วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่ฝากไว้ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ตอนที่ ๑



หลวงปู่ฝากไว้ 
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา 
ของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) 
รวบรวมบันทึกไว้โดย พระโพธินันทมุนี 


สังเขปประวัติ 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญญวาสี ในยุคปัจจุบัน พระเถระที่เป็นสหธรรมิก และมีอายุรุ่นเดียวกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา และ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู 

ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆ หลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆ ก็มี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ และ พระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 

สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดูลย์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน โอภาโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์ พระชินวงศาจารย์ วัดกระดึงทอง จ.บุรีรัมย์ หลวงพ่อสุวัจน์ สุวโจ วัดถ้ำศรีแก้ว จ.สกลนคร และ พระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เป็นต้น 

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรมะ หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านจะเทศน์เรื่องจิตเพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เรา พิจารณาจิตในจิต อยู่เสมอ 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกิดปีชวด วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๑ ที่บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ท่านเกินในตระกูล “เกษมสินธุ์” เป็นบุตรคนหัวปี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน 

เมื่ออายุ ๒๒ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อ ถึงแปลมูลกัจจายน์ได้ 

หลวงปู่ได้รู้จักชอบพอกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแพร่ธรรมะในสายพุทโธ จนแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้ 

ในปีที่ ๒ ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่อุบลราชธานีนั้น หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์มาพำนักอยู่ที่วัดบูรพา ในเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ และหลวงปู่สิงห์ สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ เกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นที่ยิ่ง จึงตัดสินใจเลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรม แล้วออกธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นต่อไป นับเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นในสมัยแรก และได้ร่วมเดินธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆ อยู่นานปี 

หลวงปู่ดูลย์ เที่ยวธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง ๑๙ ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่ ที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ จวบจนบั้นปลายชีวิตของท่าน 

นับตั้งแต่บัดนั้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรม ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมา โดยหลวงปู่รับภาระทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิปทาส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์ บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา พร้อมทั้งอบรมทางสมาธิภาวนาแก่ผู้สนใจปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูง จึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ 

หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยดีเยี่ยม แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณผ่องใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ทำให้ผู้ใกล้ชิด และผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พระอรหันตธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่ พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน ในบริเวณวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ ส่วนคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งเป็นคำสอนสั้นๆ และเฉียบคมล้ำลึกนั้น ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” เล่มนี้ นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าแก่นักปฏิบัติธรรมและผู้สนใจทั่วไป 

หลวงปู่เน้นเรื่องการปฏิบัติภาวนา ให้พิจารณาจิตในจิตจนรู้แจ้ง ท่านเทศนาแต่เพียงสั้นๆ แต่เฉียบคม ท่านสอนว่า “หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละคือหลักธรรมสูงสุด ที่อยู่ในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบาย เสียให้หมดสิ้น จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน” 


คำชวนอ่าน 

หลายท่านได้เรียกร้องถามหา ถึงพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ ใคร่อยากจะได้ฟังได้อ่าน อาตมาภาพขอสารภาพตามความเป็นจริงว่า ธรรมเทศนาหรือโอวาทของหลวงปู่นั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านไม่เคยเทศน์เป็นกัณฑ์ๆ หรือแสดงเป็นเรื่องราวยาวๆ เพียงแต่เมื่อสอนภาวนาหรือกล่าวตักเตือนลูกศิษย์ หรือตอบคำถาม ตลอดถึงสนทนากับพระเถระอื่นๆ หลวงปู่ก็จะกล่าวอย่างสั้นๆ ด้วยความระมัดระวัง ยกข้อธรรมะมากล่าวอย่างย่อๆ เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ท่านไม่เคยแสดงในพิธีการงานใดอีกเลย 

