วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๗.ไปบิณฑบาตร


            เมื่อแสงสีเหลืองเจือแดงของตะวันปรากฎขึ้นที่ขอบฟ้า หมายความว่ารุ่งอรุณของวันใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อมองดูลายมือเห็นได้อย่างชัดเจน หรือดูต้นไม้ก็รู้ได้ว่าใบอ่อนหรือใบแก่ ภิกษุสามเณรจะสะพายบาตรของตนและของครูบาอาจารย์ ออกไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายล้อมสำนักเป็นระยะทางไกล ๆ

วัดหนองป่าพงแบ่งสายบิณฑบาตเป็น ๑๐ สาย ซึ่งแต่ละสายเป็นเส้นทางตัดผ่านไปกลางทุ่งนาและป่าที่มีอากาศบริสุทธิ์ สองข้างทางงามสะพรั่งไปด้วยธัญพืชเขียวขจี มองแล้วเย็นตาเย็นใจ

การเดินบิณฑบาตไปเป็นระยะทางไกล ๆ ในยามเช้าที่มีอากาศบริสุทธิ์ ทำให้ร่างกายเกิดความเข้มแข็งอดทน จิตใจปลอดโปร่งสดชื่น มองเห็นอารมณ์ได้อย่างแจ่มชัด ความคิดที่เป็นไปในทางละวาง พิจารณาเห็นสภาวธรรมอย่างลุ่มลึก อาจเกิดขึ้นในขณะที่เดินไปบนทางนั้น และจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการออกไปสัมผัสกับโลกภายนอกในแต่ละวัน แล้วนำมาตรึกตรองให้มองเห็นสภาวะเหล่านั้นตามความเป็นจริง


การบิณฑบาตเป็นกิจจำเป็นของภิกษุ เป็นงานสำคัญประจำชีวิต แม้พระบรมศาสดาก็ทรงถือเป็นกิจจำเป็น ที่ทรงปฏิบัติจนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อเดินไปสู่ละแวกบ้าน ถือว่าเป็นการเดินจงกรม พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสให้เกิดปัญญา และเพื่อขจัดความเกียจคร้าน รวมทั้งละทิฏฐิมานะที่รังเกียจการไปรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน ซึ่งเป็นลักษณะของขอทาน นอกจากนี้การบิณฑบาตยังเป็นการทำให้ผู้อื่นได้บุญ อันเกิดจากการเสียสละแบ่งปันวัตถุแก่กันและกัน ทำให้มีความมั่นคงแก่การตั้งอยู่ของพระศาสนา

ใกล้เข้าเขตหมู่บ้าน ภิกษุสามเณรจะหยุดรอคอยกัน พร้อมกับสะพายบาตรเข้าบนบ่าในจีวร เมื่อมาพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็เดินเข้าสู่หมู่บ้านเป็นแถวด้วยอาการสำรวม กิริยาอย่างเรียบร้อยตามสมณสารูปที่ได้ฝึกฝนมา

เมื่อการบิณฑบาตในหมู่บ้านสิ้นสุดลง ภิกษุสามเณรเอาบาตรออกจากจีวรขึ้นมาสะพายบนบ่าตามแบบพระกรรมฐาน แล้วเข้าไปรับบาตรจากครูอาจารย์และพระอาวุโสมาสะพายอีกใบหนึ่ง จากนั้นก็มุ่งหน้ากลับคืนสู่วัด