วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๒.กลับกุฏิ


            เวลาส่วนตัวของภิกษุสามเณรมีขึ้นเมื่อเลิกจากโรงฉันกลับกุฏิ เป็นช่วงที่ให้ความรู้สึกเบาสงบเป็นอิสระ เพราะกิจวัตรสำคัญต่าง ๆ เช่น การขบฉันอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายได้ผ่านพ้นไปแล้ว คงเหลือแต่การแสวงหาธรรม อันเป็นอาหารของจิตใจ ซึ่งต้องพากเพียรแสวงหาเอาเองตามลำพัง ในท่ามกลางความสงบสงัดที่กุฏิภายในป่า

กุฏิสำหรับพักอาศัยถูกปลูกสร้างอย่างเป็นระเบียบ เป็นกุฏิหลังเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผู้เดียว ตั้งอยู่ห่าง ๆ กันในป่า มีหมู่แมกไม้ธรรมชาติน้อยใหญ่เป็นประดุจรั้วหรือกำแพงหนาทึบแบ่งอาณาเขตของแต่ละกุฏิ ก่อให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ที่อิสระ เป็นสัดส่วน ไม่คลุกคลีปะปนกัน ทำให้ภิกษุสามเณรสามารถปฏิบัติภาวนาได้อย่างสงบ

เมื่อมาถึงกุฏิ ภิกษุสามเณรจะนำจีวรและผ้าต่าง ๆ ผึ่งแดดไว้บนราวให้เรียบร้อย จากนั้นก็ปัดกวาดใบไม้ที่ร่วงหล่นบนลานกุฏิ การกวาดช้า ๆ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น และเป็นการปัดกาดคามเกียจคร้านออกจากใจ ขณะกวาดก็พิจารณาสภาพของธรรมชาติในป่า และสภาวธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจในขณะนั้น ๆ ด้วย

ครูอาจารย์จะชี้ให้เห็นสัจธรรมในธรรมชาติอยู่เสมอ แม้กิ่งไม้ ใบไม้ หรือสัตว์ป่า ก็สามารถเป็นครูอาจารย์แก่ผู้มีสติปัญญาพิจารณาสิ่งเหล่านี้ได้ หลวงพ่อชาเคยพูดว่า “ผู้มีสติจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา”

หลังจากปัดกวาดลานกุฏิจนสะอาด มองดูสบายตาสบายใจแล้ว เวลาของการเดินจงกรมก็เริ่มขึ้น กุฏิทุกหลังมีทางสำหรับใช้เดินจงกรมตามใต้ต้นไม้ มีระยะประมาณกว่า ๒๐ ก้าว จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถึงคุณประโยชน์ของการเดินจงกรมไว้ว่า ช่วยให้อดทนต่อการเดินทางไกล อดทนในการบำเพ็ญเพียร มีอาพาธน้อย อาหาที่ฉันแล้วย่อมย่อยไปด้วยดี สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่นาน

ร่องรอยของการเดินจงกรม อาจเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเพียรหรือความเกียจคร้านของผู้อยู่กุฏิหลังนั้นได้ว่า กลับจากโรงฉันแล้วขึ้นกุฏินอนเลย หรือเดินจงกรมก่อน สิ่งเหล่านี้รู้ได้จากรอยเท้าบนทางจงกรม หากปรากฏรอยก็แสดงว่าเป็นผู้มีความเพียรสม่ำเสมอ เป็นผู้ไม่ประมาท แต่ถ้าหากไร้ร่องรอยของการเดินก็แสดงได้ว่า เป็นผู้ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองอีกมาก