วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - ช่วงอุปสมบท


ท่านพระครูอินทรสารคุณ
พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ชา


อุปสมบท

     เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี และทราบว่าไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร นายชาก็ตัดสินใจออกบวชด้วยความชื่นชมยินดีของพ่อแม่ กำหนดการอุปสมบทมีขึ้นในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ที่พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมี ท่านพระครูอินทรสารคุณ  เป็นพระอุปัชฌาย์
         พระครูวิรุฬสุตการ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์
         พระอธิการสงวน  เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี)

เมื่อบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดก่อนอก ๒ พรรษา ระหว่างนั้นได้ศึกษาปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรีได้ด้วย หลายปีต่อมาหลวงพ่อได้พูดถึงความรู้สึกตอนบวชใหม่ให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า

 “ตอนผมบวชครั้งแรกไม่ได้ฝึกฝนหรอก แต่ว่ามันมีศรัทธา จะเป็นเพราะกำเนิดก้ไม่รู้ พระเณรที่บวชพร้อม ๆ กัน ออกพรรษาแล้วสึก เรามองเห็นว่า เอ ไอ้พวกนี้ยังไงกันน้อ แต่เราไม่กล้าพูดกับเขา เพราะเรายังไม่ไว้ใจความรู้สึกของเรา มันตื่นเต้น แต่ภายในจิตใจของเราก็ว่านี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่าย นี่บุญน้อยไม่มีบุญมาก เห็นทางโลกมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ นี่เราก็เห็นไป แต่เราไม่พูด เรามองดูแต่ในจิตของตัวเอง"

     เห็นเพื่อนภิกษุที่บวชพร้อม ๆ กัน สึกกันไปเรื่อย ๆ บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่ เข้ามาเดิน เราเห็นมันเป็นบ้าหมดทุกกระเบียดเลย แต่เขาว่ามันดี สวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มาเห็นอยู่ในใจของเรา ไม่กล้าพูดให้เพื่อนฟังว่า คิดอย่างนั้นมันผิด ก็ไม่กล้าพูดเพราะว่าตัวเรายังเป็นของไม่แน่นอนอยู่ ว่าศรัทธาของเรานี้มันจะยังยืนยาวไปถึงขนาดไหน อะไร ๆ ก็ยังไม่กล้าพูดกับใครเลย พิจารณาแต่ในจิตของตนเรื่อย ๆ

    พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่แล้วนะชักเอาหนังสือปาฏิโมกข์มาดู เลยท่องปาฏิโมกข์สบาย ไม่มีใครมาล้อเลียนเล่นอะไรต่อไป ตั้งใจเลย แต่ก็ไม่พูดว่าอะไร เพราะเห็นว่าการปฏิบัติตั้งแต่นี้ไปถึงชีวิตจะหาไม่ บางทีก็อายุ ๗๐ ปีก็มี ๘๐ ปีก็มี จะพยายามปฏิบัติให้มันมีความนึกคิดเสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้คลายศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมอ อย่างนี้มันยากนักจึงไม่กล้าพูด

     คนที่มาบวชก็บวชไป ที่สึกก็สึกไป เราดูมาเรื่อย ๆ อยู่ไปก็ไม่ว่า จะสึกก็ไม่ว่า ดูเพื่อนเขาไป แต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราว่า ไอ้พวกนี้มันไม่เห็นชัด

     อย่างไรก็ตาม ธรรมดาพระบวชใหม่ก็มักมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการขบฉัน หลวงพ่อก็เช่นเดียวกัน ท่านได้เล่าความลำบากของท่านในเรื่องนี้ให้ฟังว่า

