พุทธศาสนากำหนดวันพระขึ้น ๔ ครั้งในหนึ่งเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ศาสนิกชนมาฝึกสร้างความเป็นพระให้แก่ตนเองตามแนวทางคำสอนของพระศาสดา ด้วยการรักษาศีลห้า ศีลแปด หรืออุโบสถศีลตามศรัทธา พร้อมทั้งปฏิบัติภานาสั่งสมปัญญานำไปกำจัดปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความผาสุกในการดำเนินชีวิต
ยามเช้าของวันพระ อุบาสกอุบาสิกาต่างละภารกิจที่ผูกพันชีวิตให้ยุ่งเหยิงไว้ ณ เคหสถาน แล้วมุ่งหน้ามาสู่วัดด้วยดวงใจเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ตกแต่งกายในชุดเรียบง่ายสบายเหมาะกับบรรยากาศของวัด มือหนึ่งจูงลูกมาปลูกฝังนิสัยในแดนเคารพ อีกมือถือปิ่นโตใส่อาหาร มาบำเพ็ญทานเสียสละความเห็นแก่ตัว และจุนเจือพระศาสนา บางคนแม้ร่างกายร่วงโรยไปตามเวลา แขนขาไร้เรี่ยวแรงเคลื่อนไหว ก็อาศัยนั่งรถเข็นให้ลูกหลานนำมา
เมื่อถึงโรงครัวก็นำอาหารไปรวบรวมกันในภาชนะที่แม่ชีจัดไว้ เพื่อนำไปถวายพระที่โรงฉัน จากนั้นเข้าไปกราบพระในธรรมศาลา รอเวลาร่วมสมาทานศีลและฟังธรรม
เวลาประมาณ ๘ นาฬิกา ครูอาจารย์ผู้เป็นประธานในสำนัก จะขึ้นสู่ธรรมาสน์เพื่อให้ศีลและธรรมกถาเป็นแนวทางปฏิบัติแก่อุบาสกอุบาสิกา
หลังจากการแสดงธรรมในตอนเช้า พระสงฆ์จะอนุโมทนาในส่วนกุศลของศาสนิกชนแล้วลงมาฉันภัตตาหารที่โรงฉัน ส่วนอุบาสก อุบาสิกาสวดมนต์ทำวัตรเช้าต่อไป
หลังเวลาอาหารของผู้รักษาศีลอุโบสถ เป็นการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตามร่มไม้ ร่วมสนทนาธรรมในหมู่ผู้ปฏิบัติ หรือพักผ่อนตามอัธยาศัย
ครั้งถึงเวลา ๑๘ นาฬิกา เสียงระฆังจะดังขึ้นอีกครั้ง เป็นสัญญาณให้รวมกันนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์และฟังพระธรรมเทศนาในธรรมศาลา
ชีวิตวันคืนหนึ่งในวัดของอุบาสกอุบาสิกา เป็นการฝึกหัดกาย วาจา ใจให้เป็น “พระ” หรือ “สมณะ” “ผู้ประเสริฐสงบจากบาปธรรมทั้งปวง” มีชีวิตสงบสุขไร้ความเร่าร้อนจากกามารมณ์ ละเว้นเบียดเบียนตนและคนอื่น มีปัญญาแก้ทุกข์ในชีวิตได้ แม้มีเวลามาศึกษาปฏิบัติเพียงวันเดียวในหนึ่งสัปดาห์ แต่ย่อมเป็นการสั่งสมบารมีธรรม ที่จะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ศาสนิกชนได้ตามกำลังพากเพียร