วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๑.การทำบริขาร


     บริขารเครื่องใช้สอย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประพฤติพรหมจรรย์เป็นสิ่งสำคัญ แต่หากขาดการพิจารณาย่อมตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงต้องมีหลักการพิจารณาในการใช้ เพื่อกำจัดความหลงไหลในบริขารนั้น รวมทั้งต้องเรียนรู้การรักษาซ่อมแซม และสามารถทำใช้เองได้

พระกรรมฐานส่วนใหญ่ทำบริขารใช้เอง เช่น ตัดเย็บย้อมจีวร ทำเชิงบาตร ถักถลกบาตร ทำกลด ประคดเอว ไม้สีฟันและอื่น ๆ ซึ่งเป็นการฝึกหัดพึ่งตนเอง

เครื่องใช้สอยส่วนตัวเมื่อทำใช้เองได้สำเร็จ ย่อมให้กำลังใจและความภาคภูมิในความสามารถ แม้ไม่สวยแต่ก็เกิดจากสติปัญญา และความพากเพียรพยายามของตนเอง เป็นการสะสมคุณธรรมยิ่งขึ้นไป

การทำบริขารหากขาดความเพียรเอาใจใส่ ย่อมไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะบริขารทุกอย่างเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการทำ เช่น ศิลปะการตัดจีวร ถูกถ่ายทอดมาหลายศตวรรษ นับจากพระอานนท์ได้ออกแบบการตัดเย็บจีวรเป็นขันธ์ (ชิ้น) ตามแบบแปลงนาของชาวมคธในอินเดีย

การตัดเย็บจีวรมีขั้นตอนละเอียดและซับซ้อน หากขาดความเข้าใจ อาจทำให้ผ้าสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ จึงต้องศึกษาด้วยความตั้งใจ เพื่อสามารถรู้จักวิธีทำและการใช้อุปกรณ์อย่างประหยัด ภิกษุต่างช่วยกันทำบริขารด้วยเมตตาจิต ผู้มีความชำนาญจะคอยแนะนำหลักการต่าง ๆ ให้แก่ผู้ฝึกหัด

หลวงพ่อชาเคยกล่าวถึงการใช้สอยบริขารของท่านว่า เมื่อคราวออกปฏิบัติธุดงค์คนเดียว มีความระวังสำรวมในพระวินัยมาก เข็มงอ ๆ เล่มเดียวต้องรักษาอย่างดี เพราะถ้าหักหรือหายไม่รู้จะขอใคร ญาติพี่น้องก็อยู่ไกล ด้ายเย็บผ้าก็ใช้เส้นไหมสำหรับจูงศพขวั้นเป็นเส้นห่อรวมไว้กับเข็ม เมื่อสงบจีวรขาดไม่เคยขอใคร เดินผ่านวัดตามชนบทพบผ้าเช็ดเท้าตามศาลาก็บังสุกุลมาปะชุนผ้า บอกตัวเองเสมอว่า ถ้าไม่มีใครถวายจีวรให้ด้วยศรัทธาก็อย่าได้ขอเขาเลย เป็นพระธุดงค์นี่ให้มันเปลือยกายดูซิ เราเกิดมาก็มิได้นุ่งผ้ามาไม่ใช่หรือ ท่านบอกว่าเมื่อพิจารณาเช่นนี้ทำให้ยินดีในบริขารที่มีอยู่ และยังช่วยหยุดความทะเยอทะยานในปัจจัยเครื่องใช้สอยได้ดีมาก