วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๘.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๔.



ทุกข์เพราะคิดผิด

    หลวงพ่อพักอยู่ที่วัดร้างบ้านโคกยาวได้ ๑๙ วัน จึงเดินธุดงค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เรื่อยไป การแสดงธรรมและการแก้ปัญหาของตนเองและผู้อื่น รู้สึกว่าคล่องแคล่วมาก ไม่มีความสะทกสะท้านสิ่งใดเลย ได้เดินทางไปอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จนถึงแม่น้ำโขง ข้ามไปนมัสการพระพุทธพลสันต์ที่ฝั่งลาว ข้ามโขงกลับมาทางอำเภอศรีสงคราม พักอยู่ที่บ้านหนองกา ในเวลานั้นบาตรที่ใช้เล็กและมีรูรั่วหลายแห่ง พระที่วัดหนองกาจึงถวายบาตร เป็นโอกาสให้ท่านได้พิจารณาความอยากในบริขารอีกครั้งหนึ่ง และเตือนสติตัวเองว่า การภานายังไม่มั่นคงพอ แม้ขณะอยู่ที่บ้านโคกยาได้เข้าถึงความสงบอย่างลึกซึ้งก็จริง แต่ต่อมาได้นานกิเลสตัณหาก็พาไปหลงอีกครั้งหนึ่งจนได้

    “ท่านถวายบาตรมาใบหนึ่ง แต่มันมีรูรั่ว ฝาบาตรก็ไม่มี นึกขึ้นได้สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนมันเอาเถาวัลย์ มาเหลาแล้วพักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาเหลา รีดให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วก็ถักเป็นวงไป ก็ได้ฝาบาตรเหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว ไปบิณฑบาตก็ขวางหูขวางตาจังเลยฝาบาตรอันนี้ คนเขาก็เรียกพระบาตรใหญ่ ก็ช่างเขา

    มาทำใหม่ ทำทั้งกลางวันกลางคืน ทำความเพียรผิด เพราะอยากได้มาก กลางคืนก็จุดใต้ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมามือไปชนหางใต้ ขี้ใต้ตกใส่มือไฟลวกหนังหลุดหมด มีแผลเป็นอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จึงรู้สึกตัว เอ! นี้เราทำอะไร? คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเอาบริขาร จีวร บาตร เพียรจนไม่ได้หลับได้นอน อยากได้ฝาบาตรมาก

    เพียรผิดแล้ว วาง เลยมานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปก็คิดถึงฝาบาตรไปอีกแหละ ทำต่อไม่รู้กลางวันกลางคืน ทำด้วยความอยากได้อยากเป็น จนจวนสว่าง เหนื่อยก็พัก มานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก มันผิดแล้ว เคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ ท่านบอกว่า มานี่จะเทศน์ให้ฟัง เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงนี้ เป็นเพียงเครื่องประดับของขันธ์ห้าเท่านั้น สะดุ้งตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้

    เข็ดหลาบเลยหยุด อยากได้จนไม่รู้จักตัวเอง ทีนี้เลยเลิก ทำเป็นเวลาทำแล้วพักเดินจงกรม ทำสมาธิ ตรงนี้สำคัญมากนะ งานอะไรก็ตามถ้าเราทำไม่เสร็จ ทิ้งค้างเอาไว้แล้มาทำสมาธิ ใจมันไปติดอยู่ที่งานนั้นแหละ สลัดทิ้งก็ไม่ได้ งัดยังไงก็ไม่หลุด เลยถือเอาเป็นเรื่องฝึกหัดฝึกใจตัวเอง หัดละ หัดวาง ทำอะไรก็ไม่ให้เสร็จเร็ว ทำฝาบาตรแล้วก็วางไว้ มานั่งสมาธิ มันก็ห่วงฝาบาตรอีก เดินจงกรมก็ไปเพ่งอยู่แต่ฝาบาตรน่ะแหละ

    จึงได้เห็นว่า จิตใจนี้มันปล่อยวางได้ยากเหลือเกิน มันยึดติดแน่นเหนียว เลยได้หลักในการพิจารณา ทำอะไรก็ไม่รีบทำให้เสร็จ ทำไปสักหน่อยก็วางไ ดูจิตตัวเอง ไปนั่งสมาธิ มันก็วนเวียนอยู่กับงานที่ค้างไว้น่ะแหละ ก็ดูมันไป สนุกละทีนี้ สู้กับมันอยู่นั่นแล้ว

    คิดว่าจะลองฝึกให้ได้ว่า เมื่อไปทำงานก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำก็ให้วาง ให้มันเป็นคนละอย่างไม่ต่อกัน ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน ตัวอุปาทานมั่นหมายนี้ละยาก วางยาก

    ที่คิดว่าทำอะไรก็ทำให้เสร็จ มันจะได้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมาคอยเป็นห่วง คิดอย่างนั้นก็ถูกอยู่เหมือนกัน แต่คิดให้ถึงธรรมะจริง ๆ มันไม่ถูก เพราะมันไม่มีอะไรที่จะรู้แล้วจบได้เลย ถ้าเรายังไม่ยอมเลิก

    มาคิดถึงเรื่องเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา จะปล่อยได้ยังไง จะวางได้ยังไง ในเมื่อมันเป็นอยู่ มันสุขอยู่ มันทุกข์อยู่ มันก็เหมือนเรื่องของฝาบาตร

    ถ้าเห็นตรงนี้ ก็เห็นตรงนั้น ฝึกตรงนี้ได้ก็ได้ตรงนั้นด้วย ได้หลักปฏิบัติละทีนี้ ทำอะไรก็ไม่ทำให้เสร็จ ทำแล้ววางไว้ไปเดินจงกรม พอมันกลับไปพะวงกับงาน ก็ว่ามัน ว่าตัวเอง ทักท้วงตัวเอง ฝึกตัวเอง พูดคนเดียวอยู่ในป่า สู้อยู่อย่างนั้นแหละ

    ต่อมาก็เลยเบา คืออยากให้ได้ว่า ถึงเวลาวางก็ให้มันวาง ให้มันเป็นคนละอย่างคนละอย่าง คนละอันกัน ทำก็ได้ วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น ถ้าได้รู้เรื่องว่า เออ! มันเป็นอย่างนี้เอง

    ต่อมาก็เย็บผ้า ถักถลกบาตร ทำอะไรก็หัดตัวเองอย่างนั้น ทำก็ได้ วางก็ได้ เลยได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ละทีนี้ เหตุที่ทุกข์เกิดก็รู้จักแล้ว ธรรมเกิดเพราะเหตุรู้จักแล้ว เห็นแล้ว เกิดอย่างนี้นี่เอง จากนั้นมาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสนุกเบิกบาน จนกระทั่งถักฝาบาตรเสร็จ ไปบิณฑบาต เขาก็ยังมองอยู่ว่าพระรูปนี้ทำไมบาตรเป็นอย่างนั้น

    ต่อมาก็คิดหาอะไรมาทำอีก เลยคิดจะเอาน้ำเกี้ยง (ยากรัก) มาทาบาตร จำได้ว่าตอนเป็นเณรน้อยเคยเห็นพระท่านทำ ตอนแรกคิด่าจะเอาน้ำมันยางทา แต่รู้สึกว่าเอาน้ำเกี้ยงทาอาจจะใสกว่า ก็เลยลงมายโสธร ไปพักที่บ้านโคก อำเภอเลิงนกทา แถวนั้นต้นน้ำเกี้ยงมีมากทาทั้งตัวบาตร และฝาบาตร โยมเขาบอกว่าทาเสร็จให้เอาใส่ชะลอมหย่อนลงแช่ในบ่อน้ำให้เย็น ๆ จะได้แห้งเร็ว ๓ วันก็แห้ง ที่ไหนได้รออยู่เป็นเดือนเลยไม่ได้บิณฑบาต ไปไหนไม่ได้ เพราะบาตรไม่แห้ง นั่งสมาธิก็พะวง เฝ้าแต่ดึงชะลอมขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่นั่นแหละ เป็นทุกข์จริง ๆ ลงท้ายเห็นว่า แม้จะทิ้งไว้เป็นปีก็คงไม่แห้ง เลยบอกโยมว่าเอากระดาษมาปิดข้างนอกเอาแล้วกัน พอไปบิณฑบาตได้ จะออกปากขอบาตรใหม่จากโยมก็กลัวบาป ทนไปอย่างนั้นแหละ ตอนแรกฝาบาตรไม่มีนั้นก็คิดถึงถาดที่เคยเห็นที่บ้านตอนบวชอยู่บ้านก่อนอก คิดว่าเอาถาดแบน ๆ มาตัด ตีโค้งขึ้นแล้วบัดกรีไว้ ก็ใช้เป็นฝาบาตรได้ ก็เลยเอามันอย่างนั้นแหละ ไม่ได้คิดขอใคร ผมมันแปลกนะ ไม่ชอบขอคน พอบาตรที่ทาไว้มันแห้ง ดำปี๋เลย ทั้งบาตรทั้งฝา”





