วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๘.กลับจากบิณฑบาตร


          เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา หมู่ภิกษุสามเณรเริ่มทยอยกลับจากการไปบิณฑบาต จะกลับเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับระยะทางที่ไป แต่ละสายมีระยะทางประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร หากรวมทั้งไปและกลับรา ๔-๖ กิโลเมตร ก็นับว่าเป็นกิจวัตรที่ต้องใช้ทั้งกำลังกายกำลังใจและความพากเพียรอดทนพอสมควร

เมื่อภิกษุสามเณรกลับมาถึงวัด จะวางบาตรไว้ที่เชิงบาตรข้างล่างอาสนะในโรงฉัน จากนั้นก็ออกมาเปลื้องจีวรและสังฆาฏิออก แล้วช่วยกันพับผ้าสังฆาฏิไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้ในโอกาสต่อไป

บางรูปไปรอล้างเท้าเช็ดเท้าให้แก่ครูบาอาจารย์และพระอาวุโส การล้างเท้าเป็นกิจอย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจและสร้างศรัทธาแก่ผู้พบเห็น และแสดงออกถึงความเคารพอย่างสูงของศิษย์ต่อครูอาจารย์ นอกจากนี้ยังบ่งบอกถึงการลดความสำคัญมั่นหมายในตัวตนลงด้วย แต่บางครั้งการทำข้อวัตรต่าง ๆ ต่อครูอาจารย์ ก็อาจะมีมายาแทรกซ้อนอยู่ในการกระทำนั้น ครูอาจารย์จะตักเตือนภิกษุสามเณรอยู่เสมอ ให้ดูเจตนาของตนตลอดเวลาว่า เราทำสิ่งเหล่านี้ลงไปเพื่ออะไร

เมื่อเสร็จจากการพับผ้าสังฆาฏิ จีบจีวรรวบรวางไว้ให้เป็นระเบียบ ล้างเท้า เช็ดเท้า ครูอาจารย์ ภิกษุจะเข้าไปรับประเคนบาตรจากสามเณรหรือปะขาวในโรงฉัน แล้วแบ่งเอาเฉพาะข้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียวใส่ไว้ในบาตร ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ส่วนอาหารที่เหลือนอกนั้นถูกรวบรวมแล้วส่งไปยังโรงครัว เพื่อให้แม่ชีพิจารณาอีกครั้งว่าควรแก่การบริโภคของภิกษุสามเณรหรือไม่

จากนั้นภิกษุสามเณรจะแยกย้ายกันไปทำภาระหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดกุฏิส่วนตัว กวาดถนนทางเดินภายในวัด ทำความสะอาดศาลานอก กุฏิครูบาอาจารย์ นั่งสมาธิในโรงฉัน เดินจงกรมตามร่มไม้

เมื่อเสียงระฆังดังขึ้นจากโรงครัวหมายความว่า อาหารบิณฑบาตสำหรับวันนี้ได้จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภิกษุสามเณรจะมานั่งพร้อมกันในโรงฉันด้วยความสงบ ปะขาวทำหน้าที่นำอาหาร ซึ่งจัดวางไว้บนรถเข็นมาจากโรงครัว ไปประเคนแก่ภิกษุสำหรับการบริโภคในวันนั้น