วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๕.พยาบาลภิกษุอาพาธ


         “ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาของเธอทั้งหลายไม่มี ถ้าเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ภิกษุใดปรารถนาอุปัฏฐากเรา ขอภิกษุนั้นจงพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้าอุปัชฌาย์ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของผู้อาพาธมีอยู่ ให้เธอพยาบาลกันจนกว่าจะหายหรือสิ้นชีพไป ถ้าไม่มีให้ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ร่วมอาจารย์เดียวกันพยาบาล หากภิกษุไข้จรมาผู้เดียว ให้สงฆ์พยาบาลเถิด”

“เมื่อเราเจ็บป่วยติดคิดว่า หายก็เอา ตายก็เอา ถ้านึกอยากหายอย่างเดียวเป็นทุกข์แน่” หลวงพ่อเตือนพระเณรเมื่อยามป่วยไข้ สานุศิษย์ต่างรำลึกถึงคำสอนนี้อยู่เสมอ และพยายามอดทนอย่างที่สุดหากประสบภาวะเช่นนั้น การไปโรงพยาบาลเป็นวิธีสุดท้ายของการรักษา

ศิษย์รุ่นเก่าในป่าพงผ่านการเจ็บป่วยมาอย่างทรหด บอระเพ็ดต้ม คือยาแก้มาเลเรีย สมอ พริก เกลือ เป็นยาระบายถอนพิษไข้ ป่วยหนักก็อดทนจนโรคหายไปเองก็มี

ยามอาพาธแสดงออกถึงผลการปฏิบัติภาวนาของป่วยได้ดีว่า มีความเข้มแข็งอดทนเพียงใด การปล่อยอาการวิกลวิการให้ปรากฏ บ่งบอกถึงความประมาทขาดสติและอ่อนแอ อันมิใช่วิสัยของสมณะ เพราะการอาพาธคือสัจธรรมที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแยบคายด้วยปัญญา ย่อมสามารถวางความทุกข์จากความยึดมั่นลงได้

ครั้นหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ ในปัจฉิมวัยท่านอาพาธหนักหลายปี ศิษยานุศิษย์ผลัดเปลี่ยนวาระกันอุปัฏฐากทุก ๆ ๑๕ วัน ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจพยาบาลหลวงพ่อจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน นับเป็นหน้าที่โดยตรงของศิษย์พึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์ อันแสดงออกถึงความเคารพรักกตัญญูที่มีต่อกัน

คราวเพื่อนบรรพชิตเจ็บป่วย เมตตาธรรมต่างหลั่งไหลมารวมกัน ภิกษุสามเณรจะอนุเคราะห์กันด้วยการส่งอาหาร ล้างบาตร ปัดกวาดกุฏิ ซักจีวร เทกระโถน เช็ดตัว ให้กำลังใจด้วยธรรม ความประทับใจย่อมบังเกิดแก่เพื่อนพรหมจรรย์สร้างสรรค์สามัคคีและเมตตา นำมาซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน