วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๗.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๓.

หลวงปู่กินรี จันทิโย
ผู้เรียบง่าย

    ในพรรษานั้น เมื่อหลวงพ่อได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่กินรีอย่างใกล้ชิด จึงได้พบเห็นปฏิปทาต่าง ๆ ทำให้...รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่กินรีมาก หลวงปู่กินรีท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักท่าน เพราะท่านชอบอยู่เงียบ ๆ

    ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของปอน ๆ เศร้าหมองและของใช้สอยส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือของท่านเอง แม้ไม่สวยแต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนกระทั่งผุพังลง

    อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนา แม้ในวัยชราหลวงปู่ก็ยังรักษาปาฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง

    หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งฝันฝนตกแดดออกอย่างไรก็เดิน จนทางจงกรมเป็นร่อง แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียง ๒-๓ เที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะมาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่

    “เราประมาทคิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไรเล่า”

    หลวงพ่อเล่าในตอนท้ายว่า “เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์”

    หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา จนกระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป ก่อนจากหลวงปู่กล่าวตักเตือนสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า

 “ท่านชา อะไร ๆ ในการปฏิบัติท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ”




ธรรมะจากเด็กพิการ

    การจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อในช่วงนั้น พระเลื่อมยังคงติดตามตลอดมา วันหนึ่งท่านทั้งสองหยุดพักอยู่ในป่าช้าข้างหมู่บ้าน ได้มีเด็กชาย ๒ คนมาช่วยอุปัฏฐากรับใช้ ต่อมาเด็กเกิดสนใจการผจญภัยในชีวิตพระธุดงค์ จึงขอร่วมเดินทางติดตามไปด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ขัดข้อง    เมื่อเด็กได้รับความยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็เก็บข้าวของส่วนตัวออกเดินทางร่วมกับพระธุดงค์

    หลวงพ่อปรารภว่า “เด็กสองคนนี้ทั้งที่พิการ แต่เขาก็มีศรัทธาในพระศาสนา อุตส่าห์ร่วมเดินทางผจญความยากลำบากมาด้วย ทำให้ได้ข้อคิดอันเป็นธรรมะสอนใจอยู่หลายอย่าง คนหนึ่งนั้นขาดี ตาดี แต่หูหนวก อีกคนหูดี ตาดี แต่ขาเป๋ เวลาเดินทางคนเขาเป๋เดินไป บางครั้งขาข้างที่เป๋ก็ไปเกี่ยวข้องที่ดี ทำให้หกล้มหกลุกบ่อย ๆ คนที่หูหนวกนั้นเล่า เวลาเราจะพูดด้วยต้องใช้มือใช้ไม้ประกอบ แต่พอเขาหันหลังให้ก็อย่าเรียกให้เสียเวลาเพราะไม่มีทางได้ยินอะไร ความพอใจแท้ ๆ ทำให้คนพิการทั้งสองเดินทางติดตามมา แต่ความพิการไม่มีทางขัดขวางความตั้งใจได้เลย คนเราขอให้มีความตั้งใจจริงย่อมทำอะไรได้สำเร็จ ความพิการของเด็กทั้งสองนี้ตัวเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะพิการ พ่อ แม่ ก็ไม่ต้องการให้ลูกของตนพิการ แต่ก็หนีกฏแห่งกรรมไม่พ้น จริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นแดนเกิด เมื่อพิจารณาความพิการของเด็กที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง กลับเป็นเรื่องมาสอนใจตนเองว่า เด็กทั้งสองพิการกายเดินทางได้จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้ แต่เราเองพิการทางใจ คือใจมีกิเลส กิเลสจะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า คนพิการทางกายอย่างเด็ก ๒ คนนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ถ้าคนเราพิการทางใจมาก ๆ ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว"

    หลวงพ่อและพระเลื่อม ได้สอนวิธีนั่งสมาธิ และเดินจงกรมให้เด็กพิการได้ฝึกปฏิบัติพอสมควร ปรากฏว่าเด็กทั้งสองมีความตั้งใจเพียรพยายามดี




เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า


    ต่อมาวันหนึ่งพากันธุดงค์มาถึงป่าใหญ่ ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเขตนครพนม ขณะนั้นพลบค่ำ พอดีจึงได้ตกลงพักแรมในป่าแห่งนั้น เห็นมีทางเก่าที่คนไม่ค่อยใช้เดินทางกันแล้ว เป็นทางผ่านดงใหญ่คดเคี้ยวไปถึงภูเขา ทำให้หลวงพ่อนึกถึงคำสอนของคนโบราณว่า “เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า” คติโบราณนี้จะหมายถึงอะไร ท่านคิดสงสัยอยากจะพิสูจน์ให้เห็นจริงสักที จึงให้พระเลื่อมเข้าไปกางกลดในป่า ส่วนตัวหลวงพ่อลงมาปักกลดขวางทางเก่าไว้ ให้เด็ก ๒ คนพักนอนอยู่ตรงกลางระหว่างกลดของพระเลื่อมกับกลดของท่าน คือ ถัดริมทางเก่าเข้าไปพอมองเห็นกัน ต่างคนต่างก็นั่งสมาธิ แต่หลวงพ่อได้ตลบผ้ามุ้งขึ้นไว้หลังกลด เพื่อให้เด็กทั้งสองได้มองเห็นตัวท่านด้วย เด็กจะได้อุ่นใจคลายความกลัวบ้าง จากนั้นท่านก็เอนตัวลงนอนตะแคงสีหไสยยาสน์ขวางทางเก่าเอาไว้อยู่ภายใต้กลดนั่นเอง หันหลังไปทางป่าใหญ่หันหน้าเข้าสู่หมู่บ้าน

    ขณะที่กำลังนอนกำหนดลมหายใจอยู่ ทันใดนั้น หูก็แว่วได้ยินเสียงใบไม้แห้งดับกรอบแกรบ ๆ ซึ่งเป็นอาการก้าวเดินช้า ๆ เป็นจังหวะ ใกล้เข้ามา ๆเสียงเดินเข้ามาใกล้จนได้ยินลมหายใจ และกลิ่นสาบสางที่ฟุ้งกระจายมากับสายลม หลวงพ่อคงนอนนิ่งอยู่ ทั้งที่รู้ดีว่าเสียงและกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นสัตว์อื่นไปไม่ได้นอกจากเสือเท่านั้น

    จิตหนึ่งคิดห่วงชีวิตจนตัวสั่นหวั่นไหว แต่กลัวอยู่ไม่นาน จิตของนักต่อสู้ก็ออกมาแย้งและให้เหตุผล่า อย่าห่วงมันเลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตามรอยบาทพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอยอมเป็นอาหารของเสือ หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา แล้วก็น้อมดวงจิตระลึกถึงพระรัตนตรัย และความบริสุทธิ์ของตัวเองเป็นที่พึ่งในยามนั้น

    เมื่อคิดได้เช่นนี้ จิตใจก็เบาสบายขึ้นมาทันทีไม่มีกังวลใด ๆ เสียงเดินของเสือหยุดลง ได้ยินเสียงลมหายใจอยู่ห่าง ๆ ประมาณ ๕-๖ เมตร สักครู่ต่อมาก็หันหลังกลับ เดินเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรม กลับเข้าป่าไป จึงได้รู้ว่าทำไมคนโบราณถึงห้ามนอนขวางทางเก่า หลวงพ่อกล่าวว่า เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิตปล่อยวางมันเสีย ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ทำให้เกิดความเบาสบายใจจริง ๆ สติปัญญาก็เฉียบคมกล้าขึ้นเป็นเงาตามตัว จิตเกิดความกล้าหาญไม่สะทกสะท้านสิ่งใด น่าอัศจรรย์ วิธีการปล่อยวางนี้จะนำไปใช้ตอนเราเจ็บไข้ได้ป่วย หรือกำลังตกอยู่ในภัยอันตรายต่าง ๆ ก็ได้ จะทำให้ขวัญดีขึ้น ไม่ถึงกับเสียสติเป็นบ้าเป็นหลัง เมื่อมีสติแล้วก็พอจะแก้ไขทำอะไรได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด



คนดีอยู่ที่ไหน

    ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น หลวงพ่อกับคณะ คือ พระเลื่อมและเด็กติดตามทั้งสองยังคงร่วมทุกข์ร่วมสุขแสวงหาสันติธรรมไปบนเส้นทางทุรกันดารต่อไป

    การอยู่ร่วมกันนาน ๆ ธาตุแท้ของแต่ละคนย่อมปรากฏขึ้นมา หลวงพ่อคิดพิจารณาในตอนนั้นว่า การเดินธุดงค์ร่วมกับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน ทำให้การปฏิบัติล่าช้า และยังรู้สึกอึดอัดรำคาญหมู่คณะ คิดอยากปลีกตัวไปตามลำพัง เพื่อเร่งความเพียร

    หลวงพ่อจึงได้ตกลงแยกทางกับพระเลื่อม โดยพระเลื่อมอาสานำเด็กทั้ง ๒ คนนั้นกลับไปส่งที่บ้านเดิม ส่วนท่านเองได้เดินทางไปเพียงลำพัง เมื่อถึงวัดร้างในป่าใกล้บ้านข่าน้อย จังหวัดนครพนม ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา จึงพักอยู่ที่นั่นหลายวัน

    การแยกจากหมู่คณะในระยะแรก ๆ ท่านรู้สึกเป็นอิสระดี ไม่ห่วงกังวลต่อสิ่งใด ได้เร่งความเพียรเต็มที่ สำรวมระวังอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา แม้ไปบิณฑบาตก็ไม่มองหน้าใครเพียงแต่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น เสร็จจากการขบฉัน เก็บบริขารแล้วเดินจงกรมทันที ปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเท้าบวมเป่งขึ้น เพราะเดินจงกรมมาก จึงหยุดเดิน แล้วนั่งสมาธิอย่างเดียว ใช้ความอดทนระงับความเจ็บปวดอยู่ถึง ๓ วัน เท้าจึงเป็นปกติ ในระหว่างนั้น หลวงพ่อไม่ยอมพบปะกับใครทั้งสิ้น เพราะเห็นการคลุกคลี คือ ความเนิ่นช้าของการประพฤติธรรม