อีเก้งสอนพระ

    โยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจอย่างแยบคาย หรือการคิดพิจารณาหลักเหตุผล เป็นคุณธรรมที่เด่นชัดในปฏิปทาของหลวงพ่อตั้งแต่แรก เช่นประสบการณ์ในป่าช้าก็ดี ที่บ้านโคกยาวก็ดี เหมือนกับมีการปุจฉาวิสัชนา ถามตอบปัญหาเกิดขึ้นในใจของท่าน จนกว่าท่านสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยสติปัญญา อีกโอกาสหนึ่งที่หลวงพ่อน้อมของธรรมดาในโลกเข้ามาสู่ใจเป็นธรรม เกิดขึ้นในปีนี้ ระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์รูปเดียวแสวงหาความวิเวก ท่านเกิดอาพาธหนัก นอนซมเพราะพิษไข้อยู่องค์เดียวกลางภูเขา ไข้ขึ้นสูงมากจนลุกไม่ขึ้น ประกอบกับไม่ได้ฉันอาหารมาหลายวัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียราวกับจะสิ้นใจ จึงวิตกไปว่าถ้าเราตายอยู่กลางป่าเช่นนี้ เกิดมีคบมาพบศพเข้าเขาจะส่งข่าวไปทางบ้าน เป็นภาระให้ญาติพี่น้องต้องเดินทางมาจัดการศพ คิดอย่างนั้นแล้วก็เลยควานเอาไปสิทธิจากในย่ามมาถือไว้ กะว่าจวนจะสิ้นใจจริง ๆ ก็จะจุดไม้ขีดเผาใบสุทธิเสียเพื่อทำลายหลักฐาน ขณะที่กำลังคิดวิตกวิจารณ์อยู่นั้นก็ได้ยินเสียงอีเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า

 “อีเก้งและสัตว์ป่าต่าง ๆ มันป่วยเป็นไหม?”
 “มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขารร่างกายเหมือนเรานี่แหละ”
 “มันมียากิน มีหมอมาฉีดยาให้หรือเปล่า?”
 “เปล่า ไม่มีเลย มันคงหายอดไม้ใบหญ้าตามมีตามได้”
 “สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมากมิใช่หรือ?”
 “ใช่ ถูกแล้ว”

พอพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้ ก็มีกำลังใจดีขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไปเอาน้ำในกามาดื่ม แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อย ๆ รุ่งเช้ามีกำลังออกไปบิณฑบาตได้







ได้ธรรมาวุธ

    ครั้งหนึ่งระหว่างอบรมพระเณรที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของท่านสมัยที่เดินธุดงค์ในช่วงนั้นว่า

    “แต่ก่อนกระบอกกรองน้ำสักอันยังไม่มีใช้เลย เพราะข้าวของหายาก มีจอก (ขัน) อะลูมิเนียมเล็ก ๆ อยู่ใบเดียว หวงมาก เมื่อก่อนยังสูบบุหรี่อยู่ ไม้ขีดไฟก็ไม่มี มีแต่หินเหล็กไฟ ฝากระบอกชุดก็ใช้เปลือกมะนาวผ่าครึ่ง กลางคืนเดินจงกรมเหนื่อย ก็มานั่งตีเหล็กไฟเพื่อจะจุดบุหรี่ เสียงตีเหล็ก ป๊ก! ป๊ก! ในตอนดึก ๆ ผมว่าน่าจะทำให้ผีมันนึกกลัวเหมือนกัน

