วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


     ในระหว่างจำพรรษาอยู่ที่เขาวงกตนั้น หลวงพ่อได้ยินเรื่องราวของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสมาก และเล่าลือกันว่าเป็นพระอรหันต์ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยโยมอินทร์มรรคทายกวัดเขาวงกตเล่าให้ฟังและแนะนำให้ไปนมัสการ เพราะเคยอยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นมาแล้ว และซาบซึ้งในปฏิปทาของท่านเป็นอันมาก เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า พระถวัลย์กำลังสนใจในการท่องบ่นตำรับตำรา ควรอนุญาตให้ท่านลงไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จึงได้ตกลงแยกทางกับเพื่อนสหธรรมิกซึ่งได้ติดตามมาจากวัดบ้านก่อ ส่วนตัวหลวงพ่อจะเดินธุดงค์ไปนมัสการหลวงปู่มั่น ในการเดินธุดงค์ครั้งนี้มีพระไปด้วยกัน ๔ รูป ซึ่งรวมทั้งพระชาวภาคกลาง ๒ รูป พากันเดินทางย้อนกลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานี พักที่วัดก่อนอกชั่วคราว แล้วจึงเดินทางต่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสกลนคร

      คืนที่สิบคณะธุดงค์เดินทางถึงพระธาตุพนม นมันการพระธาตุและพักที่นั่น ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แวะนมันการพระอาจารย์สอนที่ภูค้อเพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของท่าน พักอยู่ที่นั่น ๒ คืนจึงเดินทางต่อไป แต่ได้แยกทางกันเป็น ๒ พวก เพราะตัวท่านเองตั้งใจว่า ก่อนไปถึงสำนักหลวงปู่มั่น ควรแวะสนทนาธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติจากพระอาจารย์องค์อื่น ๆ ไปด้วยในระหว่างทาง เพื่อจะได้เทียบเคียงกันดู

     จากภูค้อคณะที่ไปด้วยกันได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก สามเณร ๑ รูปกับอุบาสก ๒ คน เห็นว่าตัวเองคงไปไม่ไหวจึงลากลับบ้านเดิม แต่หลวงพ่อกับพระอีก ๒ รูป เดินทางต่อไป โดยไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจ และในที่สุดคณะของท่านก็ได้เดินทางถึงสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

      พอย่างเข้าสำนัก หลวงพ่อรู้สึกประทับใจทันทีในบรรยากาศอันสงบวิเวกและร่มรื่นด้วยหมู่แมกไม้ธรรมชาติ ได้เห็นลานวัดสะอาดสะอ้าน เห็นกิริยามารยาทของพระภิกษุสามเณรเป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพอใจมากกว่าสำนักใด ๆ ที่เคยสัมผัสมา พอถึงตอนเย็น ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์ของท่าน เพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นได้ซักถามเรื่องราวต่าง ๆ เช่น อายุพรรษา และสำนักที่เคยปฏิบัติมาแล้ว เมื่อหลวงพ่อกราบเรียนว่า มาจากสำนักพระอาจารย์เภา วัดเขาวงกต จังหวัดลพบุรี พร้อมกับเอาจดหมายของโยมอินทร์ที่ฝากถวายหลวงปู่มั่น ท่านก็ปรารภว่า “ท่านเภาก็เป็น พระแท้ องค์หนึ่งในประเทศไทย”

      ต่อจากนั้นท่านก็ให้โอวาท ปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสองคือ ธรรมยุติและมหานิกายซึ่งเป็นเรื่องที่ติดข้องอยู่ในใจของหลวงพ่อมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยหลวงปู่มั่นได้ชี้แจงว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่หลวงพ่อจะต้องญัตติเข้าธรรมยุตินิกายตามครูบาอาจารย์ เช่น ที่ลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่มั่นนิยมทำกัน อีกประการหนึ่ง ทางมหานิกายก็จำเป็นต้องมีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นเดียวกัน หลวงปู่มั่นได้ให้เหตุผลกับหลวงพ่อเช่นนี้