 “ไม่ใช่ไม่ทุกข์นะขณะปฏิบัตินี่ มันต้องทุกข์ ยิ่งพรรษาหนึ่งพรรษาสองนี่แหละยิ่งทุกข์ พระหนุ่มเณรน้อยยิ่งทุกข์มาก ผมนี่มันเคยทุกข์มาก ทุกข์กับอาหารการกินนี่ก็ยิ่งทุกข์ ก็เราอายุ ๒๐ ปี มาบวช มันกำลังกินกำลังนอนจะว่าอย่างไรกับมันล่ะ บางครั้งก็นั่งเงียบคิดถึงแต่ของกินของอยาก อยากกินตำกล้วยตานี อยากกินตำส้มมะละกอ ทุกอย่างนั้นแหละ น้ำลายอย่างนี้ไหลยืด นี่แหละได้ทรมานมัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ของง่ายนะ


ออกศึกษาต่างถิ่น

 บ่ ออกจากบ้าน บ่ ฮู้ห่อมทางเที่ยว บ่ เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้
 (ไม่ออกจากบ้าน ก็ไม่รู้จักทางเดิน ไม่เรียนวิชา ก็ไม่มีความรู้)

     ภาษิตอีสานบทนี้พระชาจำได้ดี ประกอบกับได้พิจารณาเห็นว่า ครูบาอาจารย์ในท้องถิ่นที่ชำนาญในการสอนไม่ค่อยมี หลังจากสอบนักธรรมตรีดั้แล้ว พระชาจึงตัดสินใจไปแสวงหาความรู้ต่างถิ่น ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ จึงได้ย้ายออกจากัดก่อนอกไปพำนักยังวัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกว่าวัดแห่ เพราะมีดินลูกรัง (หินแห่) เป็นจำนวนมากในละแวกนั้น แต่เนื่องจากวัดนี้ยังไม่มีสำนักเรียน พระชาจึงต้องไปเรียนหนังสือที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ตาก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดสวนสวรรค์เท่าใดนัก เลิกเรียนแล้วก็เดินทางกลับมาพักที่วัดสวนสวรรค์ ที่พักมีกุฏิอยู่ ๒ หลัง และศาลาโรงธรรม ๑ หลัง มีภิกษุ สามเณร และศิษย์วัดพักเต็มไปหมด ภายในศาลาโรงธรรมบางครั้งก็มีพวกทหารเข้ามาขอพักอาศัยด้วย เพราะสมัยนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา อาหารการขบฉันไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะมีภิกษุสามเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก แม้จะอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตด้วยก็ไม่เพียงพอ หมู่บ้านที่อาศัยบิณฑบาตได้ก็มีไม่กี่บ้าน ส่วนน้ำดื่มน้ำใช้ตักจากบ่อ ซึ่งอยู่ห่างจากเขตวัดออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร น้ำอาบน้ำสรงอาศัยมี่น้ำมูล งท่าน้ำอยู่ห่างจากวัดไม่มากนัก

     ปี พ.ศ.๒๔๘๕ หลังจากศึกษาปริยัติธรรที่วัดนี้เป็นเวลา ๑ พรรษาแล้ว ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงเดินทางจากวัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร มุ่งสู่สำนักเรียนวัดบ้านหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระครูอรรคธรรมวิจารณ์เป็นเจ้าอาวาส แต่ขณะที่ไปอยู่เป็นฤดูแล้งอาหารการขบฉันฝืดเคือง เพื่อนที่ไปด้วยเกิดไม่ชอบใจ รบเร้าให้พาไปอยู่สำนักอื่น ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านก็ชอบอัธยาศัยของอาจารย์ที่วัดหนองหลัก แต่ไม่อยากขัดใจเพื่อน จึงได้เดินทางไปอยู่กับท่านมหาแจ้งที่สำนักเรียนวัดบ้านเค็งใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ได้จำพรรษาศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ พอถึงปลายปี ทราบผลการสอบว่า สอบนักธรรมชั้นโทได้ เมื่อเห็นว่าพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาอันสมควร ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ จึงได้กลับไปอยู่กับท่านพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ วัดบ้านหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานีตามเดิม

      ปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นปีที่พระชาทุ่มเทความสนใจ และความอุตสาหะพยายามให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ ได้ตั้งใจศึกษานักธรรมชั้นเอกและเรียนไวยากรณ์ซ้ำอีกครั้ง ที่สำนักของท่านพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ แห่งวัดบ้านหนองหลัก เพราะมีความพอใจในการเรียนการสอนของสำนักเรียนแห่งนี้เป็นอันมาก ขณะเดียวกันก็ตั้งความหวังไว้อย่างเต็มที่ว่า ผลของการสอบปลายปีคงจะเป็นที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ลืมไปสนิทว่า อนิจจังนั้นยังทำหน้าที่ของมันอยู่ตลอดเวลาอย่างเงียบ ๆ และพร้อมที่จะแสดงตัวทุกเมื่อ

     หลังจากออกพรรษา ปวารณาและกรานกฐินผ่านไป พระชาได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก ทำให้เกิดความลังเลใจพะว้าพะวงทั้งห่วงการศึกษาทั้งห่วงโยมบิดา แต่ก็คิดว่าโยมบิดานั้นเป็นผู้มีพระคุณอย่างล้นเหลือ ควรที่เราจะตอบแทนพระคุณท่านตามฐานะที่จะพึงกระทำได้ ส่วนเรื่องการเรียนหากเราไม่ตายเสียก่อน คงจะมีโอกาสได้ร่ำเรียนอีกตามปรารถนา

    ในที่สุดท่านจึงได้ตัดสินใจทิ้งตำรับตำราและการสอบนักธรรมไว้เบื้องหลัง รีบรุดกลับบ้านเพื่อเยี่ยมดูอาการป่วย และช่วยในการรักษาพยาบาลโยมบิดาจนสุดความสามารถ แต่ก็ได้พบว่าอาการของคนป่วยมีแต่ทรงกับทรุดอย่างน่าวิตก




คำขอของพ่อ

 นับตั้งแต่ลูกชายได้อุปสมบทแล้ว พ่อมาภูมิใจในตัวพระลูกชายยิ่งนัก ด้วยสังเกตเห็นว่ามีความเอาใจใส่ต่อการบวชเรียนเป็นอย่างดี

 เมื่อไรก็ตามที่พระชามีโอกาสได้พบปะเยี่ยมเยียนโยมบิดามารดา โยมบิดามักปรารภเรื่องความเป็นอยู่ในเพศสมณะกับพระลูกชายเสมอ และได้ขอร้องด้วยความเป็นห่วงว่า

 “อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบากหาความสบายไม่ได้”

 ซึ่งทุกครั้งท่านก็ได้แต่นิ่งมิได้โต้ตอบประการใด แต่ในครั้งนี้ ต่อหน้าโยมบิดาที่กำลังป่วยหนักและได้ออกคำสั่งแกมขอร้องอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ท่านจึงได้ให้คำตอบที่ทำให้โยมบิดาพอใจมากว่า “ไม่สึกหรอก จะสึกไปทำไม”

 นอกจากความห่วงกังวลว่าพระลูกชายจะลาสิกขาแล้ว โยมบิดายังห่วงอนาคตในการศึกษานักธรรมของท่าน มากกว่าที่จะคำนึงถึงอาการเจ็บป่วยในขั้นวิกฤตของตัวเองเสียอีก เมื่อทราบว่าเหลือเวลาอีก ๔-๕ วันจะถึงวันสอบ ก็เตือนให้พระลูกชายกลับวัด เพื่อจะได้ไปเสียโอกาสในการสอบ แต่หลังจากพระชาได้พิจารณาอาการของโยมบิดาแล้ว ก็ได้ตัดสินใจอยู่กับผู้บังเกิดเกล้าจนถึงวาระสุดท้าย รวมเวลาได้ ๑๓ วัน ที่ท่านได้กลับบ้าน และเป็นธุระในการดูแลเฝ้ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ จนกระทั่งโยมบิดาถึงแก่กรรมในที่สุด


