วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๙.วันอุโบสถ


       ปุถุชนย่อมมีความผิดพลาดทางกาย วาจา ใจ ได้เสมอ ทั้งที่พยายามไม่ให้สิ่งเศร้าหมองนั้นเกิดขึ้น

วิถีชีวิตพระกรรมฐานก็เช่นกัน ตราบใดจิตยังไม่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากอำนาจกิเลส ย่อมพลาดพลั้งล่วงเกินพระวินัยได้

พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งความเป็นไปของปุถุชน จึงทรงบัญญัติพระวินัยให้มีทั้งบทลงโทษและการออกจากความผิด เพื่อให้โอกาสภิกษุผู้พลาดพลั้งปรับปรุงตนเอง

โทษของการประพฤติผิดวินัยมีอยู่ ๓ อย่าง คือ

“อย่างหนัก” ขาดจากการเป็นพระ เปรียบดังใบไม้ร่วงหล่นจากต้น ไม่อาจนำไปต่อให้เจริญขึ้นใหม่ได้ เช่น การเสพเมถุน หรือการลักขโมยของเป็นต้น

โทษ “อย่างกลาง” เช่น จิตมีกำหนดพูดเกี้ยวหญิงด้วยวาจาพาดพิงถึงเมถุน เป็นต้น แก้ไขด้วยการทรมานให้เข็ดหลาบ ลดฐานะความเป็นอยู่ในต่ำลง โดยประกาศในที่ประชุมสงฆ์ว่า เป็นพระผู้ต้องโทษมีการกระทำที่น่าละอาย ต้องประจานต่อหมู่คณะ และพระอาคันตุกะผู้ผ่านไปมาในอาวาส การลงโทษทำอย่างน้อย ๗ วัน หรือตามเวลาที่ปกปิดไว้

ส่วนความผิด “อย่างเบา” เช่น การขุดดิน รับเงินรับทอง แลกเปลี่ยนซื้อขาย ต้องเสียสละทิ้งสิ่งของนั้น แล้วเปิดเผยโทษหรือประจานตนแก่ภิกษุอื่น เรียกว่า “การแสดงอาบัติ” เพื่อให้เพื่อนภิกษุรับรู้และเป็นพยานว่า “เราจะไม่พยายามประพฤติสิ่งเลวทราบนั้นอีก”

เมื่อชำระความผิดที่คั่งค้างอยู่ในใจแล้ว ความเบิกบานผ่องใสก็เกิดขึ้น เพราะได้สำนึกในความประพฤติอันสกปรกที่น่าขยะแขยงของตน

ความผิดทางพระวินัยหรือ “อาบัติ” สร้างความหม่นหมองแก่ผู้ล่วงละเมิดมาก จะขวางกั้นจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบและปัญญา

ด้วยเหตุนี้ ภิกษุผู้มากด้วยความละอาย จะสะดุ้งกลัวต่ออาบัติมาก เคยปรากฏเสมอว่า ภิกษุบางรูประแวงสงสัยเรื่องพระวินัยมาก ทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติได้เช่นกัน ครูอาจารย์จึงย้ำเตือนให้คำแนะนำเรื่องพระวินัยอยู่ประจำ

ทุก ๆ วันอุโปสถ คือ วันเพ็ญแรม ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำในบางเดือน ภิกษุทั้งหมดในอารามมารวมกันที่โบสถ์ เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ สอบทานความบริสุทธิ์ของตนในทุก ๆ สิกขาบท โดยมีภิกษุรูปหนึ่งได้รับเชิญจากพระเถระ เป็นผู้แสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์


ภิกษุแสดงต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น
- เป็นผู้ฉลาดจดจำปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ
- ออกเสียงอักขระถูกต้องได้จังหวะชัดเจน
- เสียงไม่แหบแห้งหรือเบา จนคณะสงฆ์ได้ยินไม่ถนัดทั่วกัน

พระปาฏิโมขก์แทบทุกรูป ต่างผ่านความยากลำบากในการท่องจำมาด้วยความอดทนและพยายาม แต่ละรูปใช้เวลาในการท่องต่างกัน บ้างท้อถอยหมดกำลังใจ หรืออาจใช้เวลานานมากจึงจดจำได้หมด

หลังการฟังพระปาฏิโมกข์ ครูอาจารย์ผู้เป็นประธานจะกล่าวโอวาทเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เพื่อสร้างความเข้าใจอันถูกต้องแก่สานุศิษย์ ให้นำไปประพฤติรักษาตนให้พ้นจากความเศร้าหมองเร่าร้อนได้ต่อไป