วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่ฝากไว้ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ตอนที่ ๖




มีเวทนาหนัก แต่ไม่หนักด้วยเวทนา 

หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล คืนนั้น หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ถึงต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด เวลาดึกมากแล้ว คือหกทุ่มกว่า ท่านอาจารย์ยันตระ พร้อมด้วยบริวารหลายท่านเข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่ เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้ หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด เมื่อคณะของท่านอาจารย์ยันตระกราบมนัสการแล้ว ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่ แล้วถามว่า “หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ” 

หลวงปู่ตอบว่า 

“เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย” 

............................................................................................. 

เดินทางลัดที่ปลอดภัย 

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาล ที่ล่วงลับไปแล้ว 

เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนกับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อย หาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด 

หลวงปู่ตอบว่า 

“มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด” 

............................................................................................. 

ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ 

ตลอดชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย แม้จะถูกถามหรือถูกขอให้บอกเพียงว่า จะบวชวันไหน จะสึกวันไหน หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย มักจะพูดว่า วันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ คือถ้ามีผู้ขอเช่นนั้น ท่านมักให้เขาหาเอาเอง หรือมักบอกว่า วันไหนก็ได้ ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด 

หลวงปู่สรุปลงว่า 

“ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น” 

............................................................................................. 

เปรียบเทียบให้ฟัง 

ความอยากรู้อยากเห็น เพื่อบรรเทาความสงสัยของตนให้ได้นั้น ย่อมมีอยู่สำหรับชนผู้เจริญโดยทั่วไป วิชาแต่ละศาสตร์แต่ละสาขา ตั้งไว้เพื่อให้มนุษย์เกิดสงสัยอยากรู้ แล้วเพียรพยายามศึกษาปฏิบัติเพื่อรู้ถึงจุดหมายปลายทางของแต่ละศาสตร์นั้น 

แต่พุทธศาสตร์ต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างสมดุล และความเพียรขั้นอุกฤษฏ์ เพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุดของพุทธธรรมด้วยตนเองหมดข้อสงสัยได้เองโดยสิ้นเชิง 

เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ มีคนอธิบายให้ฟังว่า ที่กรุงเทพฯ นั้น นอกจากมีความเจริญอย่างอื่นแล้วยังมีกำแพงแก้วและภูเขาทองทั้งลูกอันมหึมาอีกด้วย เขาจึงตั้งใจไปกรุงเทพฯ ให้ได้ โดยคิดว่าจะไปเอาแก้วที่กำแพงและไปเอาทองที่ภูเขา ครั้นเพียรพยายามไปจนถึงแล้ว ผู้รู้ก็ชี้บอกว่า นี่คือกำแพงแก้ว นี่คือภูเขาทอง เพียงแค่นี้ความตั้งใจและความสงสัยของเขาก็สิ้นสุดลงทันที 

“มรรคผลนิพพานก็เช่นนั้นเหมือนกัน” 

............................................................................................. 

ไม่เคยกระทำแบบแสดง 

หลวงปู่ไม่มีมายาในทางอยากโชว์เพื่อให้เด่น ให้สง่าแก่ตนเอง เช่น การถ่ายรูปของท่าน ถ้าใครอยากจะถ่ายรูปท่าน ก็ต้องหาจังหวะให้ดีระหว่างที่ท่านห่มผ้าใส่สังฆาฏิเรียบร้อยเพื่อลงปาฏิโมกข์ หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ง่าย เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา แล้วขอร้องให้ท่านลุกไปห่มผ้ามาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง เช่น มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ นำผ้าห่มชั้นดีไปถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้ 

หลวงปู่ปฏิเสธว่า ไม่ต้องหรอก แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม ท่านก็ว่าไม่ต้องไม่จำเป็นอยู่นั่นเอง 

เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว อาตมาไม่ค่อยสบายใจ ก็ถามท่านว่า โยมเขาไม่พอใจหลวงปู่ทราบไหม 

หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า 

“รู้อยู่ ที่เขามีความไม่พอใจ ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ” 

................................................................................................