ปลงธรรมสังเวช

      ระหว่างที่ได้เฝ้าดูแลรักษาพยาบาลโยมบิดาที่ป่วยหนัก กระทั่งถึงแก่กรรมนั้น หลวงพ่อได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน พิจารณาดูอาการที่สังขารทั้งมวลเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสลายไป เกิดความสังเวชใจว่า อันชีวิตย่อมสิ้นสุดลงแค่นี้หรือ จะยากดีมีจน ก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย ซึ่งเป็นปลายทางของชีวิต ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นคุณสมบัติสากลที่ทุกคนจะต้องเผชิญ จะยอมรับหรือไม่ ก็ไม่เห็นหนีพ้นสักราย

     เมื่องานเผาศพโยมบิดาเสร็จสิ้นลงไปแล้ว หลวงพ่อก็เดินทางกลับสำนักวัดบ้านหนองหลักเพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อ แต่บางวันบางโอกาสเมื่อได้ระลึกถึงภาพโยมบิดาที่นอนป่วยร่างซูบผอมอ่อนเพลีย นึกถึงคำสั่งของโยมบิดาและนึกถึงภาพที่ท่านสิ้นใจไปต่อหน้า ยิ่งทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ ความรู้สึกเหล่านี้ปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้ท่านมั่นใจและปักใจแน่วแน่ว่า ชีวิตนี้จะต้องอุทิศให้กับการประพฤติปฏิบัติ เพื่อพาตัวเองให้พ้นทุกข์ในชาตินี้ให้ได้ จนถึงกับตั้งสัตย์อธิฐานกับตัวเองว่า

      “เอาละ ชาตินี้เราจะมอบกายอันนี้ ใจอันนี้ ให้มันตายไปชาติหนึ่ง จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้จักในชาตินี้ ถ้าไม่รู้จักก็ลำบากอีก จะปล่อยวางมันเสียทุกอย่าง จะพยายามทำ ถึงแม้ว่ามันจะทุกข์ มันจะลำบากขนาดไหน ก็ต้องทำชีวิตในชาตินี้ให้เหมือนวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น ทิ้งมัน จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะทำตามธรรมะให้มันรู้ ทำไมมันยุ่งยากนัก วัฏสงสารนี้...”

      ปีนั้น ท่านได้เริ่มแปลหนังสือธรรมบท อันเป็นหลักสูตรเปรียญ ๓ ในสมัยนั้นด้วย และได้เริ่มฝึกสมาธิ แต่เริ่มต้นก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก ดังนี้หลวงพ่อปรารภกับลูกศิษย์ว่า

    “ภาวนาปีแรกไม่ได้อะไร มีแต่ภาวนาอยากของกินวุ่นวายไปหมด แย่มากเหลือเกิน บางครั้งนั่งอยู่เหมือนได้กินกล้วยจริง ๆ รู้สึกเหมือนหักกล้วยเข้าปากอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันเอง เหล่านี้มีแต่เรื่องการปฏิบัติทั้งนั้น แต่ว่าอย่าไปกลัวมัน มันเป็นมาหลายภพหลายชาติแล้ว เราได้มาฝึกมาหัด ทุกอย่างแสนยากแสนลำบาก”

      คืนวันหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น โยมแม่พิมพ์ได้ฝันไปว่า ฟันหลุดออกมา ๒ ซี่ รู้สึกเสียใจและเสียดายมาก แต่ทันใดนั้นมีคนมาบอกว่า “ไม่เป็นไรฟันธรรมดาหลุดออกก็ช่างมัน จะเอาฟันทองคำมาใส่ให้ใหม่” เมื่อรู้สึกตัวขึ้น ก็มีความสงสัยในความฝันนั้น อยู่ต่อมาปรากฏว่ามีต้นโพธิ์เกิดขึ้นข้างหลังปักราวบันไดบ้าน ต้นโพธิ์นั้นเจริญเติบโตเร็วผิวสังเกต ด้วยความแปลกใจระคนกับความดีใจและความสงสัย จึงได้เล่าให้ท่านพระครูฯ ที่วัดฟัง

