โลกนี้มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั้นเอง
บางครั้งที่หลวงปู่สังเกตเห็นว่า ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจเสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน จนไม่อยากละมาปฏิบัติธรรม
ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า
“ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุขว่าตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”
.............................................................................................
ไม่ยากสำหรับผู้ไม่ติดอารมณ์
วัดบูรพารามที่หลวงปู่ประจำอยู่ตลอดห้าสิบปี ไม่มีได้ไปจำพรรษาที่ไหนเลย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองหน้าศาลากลาง ติดกับศาลจังหวัดสุรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงรบกวนความสงบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูงานช้างแฟร์ หรือฤดูเทศกาลแต่ละอย่าง แสงเสียงอึกทึกครึกครื้นตลอดเจ็ดวันบ้าง สิบห้าวันบ้าง ภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจยังอ่อนไหวอยู่ ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อนำเรื่องนี้กราบเรียนหลวงปู่ทีไร ก็ได้คำตอบทำนองเดียวกันทุกครั้งว่า
“มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านั้น ธรรมดาแสงย่อมสว่าง ธรรมดาเสียงย่อมดัง หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ใส่ใจฟังเสียอย่างก็หมดเรื่อง จงทำตัวเราไม่ให้เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ เพียงแต่ทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง”
.............................................................................................
บางทีฟังแล้วก็งงและทึ่ง
อาตมามีส่วนเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบถามหรือพูดกับหลวงปู่แบบทีเล่นทีจริงอยู่เรื่อย ทั้งนี้ก็เพราะหลวงปู่ไม่เคยถือ ท่านเป็นกันเองกับพระเณรผู้ใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถามท่านว่าในตำรากล่าวว่า มีเทวดามาชุมนุมฟังเทศน์หรือมาเฝ้าพระพุทธเจ้าหลายสิบโกฏินั้น จะมีสถานที่บรรจุพอหรือ เสียงดังทั่วถึงกันหรือ
เมื่อได้ฟังหลวงปู่ตอบแล้วก็งวยงงและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยพบในตำราและไม่เคยได้ยินมาก่อน และยิ่งกว่านั้นเพิ่งจะได้ฟังท่านพูดเมื่ออาพาธหนักแล้วใกล้จะมรณภาพด้วย
หลวงปู่ตอบว่า
“เทวดาจะมาชุมนุมกันจำนวนกี่ล้านโกฏิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ถึงแปดองค์”
.............................................................................................
แบบมโนสาเร่ก็เคยตอบ
ปัญหาโลกแตก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนมีปัญญาดีและปัญญาอ่อน นำมาถกเถียงกันอย่างไม่เกิดประโยชน์และตกลงกันไม่ได้สักทีว่า ไก่กับไข่อย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งส่วนมากเป็นการถามตอบเพื่อเถียงกันเล่นแล้วจบลงไม่ได้ ก็ยังมีผู้นำไปถามโดยคิดว่าหลวงปู่คงไม่ตอบปัญหาแบบนี้ ในที่สุดก็ได้ฟังคำตอบของหลวงปู่อย่างไม่เหมือนใครเลยคือ
วันหนึ่งพระเบิ้มเข้าไปปฏิบัตินวดเท้าถวายท่าน แล้วถามว่า หลวงปู่ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน
หลวงปู่บอกว่า
“เกิดพร้อมกันนั่นแหละ”
.............................................................................................
กล่าวเตือน
บางครั้งหลวงปู่แทบจะรำคาญกับพวกที่ปฏิบัติเพียงไม่กี่มากน้อย ก็มาถามแบบเร่งผลให้ทันตาเห็น ท่านกล่าวเตือนว่า
“การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบเทียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”
....................................................................................................
ละอย่างหนึ่งติดอีกอย่างหนึ่ง
ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ รายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้
ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่แนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับคือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้
หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด
“เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรคที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งต่อไป”
.............................................................................................