สิ้นชาติขาดภพ 

พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนาแต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขว ประพฤติตัวมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้ 

หลวงปู่กล่าวว่า 

“การสำรวจสำเหนียกในพระวินัยอย่างเคร่งครัดและสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่งน่าเลื่อมใส แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล” 

............................................................................................. 

อยู่อย่างไรปลอดภัยที่สุด 

จำได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีพระเถระ ๒ รูป เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานจากทางอีสานเหนือ แวะไปกราบนมัสการหลวงปู่ แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะและดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง 

ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดี ตลอดจนถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ที่ตนเคยไปพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรมคืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา อาจารย์องค์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปกติ คนจึงนับถือท่านมาก หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัยจากอันตรายตลอดมา 

หลวงปู่กล่าวว่า 

“เออ ท่านองค์ไหนมีภูมิธรรมแค่ไหน ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ เราอยู่กับ ‘รู้’ ” 

............................................................................................. 

สนทนาต่อมา 

ครั้นเมื่อพระเถระทั้งสองรูป ได้ฟังคำพูดของหลวงปู่ว่า หลวงปู่ท่านอยู่กับ “รู้” ต่างองค์ก็นิ่งสงบชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็เรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า อาการที่ว่าอยู่กับรู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร 

หลวงปู่ตอบอธิบายว่า 

‘รู้’ (อัญญา) เป็นปกติจิตที่ “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง” 

............................................................................................. 

ถึงที่สุดแห่งทุกข์ 

หลวงปู่เป็นผู้มีวาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านชอบกล่าวแต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมแท้ กล่าวแต่จุดมุ่งหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา กล่าวแต่พระกระแสธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยส่วนเดียว สังเกตจากพุทธดำรัสที่หลวงปู่ชอบหยิบยกมาพูดให้ฟังบ่อยที่สุด คือหลวงปู่ว่า 

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า 

“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เหล่านี้ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น 
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ได้กล่าวถึงอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยไม่ได้ ไม่ได้เป็นไป หาอารมณ์ไม่ได้ นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์” 

............................................................................................. 

อาพาธครั้งสุดท้าย 

หลวงปู่กลับจากรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าท่านหายจากโรคอย่างเด็ดขาดแต่ประการใด หากแต่ว่าท่านอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง และดำรงอยู่ต่อมาได้เพียงแปดเดือนเท่านั้น 

ในโอกาสที่เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านคือครบรอบ ๙๖ ปี ได้จัดงานทำบุญฉลองเป็นกรณีพิเศษ หลวงปู่เริ่มมีอาการผิดปกติคือ อ่อนเพลียอย่างมาก กระสับกระส่ายและจับไข้เป็นครั้งคราว 

อาตมากราบเรียนท่านว่า ขอนำท่านไปโรงพยาบาลจุฬาฯ อีกครั้ง ท่านบอกว่าไม่ต้องไป และพูดสำทับว่าห้ามเอาท่านไป เพราะถึงไปก็ไม่หาย เรียนท่านว่าเมื่อก่อนหลวงปู่เป็นหนักกว่านี้ยังหาย ครั้งนี้หลวงปู่เป็นไม่มากต้องหายแน่ ท่านว่า 

“นั่นมันคราวก่อน นี่มันไม่ใช่คราวก่อน” 

...............................................................................................




ลักษณาการเข้าสู่มรณภาพ 

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖ ตั้งแต่เวลาบ่ายโมงผ่านไปแล้ว อาการป่วยก็ทรงๆ อยู่ แต่สีผิวพรรณวรรณะสดใสเปล่งปลั่งอย่างผิดปกติ ทั้งพระและคฤหัสถ์ก็มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งพระบ้านและพระป่า

เวลา ๑๕.๐๐ น. พระเถระฝ่ายป่าได้เข้าไปถวายสักการะที่กุฏิหลวงปู่จำนวนมาก ท่านลุกขึ้นสนทนาธรรมะและแนะแนวข้อปฏิบัติธรรมให้ท่านสานุศิษย์เหล่านั้นฟังด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และลำดับกระแสธรรมข้อปฏิบัติไปตลอดสาย เหมือนหนึ่งแก้ข้อข้องใจให้ท่านเหล่านั้นฟัง เป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่ท่านเคยสอนมา

เวลาดึกใกล้สี่ทุ่มเข้าไปแล้ว หลวงปู่จึงให้พาท่านออกมาข้างนอกกุฏิ แล้วใช้สายตามองไปรอบๆ บริเวณวัดอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งหามีใครทราบไม่ว่า นั่นเป็นการมองดูอะไรๆ ครั้งสุดท้ายแล้ว

.............................................................................................