    ท่านพระครูฯ ได้บอกโยมแม่พิมพ์ว่า “นับเป็นบุญของโยมที่มีต้นไม้ชนิดนี้มาเกิดขึ้น เป็นต้นไม้พันธุ์เดียวกับที่พระพุทธองค์อาศัยนั่งตรัสรู้ แต่ต้นโพธิ์ไม่ควรอยู่ที่บ้าน จะไม่เหมาะสม ควรนำไปปลูกไว้ที่วัด อันเป็นที่สักการะบูชาจะเหมาะสมกว่า”

    โยมแม่พิมพ์จึงสั่งให้ลูกชายคนเล็ก คือ นายบรรพต ช่วงโชติ กับชาวบ้าน นำต้นโพธิ์ไปปลูกไว้ที่วัดใหม่ทองสว่าง



เข็มทิศเปลี่ยนทาง

     ในระหว่างพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น หลังจากแปลหนังสือธรรมบทไปหลายเล่มแล้ว หลวงพ่อได้นึกเปรียบเทียบการปฏิบัติของตนกับภิกษุในครั้งพุทธกาล รู้สึกว่าช่างห่างไกลกันลิบลับ เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย จิตใจเริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา คิดว่าคงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ และพระพุทธองค์คงจะไม่มีพุทธประสงค์ให้บวชมาเพื่อเรียนอย่างเดียว จึงอยากศึกษาทางปฏิบัติดูบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด แต่ยังมองไม่เห็นครูบาอาจารย์ผู้พอจะเป็นที่พึ่งได้ จึงตัดสินใจกลับมายังวัดก่อนอก

      ฤดูแล้ง ปี พ.ศ.๒๔๘๘ หลวงพ่อได้ทราบข่าวว่ามีครูบาอาจารย์ทางอำเภอเดชอุดมที่สอนการปฏิบัติกรรมฐาน ท่านจึงเดินทางไปศึกษาแนวทางที่วัดปิเหล่อ อำเภอเดชอุดม ระยะหนึ่ง แต่รู้สึกว่ายังไม่ถูกจริตจึงกลับมาอยู่วัดก่อนอกตามเดิม และปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้จำพรรษาที่วัดก่อนอกอีกครั้งหนึ่ง

      ในพรรษานั้นหลวงพ่อได้มีโอกาสตอบแทนคุณครูบาอาจารย์ ด้วยการแบ่งเบาภาระด้านการสอนปริยัติธรรม ขณะสอนได้สังเกตเห็นว่าภิกษุสามเณรไม่จริงจังต่อการเล่าเรียน บางรูปขาดความเคารพ เรียนเอาพอเป็นพิธี เกียจคร้าน ก็ยิ่งสลดใจต่อความเป็นอยู่ของนักบวชที่ขาดการปฏิบัติมากขึ้น

      นอกจากสอนนักธรรมแล้ว ในพรรษานั้นหลวงพอ่ได้สมัครสอบนักธรรมเอกด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่าสอบได้ แต่พอออกพรรษา ท่านก็จัดเตรียมบริขารสำหรับจาริกธุดงค์ เพื่อออกแสวงหาครูบาอาจารย์ด้านการปฏิบัติดังที่ได้ตั้งใจไว้ต่อไป




