วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๙.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๕.

ฑูตมรณะ

     กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนป่า เป็นที่สงบสงัด และมีความวิเวก วังเวง อันอำนวยต่อการเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อจึงมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิภาวนา พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นเสมอ

     วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลานั้น มีกาตัวหนึ่งบินมาจับกิ่งไม้ใกล้ ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสาสัตว์ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจกาจึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้ หลวงพ่อเห็นกิริยามันแปลก ๆ มองดูมันด้วยความสนใจ เมื่อกาเห็นท่านสนใจมันก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้ แล้วบินหายไป หลังจากนั้น ๓ วัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายอายุประมาณ ๑๓ ปี ป่วยเป็นไข้ตาย มาเผาข้าง ๆ ศาลานั้น ๓-๔ วันต่อมา อีกาก็บินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่กิ่งไม้ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่บ้านแล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก หลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวเป็นพี่ชายเด็กที่ตายเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิดป่วยกระทันหันตายตามกันอย่างน่าประหลาดใจ กาตัวนั้นมันเป็นฑูตมรณะจริง ๆ เพราะอีก ๓ วันเท่านั้น มันก็บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วัน พี่สาวของเด็กชายทั้งสองที่ตายไปก่อนหน้านั้น ก็มีอันต้องป่วยตายไปอีกคน พ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กทั้งสามเศร้าโศกเสียใจอย่างแสนสาหัส หลวงพ่อได้เห็นสภาพของคนเหล่าสั้น ยิ่งเกิดสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้มาเตือนตนมิให้ประมาท รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าความทุกข์โศก ย่อมเกิดจากของที่เรารักและหวงแหน

     สัจธรรมในป่าช้า เร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำ ๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งเกิดนิมิตว่า ได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดูแล้วเดินต่อไป ระหว่างทางพบคนป่วยหนักจนตาย ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกนอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดูแล้วเดินผ่านไปไม่ไกล ก็พบคนตายนอนหงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่างกาย เกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง พอตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตาติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต อยากหลุดพ้นออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสัก ๗ หรือ ๑๕ วัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่า บนยอดเขาไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลอยู่ในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเองยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงอยากทดลองดูบ้าง แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะปัสสาวะเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลาย ๆ ครั้งพอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที จึงคิดหาวิธีใหม่ เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไปทำอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ขณะอดอาหารรู้สึกว่าร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจก็กระสับกระส่ายไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้เพราะไม่ถูกกับจริต

    ต่อมาได้นึกถึง อปณฺณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด) คือ โภชเนมตฺตญฺญุตา การรู้จักประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรียสังวร สำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้านหรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป เมื่อใจน้อมไปถึงทางดำเนินนี้ จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิมแล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจากนิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้งไม่ติดขัด ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงตาซึ่งเฝ้าจับตามองหลวงพ่อมานาน เห็นหน่วยก้านและภูมิธรรมภูมิปัญญาน่าเลื่อมใส จึงชักชวนให้ข้ามโขงไปตั้งสำนักยังฝั่งลาวด้วยกัน แต่หลวงพ่อได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ จวนจะสิ้นปีหลวงตาจึงพาคณะย้ายออกจากสำนักธุดงค์ข้ามโขงไปฝั่งลาว อย่างที่พูดไว้




เห็นสมมุติ

     หลังจากหลวงตาและคณะย้ายไปได้ ๗ วันแล้ว หลวงพ่อก็ออกจากสำนักสงฆ์แห่งนั้นบ้าง โดยธุดงค์มุ่งหน้าไปทางภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติซึ่งยังติดข้องอยู่ โดยที่หลวงพ่อมีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา ดังที่ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า

     “... ไปถึงแค่นั้นแล้วเลยหยุด มันไม่ไป... สมมุตินะ... คล้าย ๆ ว่าเราเดินมานี้ มันหยุดทรุดอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปน่ะ แล้วก็กลับ... พูดถึงความรู้สึกพูดถึงเรื่องจิตของเราน่ะ... เราก็ทำไปทำมา มาถึงที่นี่ไม่มีที่ไปอีก หยุด อันนี้อันหนึ่ง อันที่สองนี่มันเป็นอย่างนี้ เดินมาชนนี้เลยแล้วก็กลับ แบบหนึ่ง ก็มันไม่มีอะไรจะชนแล้วก็ตกลงไป ก็ทำภาวนาไป เดินจงกรมไป เดี๋ยวมันก็กลับมาอยู่ตรงนี้แหละ

