วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๕.ขอบวช

การประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางของพรหมจรรย์ได้นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยศรัทธา และการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ของตนเองเสียก่อน จากนั้นจึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายได้ด้วยความพากเพียรพยายาม

   วัดหนองป่าพง มีกฏเกณฑ์ในการรับกุลบุตรเข้ามาอยู่ร่วมในสำนัก ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใด จะมาอยู่ในฐานะภิกษุ หรือสามเณรก็ตาม ต้องมีผู้รับรองเป็นหลักฐาน และที่สำคัญคือ ต้องมีการพิสูจน์ความมั่นคงในศรัทธาเสียก่อน

  ดังนั้นกุลบุตรผู้มาขอบวช มักได้รับคำตอบที่ฝืนต่อความรู้สึก หรือขัดต่อความตั้งใจอย่างแรงกล้าของตน แทนที่จะได้รับการต้อนรับอันอบอุ่น หรือคำเชื้อเชิญที่ดี เช่น อาจะได้รับคำตอบว่า

    “ที่นี่เขาบวชกันจนตายนะ ...ไม่ใช่จะมาบวชเล่น ๆ”

    หรือเป็นคำตอบในลักษณะไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ แต่ไปพูดถึงเรื่องความเป็นอยู่ว่า

    “ที่นี่มีความยากลำบาก จะไม่ได้อะไรตามปรารถนา ต้องอดทนต่อกำหนดกฏเกณฑ์ข้อัตรปฏิบัติ และการงานต่าง ๆ ที่เป็นกิจวัตรประจำวัน” หรือ

    “ตอบไม่ได้ว่าจะรับหรือไม่รับ ตัวท่านเท่านั้นจะเป็นผู้ตอบแก่ตนเองได้”

    ผู้มาขอบวชบางท่าน เมื่อได้รับการต้อนรับดังกล่าว ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดใจตรงไปตรงมา อาจคิดว่า เหตุใดพระกรรมฐานที่เขาเล่าลือกันว่า เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงไร้เมตตาเช่นนี้ ซึ่งก็มีสิทธิ์คิดอย่างนั้นได้

    แต่... ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการทดสอบความมุ่งมั่น และศรัทธาของผู้มาขอบวชแต่ละคนในขั้นแรกเท่านั้นเอง

  หากผู้มาขอบวชสามารถทำใจหรือปรับความรู้สึกได้ ไม่ท้อถอยต่อคำตอบและคำพูดที่ขัดต่อความรู้สึก แต่แฝงไว้ด้วยเมตตาธรรมนั้น ก็จะต้องอดทน เตรียมรอรับขั้นตอนการคัดเลือก การกลั่นกรอง เพื่อทำลายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิอีกต่อไป