วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๗.โกนหัว


         เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปนานพอสมควร หากผู้มาขอบวชยังปรากฏตนให้เห็นอยู่ในสำนัก มีอุตสาหะปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่แสดงออกซึ่งความเห็นแก่ตัว หลีกเลี่ยง หลบซ่อน มีมายาสาไถย ก็จะได้รับอนุญาตให้โกนหัว ซึ่งหมายความว่าผู้มาขอบวชผ่านการทดสอบขั้นแรกได้แล้ว การปลงผมเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ แสดงออกถึงเจตจำนงอันแรงกล้าของนักบวช ที่สละละทิ้งโลกียวิสัยออกมา

    การโกนหัวทำให้ผู้มาขอบวชได้รับกำลังใจ และมีจิตสำนึกในสภาวะของตนว่า
“เรามีจุดมุ่งหมายอะไร...เราคือใคร กำลังมาทำสิ่งใด หน้าที่ของเราคืออะไร”

    นอกจากนี้การโกนหัวยังเป็นประดุจกำแพงอันสูงใหญ่ ช่วยขวางกั้นความคิดท้อถอยหรือคิดหลบหนีออกจากวัดได้ด้วย เพราะถ้าหากหลีกหนีไปทั้งที่ศรีษะโล้น จะมีความละอายต่อบุคคลอื่น ที่ทราบเจตนารมณ์เดิมของตนเป็นอย่างมาก

    เมื่อโกนหัวแล้ว จะได้รับการขนานนามใหม่ว่านาค หน้าที่ในตอนนั้น เป็นการช่วยงานต่าง ๆ ในวัด เช่น ขุดดิน ตัดฟืน ตัดหญ้า ดูแลรักษาสวนหย่อม และงานปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ

    แม้ว่าได้รับการโกนหัวและต้องทำงานหนักในบางวัน แต่นาคจะยังไม่ได้รับความสนิทสนม หรือความสนใจจากภิกษุสามเณร นาคอาจเกิดความรู้สึกว้าเหว่ เงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือรู้สึกว่าเราตกอยู่ในสายตาของภิกษุสามเณรตลอดเวลา นาคต้องต่อสู้กับความรู้สึกเช่นนี้อย่างรุนแรง

    ครั้นหวนคิดคำนึงถึงอดีตอันสมบูรณ์พูนสุขของตน ก็ปรากฏแต่ความสมใจปรารถนา แวดล้อมด้วยหมู่วงศาคณาญาติที่คอยมอบความรักความห่วงใย แต่ทว่า... บัดนี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่หลงเหลืออยู่เลย คงมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก ความมิได้ดังใจปรารถนาเท่านั้นที่ปรากฏขึ้นในจิตใจ

    ขั้นตอนการทดสอบ เพื่อคัดเลือกกลั่นกรองบุคคลเข้ามาเป็นพระกรรมฐาน จะทำให้ผู้มาขอบวชเกิดความทุกข์ยากลำบากเสียก่อน เพื่อให้รู้จักพิจารณาถึงความทุกข์ เมื่อทุกข์มาก ๆ ประดังเข้ามา จะทำให้เกิดสติปัญญามองเห็นความจริงของชีวิต ตลอดถึงอารมณ์แห่งกิเลสได้อย่างแจ่มแจ้ง