วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๕.ทำวัตรเย็น


        การทำวัตรเย็น เริ่มต้นเมื่อเวลา ๑๘ นาฬิกา ด้วยการนั่งเจริญสมาธิภาวนาในธรรมศาลา ท่ามกลางความสงบของธรรมชาติยามสนธยา หมู่แมลง หรีด หริ่ง เรไร ต่างสยายปีก ส่งเสียงก้องกังวานไปทั่วอาณาบริเวณป่า บรรยากาศความวิเวกเป็นคุณสมบัติอันทรงคุณค่าของป่าพง ยังคงครอบคลุมมอบความสงบให้แก่หมู่ภิกษุและผู้ใฝ่ในธรรมอยู่เสมอ

หลังจากนั่งสมาธิร่วมกันเป็นเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงแล้ว ครูอาจารย์ หรือพระอาวุโสในที่นั้น จะให้สัญญาณเตรียมสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และทบทวนพระธรรมคำสอนที่เป็นแนวทางไปสู่ความสงบของสมณะ

การสาธยายบทธรรมด้วยเสียงท่วงทำนองเรียบ ๆ ผสมผสานกลมกลืนกัน เป็นสิ่งที่มีผลต่อจิตใจมาก เสียงสวดมนต์จะช่วยหันเหจิตใจ ให้เลิกหมกมุ่นอยู่กับสิ่งรุมเร้านอกตัว ละอำนาจความรุนแรงของนิวรณ์ เช่น ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความง่วง ความสลดหดหู่ ท้อแท้ใจ ช่วยปรับสภาวะของจิตใจให้เข้าสู่อารมณ์แห่งกรรมฐานได้เร็วขึ้น และยังถือว่าเป็นกิจกรรมที่ขูดเกลาความเกียจคร้านให้เบาบางลง ส่งเสริมผู้ปฏิบัติให้มีจริตนิสัยพากเพียรอดทน ซื่อตรง เคารพข้อวัตรปฏิบัติ

เมื่อการสวดมนต์เสร็จสิ้นลง ครูอาจารย์ผู้เป็นประธานสงฆ์ จะให้โอวาทหรือแสดงธรรมแนะนำแนวทางการประพฤติปฏิบัติแก่ภิกษุสามเณร ครูอาจารย์เป็นผู้มากด้วยประสบการณ์ ได้ผ่านการศึกษาปฏิบัติธรรมมามาก ทั้งทางด้านอุปสรรคต่าง ๆ ที่นักบวชต้องประสบ และเข้าใจในวิธีการทำลายศัตรูทางใจ คือกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นภัยของพรหมจรรย์ให้หมดสิ้นลง

ครูอาจารย์ของพระกรรมฐาน เป็นทั้งพ่อแม่ผู้เอาใจใส่ดูแลลูกคือศิษย์ และเป็นทั้งกัลยาณมิตรผู้ชี้ผิดถูก ชั่วดี ชี้แนวทางสันติให้ด้วยเมตตาธรรม ครูอาจารย์คือบุคคลสำคัญที่สุดของการประพฤติพรหมจรรย์ ดังพระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ดูกรอานท์ ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดเลยทีเดียว เพราะผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักยังทำให้อริยมรรคมีองค์แปดเกิดขึ้น เขาจักกระทำได้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค”

ครูอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรม เป็นปูชนียบุคคลผู้ผ่านการฝึกอบรมตนเองมาด้วยความเข้มแข็ง อดทน และพากเพียร จนได้รับภาวะแห่งความเป็นผู้ชนะซึ่งตนเอง เป็นผู้อยู่เหนืออำนาจมืด คือ กิเลสตัณหาที่แอบแฝงอยู่ภายในจิตใจ ท่านสามารถชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์ให้แก่สานุศิษย์ ได้ด้วยประสบการณ์หลากหลาย ที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน และผิดถูกในชีวิตบรรพชิตมามากมาย จนสามารถบังคับจิตใจให้หยั่งลงสู่กระแสธรรม และรู้ซึ้งถึงคุณค่าแห่งการบำเพ็ญชีวิตตามแนวทางของพระพุทธองค์

หลังจากครูอาจารย์ให้โอวาทจบลง ภิกษุสามเณรทั้งหมดกล่าวสาธุการขึ้นพร้อมกันแล้วกราบพระและครูอาจารย์ จากนั้นแยกย้ายกันกลับสู่กุฏิด้วยความสงบ

ท่ามกลางความมืดแห่งปฐมยาม โคนเทียนถูกจุดขึ้น เพื่อให้แสงสว่างในการเดินจงกรมใต้ต้นไม้ตามลานกุฏิ มองดูเป็นประกายคล้ายแสงดาราประดับราตรี ภิกษุผู้ไม่ประมาท ไม่ปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

ปฐมยามแห่งราตรี คือ ขณะแห่งการประกอบความเพียร ดังที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงประกอบความเพียรเป็นผู้ตื่นอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณธรรม ด้วยการเดินการนั่งสิ้นวันยันค่ำ และตลอดยามต้นแห่งราตรี ครั้นถึงยามกลางแห่งราตรี พึงสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ โดยตะแคงข้างเบื้องขวาวางเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ผูกใจหมายจะลุกขึ้นในเมื่อถึงยามสุดแห่งราตรี แล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณธรรมด้วยการเดินการนั่ง...”