 อยู่มาวันหนึ่ง กิเลสที่หลบไปเพราะเกรงอำนาจสมาธิธรรม ได้กลับออกมารบกวนจิตใจให้วิตกว่า “เราอยู่คนเดียวอย่างนี้ ถ้าได้เณรตัวเล็ก ๆ หรือผ้าขาวสักคนมาอยู่ด้วยคงดีนะ เพื่อจะได้ใช้อะไรเล็ก ๆ น้อย” แต่ภาวะความคิดก็แย้งกันเองต่อไปว่า

 “เอ! เจ้านี้สำคัญนะ เบื่อเพื่อนมาแล้ว ยังอยากได้เพื่อนมาทำไมอีกเล่า?”
 “เบื่อก็จริง แต่เบื่อเฉพาะคนไม่ดี ส่วนเวลานี้ต้องการเพื่อนที่ดี ๆ”
 “คนดีอยู่ที่ไหนล่ะ? เห็นไหม? หาคนดีได้ไหม? เพื่อนร่วมทางกันมาก็คิดว่าเขาไม่ดีทั้งนั้น คงคิดว่าตัวเองดีคนเดียวละกระมัง จึงหนีเขามานี่”

    หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็เลยได้หลัก ซึ่งท่านถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งนั้นว่า “คนดีอยู่ที่ไหน คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดีเสียแล้วไปอยู่ที่ไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าอะไรทำอะไร เราก็ยังดี แม้เขาจะข้ามหัวไปก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทาเราก็โกรธ ถ้าเขาสรรเสริญเราก็ยินดี ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะไปอยู่ที่ไหน คนเขาจะรังเกียจหรือเขาจะว่าอะไร ก็ถือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร...”





ของเป็นเอง

    หลวงพ่อเดินทางไปเรื่อย ๆ แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป จนไปถึงบ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม ได้พักอยู่นัดร้างแห่งหนึ่ง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ เส้น ในระยะนี้จิตสงบและเบา รู้สึกว่าอาการบางอย่างมุ่งจะปรากฏขึ้นมา ซึ่งหลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า

    “วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่ เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลก ๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดมาก มีอาการสบาย ๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม มีฝาแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึก่าคู้ขาเข้าเกือบไม่ทัน เอ๊ะ! จิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมัน พอนั่ง จิตก็สงบจริง ๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในหมู่บ้านมิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไป จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญ ภายในจิตเหมือนวัตถุ ๒ อย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน ดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วนเหมือนกับกระโถนกับกาน้ำนี่ ก็เลยเข้าใจว่าเรื่องจิตเป็นสมาธินี่ ถ้าน้อยไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ ขาดกันคนละส่วน

    จึงพิจารณาว่า ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันจะใช่ตรงไหนอีก มันเป็นอย่างนี้ ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อย ๆ จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่าสันตติ คือความสืบต่อ ขาด มันเลยเป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็น สัตติ ทีนี้เลยกลายเป็น สันติ ออกมา จึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้นไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบได้ว่าไม่มี ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉย ๆ นี่แหละ

    ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศรีษะจะถึงหมอน มีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหน แต่มันน้อมเข้าไป น้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตซ์ไฟเข้า ไปดันกับสวิต์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นนั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้นก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในซึ่งไม่มีอะไร แม้อะไร ๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะให้มันถอยออกมาหรอก เราเป็นเพียงผู้ดูเฉย ๆ เราเป็นผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เป็นออกมา ๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา

    เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นมาว่า นี่มันอะไร? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ของเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน พูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไป ๆ ก็ไปถูกสวิตซ์ไฟอย่างเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด หลุดเข้าไปข้างในอีก เงียบ! ยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควรแล้วก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงไปอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้ จงเข้าอย่างนั้น ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ ดูอยู่เฉย ๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติมิได้สงสัย แล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพี แผ่นดิน แผ่นหญ้า ต้นไม้ ภูเขาเลากา เป็นอากาศธาตุหมดไม่มีคน หมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร

    เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย นานที่สุดที่อยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่าถอนเราก็มิได้ถอนหรอก มันถอนของมันเอง เราเป็นผู้ดูเท่านั้น ก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกอะไรเล่า

    ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิต เจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น มีศรัทธาทำเข้าไปจริง ๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริง ๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันก็เป็นเราผู้เดียวเท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้น เราลงทางนี้ มันต่างกับมนุษย์ไปหมด มันก็เป็นของมันเรื่อย ๆ”