วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔๐.การประชุมปฎิบัติธรรม


             วัดหนองป่าพงมีสำนักสาขาและภิกษุสามเณรจำนวนมาก แผ่กระจายไปบำเพ็ญสมณธรรมตามสถานที่สงบสงัดทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีความห่างไกลขาดความสัมพันธ์ทางกาย อันอาจนำมาซึ่งการเหินห่างทางจิตใจ และต่อวัตรปฏิบัติที่เคยประพฤติร่วมกันมา จึงต้องผนึกพลังสามัคคีกันในกาลที่เหมาะสม เพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติ ให้อยู่ในครรลองธรรมที่บูรพาจารย์พาดำเนินมา

สารธรรมในการประชุม เป็นข้อวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพง ประกอบด้วยการรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด การนำธุดงควัตรมาเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การอยูป่า อยู่โคนไม้ ใช้ผ้าจำนวนจำกัด ฉันมื้อเดียวในบาตร บิณฑบาตทุกวัน ถ้าไม่ไปต้องงดฉัน เว้นแต่อาพาธ ฉันเฉพาะอาหารจากการบิณฑบาต อดอาหารฝึกความอดทน และตัดกำลังกิเลสบางอย่าง งดนอนในวันพระ เป็นต้น

ตลอดทั้งใช้วัตร ๑๔ คือ ขนบธรรมเนียมที่ภิกษุควรประพฤติต่อบุคคล เวลาและสถานที่ต่าง ๆ ประกอบในความเป็นอยู่ เช่น อุปัฏฐากอัชฌาย์อาจารย์ พยาบาลภิกษุไข้ ดูแลรักษาบริขาร เครื่องใช้สอย และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

นอกจากนี้เป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตใจ คือ การฝึกกรรมฐานเพื่อสงบกิเลส ให้เกิดปัญญาแก้ปัญหาชีวิต คือ ความทุกข์ทั้งปวงลงได้

วาระการประชุมดำเนินไปด้วยสารธรรม เปิดโอกาสให้สานุศิษย์รุ่นใหม่ได้สัมผัสกระแสธรรมจากครูอาจารย์อาวุโส ผู้ผ่านการฝึกปฏิบัติชนิด “ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี” มีความเป็นอยู่แร้นค้นขนาดสุนัขอยู่ด้วยไม่ได้ แต่ถือคติว่า “กินน้อย นอนน้อย พูดน้อยคือนักปฏิบัติ... กินมาก นอนมาก พูดมาก คือ คนโง่”

สานุศิษย์รุ่นนั้นได้พากเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว กระทั่งเป็นครูอาจารย์ผู้สืบทอดมรดกธรรมาสู่ศิษย์รุ่นใหม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม