วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๓.บาตร


           บาตร คือบริขารที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของภิกษุ ใช้ภิกขาจารบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านในชีวิตประจำวัน และหากถึงคราเดินธุดงค์สู่พงไพร พระกรรมฐานก็ใช้บาตรต่างกระเป๋าเดินทางใส่บริขารอื่น ๆ เช่น สังฆาฏิ ผ้าอาบน้ำ ที่กรองน้ำ เป็นต้น

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้บาตรดินและบาตรเหล็ก ปัจจุบันนิยมใช้บาตรสแตนเลสเป็นเหล็กที่ทนทานไม่เป็นสนิม และกำหนดให้ภิกษุมีบาตรได้เพียงใบเดียว โดยต้องอธิษฐานเป็นของใช้ส่วนตัว บาตรที่สามารถอธิฐานได้ ต้องผ่านการบ่มด้วยไฟเสียก่อน ซึ่งมีวิธีการดังนี้

- ทำความสะอาดบาตรให้เรียบร้อย ล้างด้วยผงซักฟอก เช็ดให้สะอาดแห้งสนิท ไม่ให้มีรอยนิ้วมือและคราบสกปรกติดอยู่
- เตรียมถังแก๊ส ปี๊บใหญ่ หรือถังน้ำมันที่ใส่บาตรเข้าไปได้ และไม่สูงจากบาตรเกินกว่า ๑ ฟุต
- เตรียมหาฟืน ไม้ไผ่ ไม้รวก และไม้อื่น ๆ ที่ให้ความร้อนสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีใช้ฟาง ใบไม้แห้ง กาบมะพร้าว หรือวัสดุอื่นที่หาง่ายในท้องถิ่นนั้น ๆ 
- ใช้สังกะสีรองที่พื้นดินกันความชื้นและสัตว์ในดินไม่ให้ได้รับอันตรายจากไฟ
- ขนทรายใส่บนแผ่นสังกะสีเกลี่ยให้ทั่ว เอาอิฐมาวาง ๓ ก้อนเป็นสามเส้า
- วางสังกะสี ทราย อิฐ ที่เตรียมไว้ให้ถูกต้องเรียบร้อย
- นำบาตรที่ความสะอาดเรียบร้อยแล้วคว่ำลงบนอิฐสามเส้านั้น
- ครอบปี๊บหรือถังแก๊ส ลงตรงบาตร ระวังอย่าให้บาตรเคลื่อนที่
- ตั้งฟืนรอบ ๆ ถังแก๊ส ระวังอย่าให้กระทบถังแรง จะทำให้เคลื่อนที่ถูกบาตรล้ม
- จุดไฟเผาให้ได้ความร้อนที่สม่ำเสมอ ปล่อยให้ไฟไหม้ฟืนจดหมด
- เมื่อฟืนหมด เขี่ยถ่านและขี้เถ้าออกห่างถัง รอสักครู่ แล้วนำบาตรออกมาขณะที่บาตรยังอุ่นอยู่ ใช้ผ้าชุบน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว เช็ดให้ทั่ว
- เมื่อบาตรเย็นสนิทแล้ว นำบาตรมาล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง บาตรที่บ่มแล้วจะมีสีต่าง ๆ กันเช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีม่วง สีทอง สีปีกแมลงทับ (เขียว) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้อนและระยะเวลาในการบ่ม