วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔๒.ธรรมะอุปมา


          ชีวิตพระกรรมฐานในป่าพง ผ่านการกลั่นกรองตามครรลองธรรมแห่งพระบรมศาสดา โดยหลวงพ่อชาสืบสานข้อวัตรปฏิบัติอันล้ำค่านั้นมา เพื่อคัดเลือกกุลบุตรเข้าสู่ความเป็นสมณะ ผู้เป็นกระแสธรรมอันเยือกเย็น หล่อเลี้ยงคลายความเร่าร้อนในโลก

หลวงพ่อชาอุปมาการกลั่นกรองกุลบุตร เพื่อให้เข้าสู่วิถีชีวิตสมณะว่า การคัดเอาบุคคลเหล่านี้ ก็เหมือนกับได้ตัดไม้แล้วโยนลงไปในคลอง ปล่อยให้มันไหลไปตามกระแสน้ำ

การฝึกหัดต้องเข้มงวดและทรมานบ้าง ก็เพราะว่า หากท่อนไม้ (ผู้บวช) นั้น ไม่เน่า ไม่ผุ ไม่พัง และไม่ติดค้างอยู่ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ท่อนไม้จะต้องไหลไปตามแม่น้ำลำคลองเรื่อยไป จนกระทั่งถึงที่สุดอย่างแน่นอน คือถึงทะเลใหญ่ในที่สุด

เมื่อกุลบุตรได้ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธองค์ ดำเนินจิตตามมรรคาที่พระองค์ทรงสอน เดินวิถีจิตไปตามกระแสให้ถูกต้อง จะเป็นเช่นเดียวกับท่อนไม้นั้น ถ้ามันลอยไปเรื่อย ๆ ไม่ติดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็ย่อมถึงจุดหมาย คือความเจริญในที่สุด ดังพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาว่า...

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นท่อนไม้ที่ลอยมาตามกระแสน้ำคงคาหรือไม่
ถ้าท่อนไม้นั้นไม่เข้าไปติดฝั่งในหรือฝั่งนอก
ไม่จมในกลางน้ำ
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้
ไม่วนอยู่ในวังน้ำวน
ไม่ผุเน่าในเสียเอง
ท่อนไม้นั้น ย่อมลอยไหลไปสู่ทะเล เพราะเหตุว่าลำแม่น้ำคงคาลาดเอียงไปสู่ทะเล ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติของพวกเธอก็ฉันนั้น
หากไม่เข้าไปติดฝั่งในหรือฝั่งนอก... ฯลฯ... ไม่ผุเน่าในเสียเอง พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่าสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบย่อมน้อมนำจิตไปสู่นิพพาน”

พระพุทธองค์ทรงอธิบายให้สาวกฟังว่า...
“ฝั่งใน” คือ การไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยให้ถูกครอบงำด้วยกิเลส
“ฝั่งนอก” คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่ครอบงำจิตใจ
“จมเสียในกลางน้ำ” คือ ความเพลิดเพลินในกามราคะ
“ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” คือ ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนว่า เรามี เราเป็น
“ถูกมนุษย์จับไว้” คือ เป็นผู้คลุกคลีระคนกับพวกคฤหัสถ์
“ถูกอมนุษย์จับไว้” คือ การประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อปรารถนาเดชานุภาพ และกามคุณ
“ถูกเกลียวน้ำวนไว้” คือ ลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกามคุณห้า
“ไม่น่าในเสียเอง” เน่าในคือเป็นผู้ทุศีล มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเองมีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น...

วัฏจักรแห่งข้อวัตรปฏิบัติประจำวันของชีวิตในป่าพง ได้ดำเนินอยู่ในครรลองธรรมนี้มาเนิ่นนาน เป็นแนวทางสร้างสมอบรมนิสัยของผู้ประพฤติธรรม ให้มีพื้นฐานในการดำรงเพศบรรพชิตอย่างมั่นคง และตรงตามพุทธประสงค์ ที่ทรงต้องการให้พระสงฆ์เป็นตัวแทนของพระองค์ และเป็นตัวแทนของธรรมะที่มีชีวิต เป็นมนุษย์ที่นำพุทธธรรมมาเป็นแนทางดำเนินชีวิต เพื่อความสงบสุขเป็นสันติอย่างแท้จริง