เริ่มชีวิตธุดงค์

      ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๙ พระชาได้ชวนพระถวัลย์เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง และทั้ง ๒ รูป ได้ออกธุดงค์มุ่งสู่ภาคกลางเดินไปเรื่อยจนผ่านดงพญาเย็นถึงหมู่บ้านยางคู่ ตำบลยางคู่ จังหวัดสระบุรี เมื่อได้พักอยู่นั่นระยะหนึ่ง จึงพิจารณาเห็น่าได้เดินทางโดยไม่มีจุดหมายนานพอสมควรแล้ว ควรหาที่เหมาะสมที่มีครูบาอาจารย์อยู่เป็นที่พึ่งจะดีกว่า จึงเดินทางเข้าสู่จังหวัดลพบุรี มุ่งสู่วัดเขาวงกต สำนักของหลวงพ่อเภา แต่ก็น่าเสียดายว่า หลวงพ่อเภาท่านมรณภาพเสียแล้ว เหลือแต่พระอาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเภาอยู่ดูแลสั่งสอนแทน แต่ก็ยังดีได้อาศัยศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาท่านวางไว้ และได้อ่านคติพจน์ที่หลวงพ่อเขียนไว้ตามปากถ้ำ และตามที่อยู่อาศัยเพื่อเตือนใจ ทั้งได้มีโอกาสศึกษาพระวินัยจนเป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้น

      ในพรรษานี้ นอกจากการศึกษาพระวินัยจากหนังสือ วิสุทธิมรรค และ บุพพสิกขาวัณณนา แล้ว หลวงพ่อยังได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ชาวกัมพูชารูปหนึ่ง เป็นผู้แตกฉานทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อสอบททานพระไตรปิฎกไทย พระอาจารย์รูปนี้ท่านมีความจำที่แม่นยำมากในพระวินัยบัญญัติ มีความรู้แตกฉานในคัมภีร์ แต่ท่านเป็นพระธุดงค์ชอบอยู่ตามป่าตามเขา สำหรับพระอาจารย์ชาวกัมพูชารูปนี้ มีเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้หลวงพ่อรู้สึกชื่นชมและสรรเสริญน้ำใจของท่านอยู่เสมอก็คือ

      วันหนึ่ง หลวงพ่อได้ศึกษาพระวินัยกับพระอาจารย์หลายข้อ มีอยู่ข้อหนึ่งท่านบอกคลาดเคลื่อนไป ตามปกติเมื่อได้ศึกษาพระวินัยและทำกิจวัตรแล้ว ถึงเลากลางคืน หลวงพ่อชอบขึ้นไปเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่บนหลังเขา วันนั้นประมาณ ๔ ทุ่มกว่า ขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงกิ่งไม้แห้งดังกรอบแกรบใกล้เข้ามา ๆ ท่านเข้าใจว่าคงเป็นงูหรือสัตว์อย่างอื่นออกหากิน แต่พอเสียงนั้นดังมาใกล้ ๆ ท่านก็มองเห็นว่าเป็นพระอาจารย์ชาวกัมพูชานั่นเอง จึงถามว่า

 “ท่านอาจารย์มีธุระอะไรครับ จึงได้มาดึก ๆ ดื่น ๆ” 
 “ผมบอกวินัยท่านผิดข้อหนึ่ง” พระอาจารย์ชาวกัมพูชาตอบ
 “ท่านอาจารย์ไม่ควรลำบากถึงขนาดนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้จึงบอกผมใหม่ก็ได้ครับ” หลวงพ่อกราบเรียนด้วยความเกรงใจ
 “ไม่ได้ ๆ เกิดผมตายไปคืนนี้ ท่านนำไปสอนคนอื่นผิด ๆ อีก เป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ”

     พระอาจารย์ชาวกัมพูชายืนยันเจตนารมณ์ และเมื่อท่านได้บอกพระวินัยใหม่เรียบร้อยแล้วก็กลับไป ทำให้หลวงพ่อซึ้งในน้ำใจของพระอาจารย์รูปนั้นมาก ว่าท่านมองเห็นประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง แม้มีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็มิได้ประมาท ไม่รอให้ข้ามวันข้ามคืน รีบแก้ไขทันที เป็นตัวอย่างที่น่าสรรเสริญและถือปฏิบัติตามอย่างยิ่ง