นี่อะไร ๆ ถามอยู่ในใจอะไรก็ช่างมันเถอะ มันตอบอย่างนี้นาน ๆ ไปก็เลยหยุด พอไปอีกก็วกมาอีก นี่อะไร ๆ มันมาทวงอยู่เรื่อย     ธรรมดาอยู่ปกติมันก็มีความรู้สึกอย่างนี้ จิตใจมันยังวุ่นวาย เลยคิดว่านี้คืออะไร ตรงที่มันเป็นในสมาธิเรา มันติดอยู่ในสมาธินั่น เมื่อเดินไปมันก็มีความรู้สึกว่า นี้คืออะไร มันมาทวงเราอยู่บ่อย ๆ คือ เรายังไม่รู้ทันมัน รู้ไม่ถึงขั้นที่ปล่อยวาง มันจึงติดตามอยู่

     มามองเห็นพระในเวลานั้นมีใครหนอจะช่วยเราได้ นึกถึงท่านอาจารย์วัง ท่านไปอยู่ยอดเขาภูลังกา ท่านมีเณรอยู่ ๒ องค์ แล้วก็มีพระรูปเดียวคือท่าน อยู่บนโน้นยอดเขานั่น ไม่เคยเห็นท่านหรอก เราก็คิดว่าพระรูปนี้ ท่านต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ ท่านถึงมาอยู่อย่างนี้...”

หลวงพ่อได้ขึ้นไปกราบนมัสการท่านอาจารย์วัง ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติกันอยู่ ๓ คืน เนื้อความจากการสนทนาธรรมของท่านทั้งสองถ่ายทอดจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อมีดังนี้

ท่านอาจารย์วัง : คราวหนึ่งกำลังเดินทำความเพียร เดินจงกรมหยุดอยู่กำหนดร่างกายนี่มันจมลงไปในดินเลย

หลวงพ่อ : รู้ตัวไหมครับ ?

ท่านอาจารย์วัง : รู้ ทำไมจะไม่รู้ รู้อยู่ มันก็จมลงไป กำหนดไปมันก็จมลงไปเรื่อย ๆ กำหนดรู้ว่ามันจะเป็นยังไงก็ให้มันเป็นไป มันก็จมลงไปเรื่อย ๆ มันถึงที่สุดแล้วละ ที่ไหนไม่รู้คือมันถึงที่สุดแล้วมันก็ขึ้นมา ขึ้นมาเลย แผ่นดินอยู่ตรงนี้มันขึ้นมามันไม่อยู่ ประเดี๋ยวก็ขึ้นไปโน่นอีกแล้ว ขึ้นไปโน ก็รู้มันอยู่นะ อัศจรรย์เหลือเกินว่ามันเป็นไปได้ยังไง ทีนี้มันก็ขึ้นไป ๆ จนถึงปลายไม้ ร่างกายแตก บึ้ม! ลำไส้นี่ ไส้น้อยใส่ใหญ่ มันไปติอยู่กิ่งไม้เป็นพวงเลย

หลวงพ่อ : ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฝันเหรอครับ?

ท่านอาจารย์วัง : ไม่ใช่ฝัน นี่ถ้าเราไม่รู้มัน มันจะเอาให้เราเป็นอย่างอื่น มันเป็นจริง ๆ อย่างนั้นนี่ ในตอนนั้นก็เชื่อว่ามันเป็นจริง ๆ อย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรารู้อยู่เห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น ขนาดนี้แหละ ท่านอย่าไปพูดเลยนิมิตอย่างอื่น ขนาดนี้มันเป็นได้ ถ้าหากว่าคนเราร่างกายแตก บึ้ม! มันจะมีความรู้สึกอย่างไรนะ ไส้เป็นพวงเลยมันพันต้นไม้อยู่นั่น มันมั่นเหลือเกิน แต่เข้าใจว่าอันนี้คือนิมิต มันอยู่อย่างนี้ เชื่อในใจว่าไม่มีอะไรจะทำอันตรายเราได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็กำหนดดูเข้ามา ดูมาถึงจิต ขณะของจิตมันอยู่อย่างนี้แล้วก็หายไป เลยมานั่งคิด มันอะไรน้อ