ปรารภธรรมเปรียบเทียบ
จิตของพระอริยเจ้าชั้นโลกุตตระนั้น แม้จะยังอยู่ในโลก คลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมโดยสถานใด ก็ไม่อาจจูงจิตของท่านให้ไขว้เขวเจือปนกับสิ่งเหล่านั้นได้คือ โลกธรรมไม่อาจครอบงำจิตได้เลยคือ จิตไม่กลับกลายไปเป็นจิตปุถุชนได้อีก ไม่อาจกลับไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาได้อีก
“เปรียบเหมือนกะทิมะพร้าวที่คั้นออกมาแล้ว เอาไปสำรอก หรือเคี่ยวด้วยความร้อนจนเป็นน้ำมันออกมาได้แล้ว ย่อมไม่กลับกลายไปเป็นกะทิเหมือนเดิมอีก แม้จะเอาไปปะปนระคนกับกะทิอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้น้ำมันนั้นกลายเป็นกะทิเหมือนเดิมได้”
.............................................................................................
ตัวอย่างเปรียบเทียบ
มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน
ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือ ในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด
วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟัง ว่ามันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ
ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า บนบกนั้นลึกมากไหม เต่า มันจะลึกอะไร ก็มันบก
เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม มันจะคลื่นอะไร ก็มันบก
เอ บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม มันจะมีอะไร ก็มันบก
ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ
“จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา”
.............................................................................................
ภายนอกกับภายใน
เมื่อเย็นวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๔ หลังจากหลวงปู่กลับจากราชพิธีในพระราชวัง กำลังพักผ่อนอยู่ที่พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศฯ
มีท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นนักปฏิบัติภาวนาองค์หนึ่งเข้าไปเยี่ยมสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ขึ้นต้นด้วยคำถามว่า เขาว่าคนที่เป็นยักษ์ในชาติปางก่อน กลับมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้นั้น เรียนคาถาอาคมอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปทุกอย่าง เป็นความจริงแค่ไหนครับผม
หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งฉับไว แล้วตอบว่า
“ผมไม่เคยได้สนใจเรื่องอย่างนี้เลย ท่านเจ้าคุณเคยภาวนาถึงตรงนี้ไหม หสิตุปบาทคือกิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้นไม่มีในสามัญชน เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง”
.............................................................................................
แค่ศีลห้าก็ไม่มี
พระมหาเถระผู้ใหญ่แต่ละรูปนั้น ย่อมจะมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต บรรดาศิษย์เหล่านั้นจึงมีทั้งดีและเลว โดยเฉพาะศิษย์ฝ่ายพระ องค์ที่ดีก็ดีถมเถไป องค์ที่เลวก็พอมีปะปนอยู่บ้าง เช่น มีพระผู้ใกล้ชิดองค์หนึ่ง ชอบถือวิสาสะจนเกินควรคือ ชอบหยิบเอาข้าวของบางอย่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีผู้บอกหลวงปู่ให้ทราบ แต่หลวงปู่ก็ชอบวางเฉยอยู่แล้ว
ครั้งหนึ่ง ท่านต้องการใช้ของอันนั้น จึงใช้ให้พระองค์หนึ่งไปถามหา แต่ถูกปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เอาไป พระองค์นั้นจึงกลับมาบอกหลวงปู่ว่าเขาปฏิเสธไม่ได้เอา หลวงปู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่พูดออกมานิดหนึ่งว่า
“พระบางองค์ มัวแต่ตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ จนลืมรักษาศีล ๕”
..............................................................................................
ไม่เคยเห็นหวั่นไหวในเหตุการณ์อะไร
เวลา ๔ ทุ่มผ่านไปแล้ว เห็นหลวงปู่ยังนั่งพักผ่อนอยู่ตามสบาย จึงเข้าไปกราบเรียนว่า หลวงปู่ครับ หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้ว หลวงปูก็แทนที่จะถามว่า ด้วยเหตุใด เมื่อไร ก็ไม่ถาม กลับพูดต่อไปเลยว่า
“เออ ท่านอาจารย์ขาว ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขารต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ เราไม่มีวิบากของสังขาร เรื่องวิบากของสังขารนี้แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกันได้ ไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่ตามปกติสภาวะของจิตนั้น มันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมละและระงับได้เร็ว ไม่กังวล ไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง”
.............................................................................................