      ต่อไปท่านก็ได้พูดถึงเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ฟังจนเป็นที่พอใจและหายสงสัย และได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟังอีกด้วย ศิษย์ทุกคนต่างก็ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยความสนใจมีอาการอันสงบเสงี่ยม หลวงพ่อได้เล่าว่า ทั้ง ๆ ที่ท่านเดินทางมาด้วยความเหน็ดเหสื่อยตลอดทั้งวัน พอได้ฟังโอวาทหลวงปู่มั่นแล้ว รู้สึกว่าความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้หายไปจนหมดสิ้น จิตหยั่งลงสู่สมาธิด้วยอาการสงบ มีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังอยู่จนกระทั่งเที่ยงคืนจึงเลิกประชุม

      คืนที่สอง หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณธรรมต่าง ๆ ให้ฟัง จนหลวงพ่อหมดสงสัยในหนทางประพฤติปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปีติในธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ได้กำลังใจและความอาจหาญที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ คำสอนที่ท่านหลวงปู่มั่นเน้นที่สุดในครั้งนั้นก็คือ สกฺขีภูโต คือ การเอาตัวเป็นพยานของตัว และอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจท่านมากคือ ความแตกต่างระหว่างตัวจิตและอาการต่าง ๆ ของจิต

      “พูดถึงอาการทั้งหลายเหล่านี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านบอกว่า เป็นอาการ เราไม่รู้อาการทั้งหลายก็นึกว่าเป็นความจริงทั้งหมด นึกว่าจิตเราทั้งหมด แต่มันเป็นอาการทั้งนั้นน่ะ พอท่านบอกว่าเป็นอาการ เราสว่างเลยทีเดียว อย่างความดีใจอย่างนี้มันก็มีอยู่ในใจ แต่ว่ามันเป็นอาการ มันคนะลอย่างคนละชั้นกันอยู่กับตัวจิต ถ้าความเป็นจริงรู้แล้ว มันก็เลิก มันก็วาง เป็นสมมุติแล้วมันก็เป็นวิมุตติ มันเป็นอยู่อย่างนี้ คนบางคนก็เอามารวมทั้งหมดเป็นตัวจิตเสีย ความเป็นจริงมันเป็น อาการกับผู้รู้ ติดต่อกันอยู่ ถ้าเรารู้จักอันนี้แล้ว ก็เรียกว่ามันไม่มีอะไรมาก”


      ในวันที่สาม หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศที่ได้สัมผัสกับหลวงปู่มั่นที่สำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า


      “...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก พระเณรตั้ง ๕๐-๖๐ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุนซักผ้าก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้นไกล ๆ โน้น! เพราะกลัวจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรมของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ ประมาณ ๑ ทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควร ประมาณ ๔ ทุ่ม หรือ ๕ ทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัยไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่ มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อนเขาเดินจงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดินไม่หยุดไม่พักนั่นเพราะจิตใจมันมีกำลัง...”

      หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงพ่อกับคณะก็เดินธุดงค์รอนแรม พักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อย ๆ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกราวกับว่าหลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา หลาย ๆ คนเคยคิดสงสัยว่า เพราะเหตุใดหลวงพ่อจึงพักอยู่ที่สำนักหลวงปู่มั่นเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่อยู่ในขณะเสาะแสวงหาครูอาจารย์ หลวงพ่อเคยให้คำตอบเปรียบเทียบทำนองนี้ว่า “คนตาดี พบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคนตาบอด ถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟก็ไม่เห็นอะไร”

      อย่างไรก็ตาม หลังจากกราบนมัสการหลวงปู่มั่นแล้ว ศรัทธาของหลวงพ่อแกร่งกล้าขึ้น พร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินก็ชัดเจนแล้ว เมื่อถึงอำเภอนาแก พระบุญมีได้แยกทางกับคณะธุดงค์ เหลือแต่หลวงพ่อ พระเลื่อมและปะขาวแก้ว