เชื่อกรรม

     การปฏิบัติของหลวงพ่อที่เขาวงกตในขณะนั้นรู้สึกว่ายังไม่แยบคายเท่าใดนัก ท่านได้ทดลองวิธีการภาวนาหลายอย่าง วันหนึ่งนึกถึงครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดก่อนอก เคยได้เห็นพระกรรมฐานมีลูกค้าประคำห้อยคอสำหรับใช้ภาวนากันลืม จึงคิดอยากจะได้มาภานาทดลองดูบ้าง มองไปเห็นลูกตะแบกกลม ๆ อยู่บนต้น ครั้นจะไปปลิดเอามาเองก็กลัวจะเป็นอาบัติ

      วันหนึ่งมีพกลิงพากันมาหักกิ่งไม้ รูดลูกตะแบกเล่น หลวงพ่อจึงเก็บเอาลูกตะแบกเหล่านั้นมาแต่ไม่มีอะไรร้อยให้เป็นพวง จึงถือเอาไว้ เวลาภาวนาจบบทหนึ่งก็ปล่อยลูกตะแบกลงกระป๋องลูกหนึ่งทีละลูกจนครบ ๑๐๘ ลูก ทำอยู่อย่างนั้น ๓ คืน จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกจริต จึงได้หยุดนับลูกตะแบก ไม้ในการเจริญอานาปานสติภาวนา หลวงพ่อก็ยังแสวงหาจุดพอดีอยู่เช่นกัน

      “แม้ในการสงสัยอยู่ว่าสมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไป นั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุ้ง ยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งกลับค่อยยั่งชั่ว แหม! มันยากจริง ๆ ถึงยากก็ทำไม่หยุด ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉย ๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำให้จิตเป็นหนึ่ง ยิ่งเอาใหญ่ มันยังไงกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ต่อมาจึงคิดได้ว่า มันคงเหมือนลมหายใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้ง ให้หายใจน้อย หายใจใหญ่ หรือให้มันพอดี ดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้ จึงร่า อ้อ! อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เวลาเราเดินไปตามปกติ มิได้กำหนดหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ถึงลมหายใจบ้างไหม? ไม่เคย สบายจริง ๆ ถ้าไปนั่ง ตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปทานยึดใส่ ตั้งใจ หายใจสั้น ๆ ยาว ๆ เลยไม่เป็นอันกำหนด จิตเกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่า เพราะอะไร? เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปทานเข้าไปยึด เลยไม่รู้เรื่อง มันลำบาก เพราะเราเอาความอยากเข้าไปด้วย”

      ปี ๒๔๘๙ ที่หลวงพ่อได้จำพรรษาที่วัดเขาวงกตนั้น ได้มีเหตุการณ์แปลกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ หลักการประพฤติปฏิบัติ ยิ่งขึ้น

      วันหนึ่งขณะที่ขึ้นไปอยู่หลังเขา หลังจากได้เดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้ว หลวงพ่อก็เตรียมตัวพักผ่อน ด้วยเหตุที่ท่านเป็นคนกลัวผี แม้จะกล้าขึ้นไปอยู่โดดเดี่ยวเช่นนั้น ท่านก็ยังต้องท่องเวทมนต์คาถากันภูมิผีปีศาจก่อนจำกัดเสมอ แต่วันนั้นเชื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงไม่ได้ท่องคาถาอะไร ขณะที่กำลังเคลิ้มจะหลับ ปรากฏเหมือนมีอะไรมารัดที่คอ แน่นเข้า ๆ แทบหายใจไม่ออก ทั้งนี้จะเป็นอุปาทานของท่านเองที่เคยสวดมนต์กันผีแล้วไม่ได้สวด หรือจะเป็นปรากฏการณ์จริงก็ไม่อาจทราบได้ อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีสติอยู่ คงภาวนาพุทโธ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนอาการค่อย ๆ คลายออกไป พอลืมตาได้ แต่ร่างกายยังกระดิกไม่ได้ จึงภาวนาต่อไปจนพอกระดิกตัวได้ แต่ยังลุกไม่ได้ เอามือลูบตามตัว นึกว่ามิใช่ตัวของตัวเอง ภาวนาจนลุกขึ้นนั่งได้แล้ว ท่านก็รู้สึกมั่นใจว่า เอาตัวรอดได้นี้ด้วยอำนาจของการภาวนา พุทโธ และสำนึกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ของศีล เรื่องเช่นนี้จะเป็นอันตรายเฉพาะกับคนทุศีลเท่านั้น