ผู้ที่เข้าใจธรรมะได้ถูกต้องหายาก
เมื่อไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว ผลคือความทุกข์ยาก สูญเสียสิ้นเนื้อประดาตัว และเสียใจอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สิน ถึงขั้นเสียสติไปก็หลายราย วนเวียนมาลำเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า อุตส่าห์ทำบุญเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วย ทำไมธรรมะจึงไม่ช่วยคุ้มครอง ไฟไหม้บ้านวอดวายหมด แล้วเขาเหล่านั้นเลิกเข้าวัดทำบุญไปหลายรายเพราะธรรมะไม่ช่วยเขาให้พ้นจากไฟไหม้บ้าน
หลวงปู่ว่า
“ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่าความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”
.............................................................................................
ต้องปฏิบัติจึงหมดความสงสัย
เมื่อมีผู้ถามถึง การตาย การเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้า ชาติหลัง หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ หรือมีผู้กล่าวค้านว่า เชื่อหรือไม่เชื่อ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่จริงประการใด หลวงปู่ไม่เคยค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อจะเอาค้านใคร หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยัน เพื่อให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด ท่านกลับแนะนำว่า
“ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”
.............................................................................................
เขาต้องการอย่างนั้นเอง
แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่า ตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง
หลวงปู่ว่า
“เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตกต่ำ แล้วก็ตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก”
.............................................................................................
แปลกดี
หลังจากงานเปิดพิพิธภัณฑ์ท่านอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่เดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมท่านอาจารย์ฝั้น ที่ถ้ำขาม
สมัยนั้นรถใหญ่ไปได้แค่เชิงเขา หลวงปู่ต้องปีนเขาจากที่ไกลด้วยความเหนื่อยยากอย่างยิ่ง ท่านต้องหยุดพักเหนื่อยหอบเป็นระยะหลายครั้ง อาตมาทุกข์ใจมากที่มีส่วนทำให้หลวงปู่ต้องทรมานสังขารถึงปานนั้น ในที่สุดเมื่อไปถึงศาลาใหญ่บนยอดถ้ำขามแล้ว ท่านอาจารย์ฝั้นกราบหลวงปู่เสร็จ ท่านอาจารย์เทสก์ก็ขึ้นไปถึงพอดี
เมื่อเห็นพระเถระสำคัญทั้งสามรูปไปได้พบกันโดยบังเอิญเช่นนี้ และท่านสนทนาวิสาสะกันด้วยบรรยากาศที่สงบเยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสเช่นนั้น ความทุกข์หายไปหมด ความปลื้มปีติก็เข้ามาแทนที่
ท่านอาจารย์ฝั้นกล่าวแสดงความยินดีกับหลวงปู่ว่า ท่านอาจารย์สุขภาพแข็งแรงดีแท้ อายุปูนนี้แล้วยังสามารถขึ้นถ้ำขามได้
หลวงปู่กล่าวว่า
“ก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรหรอก ผมตริตรองดูแล้ว เห็นว่าไม่มีวิบากของสังขาร เมื่ออาศัยไม่ได้ ปล่อยทิ้งไปเลยเท่านั้นแหละ”
..............................................................................
ยิ่งแปลกอีก
ไม่ต้องสงสัยว่าญาติโยมที่นั่งห้อมล้อมจำนวนมากนั้นจะตื่นเต้นดีใจขนาดไหน ที่เห็นพระเถระสำคัญนั่งอยู่ด้วยกันโดยบังเอิญ คือ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ โอกาสเช่นนี้หาได้ง่ายที่ไหน ตากล้องจากสุรินทร์สองคนตั้งหน้าถ่ายรูปเอาอย่างเต็มที่
ขากลับบนรถบัสใหญ่นั่นเอง ช่างถ่ายรูปเห็นว่าทุกคนกระหายที่จะได้รูป เขาจึงพูดว่า จะขยาย ๑๒ นิ้ว จำหน่ายเอาเงินบำรุงวัดป่าจอมพระ อาตมาคิดแต่ในใจว่า การเอารูปครูบาอาจารย์ไปตีราคาจำหน่ายเช่านี้ดูไม่ค่อยงามเท่าไรนัก แต่เขาก็สั่งจองกันเกือบทุกคน
เมื่อช่างเอาฟิล์มไปล้างแล้ว ปรากฏว่าฟิล์มที่อุตส่าห์ถ่ายไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งนั้น มีลักษณะใสสะอาดเหมือนหนึ่งท้องฟ้าที่ปราศจากหมอกเมฆ ฉะนั้น ความหวังที่จะได้รูปก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น การพบกันของพระเถระสำคัญทั้งสามท่านนั้น เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายแล้ว
.............................................................................................
ไม่มีนิทานสาธก
อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ตลอดระยะเวลายาวนาน คำสอนของท่านไม่เคยมีนิทานสาธก หรือนิทานสนุกอะไรที่หลวงปู่ยกมาบรรยายให้ฟังสนุกๆ เลย ไม่ว่าชาดกหรือเรื่องประกอบในปัจจุบัน
คำสอนของท่านล้วนแต่เป็นสัจธรรมชั้นปรมัตถ์ หรือไม่ก็เป็นคำจำกัดความอย่างกะทัดรัด ชนิดระมัดระวังหรือคล้ายประหยัดคำพูดอย่างยิ่ง แม้แต่การสอนพิธีกรรมหรือศาสนพิธีและการทำบุญบริจาคทานอะไร ในระดับศีลธรรม หลวงปู่ทำแบบปล่อยวางหมด
ส่วนมากหลวงปู่กล่าวว่า
“เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง”
.............................................................................................
ว่าไปตามความเป็นจริงอย่างไร
เมื่อมีผู้ถามว่าหลวงปู่เคยอ่านประวัติท่านอาจารย์มั่นที่มีหลายท่านเขียนไว้อย่างมากมายไหม หลวงปู่ก็ตอบว่าเคยอ่านเหมือนกัน ที่เขาเขียนถึงอภินิหารของท่านต่างๆ นานานั้น หลวงปู่เข้าใจว่าอย่างไร หลวงปู่ว่า เมื่อสมัยเราเคยอยู่กับท่าน ก็ไม่เห็นท่านเล่าบอกว่าอย่างไร
ตามปกติของหลวงปู่ เมื่อท่านเล่าถึงท่านอาจารย์ ท่านจะพูดถึงเฉพาะกิจธุดงค์ของท่านอาจารย์มั่นเท่านั้น ว่าผู้ที่ถือธุดงค์ในรุ่นต่อมา ยังไม่เห็นมีใครถือได้เคร่งครัดเท่าท่านเลยแม้แต่คนเดียว นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุลที่ตัดเย็บย้อมเอง ไม่ใช้ผ้าสำเร็จรูปจากคนอื่น อยู่เสนาสนะป่าตลอดชีวิต ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตได้ในบาตร แม้อาพาธหนัก ยังอุตส่าห์นั่งอุ้มบาตรให้เขาใส่ ไม่ถืออานิสงส์พรรษา ไม่รับกฐิน ตลอดถึงไม่ก่อสร้างหรือชวนทำการก่อสร้าง
.............................................................................................
ปฏิปุจฉา
ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนถามกลับคืน ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง
เช่น ถามว่า พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด สว่างแล้ว ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ
ท่านตอบว่า “พระอรหันต์ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านั้นเองหรือ”
ถามว่า พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ
ท่านตอบว่า “การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์มิใช่หรือ”
ถามว่า พระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงพระอรหันต์ เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่
ท่านตอบว่า “หมอบางคน ทั้งที่ตนเองยังมีโรคอยู่ แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้ มีอยู่ทั่วไปมิใช่หรือ”
.............................................................................................
ปกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่
ทางกาย มีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว สมสัดส่วน สะอาด ปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงน้ำอุ่นเพียงวันละครั้งเท่านั้น
ทางวาจา เสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง ปราศจากมารยาทางคำพูดคือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น
ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยมเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิดหรือรำคาญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ
ท่านสอนอยู่เสมอว่า
“ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงสลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”
....................................................................................