    นึกย้อนไปเบื้องหลังครั้งปฏิบัติอยู่คนเดียว การปฏิบัตินี้มันเป็นทุกข์ลำบากแสนสาหัส แต่ก็สนุกมาเช่นเดียวกัน ทั้งสนุกทั้งทุกข์ พอ ๆ กันกับกินน้ำพริกตำใส่ขิงน่ะแหละ ได้ฝึกเพกาเผาแกล้มด้วย ทั้งอร่อยทั้งเผ็ด กินไปขี้มูกไหลไป หยุดกินก็ไม่ได้เพราะมันอร่อยไปเรื่อย เลยทั้งโอยทั้งกินมันเป็นยังนั้น ประโยชน์ของมัน

    คนที่ปฏิบัติธรรมะได้นี้ผมว่าทนทานจริง ๆ เพราะมันไม่ใช่เบา ๆ มันหนัก! เอาชีวิตเข้าแลกก็ว่าได้ เสือจะกินช้างจะเหยียบ ก็ให้มันตายไปเสีย คิดอย่างนั้น มันควรตายแล้ว เมื่อเราได้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลอีกต่อไป ตายก็เหมือนไม่ตายละทีนี้ เลยเป็นเหตุให้ไม่กลัวเป็นธรรมาวุธ อาวุธคือธรรมะ

    บนภูเขาที่ไหนก็ไปมาแล้วทั้งนั้น แต่อาวุธของเราคือธรรมเพียงอย่างเดียว ก็มีแต่ยอมมันเท่านั้นแหละ ปล่อยมันเลย กล้าหาญ ยอมตายเสีย เสี่ยงชีวิต คิดไปคิดมาก็มองเห็นว่าอาวุธของพระพุทธเจ้าดีกว่าอาวุธของนายพราน ช่วยกำลังใจให้เข้มแข็ง

    พิจารณาไป ดูไป คิดไป เห็นไป อะไร ๆ มันก็เห็น มันทะลุปุโปร่งไปหมด ทุกข์ก็อย่างนี้ ทุกข์ดับไปก็อย่างนี้ มันเลยสบาย คนเห็นทุกข์แต่ไม่ทะลุ เพียงแต่สงบเฉย ๆ มันไม่มีทางจะรู้จักหรอก ถ้าคนไม่กลัวตาย ยอมตายเสีย มันกลับจะไม่ตายนะ ทีนี้ทุกข์ก็ให้มันเกินทุกข์ มันหมดทุกข์โน่น ให้มันเห็นเรื่องของมัน เห็นความจริง เห็นสัจธรรม มันก็มีคุณค่าราคาน่ะซี มีกำลังจิตดี มีหรือจะกลัวคน มีหรือจะกลัวป่า มีหรือจะกลัวสัตว์ ใจมันเข้มแข็ง ถ้าคิดได้อย่างนี้

    ใจพระกรรมฐานน่ะเด็ดเดี่ยวนัก กรรมฐานทุกคน ถ้ามีจิตน้อมจนเสียสละชีวิตได้ ถ้าอยู่เป็นฆราวาส การฆ่าคนน่ะ ฆ่าไก่ยังยากกว่าเสียอีก มันเด็ดเดี่ยวถึงปานนั้น ถ้ามันเห็นผิดนะ มันใจใหญ่ ใจสูง ใจแน่นหนา ถ้าคิดมาทางธรรม ทางปล่อยวาง มันก็เลิศประเสริฐ

    ได้อาวุธดีกว่านายพรานไปอยู่ในป่า ได้ธรรมาวุธ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า วิตก ก็คือมันยกอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ไปถึงเรื่องอันนั้น วิจารณ์มันก็พิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น วิตกวิจารณ์มันก็อยู่ไป ทำความเพียรไปเรื่อย จนกระทั่งมันเห็นเรื่องทะลุปรุโปร่ง ปีติมันก็เกิดขึ้น ทีนี้ก็เกิดอาการขนลุกซู่ นึกถึงเดินจงกรมก็ขนลุกซู่ คิดถึงพระพุทธ พระธรรม ก็ขนลุกซู่เกิดปีติ ซาบซ่า ซึมอยู่ในร่างกาย นั่งอยู่ก็เป็นอยู่อย่างนั้น วิตกวิจาร วิตกมันก็มีปีติ ความอิ่มใจในการกระทำของเรา ฝ่าฟันอุปสรรคมา ขนก็ลุกซู่ซ่าขึ้นมา น้ำตาก็ไหลพราก ๆ ยิ่งมีกำลังใจที่จะบากบั่นต่อสู้ ไม่มีที่จะท้อถอย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วิตก วิจาร ปีติ ความดีใจเกิดขึ้นมา มีความสุขประกอบด้วยปัญญา อาศัยวิตกวิจารเป็นอยู่ อาศัยความสุขตั้งมั่นอยู่ในขณะนั้น ท่านจะว่าอาศัยกำลังฌาน ก็ว่าไปซิ เราไม่รู้ละ มันเป็นของมันอย่างนั้นจะว่ามันเป็นฌานก็ว่าไป วิตก อีกหนึ่งวิตกมันก็ละไป ต่อไปวิจารมันก็ละ ปีติก็ไม่มี เอกคฺคตา ใจก็เป็นอารมณ์เดียวอยู่อย่างนั้น อาศัยสมาธิเป็นอยู่ อาศัยสมาธิตั้งมั่นอยู่ มันก็เกิดความสงบ เป็นรากฐานแล้ว ความสงบมันเป็นรากฐาน ปัญญามันจะเกิดขึ้นละทีนี้

    ผมจึงได้ความเข้าใจว่า การปฏิบัตินั่นแหละมันจึงจะรู้แจ้งเห็นจริง การไปเรียนไปนึกไปคิดเอามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การคิดว่าไอ้นั่นมันจะเป็นอย่างนี้ก็ดี ผมรู้สึก่ามันจะเข้าไปรวมยอดเข้าไปฟ้องอยู่ที่นั่นหมด

    สบายทีนี้ ร่างกายจะอ้วนจะผอม มันก็สบาย แม้จะป่วยอยู่ก็สบาย ไม่เคยคิด่า แม่เราอยู่ไหน ญาติพี่น้องคนนั้นคนนี้ของเราอยู่ไหนหนอ ไม่มี ภาวนาตายก็ตาย เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรกังวล นั่น มันตั้งมั่นลงอย่างนั้น แล้วขณะจิตที่ตั้งรอมันก็เลยเปลี่ยนไป จิตใจมันเข้มแข็ง แล้วก็ให้ทำไป

    จะไปฟังเทศน์ที่ไหนก็ช่าง จะไปเรียนที่ไหนก็ตาม รู้อยู่ แต่มันรู้ไม่ถึง ต้องทำเอา ถ้ารู้ไม่ถึงมันจะลังเล สงสัย ถ้ารู้ถึงแล้วมันก็จบกัน จะว่ามันเป็นยังไงก็ไม่รู้นะ แต่มันเป็นของมันอย่างนั้น มันแน่นอนอย่างนั้น ปกติจิต ของเรามันก็เกิดขึ้นมาเท่านั้นเอง”





หลวงตาหมดโกรธ


    ใกล้ฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อเดินธุดงค์มาถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในป่าช้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อเดินตามทางเล็ก ๆ ผ่านแนวป่ามาถึงศาลา พบหลวงตาสมภารวัดนั้นนั่งสนทนาอยู่กับพระลูกวัด หลวงพ่อได้กราบนมันการและบอกที่มาของตน

    ครั้นกล่าวธรรมปฏิสันถารกันพอสมควร หลวงตาปรารภถึงภูมิจิตของตัวเองว่า หมดความโกรธแล้ว หวงพ่อรู้สึกแปลกใจมาก  เพราะคำพูดเช่นนี้ ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักในหมู่ผู้ปฏิบัติ จึงอยากพิสูจน์ให้รู้ชัด เลยตัดสินใจขอจำพรรษาด้วย แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว หลวงตาไม่ยอมให้ใครพำนักที่วัดง่าย ๆ เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อเป็นพระแปลกหน้า และยังธุดงค์มาองค์เดียว ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าจะมาดีหรือร้ายอย่างไร หลวงตากับพระลูกวัดจึงปฏิเสธไม่ยอมให้พำนักอยู่ด้วย แต่ก็ผ่อนผันให้ไปจำพรรษาที่ป่าช้านอกเขตวัดได้