      ท่านก็เลยได้ข้อคิดว่า เวทมนต์คาถาต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นอะไร เป็นความงมงายเท่านั้น ที่สำคัญคือ การรักษาศีลและฝึกอบรมจิต นับตั้งแต่นั้นมาท่านก็เพิ่มความระวังสำรวม โดยเฉพาะเรื่องศีลมิให้มีความบกพร่องเกิดขึ้น ปัจจัย (เงิน) และสิ่งของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ตามพระวินัย ท่านก็สละหมด และปฏิญาณว่าสิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์และไม่ถูกต้องตามพระวินัย จะไม่ยอมรับ ไม่เกี่ยวข้อง และไม่ล่วงละเมิดเป็นอันขาด 
 แต่สำหรับกามราคะนั้นก็คงเป็นปัญหาที่หลวงพ่อต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงต่อไป เพราะเป็นเรื่อง “ยากยิ่งสิ่งเดียว” สำหรับท่านยิ่งนักในระหว่างที่ยังเป็นพระนวกะ กามราคะเคยทำให้ท่านมีความคิดไขว้เขวจนเกือบถลำ

      “สมัยก่อนผมก็เคยคิดเหมือนกัน เมื่ออายุพรรษาได้  ๕-๖ พรรษา นึกถึงพระพุทธเจ้า ปฏิบัติ ๕-๖ พรรษาก็ปฏิบัติได้แล้ว แต่เรามันห่วงโลก มันอยากจะกลับไปอีกแหละ จะไปสร้างโลกสักพักหนึ่งจะดีละกระมัง มันจะได้รู้เรื่องอะไรต่อะไรดี พระพุทธองค์ท่านก็ยังมีราหุลเว้ย ไอ้เรามันจะเกินไปละกระมัง ก็นั่งภาวนาไปเรื่อย ๆ ก็เลยเกิดความรู้มา ดีเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าองค์นี้น่ากลัวจะไม่เหมือนองค์ก่อน มันมาต่อต้านนะ องค์น่ากลัวจะจมลงไปในโคลนเลย มันจะไม่เหมือนพระพุทธเจ้าองค์ก่อนละกระมัง นี่มันต่อต้านกันเรื่อยมา...
 ดังนั้น ในพรรษาที่แปดนี้ หลวงพ่อเริ่มหาวิธีกำจัดกามราคะ แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่หวังไว้

  “ไม่ดูหน้าผู้หญิงเลยตลอดพรรษา พูดก็พูดได้แต่ไม่ดูหน้า แต่ตามันถีบขึ้นนะ มันอยากจะดูเขาแทบตาย ไปบิณฑบาตอยู่ลพบุรี เดินมา ออกพรรษาดูซิว่า ผู้หญิงเราไม่ดูหน้าตั้ง ๓ เดือนแล้ว กิเลสมันคงจะโทรมไปแล้วกระมัง พอมันตั้งใจ มันก็ดูปุ๊บ โอ! เครื่องแต่งตัวแดง ๆ ประหลาดมา วูบตาเลย โอย! แข้งขาอ่อนหมด แหม! นึกว่าเมื่อไรหนอมันจะหมดกิเลส ท้อใจเลยนะ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องเกิดจากการภาวนาให้รู้เรื่องตามความเป็นจริงของมัน แต่แรก ๆ ก็ต้องออกห่างกัน”