หลวงพ่อ : ทีนี้ผมมากราบท่านอาจารย์ ผมจนปัญญาแล้ว ผมไม่ใช่เป็นอย่างนั้น มันเป็นอีกแบบหนึ่ง คล้าย ๆ กับเราเดินไปบนสะพาน คล้าย ๆ สะพานนี่มันโด่ไปในแม่น้ำ เราก็เดินไปแล้วก็หยุดอยู่ ไม่มีที่ไปอีกแล้วจะทำยังไง อย่างนี้ แล้วก็หันกลับมา บางทีมันก็เดินเข้าไปอีก มันเป็นในสมาธิน่ะ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยกลับมาอีก กำหนดไปมันไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปมันมีอะไรมาขวางอยู่มาชน กึ๊ก! ไม่มีที่ไปอีกแล้ว มันเป็นนานนะครับอันนี้ มันคืออะไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันหมด มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อมันเป็นอย่างนั้นจะไปที่ไหนก็ยืนมันอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าเรายืนอยู่ที่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเองของมัน ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ถ้าเรากำหนดว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้รู้สึกว่าจิตมันเป็นอย่างไรไหม ให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ามันรู้สึก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้าย ๆ กับว่าสัญญาของเด็กกับสัญญาของผู้ใหญ่ มันก็เปลี่ยนออกไปเป็นสัญญาของผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันอยากจะเล่นของอย่างนี้ เมื่อมันเติบโตขึ้นมามันเห็นของชิ้นนี้ไม่น่าจะเล่นเสียแล้ว มันก็เลยเล่นของอย่างอื่น มันเปลี่ยนเสียแล้ว

หลวงพ่อ : อ้อ! เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์วัง : อย่าพูดมากเลย มันหลายเรื่อง หลายเรื่อง คิดว่ามันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่มันเป็นทุกอย่างก็ช่างมันเถอะ เราอย่าไปสงสัยมัน อันนี้เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยหมดราคาของมันไป มันจิตสังขารไม่มีอะไรต่อไป ถ้าเราเข้าไปดูเลยกลายเป็นเป็ด เดี๋ยวเป็ดกลายเป็นไก่  เดี๋ยวไปตามดูไก่ ไก่เป็นหมา ดูหมาไปเดี๋ยวกลายเป็นหมู เลยวุ่นไม่รู้จบสิ้น กำหนดรู้มัน เพ่งมันตรงนี้ แต่ว่าอย่าเข้าใจว่าหมดนะ อย่าเข้าใจว่าหมด เดี๋ยวมันจะมีอีก แต่เราวางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตรายทั้งนั้น กำหนดอย่างนี้ให้มันมีรากฐานอยู่ อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้ มันมีช่วงเวลาของมันไป อดีตอนาคตต่อไปก็ทำนองเดียวกันนี้ แต่มันจะยิ่งหย่อนกว่ากันได้ มันจะดีเลิศจะดีประเสริฐอะไรก็ช่างมันเถอะ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น ให้ทำความเข้าใจจริง ๆ อย่างนั้น

หลวงพ่อ : ทำไมบางคนเขาไม่มีอะไรล่ะครับ ไม่เป็นทุกข์ด้วยครับ ไม่มีอะไรที่จะขัดข้อง กายก็สบาย ใจก็สบาย ไม่มีอะไร

ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันเป็นบุพกรรมของ เรา มันก็ต้องสู้กันในเวลานี้ เวลาจิตมันรวมนี้มันก็มาแย่งบัลลังก์ที่ตรงนี้ สิ่งที่มันมาแย่งไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดีก็มีนะ น่ารักก็มี เป็นอันตรายทั้งนั้นแหละ อย่าไปหมายมั่นมันเลย

หลังสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น
ครั้นพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กันต่อพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก

ในขณะพักอยู่บนภูลังกา ได้เร่งความเพียรอย่างหนักพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา
พักอยู่ที่ภูลังกาได้ ๓ วัน หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วัง

“ได้เดินลงมาจากภูลังกา มาถึงวัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงได้หลบฝนเข้าไปนั่งที่ใต้ถุนศาลา จิตก็กำลังพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่ ทันใดขณะจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปมีความรู้สึกเหมือนเป็นคนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมด กาน้ำตั้งอยู่มองดูแล้วก็มีความรู้สึกว่าไม่ใช่กาน้ำ กระโถน ตั้งอยู่ก็เปลี่ยน บาตรก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด เหมือนหน้ามือกับหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบังแสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบ ๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวดก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วก็ไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ ไม่ใช่แก้วแท้ เปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็น้อมเข้าหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่ของสมมุติ”