ทบทวนธรรมานุสติครั้งสุดท้าย 

เวลาสี่ทุ่มผ่านไป หลวงปู่ให้พาท่านเข้าห้องนอนเหมือนเดิม ท่านอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย หนุนหมอนสูง ให้พระที่อยู่ในห้องแปดเก้ารูปสวดมนต์เจ็ดตำนานย่อให้ฟัง จบแล้วสั่งให้สวดสติสัมโพชฌงค์ ๓ จบ แล้วให้สวดปฏิจจสมุปบาทอีก ๓ รอบ

หลังจากนั้นหลวงปู่ให้สวดมหาสติปัฏฐานสูตรให้ฟัง พระในที่นั้นไม่มีองค์ไหนสวดได้สักองค์ ท่านบอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก เดชะบุญที่ท่านอาจารย์พูนศักดิ์ซึ่งอยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ตลอดมา มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงติดมาด้วย จึงหยิบมาเปิดหาพระสูตรนั้น

มัวพลิกหาอยู่เป็นเวลานาน หลวงปู่สั่งว่า เอามานี่ ท่านหยิบเอามาเปิดเองโดยไม่ต้องดู แล้วบอกว่าสวดตรงนี้ ทำให้พระทุกองค์แปลกใจมาก เพราะตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรพอดี คือหน้า ๑๗๒ พระสูตรนี้ยาวมาก ใช้เวลาสวดให้หลวงปู่ฟังถึง ๒ ชั่วโมงกว่าจึงจบ ท่านฟังโดยอาการอันสงบ

.............................................................................................

ปัจฉิมพจน์ของหลวงปู่ 

เมื่อหลวงปู่ฟังพระสวดมหาสติปัฏฐานจบลงแล้ว สักครู่หนึ่งต่อมา ท่านกล่าวปรารภถึงลักษณาการที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานตั้งแต่เริ่มต้นมาจนตลอด ซึ่งจะขอจับเอาใจความตอนท้ายไว้ในที่นี้ว่า

“พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์ หรือนามขันธ์ ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักวาฬเดิม หรือเรียกว่าพระนิพพานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อเข้าถึงภาวะอันนั้นเอง” 

วจีสังขารคือ วาจาของหลวงปู่ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้

.............................................................................................

ป่าดงเกิดขึ้นในเมือง 

โปรดย้อนหลังไปดูเหตุการณ์เมื่อสมัยใกล้ร้อยปีที่ผ่านมา

สมัยนั้นแล คณะธุดงค์ของหลวงปู่ได้แยกทางจากคณะท่านพระอาจารย์มั่น รวมสี่รูปด้วยกัน ออกไปทางอำเภอท่าคันโท กาฬสินธุ์ พากันธุดงค์ไปอยู่ ณ ป่าทึบแห่งหนึ่ง คณะของหลวงปู่ได้รับความยากลำบากอย่างยิ่ง ต้องต่อสู้กับป่าดงพงไพร สิงสาราสัตว์ทุกชนิด ตลอดถึงต่อสู้กับไข้ป่าอย่างร้ายแรง ในที่สุดพระเพื่อนธุดงค์รูปหนึ่งทนต่อไข้ป่าไม่ไหว ได้ถึงแก่มรณภาพไปต่อหน้าหมู่คณะอย่างน่าเวทนา ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลวงปู่แยกจากคณะพาเณรน้อยธุดงค์ไปอยู่ด้วยกันเพียงสองรูปที่ป่าอีกแห่งหนึ่งใกล้บ้านกุดก้อม ไข้ป่ายังตามไปรังควาญชีวิตของเณรน้อยจนถึงแก่ความตายไปต่อหน้าหลวงปู่ อย่างน่าสงสารสลดใจยิ่งนัก สาเหตุก็เพราะขาดหยูกยาที่จะรักษาพยาบาลนั่นเอง