    ครั้นถึงวันเข้าพรรษา หลวงตาให้พระไปนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาด้วย เพราะได้รับคำทักท้วงจากพระรูปหนึ่งว่า “พระมีพรรษามากขนาดนี้ ให้จำพรรษานอกเขตวัดเห็นจะไม่เหมาะ บางทีท่านอาจจะเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้ ไม่ควรประมาท”

 แม้จะได้ร่วมพรรษาในสำนัก แต่หลวงตากับลูกศิษย์ก็ตั้งกติกาในการปฏิบัติสำหรับหลวงพ่อไว้หลายอย่าง คือ
๑. ไม่ให้รับประเคนของจากโยม ต้องคอยรับจากพระรูปอื่นส่งให้
๒. ไม่ให้ร่วมอุโบสถสังฆกรรม ให้บอกปริสุทธิเท่านั้น
๓. เวลานั่งฉันอาหาร ให้นั่งต่อท้ายพระอายุพรรษาน้อยที่สุดของสำนัก

   กติกาทั้ง ๓ ข้อนี้ หลวงพ่อยอมปฏิบัติตามทุกอย่าง แม้ท่านจะมีพรรษา ๑๐ แล้วก็ตาม ท่านกลับพิจารณาน้อมเอาประโยชน์จากข้อปฏิบัตินั้น โดยให้คติแก่ตนเองว่า หลวงตากับคณะศิษย์กำลังทดสอบเรา การนั่งหัวแถวหรือไม่ ก็ไม่แปลกอะไร เหมือนกับเพชรนิลจินดาจะวางไว้ที่ไหนก็มีคุณค่าเท่าเดิม และการปฏิบัติตามกติกานี้ จะช่วยทดทิฏฐิมานะของเราให้เบาบางลงด้วย

   การจำพรรษาร่วมกับหลวงตา ผ่านไปด้วยความสงบเพราะหลวงพ่อวางความรู้สึกนึกคิดให้ถูก และเป็นปกติ จึงพากเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พยายามพูดน้อย เมื่อได้ยินใครพูดสิ่งใดก็น้อมมาพิจารณาเป็นปัญญแก้ไขตัวเอง และเฝ้าสังเกตเลือกเอาแต่สิ่งดีงามจากวัตรปฏิบัติที่มีอยู่ในสำนัก เพื่อถือเอาเป็นบทเรียน

   ขณะเดียวกันหลวงตาและคณะ ก็จับตาหลวงพ่ออย่างไม่ให้คลาดสายตาเหมือนกัน แต่ท่านก็วางเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการใด ๆ โต้ตอบ กลับคิดขอบคุณเข่า

“เขาช่วยไม่ให้เราเผลอไปประพฤติบกพร่อง เปรียบเหมือนมีคนมาช่วยป้องกันความสกปรกไม่ให้แปดเปื้อนแก่เรา”

   ในพรรษานั้น จิตใจของหลวงพ่อสงบหนักแน่น ปรารภความเพียรอย่างสม่ำเสมอ มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยงดงาม ตามพระพุทธบัญญัติทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เพื่อนสหธรรมิกคลายความระแวงในตัวท่านลงโดยลำดับ

   วันหนึ่งในกลางพรรษา พระเณรในวัดได้ชวนกันเอาเรือไปหาฟืน มาไว้ต้มน้ำย้อมผ้า เมื่อไปถึงเขตไร่ร้างแห่งหนึ่งแล้วก็ช่วยกันแบกฟืนมาทิ้งไว้ที่ฝั่งน้ำให้หลวงพ่อทำหน้าที่ขนลงเรือ ท่านได้สังเกตเห็นไม้พะยูงท่อนหนึ่งมีรอยถากเป็นทรงกลมยาวประมาณ ๒ เมตร หลวงพ่อคิดว่าไม้ท่อนนี้ต้องมีเจ้าของแน่ ถ้าขนลงเรือจะมีความผิดเป็นการลักทรัพย์ ทำให้ขาดจากการเป็นพระได้ ดังนั้นจึงไม่ยอมแตะต้อง พอได้เวลาจวนกลับ หลวงตาเดินมาเห็นไม้ท่อนนั้น จึงร้องถามว่า

“ท่านชา ทำไมไม่แบกไม้ท่อนนี้ลงเรือ”
“ผมเห็นว่ามันไม่เหมาะครับ มันคงมีเจ้าของ เพราะมีรอยถากไว้”