ด้วยอาการของจิตที่เกิดเช่นนี้ หลวงพ่อจึงสรุปว่า
“ผมเห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ดูไม่ออก คล้าย ๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้า แยกกันออกไม่ได้ง่าย ๆ คล้ายกัน แต่มีคุณธรรมต่างกัน”

หลวงพ่อได้กำชับลูกศิษย์ลูกหาให้มีความมั่นใจในผลของการปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เองอย่างแจ่มแจ้ง ดังที่ท่านได้ประสบมาแล้ว

“...เรื่องการปฏิบัตินี่อย่าไปลังเล ให้ทุ่มเทลงไป ให้จิตใจเข้มแข็ง ให้ปฏิบัติเข้าไป ถึงจะไปฟังเทศน์อยู่ที่ไหนก็ช่าง เรียนรู้ที่ไหนก็ตาม รู้เหล่านี้นั้นรู้อยู่แต่มันรู้ไม่ถึง ถ้ารู้ไม่ถึงมันก็สงสัยลังเล ถ้ารู้ถึงมันก็จบ ถึงใครจะว่าอะไรมันก็ไม่เป็นอะไร มันเป็นของมันอย่างนั้น แน่นอนอย่างนั้น เมื่อปกติจิตของเราเกิดขึ้นมา ใครจะหัวเราะ ใครจะร้องไห้ ใครจะดีใจ เสียใจก็ตามใจจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวงเลย...”

นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้ข้อคิดเกี่ยวกับการภาวนาจากประสบการณ์ที่ภูลังกาว่า
“... คนจะไปภาวนาคนเดียวนี้มันก็ได้หรอก แต่ว่าบางคนมันช้าไปก็มี วนอยู่ตรงนั้น มันได้สัมผัส แต่ทางใจของเรา ถ้ามีใครไปร้องบอกชี้ทางมันไปเร็ว มันมีทางที่จะพิจารณา ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ เวลามันติดหนัก...”

จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
“ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ราบ ๆ บ้างนะ”

หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลครับ”
“จะกลับบ้าน เพราะคิดถึงใครหรือเปล่า? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา”
หลวงปู่ทิ้งท้ายด้วยคำง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งเช่นเคย




บุพนิมิตที่บ้านสวนกล้วย

   จากบ้านหนองฮีหลวงพ่อเดินธุดงค์มุ่งหน้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี โดยแวะพักและโปรดญาติโยมที่บ้านป่าตาวอำเภอเลิงนกทาอีกครั้งหนึ่ง และก่อนออกเดินทางต่อ ท่านได้รับเด็กชายชื่อทองดีเป็นศิษย์ติดตามไปด้วย

   เมื่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ อำเภอารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงพ่อ ท่านได้พักที่ป่าช้าบ้านก่อนอก เพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดาและญาติพี่น้อง และได้ฝึกหัดเด็กชายทองดีรวมทั้งเด็กชายเที่ยง (หลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญญวาสี สาขาที่หนึ่งของวัดหนองป่าพง) ซึ่งขณะนั้นเด็กชายเที่ยงก็กำลังจะบวชเณรที่วัดก่อนอกอยู่พอดี

   พอฝึกหัดเด็กทั้งสองให้รู้จักการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม

   ขณะพักอยู่ในป่าช้าวัดก่อนอก ญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับหลวงพ่อตั้งแต่เป็นเด็ก ได้มานมัสการสนทนาด้วยความยินดี เพราะนับตั้งแต่ท่านออกธุดงค์แล้วก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของหลวงพ่อสังเกตเห็นว่า
เพื่อนรักของตนกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคนที่พูดเก่ง ร่าเริง ชอบหัวเราะ กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่หัวเราะรื่นเริงเหมือนเดิม

   หลวงพ่อพักอยู่อยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณ ๑๕ วัน ได้ให้ข้อคิดคำแนะนำแก่มารดาและญาติมิตรพอสมควร โดยมีสามเณรเที่ยงนึกนิยมเลื่อมใสในปฏิปทาอยู่เงียบ ๆ

   หลังจากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดี ได้ออกเดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พักปักกลดอยู่ในป่าใกล้บ้านสวนกล้วย พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนายิ่งนัก เพราะเป็นที่สงบ วิเวก มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระรอก กระแต ไก่ป่า อีเก้ง อีเห็น รวมทั้งเสือด้วย เหมาะแก่การฝึกทรมานตนเป็นอย่างดี ในพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๒ นี้ จึงได้ตกลงใจจำพรรษาที่บริเวณป่าใกล้บ้านสวนกล้วย ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อเล่าว่า ท่านได้เกิดบุพนิมิตซึ่งเป็นความฝันที่ตัวท่านถือเอาว่า เป็นตอนที่สำคัญยิ่งในประวัติของท่าน บุพนิมิตดังกล่าวมีด้วยกัน ๓ ประการ ความหมายอันลึกซึ้งของบุพนิมิตแต่ละประการนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านรู้ประจักษ์เฉพาะตัวท่านเอง สำหรับเราท่านทั้งหลาย อย่างน้อยก็เป็นเรื่องแปลก ที่ควรแก่การรับฟังและพิจารณาตามที่หลวงพ่อได้เล่าไว้ดังนี้

   ๑. คืนหนึ่งเมื่อหลวงพ่อได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงพักผ่อนจำกัด ได้เกิดนิมิตฝันไปว่า มีคนเอาไข่มาถวาย ๑ ฟอง พอหลวงพ่อรับแล้วจึงโยนไข่ไปข้างหน้า ไข่แตกเกิดเป็นลูกไก่ ๒ ตัววิ่งเข้ามาหา จึงยื่นมือทั้งสองออกไปรับข้างละตัว พอถูกมือก็กลายเป็นเด็กชาย ๒ คน พร้อมกับได้ยินเสียงบอก่า คนอยู่ข้างขวามือชื่อบุญธรรม คนที่อยู่ทางซ้ายมือชื่อบุญธง หลวงพ่อได้เลี้ยงเด็ก ๒ คนนั้นไว้ กำลังเติบโตน่ารักวิ่งเล่นได้แล้ว ต่อมาเด็กชายบุญธงเป็นโรคบิดอย่างแรง พยายามรักษาจนสุดความสามารถแต่ก็ไม่หาย จนกระทั่งเด็กนั้นได้ตายอยู่ในมือและได้ยินเสียงบอก บุญธงตายแล้ว เหลือแต่บุญธรรมคนเดียว จึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วเกิดคำถามว่านี้คืออะไร? มีคำตอบปรากฏขึ้นว่า นี้คือสภาวธรรมที่เป็นเอง จึงได้หายความสงสัย

  ๒. ในคืนต่อมาก็มีอาการอย่างเดียวกัน พอเคลิ้มจะหลับไปก็เกิดนิมิตฝันว่าตัวท่านเองได้ตั้งครรภ์ รู้สึกว่าไปมาลำบากมาเหมือนคนมีครรภ์จริง ๆ แต่มีความรู้สึกในนิมิตนั้นว่าตัวเองก็ยังเป็นพระอยู่ เมื่อครรภ์แก่เต็มที่จวนจะคลอดก็มีคนมานิมนต์ไปรับบิณฑบาต มองไปรอบ ๆ บริเวณไปลำธาร กระท่อมไม้ไผ่ขัดแตะกลางทุ่งนาและพระอยู่บนเรือน ๓ รูป ไม่ทราบว่ามาจากไหน โยมเขาพากันถวายอาหารบิณฑบาต พระ ๓ รูปนั้นฉันอยู่ข้างบน แต่หลวงพ่อรู้สึกว่าท้องแก่จวนจะคลอด เขาจึงให้ฉันอยู่ข้างล่าง พอพระฉันจังหันหลวงพ่อก็คลอดเด็กพอดี เป็นชายมีขนนุ่มนิ่มบนฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ท้องปรากฏ่าแฟบลง นึกว่าตัวเองคลอดจริง ๆ จึงเอามือลูบคลำดู แต่ก็ไม่มีสิ่งเปรอะเปื้อนใด ๆ ทำให้นึกถึงที่พระพุทธองค์ทรงประสูติจากครรภ์มารดาคงจะไม่แปดเปื้อนมลทินใด ๆ เช่นกัน และเวลาฉันจังหันพวกโยมพิจารณากันว่าท่านคลอดบุตรใหม่จะเอาอะไรให้ฉัน เขาจึงถวายปลาหมอปิ้ง ๓ ตัว รู้สึกว่าเหนื่อยอ่อนไม่อยากฉัน แต่ก็ฝืนใจฉันไปเพื่อฉลองศรัทธาเขา ก่อนจะฉันได้ส่งเด็กให้โยมอุ้มไว้ ฉันเสร็จเขาก็ส่งเด็กคืนมา พอถึงมือท่าน เด็กก็พลัดตกจากมือ แล้วจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น เกิดคำถามว่านี้คืออะไร มีคำตอบว่า นี่คือสภาวะที่เป็นเองทั้งนั้น เลยหมดความสงสัย