เพื่อเป็นการสนองความต้องการแก่ท่านที่สนใจในคติธรรมคำสอนของหลวงปู่ อาตมาภาพจึงพยายามรวบรวมธรรมะสั้นๆ ทั้งที่เป็นสัจธรรมล้วน หรือเป็นคำสอนคำเตือน และธรรมะที่ท่านกล่าวตอบคำถามของผู้ถาม ตลอดถึงพระพุทธพจน์บางตอนจากพระไตรปิฎกที่หลวงปู่ชอบยกขึ้นมาปรารภให้ฟังเสมอๆ เพราะได้อยู่กับหลวงปู่มาเป็นเวลายาวนานตลอดอายุขัยของท่าน จากที่เคยได้บันทึกไว้บ้าง หรือจำไว้บ้าง พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์ สถานที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าใจได้ง่าย หรือชวนอ่านได้บ้าง รวมไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก 

สิ่งที่น่าสังเกตและน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งคือ หลวงปู่มีปกติเป็นผู้ไม่พูด หรือพูดน้อยที่สุด แต่มีปฏิภาณไหวพริบเร็วฉับไวมาก และไม่มีผิดพลาด พูดสั้นย่อ แต่อมความหมายไว้อย่างสมบูรณ์ คำพูดของท่านแต่ละประโยคมีความหมายและเนื้อหาจบลงโดยสิ้นเชิง เหมือนหนึ่งสะกดจิตผู้ฟังหรือผู้ถามให้ฉุกคิดอยู่เป็นเวลานาน แล้วก็ต้องใช้ความตริตรองด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง 

อนึ่ง ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ข้อธรรมะของหลวงปู่ในเล่มนี้ เห็นมีทั้งธรรมะแบบธรรมดาก็มี แบบชวนขบขันก็มี และแบบสัจธรรมล้วนก็มี ทำไมจึงไม่เรียงลำดับให้ผู้อ่านได้อ่านจากง่ายไปหายาก หรือจากต่ำไปหาสูง เป็นต้น ที่ไม่ได้เรียงลำดับไว้เช่นนั้น ก็เพราะว่าข้อความของธรรมะและเรื่องนั้นมีใจความจบลงเฉพาะหน้าแต่ละหน้าอยู่แล้ว และถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศทางความคิดไปในตัวด้วย หรือหากเป็นการไม่เหมาะสมประการใด โดยเป็นการบังอาจเกินควร หรือผิดพลาดบกพร่องประการใด ขอท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลายได้เมตตาอภัยแก่อาตมา ผู้มีสติปัญญาอันน้อยนิดนี้ด้วยเถิด 


พระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) 
๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ 






ธรรมะปฏิสันถาร 

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัย และการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาว่า

“หลวงปู่การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน” 

หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า

“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน” 

.............................................................................................

หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร 

ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสสุดท้ายว่า

“ขออาราธนาหลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม” 

ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

“อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง” 

.............................................................................................

ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่ 

พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี ๒๔๙๙ หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้ว

หลวงปู่สรุปใจความ อริยสัจสี่ให้ฟังว่า

“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย 
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ 
จิตเห็นจิต เป็นมรรค 
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ” 

.............................................................................................

สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด

อุบาสกผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งสนทนากับหลวงปู่ว่า


“กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฏ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ แล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและมีความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่” 

หลวงปู่กล่าวว่า

“ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด” 

.............................................................................................

หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท 

ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำราคือ มีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในคัมภีร์ ว่าตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗

“ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ” 


.............................................................................................



จริง แต่ไม่จริง 

ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็นนรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ

หลวงปู่บอกว่า

“ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง” 

.............................................................................................

แนะวิธีละนิมิต

ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกว่ายังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล

หลวงปู่พูดว่า

“เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง” 

.............................................................................................

เป็นของภายนอก 

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปีวัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจนจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจของเขา บางคนว่าได้เห็นสวรรค์วิมานของตัวเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่า เขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จฯ

หลวงปู่อธิบายว่า

“สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก” 

.............................................................................................

หยุดเพื่อรู้ 

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย

ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า

“คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ 
ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ 
แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้” 

.............................................................................................

ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย 

กาลครั้งนั้นหลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรก มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมพระศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั่นแหละตัวสำคัญ คือเมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตรงดงามตามสมณวิสัย ผู้พบเห็นหากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสยิ่งขึ้นเข้าไปอีก 


ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีก จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย” 




.....................................................................................................