วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๕.ทำความสะอาดโรงฉัน


      เวลา ๕ นาฬิกา เสียงระฆังใบเล็กก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง ภิกษุสามเณรจะกราบพระพร้อมกัน แล้วเดินออกมายังโรงฉัน จากนั้นก็เปลื้องจีรจีบรวบไว้อย่างเรียบร้อย แล้วพาดไว้บนบ่าพร้อมกับผ้าสังฆาฏิ เพื่อเป็นการรักษาผ้าครองให้อยู่กับตัวจนกว่าอรุณวันใหม่จะขึ้นมา ซึ่งเป็นวินัยอย่างหนึ่งของภิกษุ และยังป้องกันการสับสนจีวรของกันและกันด้วย เพราะขนาดและสีจีวรของแต่ละรูปมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก

จากนั้นภิกษุสามเณรทุกรูป ก็แยกย้ายช่วยกันทำความสะอาดโรงฉัน บางรูปใช้ไม้กวาดปัดกวาด บางรูปนำผ้าชุบน้ำมาเช็ดถูพื้น อาสนะ โต๊ะ เตียง หน้าต่าง ที่เหลือก็เตรียมน้ำล้างเท้า จัดกระโถนวางไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นแถวตามจำนวนของภิกษุสามเณร

การทำความสะอาดดำเนินไปด้วยความสงบ ปราศจากเสียงพูดคุย จะมีเพียงเสียงที่เกิดจากการทำงานดังขึ้นเบา ๆ และที่สำคัญคือความง่วงงุนงง ได้อันตรธานไปเป็นปลิดทิ้ง คงได้แต่ความกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า สดชื่นแจ่มใส เป็นการต้อนรับรุ่นอรุณแห่งวันใหม่ของชีวิตด้วยสิ่งที่ดีงาม

เมื่อการทำความสะอาดเสร็จสิ้นลง ภิกษุสามเณรจะจัดที่สำหรับนั่งฉันบิณฑบาตของตน โดยนั่งเรียงต่อจากกันตามลำดับอายุพรรษา ถือการเกิดทางพระธรรมวินัยหรือการบวชก่อนหลัง เป็นหลักสำคัญในการเคารพกัน วัย ฐานะ ยศฐาบรรดาศักดิ์ และความรู้ทางโลก จะไร้ความหมายในวิถีชีวิตของสมณะ

ภิกษุสามเณรจะปูผ้ารองนั่ง วางย่าม ตั้งบาตร แล้วออกไปรองน้ำใส่กาที่ก๊อกข้างโรงฉัน แล้วนำนั้นนั้นมากลอกบาตร เพื่อชำระล้างฝุ่นละอองหรือมดแมลงที่อาจเกาะติดอยู่ภายในบาตร ซึ่งจะปนเข้าไปกับอาหารที่ฉัน ทำให้เป็นการผิดพระวินัยได้

สิ่งของเครื่องใช้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ บาตรตั้งไว้ลึกเข้าไปในอาสนะแล้วต่อด้วยกระโถนและกาน้ำ ส่วนช้อน แก้วน้ำ ย่าม ผ้ากันเปื้อน (ปูบนตัก) ผ้าเช็ดมือ เช็ดปาก ก็จะวางไว้อย่างเรียบร้อย เป็นการฝึกนิสัย ฝึกสติ ให้เป็นผู้มีระเบียบและมีความรอบคอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระกรรมฐาน ที่สร้างสมณสารูปอันน่าเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง