วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๖.เผาศพในวัดป่า



          ความตายเป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระพุทธองค์ในครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแสวงหาความหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ผู้มีพื้นฐานทางธรรม เมื่อพบเห็นจากศพแล้วพิจารณา ย่อมเกิดความสงบระงับเป็นธรรมสังเวช

วัดหนองป่าพง จึงมีการเผาศพที่สอดคล้องกับธรรมปฏิบัติเรื่อง “มรณสติ” เพื่อให้ผู้มาร่วมงานน้อมนำสิ่งที่ประสบเฉพาะหน้ามาพิจารณาตน จนเกิดจิตสำนึกว่าต่อไปเราต้องเป็นเช่นนี้ จะหนีความตายไปไม่พ้น ร่างกายที่หลงมัวเมาว่าสวยงามและคงทนถาวร เมื่อแตกดับแล้วกลายเป็นของน่าขยะแขยงอย่างยิ่ง พระศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่หลวง หยั่งถึงอมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่สุด”

ระเบียบการฌาปนกิจในวัดหนองป่าพง
๑. ผู้มีความประสงค์ทำการเผาศพ ให้ติดต่อทางวัดก่อน
๒. ห้ามฝังหรือเก็บ ให้จัดการเผาในวันที่นำศพมาถึงวัด
๓. งานเผาศพ ให้บำเพ็ญกุศลโดยถูกต้อง เว้นการนำสัตว์ทุกชนิดมาฆ่า ห้ามนำสุรามาดื่ม ห้ามเล่นการพนัน มหรสพ การละเล่นต่าง ๆ ภายในวัด
๔. วันเผาศพ ให้มีเฉพาะการแสดงธรรมและสวดมาติกา-บังสุกุลเท่านั้น
๕. การดำเนินงานเผาศพ ให้ญาติผู้ตายจัดการ โดยผ่านความเห็นชอบจากเจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์
๖. เมื่อเสร็จพิธี ห้ามสร้างถาวรวัตถุ เช่น เจดีย์ โกศ เพื่อเก็บอัฐิไว้ในวัด หากญาติมีความอาลัยให้เก็บรักษาเอง ส่วนที่เหลือให้ฝังดินลึก ๑ เมตร ในบริเวณที่สงฆ์กำหนดให้


การกำหนดระเบียบนี้ ทางวัดคำนึงถึงสาระประโยชน์ที่ควรได้จากงานศพ โดยอาศัยความสะดวก ประหยัด และเรียบง่ายเป็นสำคัญ

เมื่อมีการเผาศพ ภิกษุสามเณรจะมาพิจารณาความตาย ที่ปรากฏบนเรืองร่างของมนุษย์เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อหยุดยั้งความประมาท เร่งพากเพียรภาวนา ไม่ปล่อยเวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า