วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๖.คืนแรกที่ป่าพง


        ถ้าผู้มาขอบวช ไม่เลิกล้มปณิธานเดิมของตน หรือไม่ท้อถอยลากลับบ้านตั้งแต่วันแรก หากยินดีที่จะผ่านการทดสอบ การฝึกฝน เพื่อแก้นิสัยสันดานเดิมของตน ก็จะถูกนำไปพักยังธรรมศาลา ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางความสงัดวังเวงของป่า

    ในศาลานั้นมีโครงกระดูกมนุษย์ห้อยแขวนอยู่ในตู้กระจก สำหรับใช้พิจารณาอสุภกรรมฐานหรือมรณสติ มีนาฬิกาโบราณเรือนใหญ่ตีบอกเวลาด้วยเสียงเยือกเย็นกังวาน ผสมผสานกับเสียงร้องของสัตว์ป่าและหมู่แมลงนานาชนิด สิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะให้บรรยากาศวังเวง ว้าเหว่ และน่าสะพรึงกลัวแก่ผู้มาใหม่พอสมควร

   ผู้มาขอบวชอาจไม่พบผู้ใดในศาลาหลังนั้นเลยก็ได้ เพราะภิกษุและสามเณรต่างหลีกเร้นภาวนาอยู่ที่กุฏิส่วนตัวในราวป่า จะออกมาทำกิจวัตรตามกำหนดเวลาเท่านั้น

    ณ ที่นั้น ผู้มาขอบวชต้องต่อสู้กับความปรุงแต่งของจิตใจ หรือความคิดของตนเองอย่างรุนแรง เพราะได้ประสบกับสิ่งที่ขืนใจขัดต่อความรู้สึก ที่เคยได้ตามปรารถนาหลายอย่างนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในป่าพง โดยเฉพาะผู้ที่มาจากถิ่นเจริญด้วยวัตถุในเมืองใหญ่ ๆ ไม่มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติในป่า คืนแรกในป่าพง จะเป็นคืนหนึ่งในชีวิตที่ลืมไม่ลงเลยทีเดียว

    สาเหตุที่จัดให้พักอยู่ที่ธรรมศาลา ก็เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจ และเพื่อให้ผู้ที่มาขอบวชได้สังเกตุ หรือศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า ที่นี้เขาทำอะไรกันบ้าง ทำอย่างไร ในเวลาไหน

   รุ่งเช้าของวันใหม่ ผู้มาขอบวชจะได้เรียนรู้จักกับกิจที่ตนต้องทำ เช่น ปัดกวาดลานวัด จัดกะละมังไว้สำหรับรอใส่อาหารบิณฑบาตจากพระ เตรียมน้ำล้างเท้า รับบาตร ประเคนอาหาร ล้างกระโถน ฯลฯ

    ท่านอาจจะรู้สึกว่าภาระเหล่านี้ เป็นการงานที่หนักพอสมควรสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยต่อการบริโภคอาหารเพียงมื้อเดียว