   ๓. คืนที่สามต่อมาก็อยู่ในอาการเดิม พอพักผ่อนเคลิ้มหลับไปก็เกิดนิมิตไปว่า ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นไปบนยอดเขากับสามเณรรูปหนึ่ง ทางขึ้นเขานั้นเป็นทางวนขึ้นไปเหมือนก้นหอย วันนั้นเป็นวันเพ็ญ ภูเขาก็สูงมาก พอขึ้นไปถึงแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ร่มรื่นดี มีผ้าปูปื้นและกั้นเพดานสวยงามมาก จนหาที่เปรียบมิได้ แต่พอเวลาฉัน เขาก็นิมนต์ให้ลงมาที่ถ้ำข้างภูเขา มีโยมแม่พิมพ์และโยมน้ามีพร้อมด้วยญาติโยมเป็นจำนวนมากไปถวายอาหาร อาหารที่ถวายนั้นโยมแม่ได้แตงและผลไม้อื่น ๆ ส่วนน้ามีได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวาย หลวงพ่อจึงทักขึ้นว่า โยมมีอยู่ตลาดเห็นจะมีความสุขนะ ได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวายพระ โยมมีรู้สึกว่ามีอาการยิ้มแย้มแจ่มใสดี เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วได้แสดงธรรมให้ฟังนานพอสมควร เมื่อเทศน์จบจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น





รักษาโรคด้วยธรรมโอสถ

     ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมีซึ่งเป็นเพื่อนเคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วยสู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่วัดปากน้ำ ประมาณ ๗ วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๒ และ ๑๓ หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตร ๒ ท่านคือพระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก

     ปี พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล หลวงพ่อได้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมีอาการบวมขึ้นทางด้านซ้าย รู้สึกเจ็บปวดมาก ประกอบกับโรคหืดเรื้อรังที่เคยเป็นอยู่ได้กำเริบซ้ำเติมอีก ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก หลวงพ่อจึงพิจารณาว่าตัวท่านอยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง ในยามเจ็บป่วยคงไม่สะดวกที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะจะเป็นภาระแก่คนอื่น หลวงพ่อจึงคิดรักษาโรคของท่านด้วยธรรมโอสถ โดยการอดอาหาร ไม่ยอมฉัน ดื่มเพียงแต่น้ำนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น ทอดธุระในสังขารร่างกายของตัวเอง ทั้งไม่ยอมหลับนอน ได้แต่เดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป เอาธรรมเป็นที่พึ่ง ขอตายอยู่กับการปฏิบัติธรรม ความตั้งใจนี้เด็ดเดี่ยวแรงกล้ามาก จนถึงอัศจรรย์ในตัวเองว่า คนเรานี้เมื่อถึงคราวฮึดสู้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความตาย รู้สึกว่าจิตใจจมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่สะทกสะท้านต่อความตายเลยแม้แต่นิดเดียว รุ่งเช้าเมื่อเพื่อน ๆ ภิกษุไปบิณฑบาต ก็เดินจงกรม พอเพื่อนกลับจากบิณฑบาตก็ขึ้นกุฏิทำสมาธิต่อไป มีอาการอ่อนเพลียทางร่างกายบ้าง แต่กำลังใจรู้สึกดีมาก ไม่กลัวตาย ไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง

     หลวงพ่ออดอาหารได้ ๘ วัน ท่านอาจารย์ฉลวยจึงขอร้องให้กลับฉันอาหารดังเดิม โรคภัยในกายปรากฏว่าหายไป ทั้งอาการบวมที่ท้อง ทั้งโรคหืด ไม่กำเริบอีก จึงยอมฉันอาหารเป็นปกติ