วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - ช่วงปฐมวัย


ปฐมวัย 
     หลวงพ่อชา สุภทฺโท เป็นลูกอีสานโดยกำเนิด ท่านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของอำเภอวารินชำราบ ชื่อบ้านก่อ เดิมเรียกว่าบ้านก้นถ้วย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๖๑  (แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย)

     ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน สมัยที่ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อมีรูปร่างสมบูรณ์ อ้วนกลม พุงพลุ้ย คางมน ด้วยลักษณะแบบนี้เองทำให้เพื่อน ๆ ขนานนามท่านว่า “อึ่ง” ปากของท่านกว้างและเชิดขึ้นเล็กน้อย อย่างที่คนอีสานเรียกว่า ปากแหว หูของท่านไม่เท่ากัน พ่อพุฒ ทุมมากรณ์ เพื่อสนิทที่ชอบพอกับหลวงพ่อมาตั้งแต่วัยเด็ก ได้เล่าถึงอุปนิสัยของเสี่ยวชาว่า เป็นคนช่างพูด และมีลักษณะผู้นำมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่ออยู่กับหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะเล่นหรือทำอะไรก็ตาม ท่านมักเป็นผู้วางแผนมอบหมายหน้าที่แก่คนอื่นเสมอ โดยปกติท่านเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง วันไหนขาดท่าน หมู่เพื่อนจะเงียบเหงา คุยเล่นไม่ค่อยมีรสชาติเหมือนที่เคย

     ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งที่ปรากฏมาตั้งแต่เด็กคือ ความรักสันติ ไม่เคยมีใครเห็นท่านมีเรื่องราทะเลาะเบาะแว้งเป็นปากเสียงกับใคร โดยเฉพาะการชกต่อยข่มเหงรังแกกับผู้อ่อนแอกว่านั้นยิ่งไม่มีเลย ตรงกันข้ามเมื่อเพื่อนฝูงมีปัญหาขัดใจกัน ท่านจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายให้เรียบร้อยได้ด้วยความสามารถอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ประกอบกับปกติท่านเป็นคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอ เพื่อน ๆ ก็เลยเกรงใจ


หลวงพ่ออึ่ง

     วัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเล่นเลียนแบบ โดยเฉพาะเด็กชายชาวบ้าน ชอบการเล่นที่ทะมัดทะแมง แข็งขัน ใช้กำลัง เช่น เล่นเป็นทหาร หรือตำรวจจับผู้ร้าย เป็นต้น แต่การเล่นเบียนแบบของเด็กชายชาค่อนข้างแปลก หลวงพ่อเคยเล่าถึงตัวท่านเองสมัยเป็นเด็กว่า

“ตอนเด็ก ๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภารขึ้นมา เอาผ้าขาวม้าห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพล ก็ตีระฆังแก๊ง ๆ ให้เพื่อน ๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ แล้วรับศีล รับพร”


ไฟแรง

     หลวงพ่อเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศอบอุ่นและมั่นคง ครอบครัวของท่านจัดว่ามีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน และมักสงเคราะห์ผู้ยากจนกว่าในยามข้าวยากหมากแพงอยู่เสมอ ตัวท่านเองเป็นเด็กที่มีกำลังวังชา กระฉับกระเฉงว่องไว ธาตุไฟแรง กินจะเป็นนิสัย แต่ความที่ท่านเป็นคนขยัน ไม่อยู่นิ่ง จึงสามารถช่วยงานในครอบครัวได้เป็นอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย งานหลักที่เด็กชายชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง คือ งานเลี้ยงควายและดูแลไร่ยาสูบ

     ตื่นเช้ากินข้าวกินปลาเสร็จแล้ว เด็กชายชาก็เตรียมห่อข้าวแล้วต้อนควายออกจากคอกบ่ายหน้าไปสู่ทุ่งหญ้าป่ารก ยามว่างควายกินหญ้า ก็ออกหาอาหารธรรมชาติ เช่น กบ เขียด ปลา เห็ด หรือหน่อไม้ สำหรับมื้อเย็นของครอบครัว ตามแบบชีวิตของชาวชนบทภาคอีสานโดยทั่วไป