   เมื่อหลวงพ่อตอบเช่นนี้ หลวงตาชะงักงันอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงแกล้งร้องบอกแก้เก้อให้พระเณรรีบลงเรือ โดยทิ้งไม้ท่อนนั้นไว้ริมฝั่งนั่นเอง

   ต่อมาวันหนึ่งชาวบ้านมาทำข้าวหลามอยู่ในวัด หลวงตากลับจากบิณฑบาตเดินผ่านโรงครัวขณะนั้นโยมไม่อยู่ ท่านมองเห็นไฟกำลังลุกไหม้กระบอกข้าวหลาม คงรู้สึกเสียดาย แต่ก็นึก่าช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพระแตะต้องอาหารที่ยังไม่ได้ประเคนเป็นอาบัติ และจะทำให้อาหารนั้นไม่ควรแก่การบริโภคต่อไปด้วย หลวงตายืนสองจิตสองใจอยู่สักครู่หนึ่งก็เหลียวซ้ายแลขวา ก่อนที่จะเอื้อมมือไปพลิกกระบอกข้าวหลาม หารู้ไม่ว่าหลวงพ่อซึ่งอยู่บนกุฏิใกล้โรงครัวเหลือบมาเห็นเข้าพอดี

   ถึงเวลาฉันจังหัน หลวงตาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อไม่ฉันข้าวหลาม จึงถามว่า


“ท่านชาฉันข้าวหลามหรือเปล่า?”
“เปล่าครับ” คำตอบของหลวงพ่อทำให้หลวงตาถึงกับสะดุ้ง แล้วอุทานออกมาว่า
“ผมต้องอาบัติแล้ว”
ฉันเสร็จหลวงตามาขอแสดงอาบัติด้วย แต่หลวงพ่อบอกว่า
“ไม่ต้องก็ได้ครับ ให้สำรวมระวังต่อไปเถิด”

    คราวนั้น เพราะปฏิปทาความสุขุมรอบคอบของหลวงพ่อ จึงทำให้พระเณรทุกรูปในวัดเกิดความยำเกรงและเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน หลวงตากับคณะจึงตกลงกันว่าจะยกเลิกกติกาที่เคยตั้งไว้ ขอมนต์ให้หลวงพ่อเป็นพระผู้อาวุโส แต่หลวงพ่อปฏิเสธว่าทำอย่างนั้นคงไม่สมควร กติกาเดิมดีอยู่แล้ว และท่านก็ปฏิบัติตามกติกาเหมือนเช่นเดิม

ในที่สุด กาลเวลาก็ได้พิสูจน์คำพูดของหลวงตาที่ว่า ผมหมดความโกรธแล้ว ให้ประจักษ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ศีล จะพึงรู้ได้เมื่ออยู่รวมกันนาน ๆ”

   ท้ายพรรษา ฝนตกติดต่อกันหลายวันจนเกิดอุทกภัย น้ำท่วมทุ่งนาทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย และเดือดร้อนไปถึงวัวควายซึ่งไม่มีหญ้าจะกิน วัดของหลวงตาตั้งอยู่บนที่ดอน จึงรอดพ้นภัยจากน้ำท่วม วัวควายของชาวบ้านจึงมุ่งหน้ามากินหญ้าริมรั้ววัดเพื่อประทังชีวิต บางตัวกินเพลินเดินลึกเข้าไปในเขตสำนัก หลวงตารำคาญจึงให้พระเณรไล่ออกไปบ่อย ๆ เจ้าวัวน่าสงสารตัวหนึ่งถูกไล่ต้อนออกไปแล้ว แต่ด้วยความหิวจึงยื่นคอลอดรั้วกลับเข้ามากินหญ้าอีก หลวงตึ่งถือไม้รออยู่แล้ว ก็ฟาดอย่างไม่ยั้งมือ วัวตัวนั้นร้องอู้ ด้วยความเจ็บปวด รีบมุดหัวกลับไป แต่กว่าจะหลุดไปได้ก็โดนไม้หลวงตาเสียหลายดุ้น หลวงพ่อยืนดูการกระทำของหลวงตา ผู้เคยอวดตนว่าหมดความโกรธแล้ว ด้วยความสลดสังเวชใจ