วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๘.ออกพรรษา


              วันเพ็ญเดือน ๑๑ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ตักเตือนกันตามพระธรรมวินัย โดยประกาศในท่ามกลางที่ประชุมทีละรูปว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ หากการกระทำบกพร่องอันใดปรากฏขึ้น เมื่อได้ยิน หรือสงสัย ขอท่านทั้งหลายโปรดกรุณาว่ากล่าวตักเตือนด้วย ข้าพเจ้าจักได้แก้ไขปรับปรุงตนเองต่อไป”

การลดทิฏฐิมานะ ด้วยการยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนในความผิดพลาดของตนเป็นเรื่องที่ทำกันได้ยากในผู้มีมานะจัด อวดดี ดื้อรั้น ยึดถือความเห็นของตนเป็นที่ตั้ง ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ไร้จักษุ ต้องอยู่กับความมืดมนอนธกาล หมดโอกาสสัมผัสแสงสว่างใด ๆ คงมีแต่ภยันตรายรอยตัว สิ้นหวังต่อการดำเนินชีวิตโดยผาสุก

ครูอาจารย์จึงแนะนำว่า ควรลดทิฏฐิมานะ ยอมทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ทำตนเสมือนผ้าขี้ริ้วที่ไร้ค่า อย่ายึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ จงยอมรับฟังทุกสิ่งด้วยใจเป็นกลาง และถือว่าคนที่ว่ากล่าวตักเตือนคือผู้ชี้ขุมทรัพย์แก่เรา หรือเป็นดังกระจกเงาสะท้อนภาพผิดถูกชั่วดี ให้เรามีโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเอง

หลังจากปวารณากรรม ครูอาจารย์จะให้โอกาสภิกษุสามเณรพบปะกับอุบาสกอุบาสิกา เพื่อพูดถึงประสบการณ์ทางธรรมปฏิบัติ และแสดงทัศนคติ ตลอดจนผลของการปฏิบัติธรรมของแต่ละรูป

ถึงตอนนี้นับว่าเป็นห้วงแห่งความตื่นเต้นและลำบากมา การแสดงออกต่อสาธารณชน คือเรื่องยากทีเดียวสำหรับพระป่า ผู้หลีกเร้นอยู่ใต้ร่มบารมีของครูอาจารย์มาตลอด ภิกษุสามเณรบางรูปถึงกับเหงื่อตก ตัวสั่นพูดเสียงสะดุด หรือกล่าววาจากระท่อนกระแท่น สร้างความขบขันแก่ผู้ฟัง มิตรภาพไมตรีจิตระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรมร่วมกันย่อมเกิดขึ้น หลังจากได้พบปะกันตามสมควรแก่กาล

หลังจากวันออกพรรษาเป็นกาลจีวร ภิกษุสามเณรที่มีจีวรเก่าคร่ำคร่า จะได้ตัดเย็บย้อมผ้าใหม่ขึ้นในกาลนี้ ซึ่งมีกำหนดให้ ๑ เดือน แต่หากมีการถวายผ้ากฐิน เวลาการตัดเย็บก็จะขยายต่อไปอีก ๔ เดือน