     แต่งานหนักคืองานในไร่ยาสูบ ซึ่งมีถึง ๔-๕ ไร่ ปีหนึ่ง ๆ ต้องช่วยรดน้ำพรวนดิน ดูแลเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตเป็นยาสูบ ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนกับผลิตผลอย่างอื่น เช่น อาหารและสิ่งของเครื่องใช้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างไรก็ดี แม้จะช่วยงานทางบ้านอย่างทะมัดทะแมงแข็งขัน เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ เด็กชายชาก็เริ่มสนใจในเรื่องของวัด หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จากโรงเรียนบ้านก่อแล้ว ก็คิดอยากไปเป็นเด็กวัด


เป็นศิษย์วัด

    หลายสิบปีต่อมาเมื่อหลวงพ่อเข้าสู่วัยชราแล้ว มีชาวตะวันตกคณะหนึ่งมาเยี่ยมวัดหนองป่าพงและกราบเรียนถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หลวงพ่อสนใจเข้าวัดตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อให้คำตอบว่า


     “อ๋อ ก่อนเป็นพระนี่เหรอ คือมันมีนิสัยปัจจัยที่กลัวบาป เป็นคนซื่อสัตย์ไม่โกหกใคร นิสัยตรงไปตรงมาอยู่เสมอ ถึงแม้แบ่งของกันนะ ชอบเอาน้อยกว่าเขา เกรงใจเขา เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ มาตลอด เมื่อธรรมชาติอันนี้มันแก่ขึ้นมา มันเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาว่า ไปวัด เราคิดอย่างนี้ ไปถามเพื่อน เขาไม่เคยคิด มันเป็นของมันเอง เรื่องมันเป็นผลการกระทำนะ มันเป็นผลของมันเอง เราก็พิจารณาเรื่อย มันก็โตของมันเรื่อย ๆ มันเป็นเหตุให้ทำอย่างนี้ เป็นเหตุให้คิดอย่างนี้”


    อีกโอกาสหนึ่งท่านเล่าให้โยมฟังทีเล่นทีจริงว่า ท่านเข้าวัดเพราะขี้เกียจรดน้ำต้นยาสูบ และมีความรู้สึกอึดอัดเอือมระอากับงานทางบ้าน ซึ่งซ้ำซากจำเจ ดูไม่มีจุดจบ


    “เราเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่เคยได้สูบยากันเขาเลย แต่ตื่นเช้าขึ้นมา เขากลับไล่ให้เราไปรดน้ำต้นยาสูบเป็นร้อย ๆ ต้น มันน่าเจ็บใจ...” มีเหตุการณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเหมือนเป็นการจุดชนวนให้ความรู้สึกของหลงพ่อระเบิดออกมา และทำให้ท่านเข้าวัดในที่สุด โยมพี่สาวของท่านได้เล่าไว้


    “การไปเป็นศิษย์วัดก็ไม่ใช่เพร่าทางบ้านจัดการให้ แต่ท่านปรารถนาของท่านเอง โดยวันหนึ่งท่านช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ ตำข้าว แต่ไม่ตั้งใจ พอดีสากตำข้าวหลวมต้องเอาไม้ไปตอกลิ่น แต่ท่านไม่ยอมตอก คนอื่นไปตอก บังเอิญทำไม้ถูกท่าน ท่านคงเจ็บเลยโกรธ ร้องว่า “กูจะไปบวช”


    หลังจากนั้นไม่นาน เด็กชายชาได้ขอให้พ่อแม่พาตัวไปฝากเป็นลูกศิษย์วัด พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้อง และพาไปอยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์ลีที่วัดบ้านก่อนอก เด็กชายชาจึงมีโอกาสได้เรียนรู้กฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ตามวิสัยเด็กวัดเป็นครั้งแรก และเด็กชายพุฒก็ได้มาเป็นศิษย์ของพระพร เด็กชายชาจึงมีเสี่ยวฮักมาอยู่เป็นเพื่อนร่วมสำนักด้วย