห่มจีวรให้ ซักผ้า ล้างบาตร ทำความสะอาดกุฏิ รับย่าม ถ้าเดินทางร่วมกับท่าน ไม่ควรเดินใกล้หรือไกลเกินไป ไม่พูดสอดแทรกขณะท่านพูดอยู่ จะทำอะไรต้องถามท่านก่อน จะไปไหนต้องกราบลา ป้องกันอาบัติให้ท่าน เอาใจใส่ยามอาพาธ...ฯลฯ

๑๒. สัทธิวิหาริกวัตร ข้อที่อุปัชฌาย์จะพึงมีต่อศิษย์ เช่น อนุเคราะห์ด้วยพระธรรมวินัย อบรมสั่งสอนอยู่เนือง ๆ ให้บริการขารเครื่องใช้ ถ้าศิษย์อาพาธให้อุปัชฌาย์ปฏิบัติต่อศิษย์ดังในอุปัชฌายวัตรเช่นกัน เป็นต้น

๑๓. อาจริยวัตร วิธีปฏิบัติต่ออาจารย์อันเตวาสิก (ศิษย์) ผู้ถือนิสัยอยู่ด้วยอาจารย์พึ่งปฏิบัติต่ออาจารย์ดังอุปัชฌายวัตร


๑๔. อันเตวาสิกวัตร วิธีปฏิบัติต่ออันเตวาสิก (ศิษย์) อาจารย์ผู้ให้นิสัยพึงปฏิบัติชอบ สงเคราะห์ศิษย์ดังสิทธิวิหาริกวัตรทุกประการ

วัตร ๑๔ นี้ หากภิกษุไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ประพฤติตาม เป็นอาบัติทุกกฎในขณะตั้งใจว่าจะไม่ทำข้อวัตรนั้น
ในข้อใดที่เป็นคำปฏิเสธและห้ามว่า “อย่า” หรือ “ไม่” หากภิกษุขืนทำในข้อนั้น ๆ เป็นอาบัติทุกกฎในขณะล่วงละเมิดข้อห้ามนั้น (ตามรอยโพธิญาณ ชีวิตพระกรรมฐานใน “ป่าพง” : ๑๐๒-๑๐๔)