แล้วก็โปรดย้อนกลับมาดูเหตุการณ์เมื่อเวลาตี ๔ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สภาพป่าในสมัยนั้นได้ย้อนมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ ห้องนอนของหลวงปู่ เพราะขณะที่หลวงปู่กำลังอาพาธหนักอยู่นั้น พยาบาลสักคนหนึ่งก็ไม่มี น้ำเกลือสักหยดหนึ่งก็ไม่มี จะมีก็แต่ศิษย์ฝ่ายสงฆ์นั่งห้อมล้อมอยู่อย่างสงบ เหมือนหนึ่งพร้อมใจกันถวายเสรีภาพ ให้หลวงปู่มีอิสระอย่างเต็มที่ในการปล่อยวางสังขารขันธ์ โดยการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอยและบริสุทธิ์สงบเยือกเย็นอย่างสิ้นเชิง

.............................................................................................

แม้กาลเวลาก็เหมาะสม 

พระพุทธองค์ท่านทรงบำเพ็ญเพียรค้นคว้าสัจธรรมตลอดเวลาถึง ๖ ปี ครั้นได้ตรัสรู้ ก็ตรัสรู้เมื่อเวลาใกล้รุ่ง คือ ตี ๔ ล่วงไปแล้ว ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงบำเพ็ญพุทธกิจตลอด ๔๕ ปี ก็ใช้เวลาตี ๔ กว่านี้ แผ่พระญาณสอดส่องดูหมู่สัตว์ผู้ควรได้รับการเสด็จไปโปรด ถึงคราวพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นเวลาเดียวกันนั้นอีก

อันสังขารธรรมหนึ่ง ซึ่งอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ณ บ้านปราสาท อำเภอเมือง สุรินทร์ ได้เจริญเติบโตและรุ่งเรืองมาโดยลำดับกาล ดำเนินชีวิตของตนอย่างถูกต้องงดงาม อยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์จนตลอดอายุขัย ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม สมเป็นเนื้อนาบุญอันเอกของโลก ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ตลอดมา ตราบเท่าถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ หลวงปู่ก็ปล่อยวางสังขารขันธ์ให้ดับลงแล้ว เมื่อเวลา ๐๔.๑๓ น. เหมือนอย่างนั้นนั่นเอง

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ วันนั้นเป็นวันที่คณะศิษย์ทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี มาประชุมพร้อมเพรียงกันทำบุญฉลองอายุครบรอบ ๙๖ ปี คือ ๘ รอบถวายท่านเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเท่ากับเตรียมพร้อมอยู่แล้ว

.............................................................................................

ผู้ไม่มีวิบากของสังขาร 

เพิ่งจะเข้าใจได้ตอนนี้เองที่หลวงปู่เคยพูดว่า ท่านไม่มีวิบากของสังขาร

เพราะแม้ท่านมีอายุผ่าน ๙๖ ปีล่วงแล้วก็จริง แต่ร่างกายท่านแข็งแรง ว่องไว สะอาด สงบ เยือกเย็น รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงลืม เผอเรอใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถึงคราวดับสังขาร ก็ดับลงอย่างสงบ ไม่มีร่องรอยในการลำบากขันธ์ ทรมานตน ไม่ให้ผู้อยู่ใกล้ชิดต้องลำบากกายใจในการรักษาพยาบาล ไม่เปลืองหมอ ไม่เปลืองยา ไม่เปลืองเวลาของท่านผู้ใด

ท่ามกลางความสงบเงียบของเวลาตี ๔ กว่า ปราศจากผู้คนและยวดยานพาหนะทุกชนิด แม้ต้นไม้ใบหญ้าก็สงบเงียบ อากาศเย็นยะเยียบพร้อมกับมีละอองฝน ลงมาโปรยปรายคล้ายหิมะลง หลวงปู่ผู้วิสุทธิสงฆ์ก็ปลงเสียแล้วซึ่งสังขารธรรม คงทิ้งไว้แต่โดยพระคุณทั้งหลายให้รำลึกและอาลัยอาวรณ์อย่างมิรู้แล้ว

..................................................................................................